ตามรอย “ไซอิ๋ว” ฉบับญี่ปุ่นแปล พระถังซำจั๋งและพรรคพวก ฮิตแค่ไหนในแดนซามูไร?

ภาพวาดเรื่อง ไซอิ๋ว ใน พระราชวังฤดูร้อน ที่ จีน ภาพโดย Rolf Müller จาก Wikimedia Commons สิทธิ์ใช้งานไฟล์ CC BY-SA 3.0

…ในบรรดาต่างประเทศที่ไม่ใช่เจ้าของผลงานวรรณกรรม ไซอิ๋ว แต่ได้ยกฐานะประหนึ่งให้ความสำคัญต่อวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมระดับชาติ ทั้งยังได้สะสมหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไซอิ๋วและผลิตบทความที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก อาจจะมากกว่าเจ้าของเดิมคือจีนเสียอีก ประเทศนั้นก็คือ ญี่ปุ่น

“ไซอิ๋ว” ฉบับภาษาญี่ปุ่นกล่าวได้ว่าเป็นฉบับล้ำค่า งานแปลวรรณกรรมไซอิ๋วของประเทศญี่ปุ่นจัดเป็นงานที่ต้องใช้ความมุมานะพยายามเป็นอย่างอย่างสูง เฉกเช่นการนำแท่งเหล็กมาฝนเป็นเข็มเล่มคม

ผู้ที่เป็นเจ้าของผลงานแปลไซอิ๋วเล่มแรกของญี่ปุ่นใช้ชื่อว่า “ทงสู ซีอิ๋วจี้” (ไซอิ๋วฉบับชาวบ้าน) คือผู้ประพันธ์นวนิยายชื่อดังในอดีต ชื่อคูนิคิ ยามาฮีโตะ (นามปากกา “นิซีตะ”)[3] ผ่านฝีมือการแปลของนักแปลถึงสามรุ่น ใช้เวลาแปลเรื่อง “ไซอิ๋ว” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1758-1831 หรือหากนับไปตามรัชสมัยการปกครองของญี่ปุ่น คือตั้งแต่สมัยเอโดะ ถึงรัชสมัยเท็นโพว รวมทั้งสิ้น 74 ปี

ทีมงานของนิซีตะได้แปล ไซอิ๋ว ฉบับภาพวาดประกอบอีกเล่มหนึ่งใช้เวลาแปล 30 ปี คือตั้งแต่ปี ค.ศ.1806-1837 ทั้งสองเล่มจัดว่าเป็นสมบัติวรรณกรรมแปลที่เก่าแก่ของญี่ปุ่นทีเดียว

นอกจากทั้งสองฉบับแล้ว ญี่ปุ่นยังมีไซอิ๋วฉบับที่แปลในศตวรรษที่ 19 อีกหลายเล่ม เช่น ฉบับของอุโน๊ะโคอูชิ ที่แปลในปี ค.ศ.1936 (พิมพ์ซ้ำในปี 1942) ฉบับของโยชิโอ๊ะพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อปี 1939 ฉบับของอันโตะโคเซร่วมแปลกับโคสุกิ คาจุ๊โอ๊ะในปี 1949 (เลือกแปลทั้งสิ้น 77 บท) ฉบับของอิโตะทาคาโมโร๊ะ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณกรรมสำหรับเยาวชนได้คัดเอา “ไซอิ๋ว” แปลและตีพิมพ์รวมในหนังสือชุด “นิทานที่มีชื่อเสียงทั่วโลก” ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1949 ผลงานของเขายังได้รับการจัดรวบรวมให้อยู่ในหนังสือชุด “หนังสืออ่านสำหรับเยาวชน” ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย และยังมีฉบับแปลบางฉบับที่รัฐบาลญี่ปุ่นเก็บรักษารวมไว้ในหนังสือชุด “รวมวรรณกรรมจีนโบราณ” ซึ่งแปลโดยโอตะ ทาซูโอ๊ะและตีพิมพ์ในปี 1960 ก็เป็นอีกชุดหนึ่งที่มีค่า

