หนังสือพิมพ์ “ธรรมสาตรวินิจฉัย” เผยมุมมองคนไทยสมัย ร. 5 ต่อเหตุการณ์ ร.ศ. 112

วิกฤตการณ์ เหตุการณ์ ร.ศ. 112
ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Petit Parisien สื่อชั้นนำของฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3, เป็นภาพเรือรบฝรั่งเศสขณะมุ่งสู่ปากน้ำเจ้าพระยาพร้อมเล็งปืนใหญ่เข้าหาพระสมุทรเจดีย์

เมื่อกล่าวถึงกรณีพิพาทระหว่างสยามกับชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม เหตุการณ์หนึ่งที่ถูกจดจำและกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งคงไม่พ้น “วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112” หรือ เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ความขัดแย้งระหว่างสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเรือรบฝรั่งเศสของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดการปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่ายที่เมืองปากน้ำ ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยฝ่ายสยามประสบความพ่ายแพ้ในการสกัดกั้นเรือรบของฝรั่งเศสจนนำไปสู่ข้อตกลงที่ทำให้สยามสูญเสียอำนาจเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหรือดินแดนลาวไปในที่สุด

การเสียอิทธิพลเหนือลาวถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของรัฐบาลสยาม มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย เกิดการช่วงชิงพื้นที่สื่อเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์และสร้างความชอบธรรมต่อฝ่ายตนที่สุด ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น หนังสือพิมพ์ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญที่มีบทบาทสูงยิ่งในการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นหลักฐานที่แสดงถึงทัศนะและมุมมองของชาวสยามต่อ เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่คนรุ่นหลังสามารถนำมาทำความเข้าใจได้ ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา ได้นำบทความจากหนังสือพิมพ์ไทยในอดีตมาบอกเล่าไว้ใน “คนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 คิดอย่างไรกับกรณี ร.ศ. 112” ในหนังสือ หน้าหนึ่งในสยาม ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ (มติชน, 2556) ดังนี้ [สะกดตามต้นฉบับ – ผู้เขียน]

Advertisement

 

ภายหลังการปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสผ่านไประมาณ 3 เดือน สนธิสัญญาฉบับหนึ่งระหว่างทั้ง 2 ประเทศก็เกิดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ในเดือนเดียวกันนี้ หนังสือพิมพ์ธรรมสาตรวินิจฉัย ได้ตีบทแผ่บทความเรื่องมูลเหตุของการวิวาทครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจดีขึ้นว่าคนไทยในสมัยนั้นคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นข้อมูลหาอ่านยากในเอกสารร่วมสมัยทั่ว ๆ ไป

มูลเหตุซึ่งนำให้ฝรั่งเศศก่อวิวาทกับกรุงสยาม

การวิวาทวุ่นวาย ด้วยเรื่องกรุงสยามเมื่อเรว ๆ นี้ ซึ่งราชาธิปไตยอังกฤศและราชาธิปไตยฝรั่งเศศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น ดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากมูลเหตุสองประการ ประการที่หนึ่งเกิดจากความโลภของฝรั่งเศศ ซึ่งประกอบไปด้วยความปรารถนาจะแผ่เกียรติยศให้แพร่หลายด้วย ประชาชาติฝรั่งเศศทั้งหลายเหนว่า การที่ฝรั่งเศศเที่ยวหาดินแดนตั้งเมืองขึ้นในทิศานุทิศต่าง ๆ นั้นก็เพื่อปรารถนาจะแสดงหาทรัพยสมบัติ และตำแหน่งราชการที่มีเงินเดือนมาก ๆ ในกรุงสยาม ครั้นไม่ได้สมประสงค์แล้ว ชาวกรุงปารีศก็มีความเดือดร้อนกระวนกระวายใจ เหตุฉนี้ในชั้นที่หนึ่งจึงได้พากันร้องขอให้ราชาธิปไตยฝรั่งเศศ ขอให้ไทยไล่ชาวต่างประเทศ ซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงสยามออกเสียจากตำแหน่งราชการ แล้วคนฝรั่งเศศจะได้เข้ามารับราชการแทนพวกที่ไล่ออกไป

