“เจ้าพระฝาง” คือใคร? กำเนิด “ชุมนุมสุดท้าย” ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบ

เจ้าพระฝาง สวางคบุรี
เจ้าพระฝาง ที่วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ (ภาพโดย Tevaprapas ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY 3.0)

เรื่องราวการปราบชุนนุม “เจ้าพระฝาง” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สะท้อนอยู่ในบทกลอนที่เชื่อกันว่าเป็นพระราชปณิธานและน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ โดยจารึกอยู่ในศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดอรุณราชวราราม และในพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอินทาราม เขตธนบุรี มีข้อความสำคัญในบทแรกว่า

“อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก   ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา

ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา   แด่พระศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม

กรณีการเสด็จฯ ไปทรงปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ที่เมืองสวางคบุรีใน พ.ศ. 2313 มี “พวกสงฆ์อลัชชี” ได้ร่วมกับชาวหัวเมืองฝ่ายเหนือซ่องสุมกำลังและกระทำขัดต่อพระธรรมวินัยอย่างมาก ส่งผลให้พระพุทธศาสนาในหัวเมืองฝ่ายเหนือขณะนั้นหม่นหมอง ทำให้พระองค์ต้องเสด็จฯ ทรงยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม ทั้งยังโปรดให้ชำระสิกขาบทและจัดระเบียบคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือให้มั่นคงและเป็นไปตามพระธรรมวินัยด้วย…

กำเนิดชุมนุม “เจ้าพระฝาง” ที่เมืองสวางคบุรี

เมืองสวางคบุรีซึ่งเดิมตกเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 มากนัก จึงทำให้เกิดการตั้งตัวเป็นอิสระในการปกครอง ภายใต้การนำของพระพากุลเถระ พระภิกษุตำแหน่งสังฆราชาแห่งเมืองสวางคบุรี หรือที่คุ้นชื่อกันดีในนาม “เจ้าพระฝาง” ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าเมืองหรือคฤหัสถ์อย่างเช่นที่คุ้นเคยกันในประวัติศาสตร์

เจ้าพระฝาง เดิมชื่อ “เรือน” สอบเปรียญธรรมได้เป็น “มหาเรือน” เป็นภิกษุชาวเมืองเหนือ ได้ลงมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้เป็นที่พระพากุลเถระ พระราชาคณะอยู่ ณ วัดศรีอโยธยา ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งให้เป็นตำแหน่งสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี

พระพากุลเถระครั้นรู้ว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้วจึงซ่องสุมผู้คนเข้าด้วยเป็นหลายเมือง ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอีกตำบลหนึ่ง แต่หาสึกเป็นคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่า “เจ้าพระฝาง” บรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป ก็เกรงกลัวนับถืออยู่ในอำนาจทั้งสิ้น ประกอบกับเจ้าพระฝางได้อาศัยเหตุหัวเมืองฝ่ายเหนือว่างผู้ปกครอง เพราะเจ้าเมืองต้องมาติดศึกในกรุงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า

ในขณะเดียวกันท่านคงมีผู้นับถือศรัทธามาก ด้วยมีตำแหน่งเป็นถึงพระสังฆราชาและเก่งทางด้านวิทยาคมมาก การห่มผ้าสีแดงคงเป็นสิ่งที่ท่านพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นพระภิกษุแล้ว แต่ยังเคร่งครัดในศีลบางข้อและยังไม่มีภรรยา อีกประการหนึ่งก็เพื่อสร้างความเชื่อถือในหมู่ศิษย์ว่า อาจารย์ยังยึดหลักพุทธศาสนาอยู่ เรียกว่าใช้ศาสนาเป็นรัฐธรรมนูญในการบริหารบ้านเมือง แต่ไม่ได้เป็นพระ ท่านมีความรู้เรียนเก่ง คงไม่ทำให้ผู้คนที่ศรัทธาในตัวท่านได้รับความละอายเป็นแน่

