สวางคบุรีแตก! อวสานเจ้าพระฝาง พระเจ้าตากสินปราบชุมนุมสุดท้ายรวมแผ่นดินสยาม

ตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝาง นั่งเปล ทหารหามหลบหนี
"ตีเมืองสวางคบุรี" ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมนุมเจ้าพระฝาง ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร เชียนโดย หลวงฤทธิจักรกำจร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในภาพวาดเจ้าพระฝางนั่งเปลให้ทหารหามหลบหนีออกจากเมือง

เมื่อทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็เกิดการต่อสู้กันเป็นกำลังระหว่างกองทัพพระยายมราช และพระยาพิชัยราชา กับกองทัพ เจ้าพระฝาง

กองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ตั้งค่ายล้อมเมืองสวางคบุรีไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้ยิงปืนใหญ่น้อยต่อสู้กัน โดยที่ฝ่ายเมืองสวางคบุรีนั้นมีเพียงระเนียดไม้ขอนสักทำเป็นกำแพงเท่านั้น ไม่ได้เป็นกำแพงอิฐหรือคันดินสูงเหมือนเมืองใหญ่หลายเมืองในลุ่มแม่น้ำน่าน

กองทัพบกของของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาเมื่อมาถึงเขตเมืองสวางคบุรีนั้น สันนิษฐานว่าได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่บริเวณที่เรียกว่า “หัวไผ่หลวง”

อ่าน ลั่นกลองรบ! สงครามปราบก๊กเจ้าพระฝาง แห่งสวางคบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (คลิก)

กาลอวสานแห่งอำนาจของ เจ้าพระฝาง

กองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชา เมื่อยกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรีก็เข้ามาล้อมเมืองไว้ พวกชาวเมืองเห็นกองทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีกำลังสามารถ ก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าหาญดังแต่ก่อน เจ้าพระฝางเห็นเหลือกำลังที่จะรบพุ่งเอาชัยชนะได้จึงทิ้งเมือง หลบหนีไปในความมืดท่ามกลางสงคราม พร้อมด้วยลูกช้างพังเผือก ดังปรากฏสถานการณ์ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

“…เจ้าพระฝางก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาเชิงเทินรอบเมืองยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง ขณะนั้นช้างพังช้างหนึ่งอยู่ในเมืองตกลูกเป็นพังเผือกสมพงศ์ และเจ้าพระฝางจึงว่าช้างเผือกนี้มิได้บังเกิดเป็นของคู่บุญของเรา เกิดเป็นพาหนะสำหรับบุญแห่งท่านทัพใต้ซึ่งยกขึ้นมานั้น ก็ยิ่งคิดเกรงกลัวพระบารมียิ่งนัก และสู้รบอยู่ได้สามวัน เจ้าพระฝางก็พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองในกลางคืนไปข้างทิศเหนือ พวกทหารก็นำเอาลูกช้างเผือกกับทั้งแม่ช้างพาหนีไปด้วย กองทัพกรุงก็เข้าเมืองได้ แล้วแต่งคนถือหนังสือบอกลงมายังทัพหลวง ณ เมืองพระพิษณุโลก

จะเห็นได้ว่า ในขณะนั้นช้างพังเชือกหนึ่งของเจ้าพระฝาง ตกลูกเป็นช้างพังเผือกตัวหนึ่ง เจ้าพระฝางคิดเห็นว่าช้างเผือกเกิดขึ้นในเวลาข้าศึกล้อมเมืองเป็นของเกิดสำหรับบุญบารมีข้าศึกก็ยิ่งท้อใจ ต่อสู้อยู่ได้ 3 วันก็พาสมัครพรรคพวกยกออกจากเมืองในเวลากลางคืนตีหักหนีไปข้างทิศเหนือ

ในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงเหตุการณ์ศึกเมืองสวางคบุรีว่า “…ปีขาล โทศก ไปตีเมืองสวางคบุรี พระฝางมีช้างเผือกลูกบ้านออก ยังไม่จับหญ้า รู้ว่าทัพเมืองใต้ยกขึ้นไปจะรบเอาช้างเผือก จึ่งเสี่ยงหญ้าว่าช้างนี้คู่บุญเมืองเหนือ ให้รับหญ้าเมืองเหนือ คู่บุญเมืองใต้ ให้รับหญ้าเมืองใต้ รับหญ้าเมืองใต้ พอทัพถึงเข้าตีได้เมือง พระฝางพาช้างหนี…”

ต่อมาข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จฯ จากเมืองพิษณุโลกไปได้ 3 วัน ก็ได้รับใบบอกว่าตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว จากนั้นก็รีบเสด็จขึ้นไปทันที

“วันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เพลา 2 โมงเช้า ยกทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค ประทับรอนแรมไปได้ 3 เวน พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้”