และในชั้นที่สองนั้นว่า เมื่อไทยได้ทำการโยธาก่อสร้างต่าง ๆ เปนต้นว่าการสร้างทางรถไฟ สายโทรเลข ฤๅการอื่น ๆ ให้หัวเมืองอันบริบูรณทั้งสอง (คือเมืองพัตตะบางและเมืองเสียมราฐ) แล้วก็ขอให้สัญญาจ้างฝรั่งเศศ และพักพวกของฝรั่งเศศพวกเดียวนอกจากยอมให้ฝรั่งเศศมีอำนาจดูแลการจับปลาในทะเลสาบเขมร ซึ่งเปนสินค้ามีราคามาก อนึ่งฤๅกันว่าฝรั่งเศศจะอนุญาตขุดคลองด้วย ซึ่งคาดคะเนกันว่าจะเปนที่ตำบลซึ่งต่ออาณาเขตไทยกับแหลมมะลายู แต่ที่นี้ผิดไปที่ตำบลที่ถูกนั้น คือที่ตำบลซึ่งอยู่ในความป้องกันของอังกฤศ คำฦๅนี้ไม่เหนว่าเปนการสำคัญอย่างใด เพราะเกิดขึ้นในกรุงปารีศเอง และชนทั้งหลายในกรุงปารีศมิใคร่จะศึกษาตำราภูมนิสาตรโดยละเอียด ก็คำที่ฝรั่งเศศร้องขอในชั้นที่หนึ่งนี้ ดูเหมือนว่าไทยไม่ยอมให้ฤๅฝรั่งเศศขอถอนเสีย

มาบัดนี้ฝรั่งเศศกลับมาปัฏิเศศว่ามิได้ร้องขอเลย แต่คำร้องขอของฝรั่งเศศในชั้นที่สองนี้ ไทยคงจะไม่ยอมให้โดยง่าย มีคนเปนอันมากที่ส้อนตัวอยู่ข้างหลังกระทรวงว่าการต่าง ๆ ในกรุงปารีศเหนว่าถ้าไทยยอมอนุญาตให้ทำการพานิชกรรมต่าง ๆ ดังประสงคแล้ว ก็ชวนกันตั้งบริษัททำการเหล่านั้นขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์ทั้งหลายพูดยกย่องบริษัทซึ่งตั้งขึ้นนั้น พอให้ราษฎรทั้งหลายหลงเชื่อแล้ว คนเหล่านั้นก็คงรีบขายหุ้นส่วนในบริษัทเหล่านั้นให้แก่ราษฎรทั้งหลายซึ่งงมงามไม่รู้เท่าเอากำไรเสียมาก ๆ เท่านั้นเองก็ซึ่งคนเหล่านี้มาคิดหาผลประโยชน์ใส่ตัวเช่นนี้ ก็อาไศรยอ้างเหตุว่ากรุงฝรั่งเศศคิดข้อราชการ ในการแผ่อาณาเขตตั้งบ้านเมืองขึ้นต่อไป เพื่ออาไศรยเหตุเหล่านี้ จึงได้ไปตีเอาอาณาเขตรตังเกี๋ยและเมืองติวนิช

แท้จริงฝรั่งเศศเหนว่าการเช่นนี้ถูกต้อง มิได้คิดว่าจะเกิดศึกสงครามฤๅเที่ยวขู่เข็ญประเทศอื่นด้วยการศึกสงคราม เมื่อเปนดังนี้ก็คล้าย ๆ กับเที่ยวกระทำโจรกรรมปล้นสดมเอาซึ่งหน้าฉนั้น ขอให้พึงพิเคราะดูเถิดว่าผลประโยชนอันเปนกำไรซึ่งออกจากการเช่นนี้ จะเปนของใครเล่า แท้จริงก็มักตกเปนของบุคคลจำพวกเหล่านี้เกือบหมด แม้ว่าบางทีจะตกเปนของแผ่นดินบ้างก็มี การที่ฝรั่งเศศเที่ยวตีเอาเขตแดนของประเทศอื่นแล้วปลูกสร้างตั้งบ้านเมืองขึ้นนั้น ก็มักขาดทุนเปนธรรมดา ส่วนกำไรนั้นกลับไปได้กลับบุคคลซึ่งสนิทชิดชอบอัทธยาไศรยด้วยพวกเสนาบดี ซึ่งอยู่ในตำแหน่งราชการในไสมยนั้น

