13 กรกฎาคม 1893 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เรือรบฝรั่งเศสบุก “ปากน้ำ”

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เรือรบฝรั่งเศส มุ่งสู่ ปากน้ำเจ้าพระยา
ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Petit Parisien สื่อชั้นนำของฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3, เป็นภาพเรือรบฝรั่งเศสขณะมุ่งสู่ปากน้ำเจ้าพระยาพร้อมเล็งปืนใหญ่เข้าหาพระสมุทรเจดีย์

13 กรกฎาคม ค.ศ. 1893 : วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เรือรบฝรั่งเศสบุก “ปากน้ำ”

“…จากการศึกษาพบว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสและแผ่ขยายวงกว้างออกไปกระทบกระเทือนเรื่องคนในบังคับและธุรกิจของคนในบังคับ ขณะที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้แทนทางการทูตของทั้งสองฝ่ายหันกลับไปใช้กำลังทหาร เพื่อเข้าปกครองดินแดนที่อยู่ในความขัดแย้งกันโดยตรง

Advertisement

ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเจรจาครั้งใหม่ในอนาคต แต่ด้วยความสามารถ ความเด็ดเดี่ยว ความริเริ่มของนักการทูตและนักการทหารฝรั่งเศสทำให้เกิดการรบที่ปากน้ำขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1893 [พ.ศ. 2436] การศึกครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของเรือรบฝรั่งเศส

ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Petit Parisien สื่อชั้นนำของฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3, เป็นภาพเรือรบฝรั่งเศสขณะมุ่งสู่ปากน้ำเจ้าพระยาพร้อมเล็งปืนใหญ่เข้าหาพระสมุทรเจดีย์

ส่วนฝ่ายไทยนั้น ความพ่ายแพ้ของกองกำลังรักษาปากน้ำ การขาดความสนับสนุนจากอังกฤษและการปิดน่านน้ำไทยของเรือรบฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องยอมอ่อนข้อต่อฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข ท้ายที่สุดวิกฤตการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1893 ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส

สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเสียอำนาจการปกครองคนในบังคับชาวอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศสนอกจากนี้ฝรั่งเศสยังเข้ายึดครองจันทบุรีและเตรียมแผนการที่จะยึดครองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงไว้ในสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย…”

ความดังกล่าวคัดมาจากคำนำในศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “กรณีพิพาท ไทย-ฝรั่งเศส” โดย พันตรี พีรพล สงนุ้ย ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2545)

การ์ตูนจาก “The Sketch” (หนังสือพิมพ์พร้อมภาพประกอบรายสัปดาห์ของอังกฤษ) เป็นภาพวาดทหารฝรั่งเศสกำลังโจมตีทหารสยาม ซึ่งถูกแทนด้วยตุ๊กตาไม้ แสดงถึงความเหนือกว่าทั้งด้านเทคโนโลยีและเทคนิคทางทหารของฝรั่งเศส

หนึ่งในความขัดแย้งก่อนวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือความตายของ “มาสสี่” (Affaire de massie) ซึ่งพันตรีพีรพลมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลอาณานิคมในอินโดจีนอาจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลกลางที่ฝรั่งเศสใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการ “สยาม” โดยอ้างว่า

“มาสสี่ เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลฝรั่งเศสในเมืองหลวงพระบางซึ่งเคยเป็นสมาชิกของคณะสำรวจ (Mission Pavie) ได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เพราะได้รับการข่มเหง (à subir les pires insultes) จากคนไทย และที่สำคัญคือ มาสสี่ไม่เคยได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนจากรัฐบาลที่กรุงฮานอยและกรุงปารีสเลย ดังนั้นเขาจึงได้ฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1892 บริเวณหน้าเมืองจำปาสัก (Bassac)”

พันตรีพีรพลกล่าวต่อไปว่า “การตายของมาสสี่ทำให้ลาเนสซ็อง (Lanessan) ผู้ว่าราชการเวียดนามตอนใต้และผู้นำจักรวรรดินิยมคนสำคัญของฝรั่งเศสต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนปรากฏอย่างชัดเจนว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ฝรั่งเศสจึงเริ่มปฏิบัติการด้วยวิธีรุกทั้งทางด้านการทหารและด้านการทูตต่อไทย แต่หนังสือพิมพ์ในไซง่อนและตังเกี๋ยกลับรายงานว่ามาสสี่ป่วยตาย จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ข้าราชการชาวอาณานิคมต้องการใช้การตายของมาสสี่ให้เกิดประโยชน์โดยผลักดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้มาตการเด็ดขาดกับไทย”

แต่สิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งของทั้งสองชาตินำไปสู่จุดแตกหักจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ก็คือเหตุการณ์ที่แก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน ริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อคืนวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2436 หลังการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสตาย 12 คน ในจำนวนนี้มีนายทหารชาวฝรั่งเศส ชื่อกรอสกุแรง รวมอยู่ด้วย ส่วนทหารไทยตาย 6 คน โดยหัวหน้าทหารสยามในการปะทะครั้งนั้นก็คือ พระยอดเมืองขวาง ข้าหลวงเมืองคำเกิดคำม่วน

ความตายของนายกรอสกุแรงทำให้ฝรั่งเศสโกรธมาก ถึงกับกำหนดไว้ในเงื่อนไขคำขาดของฝรั่งเศส เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายนับล้านฟรังก์ที่ไทยต้องรับผิดชอบ และเป็นเหตุการณ์ที่จุดชนวนให้การบุกรุกกรุงเทพฯ ระเบิดขึ้น [ไกรฤกษ์ นานา. “สืบจากภาพ…อิสรภาพของเมืองไทย แลกด้วยเงินค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2546)]

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2561