เป็นอันว่ากองทัพเมืองสวางคบุรีของ เจ้าพระฝาง ได้แตกพ่ายในคืนวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 พ.ศ. 2313

ส่วนเรื่องการได้ช้างเผือกนั้น ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า “ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 9 หลวงคชชาติกองพญาอินท์วิชิต จับได้นางช้างพญามงคลเสวตคชสารศรีเมืองตัวประเสริฐ นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาพระราชทานบำเหน็จโดยสมควร” แต่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า หลวงคชศักดิ์กับกองพระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองวิเศษไชยชาญ จับได้นางพระยาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐ

มีการจับลูกช้างพังเผือกได้ที่ป่าน้ำมืด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาให้สมโภช “นางพระยาเศวตมงคลคชสาร” และให้พังหมอนเป็นแม่นม ดังปรากฏในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่า “…ติดตามไปพบช้าง อยู่ชายป่าแม่น้ำมืด ได้มาถวาย รับสั่งสมโภชนางพระยาแล้ว…ให้พลายแหวนเป็นพญาปราบ พังหมอนเป็นแม่นมนางพญา…” 

ในประเด็นการจับได้ลูกช้างพังเผือกนี้ เดิมทีเคยมีผู้สันนิษฐานว่าไม่สามารถจับลูกช้างเผือกได้ ตามจับได้แต่แม่ช้างเท่านั้น โดยใช้คำเรียกกลบความสำคัญลูกช้างพังเผือกที่ไม่ได้มาว่า “นางพระยาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐ” โดยมิได้กล่าวถึงลูกช้างพังเผือกที่ไม่ได้คืนมาเลย

แต่เมื่อพิจารณาข้อความจากจดหมายความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีแล้ว ก็จะเห็นว่ามีการตั้งพังหมอนเป็นแม่นมนางพระยาช้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “นางพระยาช้าง” หรือ “นางช้าง” ในพระราชพงศาวดารนั้นน่าจะเป็นลูกช้างตัวเมียมากกว่า แต่การที่เรียกว่านางพระยาช้างนั้น น่าจะเรียกตามยศศักดิ์ของลูกช้างพังเผือกที่ได้รับพระราชทานหลังการสมโภชแล้วมากกว่า เพราะพระราชพงศาวดารที่ปรากฏก็ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น

ลูกช้างพังเผือกนี้ภายหลังได้ลงแพล่องไปกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า “แล้วเสด็จกรีธาทัพหลวงกลับ ให้รับนางพระยาเศวตรกริณีลงแพล่องลงมายังกรุงธนบุรี ให้ปลูกโรงรับ ณ สวนมังคุดแล้ว ให้มีงานมหรสพสมโภชสามวัน” ลูกช้างพังเผือกนี้คงได้สมโภชขึ้นเป็นช้างเผือกสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเชือกหนึ่งด้วย

การหาตัวเจ้าพระฝางไม่พบนั้น บ้างก็ว่าท่านหนีไปอยู่เมืองแพร่ บ้างก็ว่าท่านเดินทางต่อไปยังเมืองน่านและไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสวางคบุรียังมีสภาพหรือฐานะเป็นเมืองด่านที่ควบคุมเส้นทางคมนาคม ที่จะต่อไปยังเมืองน่านและบรรดาเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขง ในแถบเมืองหลวงพระบางด้วย อาจกล่าวได้ว่าตำแหน่งที่เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่นี้ อยู่ในบริเวณตอนเหนือสุดของลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง

ซึ่งในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ก็เคยได้มีเจ้านายทางล้านช้างบางองค์เมื่อถูกขับไล่ก็จะหนีมาขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองน่าน ในเวลาเดียวกันถ้าเจ้าเมืองน่านมีศึกจวนตัว ก็จะหลบภัยไปขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองล้านช้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จฯ เมืองสวางคบุรีในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ก็มีพระราชดำรัสว่า “…ถ้าหากว่าดูเดี๋ยวนี้เมืองฝางไม่น่าจะเปนเมืองใหญ่โตอันใด ฤๅจะเปนที่มั่นรับศึก เว้นไว้แต่ผู้ที่ตั้งตัวนั้นคิดจะคอยหนีไปเมืองลาว เพราะระยะทางตั้งแต่เมืองฝางขึ้นไปจนถึงเมืองผาเลือก ซึ่งเปนต้นทางจะเดินบกไปเมืองน่าน แลเข้าแขวงเมืองน่านแล้วนั้นเพียง 500 เส้น…” จึงมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพระฝางจะหลบหนีขึ้นไปทางเมืองน่าน และอาจข้ามต่อไปทางดินแดนล้านช้าง

