พระถังซัมจั๋ง เล่าตำนานอุบายพระอนุชากษัตริย์แคว้นคุจี รอดโดนใส่ร้ายเล่นกามนางใน

พระถังซัมจั๋ง
พระถังซัมจั๋ง (ภาพจาก Wikipedia)

บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ถูกหยิบยกไปดัดแปลงผสมกับจินตนาการสร้างเป็นสื่อบันเทิงกันมากมาย พระถังซัมจั๋ง เองก็ถูกนำไปดัดแปลงในนิยายไซอิ๋วที่น่ามหัศจรรย์ แต่เบื้องหลังของนิยายมีเรื่องราวที่มาจากบันทึกของพระภิกษุชาวจีนผู้มีชื่อเลื่องลือซึ่งน่าสนใจแทรกเอาไว้มากมายด้วย

ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้ศึกษาความเป็นมาของพระเถระกันมากมาย ถาวร สิกขโกศล ผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์จีน อธิบายไว้ในบทความ “ไซอิ๋ว : ยอดนิยายมหัศจรรย์” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2552 ว่า “พระถังซำจั๋งเป็นพระเถระคนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 1143-1207 ปลายราชวงศ์สุยถึงต้นราชวงศ์ถังอันเป็นยุคทองของจีน ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน ‘สามนักแปลคัมภีร์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของจีน’ ซึ่งได้แก่ พระกุมารชีพ (พ.ศ. 887-956) พระปรมรรถ (พ.ศ. 1042-1112) และพระถังซำจั๋ง (พ.ศ. 1143-1207)

แต่เดิม ท่านเป็นชาวเมืองลั่วหยาง มีนามฆราวาสว่า เฉินฮุย ออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า ตั้งฮุย (หรือ ฮุย แซ่ตั้ง) สนใจพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ผนวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี ได้รับสมณฉายาว่า ‘เสวียนจั้ง’ ออกเสียงแบบไทยว่า สวนจั้ง หรือเสียนจั้ง ออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า ‘เหี้ยนจัง’ หมายถึง ‘รุ่งเรืองด้วยความลึกซึ้ง’ ตรงกับภาษาบาลีว่า ‘คัมภีรวิโรจน์’ คำอธิบายสอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในอารัมภกถาของบันทึก จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง’ ซึ่งอารัมภกถาของบันทึกนี้เขียนโดยขุนนางจีนกลุ่มหนึ่ง”

หลังจากบวชแล้วท่านศึกษาพุทธศาสตร์กับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงทั่วจีน เห็นว่าคำอธิบายแตกต่างกัน จึงตั้งปณิธานไปศึกษาที่อินเดีย แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ ท่านจึงต้องไปโดยไม่ขออนุญาตต่อทางการเมื่อ พ.ศ. 1172 (อายุ 29 ปี) ผ่านอุปสรรคนานัปการแทบเอาชีวิตไม่รอด ผ่านทะเลทรายโกบีที่ร้อนระอุไร้ผู้คน ปีนป่ายข้ามเทือกเขาฮินดูกูฏอันสูงสูงชันเพียงผู้เดียว จาริกผ่านแคว้นต่าง ๆ นอกแดนจีนและอินเดียนับร้อยแคว้น

เรื่องราวระหว่างการเดินทางปรากฏอยู่ในบันทึก “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” ซึ่งพระถังซัมจั๋งเป็นผู้จดบันทึกเอง ต่อมาพระภิกษุเปี้ยนจีเป็นผู้เรียบเรียงในรัชสมัยจักรพรรดิถังไท่จง ยุคราชวงศ์ถังและเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ. 646

บันทึกฉบับนี้มีอายุกว่า 1,300 ปีแล้ว บันทึกถูกเรียกกันว่า “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” เนื้อหาเริ่มบอกเล่าการเดินทางตั้งแต่ออกจากจีนและอยู่ในอินเดียเป็นเวลา 17 ปี จาริกสู่แคว้นต่างๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจีน รวมระยะทางกว่า 5 หมื่นลี้

เนื้อหาในส่วนอารัมภกถาส่วนหนึ่งซึ่งเขียนโดย พระถังซัมจั๋ง เอง เริ่มต้นบอกเล่าที่มาของการจดบันทึกและการเดินทาง พร้อมกับบรรยายภูมิศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของชมพูทวีปไว้ อาทิ การแต่งกาย ลักษณะนิสัย ที่อยู่