ความจริงเปนดังว่ามานี้ทุกประการ ดูน่าควรจะเสียใจอยู่ เพราะย่อมทำให้การเจรจาความเมืองลำบากยากใจมากขึ้น ด้วยพวกเสนาบดีหาได้มุ่งหมายจำเพาะแต่ประโยชน์ในทางราชการอย่างเดียว เปนต้นว่าการแผ่อาณาเขตฤๅการเก็บกาษีอากรไม่ กลับมีเจตนาเพื่ออนุคราะห์เกื้อกูลคนจำพวกนั้น ซึ่งพึ่งพาอาไศรยกันได้ด้วย ฤๅพูดตามคำของพวกเสนาบดีเหล่านี้แล้วก็ต้องพูดว่า ก็เพราะจะหาโอกาศให้คนฝรั่งเศศทั้งหลายหาเงินได้เรว ๆ

มูลเหตุประการที่สองนั้น คือฝรั่งเศสชอบแต่งข้าหลวงพิเศศไปจัดราชการในที่ต่าง ๆ ผู้สำเร็จราชการเมืองตังเกี๋ยเอง ก็เปนคนชอบตีเอาประเทศเขตรแดนอื่นมาก ถึงกระนั้นก็ดีก็ยังไม่รีบร้อนเอาธุระเรื่องกรุงสยามขึ้นแบกใส่บ่าของท่านให้หนักมากขึ้น เหมือนดังที่คนจดหมายเหตุของหนังสือพิมพ์ไตม์ผู้อยู่ในกรุงเทพฯ พูดกล่าวว่า ซึ่งฝรั่งเศศคิดการเอาเขตรแดนลำน้ำโขงครั้งนี้ ก็คงต้องออกทุนเสียเงินมากมาย การนี้ก็จำร้องเอาเงินสำหรับเมืองตังเกี๋ยมาใช้สอยไปก่อน เงินที่ต้องแจกจ่ายเปนเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือน ให้แก่กองทหารต่างประเทศ ซึ่งฝรั่งเศศจ้างมานั้นก็มากอยู่แล้ว เงินภาษีอาการในเมืองตังเกี๋ยก็เก็บได้น้อยนัก หาพอแก่ราชการไม่ ในปีน่าเงินก็คงจะไม่พอกับงบประมาณการจ่ายใช้ของมองสิเออร์ลาเนซองผู้สำเร็จราชการมาก

เมื่อเปนดังนี้กระทรวงว่าการหัวเมืองกรุงปารีศก็คงจะต้องมีความลำบากใจอยู่ เสนาบดีก็คงต้องขออนุญาตจากศาลาประชุมปฤกษาราชการเพื่อจะเอาเงินแผ่นดินมาจ่ายใช้ให้พอกับราชการ แต่พวกผู้แทนราษฎรทั้งหลายในศาลาปฤกษาราชการ ซึ่งทราบความคิดฝรั่งเศศในเรื่องเที่ยวปลูกสร้างบ้านเมืองในต่างประเทศอยู่ พิเคราะห์ดูเหนว่าการจ่ายเงินแผ่นดินเช่นนี้ ย่อเปนการค้าขายที่ต้องขาดทุนถ่ายเดียว เพราะพวกผู้แทนราษฎรทั้งปวงอยากหากำไรในการเที่ยวรบเอาบ้านเมืองอื่น ไม่ชอบลงทุนในการไปเที่ยวรบเช่นนั้นเลย ก็การที่พวกผู้แทนราษฎร เหนแต่จะได้ถ่ายเดียวนั้น มักเปนเหตุขัดขวางแก่ความคิดของผู้สำเร็จราชการเมืองตังเกี๋ยมากนัก

อนึ่งย่อมเปนธรรมดาอยู่เองที่พวกฝรั่งเศศทั้งหลายในเมืองตังเกี๋ยจะต้องยกย่องอุดหนุนผู้สำเร็จราชการ ทั้งพวกหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศศ ซึ่งได้รับเงินสินน้ำใจก็ช่วยพูดยกยอสรรเสิญท่านอยู่เสมอเพราะฉนี้ท่านจึงนำเหตุให้บ้านเมืองของท่านวุ่นวายลำบากมาก ในการเจรจาความเมืองโดยการทูต

