เจาะ “พระเจ้าตากสินล่องหน หลบท่อนจันทน์” ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน และข้อมูลแนวจินตนิยาย

พระเจ้าตากสิน เข้าตีกองทหารพม่า ค่ายโพธิ์สามต้น จิตรกรรมฝาผนัง ท้องพระโรงกรุงธนบุรี
"พระเจ้าตากทรงรวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองตะวันออก เข้าตีกองทหารพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น" จิตรกรรมฝาผนังภายในท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

พระเจ้าตากสิน ล่องหน หลบท่อนจันทน์ ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน และข้อมูลแนวจินตนิยาย

เรื่องความสับสนเกี่ยวกับประเด็นการสวรรคตของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แต่ละคนได้รับรู้กันมา บางกระแสว่า พระเจ้าตากสิน ยังมิได้ทรงถูกประหารเมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดิน โดยนำเสนอข้อมูลว่าพระเจ้าตากสินได้เสด็จฯ ไปทรงผนวชและบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ที่อำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช บ้างก็ว่าถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์เมื่อวัน 6 เมษายน 2325 บ้างก็ว่าทรงถูกประหารชีวิตโดยการตัดพระศอถึงแก่พิราลัย ซึ่งคำว่าพิราลัยนั้นเป็นการถวายพระเกียรติยศเพียงเสมอเจ้าประเทศราชเท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ (บทความเผยแพร่ในนิตยสารเมื่อ 2551 – กองบรรณาธิการ) ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ชุดบันทึกแผ่นดิน ตอนเหตุเกิดในสยาม ของโรม บุนนาค ซึ่งในคำนำผู้เขียน บรรทัดสุดท้ายบอกว่า “และนี่ก็คือ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วในสยาม” ในเรื่องที่หนึ่งของเหตุเกิดในสยามนั้นสะดุดตาข้าพเจ้ามาก นั่นก็คือ เรื่อง “พระเจ้าตากสินล่องหน หลบท่อนจันทน์” จึงขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคน

โดยความในช่วงแรกท่านได้กล่าวโดยสรุปว่าในปลายรัชสมัยพระเจ้าตากสิน หลังเสร็จศึกใหญ่กับอะแซหวุ่นกี้แล้ว พระเจ้าตากสินมิได้เสด็จนำทัพอีกเลย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ พระองค์ทรงฝักใฝ่ในธรรมวิปัสสนากรรมฐาน จนถึงขั้นคิดว่าบรรลุโสดาบัน บังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้ สงฆ์องค์ใดไม่กราบไหว้ก็ให้เอาไปเฆี่ยนตีทั้งผ้าเหลือง อาณาประชาราษฎร์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าด้วยพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม

พระยาสรรค์เป็นกบฏจับพระเจ้าตากสินคุมขัง เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์กลับจากศึก จับพระยาสรรค์ประหาร บรรดาอาณาประชาราษฎร์และข้าราชการเสนาบดีทั้งปวงจึงพร้อมกันอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์แล้วพิพากษาโทษพระเจ้าตากสินโดยการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์

จากเนื้อหาข้างต้น โรม บุนนาค อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกให้ศึกษาเล่าเรียนกันต่อมา ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เชื่อโดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช กลับค้านว่าพระเจ้าตากสินไม่ได้ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์แต่หลบมาจำศีลอยู่ ณ วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยอ้างหลักฐานหลายอย่าง อาทิ เรื่องที่เล่ากันปากต่อปากสืบทอดกันมาถึงความเชื่อดังกล่าว การขุดพบพระพุทธรูปทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ และภาชนะจานชามที่มีลวดลายสวยงาม ซึ่งไม่น่าจะเป็นของชาวบ้านธรรมดา และจากคำบอกเล่าของคุณสมจิตร ทองสมัคร ผู้ดูแลพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนม

จากคำบอกเล่าของ คุณสมจิตร ทองสมัคร พอสรุปได้ว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกนั้นพม่าได้กวาดเอาทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมด การจะสร้างกรุงธนบุรีขึ้นมาใหม่จึงต้องกู้ยืมทรัพย์สินเงินทองจากชาวจีนซึ่งคิดว่าพระเจ้าตากสินทรงเป็นจีนเหมือนกัน ทำให้ทรงตกเป็นหนี้จำนวนมากไม่สามารถชดใช้คืนได้หมดและกำลังถูกเร่งรัดอย่างหนัก จึงดำริยกราชสมบัติให้แก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแล้วพระองค์จะทรงแสร้งว่าเป็นคนวิกลจริต หรือคนบ้าเพื่อให้สัญญากู้เงินทั้งหลายเป็นโมฆะเหตุเพราะผู้กู้ถึงแก่วิกลจริต หนี้สินจะมิตกแก่ทายาท เหตุที่ทรงจะยกราชสมบัติให้แก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งที่จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้มากกว่าพระราชโอรสของพระองค์เอง

ถึงตรงนี้แสดงว่า พระเจ้าตากสิน ทรงมีเจตนามอบราชสมบัติให้แก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกโดยไม่ประสงค์จะมอบให้โอรสองค์ใดทั้งสิ้น