พระถังซัมจั๋งเดินทางจากเมืองซีอาน นครหลวงของจีนสมัยราชวงศ์ถัง มุ่งไปทางตะวันตกจนถึงเมืองเกาชาง พักอยู่ระยะหนึ่งจึงเริ่มเดินทางไปอินเดีย

ในบันทึกก็เริ่มต้นบอกเล่าการเดินทางตั้งแต่ออกจากแคว้นเกาชางในอดีต (เมืองเก่าแก่ด้านทิศตะวันตกของจีน ในมณฑลซินเจียง) มาถึงแคว้นอัคนิ (เดิมเรียกว่าอันฉี) ถัดจากแคว้นนี้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 200 ลี้ ข้ามเนินเขาหนึ่งลูกกับแม่น้ำอีกสองสาย มุ่งไปทิศตะวันตก ถึงทุ่งราบแห่งหนึ่ง เดินทางไปอีก 700 ลี้จึงมาถึงแคว้นคุจี (Kuci)

ในจดหมายเหตุการเดินทางบรรยายอาณาเขตของแคว้นแห่งนี้จากทิศตะวันออกจดทิศตะวันตกเป็นระยะประมาณ 1,000 ลี้ ทิศเหนือจดใต้ระยะประมาณ 600 ลี้ เมืองหลวงมีอาณาเขตโดยประมาณที่ 17-18 ลี้

เอกสาร “ประวัติศาสตร์ฮั่นโบราณ” (History of the Former Han หรือ Book of Han) โดย ปัน กู่ (Ban gu) อธิบายแคว้นคุจีว่าเป็น “พื้นที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 36 ดินแดนทางตอนใต้” แคว้นนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหม” (Silk Road) และผ่านการติดต่อกันระหว่างดินแดนเอเชียตอนกลาง พระถังซัมจั๋งบรรยายว่า เนื้อดินของดินแดนนี้เหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าวสาลี ข้าวเจ้า ผลไม้ต่างๆ มีทรัพยากรธรรมชาติทั้งทองคำ ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว ดีบุก

“พระราชาเป็นชาวคุจีโดยเชื้อสาย สติปัญญาดาดๆ ขาดกุศโลบายอันลึกซึ้งและถูกครอบงำโดยขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจ ที่นี่มีประเพณีอย่างหนึ่งคือเด็กทารกเมื่อแรกเกิดจะใช้ไม้แผ่นแนบติดศีรษะไว้ เพื่อเมื่อเติบใหญ่ขึ้นศีรษะจะได้แบนบาง ภายในแคว้นคุจีมีอารามกว่า 100 แห่ง พระภิกษุกว่า 5,000 รูป ใฝ่ใจศึกษาในลัทธิหินยานนิกายสรรวาสติวาท พุทธคัมภีร์และหลักธรรมคำสอนต่างๆ อีกทั้งวินัยและพิธีการต่างๆ ก็ล้วนรับเอาแบบแผนจากอินเดียทั้งสิ้น”

บันทึกยังบอกเล่าว่า แคว้นนี้มาอาชาพันธุ์ดีมากมาย ทางด้านทิศตะวันออกของแคว้นปรากฏเมืองร้างแห่งหนึ่ง พร้อมบอกเล่าตำนานว่าชาวเมืองสำคัญตัวเองว่าเป็นผู้มีกำลังแข็งแรงเกินมนุษย์ทั่วไปเนื่องจากเป็นสายโลหิตของนาคในบึง ไม่ยอมรับการปกครองของพระราชา พระราชาเลยชักนำชาวเติร์กมาเข่นฆ่าชาวเมืองจนหมด จากเมืองร้างออกไปทางทิศเหนือจะพบวัดจักราม

ทางประตูตะวันตกของเมืองหลวงมีพระพุทธรูปอยู่หน้าลานชุมนุม เมื่อออกจากลานชุมนุมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามแม่น้ำอีกสายก็มาถึงวัดอัศจรรย์ (Asarya) อันวิจิตรงดงาม ภิกษุที่นี้ก็เป็นที่เคารพนับถือมีวิชาความรู้ลึกซึ้ง พระถังซัมจั๋ง ยังบันทึกเกี่ยวกับข้อมูลของอดีตกษัตริย์ของแคว้นนี้ซึ่งได้รับฟังมาจากผู้สูงวัยว่า