ราชาธิปไตยอังกฤศย่อมรู้การที่เปนไปทุกวันดี ๆ ด้วยหลอดดัพเฟอรินเอกอรรคราชทูตอังกฤศ ก็ได้กลับไปกรุงปารีศแล้ว และเซอร์อีเครราชปลัดทูลฉลองกรมท่าอังกฤศก็ได้พูดในสาลาปฤกษาราชการว่า ซึ่งกรุงสยามจะยอมอนุญาตให้ผลประโยชน์พิเศศในทางค้าขายให้แก่มหาประเทศใด ๆ นั้นไม่ได้ หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งอังกฤศได้ทำไว้กับสยามนั้น ก็มีชัดอยู่แล้วว่าถ้าไทยยกผลประโยชน์อันพิเศศให้แก่ประเทศอื่นฉันใด ก็ต้องอนุญาตให้แก่คนในบังคับอังกฤศ ฉันนั้นบ้างเหมือนกัน

เหตุฉนี้มองสิเออร์ไมร์ เดอ วิเลอร์ อรรคราชทูตฝรั่งเศศคงจะได้รับคำสั่งมาว่า อย่าให้คิดร้องขอเอาประโยชน์จากไทยให้มากเกินประมาณไป และอย่าก่อเหตุให้ราชาธิปไตยของท่านต้องอริวิวาทกับกรุงอังกฤศได้ และอย่านำทางให้ราชาธิปไตยอังกฤศต้องตั้งกงสุลอยู่ประจำในหัวเมืองชั้นในของกรุงสยามได้ เหมือนดังที่ราชปลัดทูลฉลอง กรมท่าอังกฤศได้พูดกล่าวว่า ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีนั้น ราชาธิปไตยอังกฤศจะตั้งกงสุลไว้ในหัวเมืองเหล่านั้นได้เหมือนกัน

อีกประการหนึ่ง ในเรื่องเขตรแดนริมแม่น้ำโขงนั้น มองสิเออร์ไมร์ เดอร์วิเลอร์ ก็จำต้องระวังเหมือนกันถ้าพลาดพลั้งไปก็จะทำให้กรุงจีนโกรธขึ้นมา เพราะทุกวันนี้ ยากที่บุคคลจะเข้าใจความคิดในราชการต่างประเทศของจีน ซึ่งปิดบังกัน ลี้ลับมาก แต่ก็เหมือนจะเหนชัดได้ตามข่าวโทรเลข และหนังสือบอกข่าวจากผู้มีชื่อว่าพวกขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงปกิ่งมิได้พากันนิ่งเฉยอยู่เลย เมื่อได้ทราบความจากพักพวกของไทยแล้ว จึงได้มีคำสั่งให้อรรคราชทูตจีนในกรุงปารัศพูดขัดขวางฝรั่งเศศไว้

บัดนี้จีนก็สร้างป้อมที่เมืองเทียนจิ้นเสรจแล้ว และในแดนเมืองยูหนำจีนก็ได้ตั้งชุมชุมทหารไว้มากฝึกหัดอยู่เสมอ เมื่อเสนาบดีจีนในกรุงปักกิ่งมีคำสั่งโดยทางโทรเลขไปเวลาใดทหารจีนพวกนี้ก็คงยกเปนกระบวนทัพใหญ่ลงมาทางลำน้ำแม่น้ำโขงทีเดียว นี่และเปนข่าวอันร้ายต่อมองสิเออร์ เด เวลล์ เสนาบดีฝรั่งเศศผู้ว่าการต่างประเทศ เพราะมองสิเออร์คานอต ประธานาธิบดีกรุงฝรั่งเศศย่อมรู้อยู่แล้ว่าราษฎรฝรั่งเศศไม่ชอบให้ทำศึกสงครามกับจีนเลย ด้วยมารบกับจีนนั้นหาประโยชน์อันใดมิได้ทั้งต้องเปลืองเงินแผ่นดินก็มากด้วย ลางทีจะทำให้ฝรั่งเศศต้องเรียกทหารมาหมดทั้งเมืองก็ว่าได้

มองสิเออร์คานอตคงต้องโกรธแค้นเสนาบดีคนใดคนหนึ่งผู้ซึ่งนำความร้อนใจ มาให้ท่านไปกว่าจะถึงเวลากำหนดที่ราษฎรฝรั่งเศศจะได้พร้อมใจกันเลือกท่านขึ้นเปนประธานาธิบดี ผู้ครองกรุงฝรั่งเศศอีก มองสิเออร์คานอตและอรรคมหาเสนาบดี ก็ย่อมรู้อยู่ว่าถ้าจีนเตรียมจะทำศึกด้วยแล้ว จีนย่อมมีอุบายปล่อยกองโจรออกก่อน ทหารในกองโจรเหล่านี้ซึ่งเรียกกันโดยสามัญว่าพวกโจรสลัดฤๅพวกธงดำ (คือพวกฮ่อ) ทหารจีนพวกนี้เที่ยวรบราฆ่าฟัน ปล้นบ้านตีเมืองอยู่มนแดนตังเกี๋ยมาช้านาน ทำให้ฝรั่งเศศต้องขาดทุนในการปราบปรามมากอยู่แล้ว ถึงจะคิดปราบปรามฆ่าฟันพวกฮ่อเหล่านี้เสียสักเท่าใด ก็หาประโยชน์มิได้ เปรียบเหมือนไปฆ่าตัวพึ่งฉนั้นยิ่งฆ่ายิ่งบินกลู้มเข้ามามากทุกที

