ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ถาวร สิกขโกศล |
เผยแพร่ |
“พระถังซำจั๋ง” ภิกษุต่างชาติรูปเดียวที่ได้รับการยกย่องเป็น “ตรีปิฎกาจารย์” จากนาลันทา
พระถังซำจั๋ง เป็นพระเถระคนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 1143-1207 ปลายราชวงศ์สุยถึงต้นราชวงศ์ถังอันเป็นยุคทองของจีน ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน ‘สามนักแปลคัมภีร์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของจีน’ ซึ่งได้แก่ พระกุมารชีพ (พ.ศ. 887-956) พระปรมรรถ (พ.ศ. 1042-1112) และพระถังซำจั๋ง (พ.ศ. 1143-1207)
ท่านเป็นชาวเมืองลั่วหยาง มีนามฆราวาสว่า เฉินฮุย เสียงแต้จิ๋วว่า ตั้งฮุย (หรือ ฮุย แซ่ตั้ง) สนใจพุทธศาสนามาแต่เด็ก ผนวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี ได้รับสมณฉายาว่า ‘เสวียนจั้ง’ ออกเสียงง่าย ๆ อย่างลิ้นคนไทยว่า สวนจั้ง หรือเสียนจั้ง ก็ได้ เสียงแต้จิ๋วว่า ‘เหี้ยนจัง’ หมายถึง ‘รุ่งเรืองด้วยความลึกซึ้ง’ ตรงกับภาษาบาลีว่า ‘คัมภีรวิโรจน์’
หลังจากบวชแล้วท่านศึกษาพุทธศาสตร์กับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงทั่วจีน เห็นว่าคำอธิบายแตกต่างกัน จึงตั้งปณิธานไปศึกษาที่อินเดีย แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ ท่านจึงต้องไปโดยไม่ขออนุญาตต่อทางการเมื่อ พ.ศ. 1172 (อายุ 29 ปี) ผ่านอุปสรรคนานัปการแทบเอาชีวิตไม่รอด ผ่านทะเลทรายโกบีที่ร้อนระอุไร้ผู้คน ปีนป่ายข้ามเทือกเขาฮินดูกูฏอันสูงชันเพียงผู้เดียว จาริกผ่านแคว้นต่าง ๆ นอกแดนจีนและอินเดียนับร้อยแคว้น
ในที่สุดได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ฝากตัวเป็นศิษย์พระศีลภัทรเถระ ศึกษาพุทธศาสนานิกายโยคาจารย์ วิชาตรรกศาสตร์ และอื่น ๆ ทั้งยังออกจาริกไปทั่วอินเดียเพื่อศึกษาเพิ่มเติม และทัศนศึกษาพุทธศาสนสถานสำคัญ ท่านแตกฉานภาษาสันสกฤตมากจนเจ้าของภาษายกย่อง แต่งคัมภีร์เป็นภาษาสันสกฤตได้ดี ที่สำคัญคือแตกฉานพุทธศาสตร์มาก
อุษา โลหะจรูญ ผู้เขียนหนังสือ ‘พระถังซำจั๋ง : ชีวิตจริงไม่อิงนิยาย’ กล่าวว่า ด้วยความใฝ่ศึกษา ‘ท่านจึงเป็นพระภิกษุชาวจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอินเดียโบราณ เป็นพระตรีปิฎกาจารย์ผู้มีความรู้แตกฉานทั้งในฝ่ายวิชามหายานและสาวกยาน ได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยขึ้นโต้วาทีธรรมสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้แก่สถาบันและประเทศชาติอย่างสมภาคภูมิ ได้รับสมญานามจากคณะสงฆ์ฝ่ายมหายานว่า มหายานเทวะ’ (Mahāyānadeva) และ พระโมกษเทวะ (Moksadeva) จากฝ่ายสาวกยาน’
ส่วนสมญา ‘ตรีปิฎกาจารย์’ นั้น หมายถึง ‘อาจารย์ผู้แตกฉานพระไตรปิฏก’ มหาวิทยาลัยนาลันทาถวายแด่ท่าน เป็นภิกษุต่างชาติรูปเดียวที่ได้รับเกียรตินี้ ต่อมามหาวิทยาลัยนาลันทา (นาลันทาใหม่ซึ่งสร้างแทนมหาวิทยาลัยนาลันทาเดิมที่เสื่อมสูญไป) ได้ถวายตำแหน่ง ‘พระตรีปิฎกาจารย์’ แก่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปิฎก) เป็นภิกษุชาวต่างชาติรูปที่ 2 ที่ได้รับเกียรติสูงสุดนี้
ด้วยเหตุนี้เมื่อพระภิกษุเสวียนจั้งกลับมาจีนแล้ว คนนิยมยกย่องเรียกท่านว่า ‘ซันจั้งฝ่าซือ’ เสียงจีนแต้จิ๋วว่า ‘ซำจั้งฮวยซือ’ ซำจั๋ง แปลว่า ไตรปิฎก ฮวยซือ แปลว่า ธรรมาจารย์ (อาจารย์ผู้สอนธรรม) เป็นคำเรียกยกย่องพระภิกษุผุ้ทรงคุณวุฒิ สองคำรวมกัน หมายถึง พระธรรมาจารย์ตรีปิฎก เป็นที่มาของคำว่า ‘ถังซำจั๋ง’ ซึ่งหมายถึง ‘พระตรีปิฎกาจารย์แห่งราชวงศ์ถัง’ เป็นชื่อที่แพร่หลายในประเทศไทย…
อ่านเพิ่มเติม :
- พระถังซัมจั๋ง เล่าตำนานอุบายพระอนุชากษัตริย์แคว้นคุจี รอดโดนใส่ร้ายเล่นกามนางใน
- พระพุทธรูปแห่ง “บามิยัน” สมัย “พระถังซำจั๋ง” เป็นพระพุทธรูปสีทองประดับด้วยอัญมณี
- ตามรอย “ไซอิ๋ว” ฉบับญี่ปุ่นแปล พระถังซำจั๋งและพรรคพวก ฮิตแค่ไหนในแดนซามูไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ไซอิ๋ว : ยอดนิยายมหัศจรรย์” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552
ปรับปรุงในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2562