รวมไปแล้วญี่ปุ่นมี ไซอิ๋ว เป็นสำนวนภาษาของตนเองถึง 30 กว่าฉบับ จัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีความคลั่งไคล้หรือเป็นแฟนของพระถังซัมจั๋ง เห้งเจียและสมัครพรรคพวกกันอย่างจริงจัง การศึกษาเรื่องไซอิ๋วบางมุมมองของนักวิชาการชาวจีนในปัจจุบันยังต้องอ้างอิงผลงานของชาวญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ

สำหรับสำนวนภาษาเกาหลี จากการสอบถามเพื่อนชาวเกาหลีผู้หนึ่งทราบว่า “ไซอิ๋ว” สำนวนภาษาเกาหลีฉบับแรกเข้าใจกันว่าเป็นฉบับที่แปลขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.1780 (ซึ่งแปลภายหลังสำนวนภาษาญี่ปุ่น 22 ปี) ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล[4]

“ไซอิ๋ว” สำนวนภาษาเกาหลีมีอยู่หลายฉบับ ทั้งที่ปรากฏในเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ในบทความที่หวัง ลีน่ากล่าวถึงแนะนำสำนวนของนักอักษรศาสตร์ชาวเกาหลีเหนือ ชื่อ อี ชูฮง ใช้ชื่อว่า “ชังพา-ซีอิ๋วจี้” (“ชังพา” เป็นนามปากกาของอี ชูฮง)[5] แปลและเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1966 เนื้อหาแต่ละบทระบุชื่อเรื่องเป็นภาษาจีนนำเป็นหัวเรื่อง เช่น บทที่ 1 ชื่อ “วานรอ๋อง” บทที่ 34 ชื่อเรื่อง “ซุนหงอคง” บทที่ 68 ให้ชื่อว่า “เมืองพัดวิเศษ” บทสุดท้าย ชื่อ “บรรลุอรหันต์” เป็นต้น ฉบับดังกล่าวมีภาพวาดประกอบ…

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เห้งเจีย ลิงในนิยายไซอิ๋ว กลายเป็นเทพที่คนจีนกราบไหว้ และแพร่เข้าไทยได้อย่างไร

คลิกอ่านเพิ่มเติม : พระถังซัมจั๋ง เล่าตำนานอุบายพระอนุชากษัตริย์แคว้นคุจี รอดโดนใส่ร้ายเล่นกามนางใน

 

หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘ไซอิ๋ว’ จากจีนสู่ต่างประเทศ ถึงเมืองไทย” โดย จรัสศรี จิรภาส (Xie Yu-bing) เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2547


เชิงอรรถ 

[3] ชื่อเฉพาะภาษาญี่ปุ่น ผู้เขียนถอดเสียงจากภาษาจีนเป็นเสียงอ่านภาษาญี่ปุ่นโดยสอบถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นในปักกิ่ง ชื่อ Hiroyuki Mochicuki นักศึกษาปริญญาโท สาขาภาษาจีนปัจจุบัน Beijing Normal University) (สัมภาษณ์ : 17 .6. 2002).

[4] เพื่อนชาวเกาหลีใต้ ชื่อ Lee Keoung Suk (นักศึกษาปริญญาเอก สาขาอักษรศาสตร์ภาษาจีน Beijing Normal University) ค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปชาวเกาหลีใต้นิยมเรื่อง “สามก๊ก” มากกว่าเรื่อง “ไซอิ๋ว” (โดยเฉพาะผู้ชายนิยมอ่านมากกว่าผู้หญิง) สำหรับเรื่อง “ไซอิ๋ว” นั้น ได้รับการกล่าวขวัญกันว่าเป็นหนังสือปรัชญาที่ไม่ใช่นวนิยายทั่วไป ผู้ที่อ่าน “ไซอิ๋ว” นอกจากรู้สึกสนุกสนานกับเนื้อเรื่องแล้ว ยังได้รับรู้ถึงเกร็ดปรัชญาอันลึกซึ้ง (สัมภาษณ์ : 28.11.2002).

[5] ชื่อผู้แต่งและชื่อหนังสือ ผู้เขียนถอดเสียงจากภาษาจีนเป็นภาษาเกาหลี โดยสอบถามเพื่อนชาวเกาหลี Lee Keoung Suk (นักศึกษาปริญญาเอก สาขาอักษรศาสตร์ภาษาจีน Beijing Normal University) (สอบถาม : 28.11.2002).


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2564