บางทีราษฎรเมืองฮือเข้าช่วยพวกฮ่อเหล่านี้ขึ้นอีก เหตุฉนี้ไม่ต้องสงไสยเลย ว่าความโลภของฝรั่งเศศคงจะลดน้อยถอยลงโดยเรว แต่วิธีจัดการของฝรั่งเศศมักไม่สู้จะดีเลย อนึ่งการเจรจาความเมืองเช่นในกรุงสยามนี้ ถ้าประกอบด้วยปรีชาว่องไวยสักหน่อยแล้ว ฝรั่งเศศก็คงจะได้รับผลประโยชน์จากไทยมากโดยสดวกไม่เปนเหตุให้พวกขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงปกิ่งตกใจได้เหมือนกัน เพราะถ้าฝรั่งเศศไม่ทำอำนาจู่เข็ญไทยโดยซึ่งหน้าแล้ว พวกขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงจีนก็คงไม่ใครเอาธุระมากนัก พวกขุนนางจีนเหล่านี้ก็รู้ประมาณกำลังตนกำลังท่านอยู่เหมือนกัน จึงไม่คิดจะตีเออาณาเขตรของใคร

แต่จีนย่อมมีมานะมาก ถ้าได้ทำแล้วก็คงขืนทำไปจงได้ เหมือนดังได้จัดการป้องกันเมืองคาชา คือเมืองตาดฝ่ายตวันตกขึ้นจีนนั้น ถึงมาทว่าศัตรูต่างประเทศจะยกเข้าโจมตีแล้ว จีนก็มิได้ถอยหนีคงสู้กันพักหนึ่ง อนึ่งชนทั้งหลายพึงรฦกได้อยู่ว่า บัดนี้จีนมีกำลังมากขึ้นกว่าแต่ก่อน กองทัพบกของจีนนั้นถึงมากกว่าฝึกหัดยังไม่ชำนาญเรียบร้อยก็ดี แต่ก็มีทหารเปนอันมากกว่ามาก ยังขาดอยู่แต่นายทหารซึ่งชำนาญในการศึกสงครามเท่านั้น แต่การสิ่งนี้จีนก็ได้ทำศึกตลอดมาครั้งหนึ่งแล้ว ถ้ามีศึกสงครามขึ้นอีกก็คงจะจัดการให้สำเร็จไปได้เหมือนกัน ด้วยมีนายทหารชาวยูโหรบอยู่ถมไป ที่มิได้รับราชการเที่ยวแสวงหาการทำอยู่เสมอ จีนก็คงจะคิตค่าจ้างเอามาไว้ได้ เหตุฉนี้ก็ถึงฝรั่งเศศจะรบด้วยก็คงหมายเอาไชยชะนะถ่ายเดียวไม่ได้เลย

กล่าวโดยสรุปอย่างย่อที่สุดได้ว่ามูลเหตุแห่งการที่ฝรั่งเศสจะเอาชนะคะคานกับสยามนั้นมิได้มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันเป็นส่วนตัวเลย แต่พอจะอนุมานได้ดังนี้ คือ 1. เกิดจากความละโมบของจักรวรรดินิยมเป็นแรงบันดาลใจ 2. ต้องการเห็นความสำเร็จในการรวบรวมสหภาพอินโดจีนสำเร็จโดยไว 3. ไม่เห็นทางที่จะชนะจีนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพียงแต่ได้ครอบครองยูนนานก็ถือว่าสำเร็จวัตถุประสงค์ได้แล้ว และ 4. จะได้ใช้จีนเป็นข้อต่อรองกับอังกฤษต่อไป ข้อพิพาทกับสยามเป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะเอาชนะชาวเอเชียเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2565