แต่ตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นเมืองสวางคบุรีซึ่งมีผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า เจ้าพระฝางพยายามหนีขึ้นเหนือ แต่ก็ไปมรณภาพที่ภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งคั่นกลางระหว่างอุตรดิตถ์กับเมืองแพร่ ภูเขาลูกนั้นได้มีชื่อในภายหลังว่า “ขุนฝาง” มาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพระฝางอาจจะหลบหนีไปในเขตล้านช้าง ตามลุ่มแม่น้ำปาด ข้ามแดนทางด่านภูดู่ไปทางเมืองปากลาย เนื่องจากข้อความในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่ามีการพบลูกช้างพังเผือกอยู่บริเวณชายป่าแม่น้ำมืด ซึ่งบริเวณป่าน้ำมืดนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี ในเส้นทางที่สามารถออกไปด่านภูดู่ได้

นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงสันนิษฐานว่า มีพวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเมืองเชียงใหม่ด้วย

สาเหตุที่กองทัพเจ้าพระฝางพ่ายแพ้ต่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างง่ายดายนั้น นอกจากจะมีกำลังพลที่น้อยกว่า และขาดอาวุธที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีนักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า กองทัพเจ้าพระฝางซึ่งแม้จะตีพิษณุโลกได้แล้ว ก็มิได้ย้ายศูนย์อำนาจจากเมืองสวางคบุรีมาตั้งมั่นที่เมืองพิษณุโลก เพราะอำนาจปาฏิหาริย์ของเจ้าพระฝาง หัวหน้าชุมนุมผูกพันอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุเมืองฝางซึ่งผู้คนนับถือมาก จึงทำให้ชุมนุมนี้มีคนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ขาดระเบียบและการบริหารที่ดี เมื่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกมาตี จึงแตกโดยง่าย

ในขณะที่ อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์ ได้ให้เหตุผลในความพ่ายแพ้ของกองทัพเจ้าพระฝางเพิ่มเติมว่า สภาพเมืองสวางคบุรีที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดินเท่านั้น ไม่อาจทนต่อไฟที่ถูกนำมาเผาได้

หากจะวิเคราะห์สาเหตุโดยสรุป ก็คงเป็นเพราะว่ากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีผู้นำเป็นนักรบโดยแท้ และมีนักรบมืออาชีพมากมาย ส่วนกองทัพของเจ้าพระฝางมีผู้นำเป็นนักบวช ผู้คนที่เข้าร่วมนั้นส่วนใหญ่ก็เพราะเลื่อมใสในเรื่องคาถาอาคม หรือเรื่องไสยศาสตร์ ผู้นำระดับล่างของกองทัพส่วนใหญ่ก็เป็นนักบวช เช่น พระครูคิริมานนท์ พระครูเพชรรัตน์ พระอาจารย์จันทร์ พระอาจารย์ทอง และพระอาจารย์เกิด เป็นต้น จึงไม่อาจจะสู้กองทัพที่มีการจัดการโดยนักรบที่แท้จริงได้ จนนำมาซึ่งการล่มสลายของชุมนุมเจ้าพระฝาง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่า การปราบกลุ่มผู้ถืออำนาจของชุมนุมเจ้าพระฝางในทางทหารนั้น ทำได้ไม่ยากนัก เพราะเมื่อขาดการบริหารภายในที่ดี เจ้าพระฝางก็ย่อมไม่สามารถจัดทัพใหญ่มาต่อต้านกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ ฉะนั้นใน พ.ศ. 2313 เมื่อเสด็จยกกองทัพขึ้นไปทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ยังไม่ทันที่ทัพหลวงซึ่งเดินทางโดยทางเรือจะขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ได้ข่าวจากทัพหน้าว่าตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว

ผลของการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสามารถปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางได้เป็นชุมนุมสุดท้าย อาจกล่าวได้ว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมดินแดนในอิทธิพลของเจ้าพระฝางได้นั้น เท่ากับว่าทรงสามารถรวบรวมดินแดนอันเป็นขอบเขตของราชอาณาจักรสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ทั้งหมด

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสามารถตีเมืองสวางคบุรี ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางได้สำเร็จ ทั้งยังได้ลูกช้างพังเผือก ทรงชำระสิกขาบทคณะสงฆ์ฝ่ายเหนือ และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในแผ่นดิน นอกจากจะเป็นการยกสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ที่รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยอันเป็นเขตขอบขัณฑสีมาของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาได้ดังเดิมแล้ว ยังเป็นการยกฐานะความเป็น “พระจักรพรรดิราชผู้ทรงธรรม” และทำให้ได้รับการรับรองสถานะความเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ จากพระเจ้ากรุงจีนในเวลาต่อมาอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก “ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. ๒๓๑๓ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ ‘พวกสงฆ์อลัชชี’ ที่เมืองสวางคบุรี” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566