ที่สำคัญคือ เจ้าพระฝางน่าจะอาศัยอำนาจที่เกิดขึ้นจากพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี เพราะแม้ว่าภายหลังจะตีเมืองพิษณุโลกได้ก็มิได้ย้ายศูนย์อำนาจลงมายังเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีกำแพงเมือง ค่ายคูและประตูหอรบมั่นคง สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของเจ้าพระฝางนั้นผูกพันอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาธาตุที่เมืองสวางคบุรี และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของเจ้าพระฝางเอง แกนกลางของชุมนุมเจ้าพระฝางก็คงเป็นคนในแถบเมืองสวางคบุรีที่ให้ความนับถือ ส่วนที่มีอำนาจมากนั้นก็คงเพราะมีชุมนุมท้องถิ่นอื่นๆ เข้าร่วมด้วยมาก

ด้วยเหตุผลนี้จึงมีชาวบ้านจำนวนมากเข้ามาพึ่งพาอาศัยอยู่กับเจ้าพระฝาง เพื่อหลบหนีภยันตรายจากกองทัพพม่าที่ยกมาลาดตระเวนตามบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพระสงฆ์เข้ามาร่วมเป็นแม่ทัพนายกองในกองทัพเจ้าพระฝางด้วย

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า “เจ้าพระฝางตั้งแต่งนายทัพนายกองแต่พื้นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คือพระครูคิริมานนท์ 1 พระครูเพชรรัตน 1 พระอาจารย์จันทร์ 1 พระอาจารย์ทอง 1 พระอาจารย์เกิด 1 แต่ล้วนเปนอลัชชีมิได้ลอายแก่บาปทั้งนั้น” แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ในหัวเมืองฝ่ายเหนือจำนวนไม่น้อยได้เข้าร่วมกับเจ้าพระฝาง ซึ่งพระสงฆ์กลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นหัวหน้าชุมนุมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วก็มาเข้ากับเจ้าพระฝางในภายหลัง จึงทำให้ชุมนุมเจ้าพระฝางกลายเป็นชุมนุมที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ และสามารถเอาตีชุมนุมเจ้าพิษณุโลกได้

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีเจ้าเมืองแพร่เข้าร่วมกับชุมนุมเจ้าพระฝางด้วย เพราะปรากฏหลักฐานว่าเจ้าเมืองแพร่ซึ่งในหลักฐานเรียกว่า “เมืองไชย” ก็เข้าด้วยกับเจ้าพระฝาง

อย่างไรก็ตาม เมืองไชยผู้นี้กลับมาอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในภายหลัง ดังปรากฏในคำโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี

เมื่อพิจารณาจากผู้นำและศูนย์กลางชุมนุมในแต่ละแห่ง ก็จะเห็นได้ว่าชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมที่มีพัฒนาการมาจากเมืองที่ค่อนข้างมีอำนาจทางการปกครองภายใต้ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มชุมนุมที่ตั้งตนเป็นใหญ่หลังกรุงศรีอยุธยาสิ้นอำนาจ

อย่างไรก็ดี ชุมนุมเจ้าพระฝางตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยหลังสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ภาพของชุมนุมเจ้าพระฝางที่ไม่มีความหมายเท่าไรนัก เพียงแต่หัวหน้าที่เป็นพระสงฆ์คิดทะเยอทะยานอยากตั้งตัวเป็นใหญ่ในแผ่นดินโดยปราศจากความชอบธรรม ในที่สุดจึงถูกปราบปรามลงได้อย่างราบคาบ

แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่งว่า ชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบได้ เป็นชุมนุมที่สามารถรวบรวมเอาชุมนุมเมืองพิษณุโลกเข้าไว้ได้ บริเวณอิทธิพลของชุมนุมนี้จึงประมาณเท่าๆ กับดินแดนที่เคยเป็นเขตเมืองเหนือหรือแคว้นสุโขทัยแต่เดิมนั่นเอง จำนวนพรรคพวกผู้คนในดินแดนแห่งนี้จึงมีมาก จนยากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงปราบปรามลงได้

