เจ้านายเล็กๆ “เล่นเป็นพระ” รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเล่น ถือเป็นพระราชนิยม

เจ้านาย เล่นเป็นพระ พระสงฆ์ สามเณร
เจ้านายเล็กๆ เล่นเป็นพระ สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เจ้านายเล็กๆ “เล่นเป็นพระ” รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเล่น ถือเป็น พระราชนิยม

ภาพถ่ายเก่าจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภาพนี้มองผ่านๆ อาจเห็นว่าเป็นเพียงภาพถ่ายเก่าพระสงฆ์ ซูมภาพกันนิดครับ…ไม่ใช่แล้ว! เด็กผู้ชายแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์? อย่าเพิ่งตกใจไปครับ มาอ่านข้อมูลกันก่อน…

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอเล่นเป็นพระ สมมุติเป็นพระราชาคณะ, พระครูฐานานุกรมกันอย่างสนุกสนาน รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเล่น ถือเป็น พระราชนิยม กล่าวกันว่าทรงเล่นกันประจำ

Advertisement

เรื่องดังกล่าวไม่แน่ใจว่ามีข้อมูลเอกสารกล่าวถึงมากน้อยแค่ไหน มีพบเพียงใน “จดหมายเหตุรายวัน” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงบอกแค่ว่า “วันนี้ไม่ได้เล่นพระ” แฟนเพจศิลปวัฒนธรรมถ้าเคยผ่านตาข้อมูลที่อื่นๆ นำมาบอกกล่าวกันได้เลยนะครับ

การที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้พระเจ้าลูกยาเธอเล่นดังนี้ พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร ป.ธ.9 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวชิรากร) ได้ให้ข้อวิเคราะห์เบื้องต้นว่า

เพื่อให้ทรงเรียนรู้ศาสนพิธีแบบจริง โดยมีการสวดมนต์จริง ซึ่งพระเจ้าลูกยาเธอ ก็ต้องสวดมนต์ได้ก่อนจึงจะให้เล่น เป็นกุศโลบายให้เด็กๆ สวดมนต์ได้ด้วย โดยสรุปคือเพียงให้ทรงแต่งตัวและทำว่าเป็นพระจริงๆ แต่ไม่ได้บวชจริง แต่ให้สวดมนต์และทำศาสนพิธีจริง จะเห็นได้ว่าเจ้านายเล็กๆ สมัยก่อนรู้คาถารู้บาลีที่พระท่านสวดมนต์กันเลยทีเดียว.

ข้อมูลจากเพจ เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ ได้เขียนเล่าเรื่องว่า ในสมัยก่อน เด็กๆ มักมีการละเล่นเตรียมบทบาทหน้าที่ต่างๆ ในสังคม ในส่วนราชสำนักนั้น ปรากฏในพระประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า

“…ทรงพอพระทัยเล่นเป็นพระ มีการครองผ้า บิณฑบาต ฉัน อนุโมทนา เทศนา ซึ่งเจ้านายสมัยนั้นพระองค์อื่น ๆ ก็ทรงพอพระทัยเล่นกัน เป็นที่ทรงพระสำราญด้วย แต่พระองค์มีแปลกกว่าเจ้านายพระองค์อื่น โดยทรงมีตาลปัตรแฉกสำหรับพระราชาคณะใช้ถือในเวลาที่ทรงเล่นเป็นพระนั้นด้วย..”

ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

จากภาพจะเห็นเจ้านาย ตามที่จะพอจำได้ องค์ซ้ายสุด คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

ส่วนชาวบ้านนั้นก็ปรากฏการเล่นอย่างพระ ทั้งการสวดคฤหัสถ์ในงานศพ หรือการสวดโอ้เอ้วิหารราย เหล่านี้เป็นการละเล่นด้วยความเคารพ จนอาจเป็นกุศโลบายให้คนไทยในสมัยก่อนไม่ห่างไปจากศาสนาก็เป็นได้ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 (จากซ้ายไปขวา) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา, พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, พระองค์เจ้าอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (ภาพจากประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2560 แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม 6 กันยายน 2564