“จำเดิมนั้น อดีตกษัตริย์ [แคว้นนี้] ซึ่งถึงแก่พิราลัยแล้วนั้น ทรงนับถือพระพุทธศาสนา [คราหนึ่ง] พระองค์มีพระประสงค์จเสด็จนมัสการสังเวชนียสถาน จึงทรงแต่งตั้งพระอนุชาร่วมพระอุทรสำเร็จราชการแทนพระองค์ ข้างฝ่ายพระอนุชาเมื่อทรงรับพระราชโองการแล้วก็แอบตัดองคชาติของตนทิ้งเสีย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันตัวเองไว้ล่วงหน้าก่อนที่ภัยจากทุรวจีให้ร้ายต่างๆ จะถึงตัว

องคชาติที่ตัดนั้นถูกนำมาเก็บไว้ในหีบทองและปิดผนึกไว้แน่นหนา แล้วจึงนำมาถวายพระราชา พระราชาทรงถามว่า ‘นี่อะไรหรือ’ พระอนุชาทูลว่า ‘[หีบทองใบนี้] ขอให้พระองค์ทรงเปิดต่อเมื่อเสด็จนิวัติแล้ว’ พระราชาจึงมอบหีบใบนั้นให้เจ้าหน้าที่นำติดตามโดยเสด็จด้วย และเมื่อพระราชาเสด็จนิวัติแล้วก็มีคนกล่าวร้ายป้ายสีพระอนุชาจริงดังที่คาดคะเนไว้ว่า ‘พระองค์มีรับสั่งให้พระอนุชาสำเร็จราชการแทน แต่พระอนุชากลับหมกมุ่นในกามคุณอยู่กับฝ่ายใน'”

พระราชาทรงพิโรธอย่างหนักเมื่อทรงทราบเรื่องนี้ รับสั่งให้ลงโทษพระอนุชาอย่างหนัก แต่พระอนุชากราบทูลขอให้พระองค์เปิดหีบทองออก หากทำผิดจริงจะไม่หลบราชภัยเด็ดขาด เมื่อพระราชาทรงเปิดหีบออกดูก็สงสัยว่าท่อนประหลาดนั้นคือสิ่งใด พระอนุชาทูลตอบว่า จำเดิมที่พระองค์จะเสด็จประพาสนั้น ได้มีรับสั่งให้ข้าพระองค์ว่าราชการแทน ข้าพระองค์กังวลว่าอาจจะถูกใส่ร้ายป้ายสี จึงใช้วิธีตัดองคชาติของตนเองทิ้งเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง มาบัดนี้ความกังวลนั้นกลายเป็นความจริง ขอพระองค์ทรงโปรดพิจารณาให้ถ่องแท้ด้วย”

ใจความตำนานที่บอกเล่าต่อมามีว่า

“พระราชาทรงทราบเรื่องราวแล้วก็ทรงยกย่องสรรเสริญ [พระอนุชา] ความผูกพันที่มีต่อกันก็สนิทสนมแนบแน่นยิ่งขึ้นจากเดิม ทรงอนุญาตให้ [พระอนุชา] เข้าออกนอกในปราสาทราชฐานได้โดยเสรี อยู่มาวันหนึ่ง พระอนุชาพบบุรุษหนึ่งต้อนฝูงโค 500 ตัวจะเอาไปตอน ก็เกิดความสะทกสะท้อนใจกับปวงชีวิตที่กำลังจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันตน [จึงรำพึงว่า] อันองคาพยพของเรานั้นไม่ครบองค์ประกอบก็คงเป็นด้วยกรรมแต่หนหลังชักนำให้เป็นไป

คิดดังนั้นแล้วเขาก็จ่ายทรัพย์ขอซื้อโคฝูงนั้น ผลานิสงส์แห่งความเมตตาการุญจึงดลบันดาลให้องคชาติกลับเจริญงอกขึ้นมาใหม่ และเมื่อมีอวัยวะเพศเกิดขึ้นอีก พระอนุชาก็มิได้เข้าวังอีกเลย พระราชารู้สึกสนเท่ห์ จึงทรงถามถึงสาเหตุ พระอนุชาก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นถวาย เนื่องด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องมหัศจรรย์ พระราชาจึงได้สร้างอารามแห่งนี้เพื่อสดุดีพฤติกรรมอันเร้าใจนี้และให้ [เรื่องราวเหล่านี้] เป็นที่รู้กันสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ถังซำจั๋ง. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง. แปลโดย ซิว ซูหลุน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547

ถาวร สิกขโกศล. “ไซอิ๋ว : ยอดนิยายมหัศจรรย์”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2563