การขยายอำนาจของชุมนุมเจ้าพระฝาง

ภายหลังที่ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาล่มสลายแล้ว ก็เกิดการตั้งชุมนุมต่างๆ ขึ้นหลายแห่งตามหัวเมือง เช่น ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ชุมนุมเจ้าพิมาย และชุมนุมเจ้าพิษณุโลก เป็นต้น ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีพระยาตากรวบรวมกำลังพลขับไล่กองทัพกรุงอังวะที่เหลืออยู่บางส่วนออกไปได้ แล้วสถาปนาศูนย์อำนาจรัฐขึ้นมาใหม่ที่เมืองธนบุรี และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามที่จะขยายอำนาจเพื่อรวบรวมดินแดนของกรุงศรีอยุธยาเดิมให้กลับมาอยู่ใต้ศูนย์อำนาจรัฐของพระองค์ ได้ทรงนำกำลังออกปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระตามภูมิภาคต่างๆ ภายหลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา โดยเลือกที่จะปราบชุมนุมพิษณุโลกเป็นแห่งแรกใน พ.ศ. 2311 ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือมีกำลังพลอยู่มาก หากปราบปรามได้ก็จะสามารถใช้เป็นกำลังหลักในการทำสงครามขยายอำนาจของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีได้

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า “เสด็จยกพลนิกรดำเนินทัพ สรรพด้วยโยธาทหารใหญ่น้อยขึ้นไปปราบเมืองพิสณุโลกยถึงตำบลเกยไชย พญาพิศณุโลกยรู้ประพฤติเหตุ แต่งพลทหารให้หลวงโกษา (ยัง) ยกออกมาตั้งรับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำพลทั้งปวงเข้ารณรงค์ด้วยข้าศึกครั้งนั้น ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝน ต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไป จึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรีย์”

ความในพระราชพงศาวดารได้แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยอำนาจของเมืองพิษณุโลกก็ขยายลงไปถึงบริเวณตำบลเกยไชย ซึ่งปัจจุบันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เหนือเมืองนครสวรรค์ขึ้นมาเล็กน้อย และแสดงให้เห็นถึงจำนวนกำลังพลและอาวุธของเมืองพิษณุโลกว่ามีประสิทธิภาพไม่น้อย จนทำให้กองทัพกรุงธนบุรีต้องถอยทัพกลับไป

ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็มีความพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจท้องถิ่นของเมืองพิษณุโลกซึ่งเคยเป็นศูนย์อำนาจรัฐสุโขทัยและเป็นศูนย์กลางอำนาจในหัวเมืองฝ่ายเหนือมาแต่เดิม ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า หูซื่อลู่ (พิษณุโลก) ได้มีพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้ากรุงจีน เพื่อขอให้พระองค์ยอมรับตนเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมที่สวรรคตในระหว่างสงคราม และได้ต่อต้านรัฐที่สถาปนาโดยเจิ้นเจ้า (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) จนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พระจักรพรรดิจีนไม่ยอมรับสถานะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของกรุงศรีอยุธยา เพราะพระองค์ยังไม่สามารถปราบปรามรัฐอิสระเล็กๆ ได้

ดังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้เมืองพิษณุโลกจะสามารถต่อต้านการโจมตีของกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ แต่ก็ยังมีกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งมีเจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นผู้นำ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นเมืองบริวารเมืองหนึ่งของเมืองพิชัย เดิมมีอำนาจเหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปจนถึงเมืองน้ำปาด กระทั่งแดนลาว และพยายามแข่งขันอำนาจกับเจ้าพระยาพิษณุโลกด้วย ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับภาษามคธระบุว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกได้กรีธาพลใหญ่ไปรบกับกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางถึง 3 ครั้ง แต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน

ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่าเจ้าพระฝางได้ “…จัดแจงกองทัพยกลงมาตีเมืองพระพิศณุโลก ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากน้ำ แลเจ้าพิศณุโลกยกพลทหารออกต่อรบเปนสามารถ ทัพฝางจะหักเอาเมืองมิได้ แต่รบกันอยู่ประมาณหกเดือน ทัพฝางก็พากันเลิกกลับไปเมือง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าชุมนุมเจ้าพระฝางก็มีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงมาทางใต้เช่นกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องการเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงดูผู้คนในชุมนุมก็เป็นได้

ต่อมาเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็ถึงแก่พิราลัย พระอินทร์อากรซึ่งเป็นน้องชายเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ขึ้นครองเมืองแทน แต่พระอินทร์อากรนั้นเป็นคนไม่มีความสามารถในการสงคราม กองทัพเจ้าพระฝางจึงลงมาตีเมืองพิษณุโลกอีกครั้ง ต่อรบต้านทานอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน ชาวเมืองไม่สู้รักใคร่นับถือ ก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมือง เปิดประตูเมืองรับข้าศึกในเวลากลางคืน กองทัพเจ้าพระฝางก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระอินทร์อากร

เจ้าพระฝางให้ประหารชีวิตเสียแล้วเอาศพขึ้นประจานไว้ในเมือง จึงให้เก็บเอาทรัพย์สิ่งของทองเงินต่างๆ ของเจ้าเมืองกรมการและชาวเมืองทั้งปวงได้เป็นอันมาก ให้ขนเอาปืนใหญ่น้อยและกวาดต้อนครอบครัวอพยพชาวเมืองพิษณุโลกขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับไปเมือง และยังมีชาวเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตรที่แตกหนี พาครอบครัวอพยพลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ กรุงธนบุรีเป็นอันมากด้วย

เมื่อพระอินทร์อากรถูกประหารชีวิตก็ถือว่ากลุ่มอำนาจท้องถิ่นเดิมของเมืองพิษณุโลกก็ล่มสลายลง พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า “ขณะนั้นบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวงนั้น ก็เป็นสิทธิแก่เจ้าพระฝางทั้งสิ้น” เจ้าพระฝางได้มอบหมายให้หลวงโกษา (ยัง) อดีตแม่ทัพคนสำคัญของเจ้าพระยาพิษณุโลกและทหารส่วนหนึ่งทำหน้าที่คอยส่งข่าว สกัดทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและรักษาเมืองพิษณุโลก

เป็นอันว่าเมืองสวางคบุรีของเจ้าพระฝางมีอำนาจปกครองบริเวณหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมด และมีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงทางใต้เรื่อยๆ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า

“ลุศักราช 1132 (พ.ศ. 2313) ปีขาลโทศก ถึง ณ เดือนหก ฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้น ประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา กับทั้งพวกสงฆ์อลัชชี ซึ่งเป็นนายทัพนายกองทั้งปวงนั้น แลชวนกันกระทำมนุษย์วิคหฆาตกกรรมปาราชิก แล้วยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตรอยู่ หาละจากเพศสมณะไม่ แล้วเกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาเข้าปลาอาหาร และเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล จนถึงเมืองอุทัยธานีเมืองชัยนาท และราษฎรหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตได้ความเคืองแค้นขัดสนนัก…”

จากข้อความในพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า เจ้าพระฝางได้ส่งทหารลงไปลาดตระเวนและตีเอาเสบียงอาหารจากราษฎรจนถึงเขตเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท และมีความพยายามที่จะตระเวนลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเพื่อสังเกตการณ์กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และคงหมายจะส่งกองทัพลงไปตีกรุงธนบุรี ซึ่งส่งผลถึงความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงปราบปรามให้จงได้…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก“ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. ๒๓๑๓ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ ‘พวกสงฆ์อลัชชี’ ที่เมืองสวางคบุรี” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566