จากนั้นคุณสมจิตรยังเล่าต่อว่า เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์สองพี่น้อง พร้อมด้วย พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเขมรแล้วพระเจ้าตากสินก็ทรงออกอาการวิปลาส โดยทรงเรียกประชุมสงฆ์แล้วถามว่า เมื่อพระองค์ทรงบรรลุโสดาบันแล้วแต่พวกท่านยังไม่บรรลุ พระอย่างท่านจะไหว้ฆราวาสอย่างเราได้หรือไม่ สงฆ์ที่เกรงอาญาก็จะตอบว่าได้ ส่วนองค์ไหนที่ไม่ยอมก็ให้เอาไปเฆี่ยน แต่ก็เล่ากันว่าพวกที่ถูกเฆี่ยนนั้นล้วนเป็นนักโทษห่มเหลืองทั้งสิ้น

ถึงตรงนี้แสดงว่าอาการสัญญาวิปลาสของพระเจ้าตากสินนั้นเกิดจากการเสแสร้งของพระองค์เอง เพื่อที่จะให้คนทั่วไปเข้าใจว่าทรงวิกลจริตไปแล้ว และพระที่ถูกเฆี่ยนคือนักโทษ มิใช่พระจริง

พระอาการวิปลาสต่างๆ ของพระเจ้าตากสินทำให้พระยาสรรค์ซึ่งไม่รู้แผน บังคับพระเจ้าตากสินซึ่งทรงผนวชอยู่ ให้ทรงลาผนวชแล้วจองจำไว้ แจ้งข่าวให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรีบกลับมา จนสำเร็จโทษพระเจ้าตากสินด้วยท่อนจันทน์ แล้วอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

หลังจากนั้นอีก 4 วัน ก็มีสำเภาลำหนึ่งออกจากกรุงธนบุรี มีคน 10 คน ไปขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราชแล้วเดินทางต่อด้วยช้างไปยังวัดเขาขุนพนมโดยมีผู้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดไปด้วย ซึ่งต่อมาก็ได้ล้มหายตายจากกันไป ตลอดจนพระองค์เองก็สวรรคตในอีก 4 ปีต่อมา ด้วยโรคไข้ป่า ประทับอยู่ ณ วัดเขาขุนพนมนาน 4 ปี มีผู้เขียนหนังสือไว้หลายเล่มด้วยกัน เช่น แม่ชีวรมัย กบิลสิงห์ หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ โดยบางเล่มถึงกับระบุว่าคนในกระสอบที่ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์คือนายมั่น เพราะคนไทยสมัยนั้นรักชาติมากยอมตายเพื่อชาติได้

ถึงตอนนี้แสดงว่าอาการสัญญาวิปลาสเป็นที่รู้กันว่าเป็นแผนระหว่างพระเจ้าตากสินกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ส่วนพระยาสรรค์ไม่รู้ มีนายมั่นเป็นอาสาสมัครตายแทนพระเจ้าตากสิน ส่วนพระองค์นั้นเสด็จฯ โดยเรือสำเภาไปยังนครศรีธรรมราช ทรงผนวช บำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ ณ วัดเขาขุนพนม ตลอด 4 ปี จนสวรรคต ด้วยไข้ป่า

หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่คุณสมจิตรอ้างถึงคือเพลงกล่อมเด็กที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในหมู่คนนครศรีธรรมราชว่า

“สงสารเอ๊ย สงสารแป๊ะหนวดยาวเราสิ้นทุกข์
เอาศพใส่โลงดีบุก ค้างไว้ในดอนดง
ลูกเจ้าจอมหม่อมหลัด (ปลัด) เอ๊ย มาช่วยถือฉัตรถือธง
ค้างไว้ในดอนดง ก่อนปลงบนเมรุใหญ่เอย”

นัยว่าจากเพลงนั้นแป๊ะหนวดยาวคือพระเจ้าตากสินนั่นเอง เมื่อสวรรคตแล้วได้นำพระบรมศพใส่ไว้ในโลงดีบุก ทิ้งไว้ในป่า แล้ว โรม บุนนาค ก็โยงเรื่องเข้ากับตระกูล ณ นครว่า เจ้าพระยานครคนสุดท้าย คือเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้น เป็นโอรสของพระเจ้าตากสินกับหม่อมปรางค์ มิใช่ลูกของเจ้าพระยานคร (พัด) กับหม่อมปรางค์ เพราะหม่อมปรางค์ได้ตั้งครรภ์มาแต่ธนบุรีแล้ว และในพิธีฌาปนกิจศพเจ้าพระยานคร (น้อย) มีโลงศพตั้งบนเมรุ 2 โลง

ถ้าเขียนอย่างนี้ก็ให้เข้าใจตามเพลงกล่อมเด็กว่า อีกโลงคือโลงของพระเจ้าตากสินนั่นเอง และได้มีการนำอัฐิหักจากโลงนั้นบรรจุไว้ในเจดีย์องค์หนึ่ง เรียกว่า “เจดีย์ดำ” มีรูปพระเจ้าตากสินตั้งอยู่หน้าเจดีย์และมีผู้คนกราบไหว้กันไม่ขาดสาย

สุดท้าย โรม บุนนาค กล่าวว่า นี่คือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ ฉบับชาวบ้าน” ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่ทำให้ชาวบ้านไม่เฉพาะชาวนครศรีธรรมราชเท่านั้นที่เชื่อแบบนี้ คนภาคกลางหลายกลุ่มก็เชื่ออย่างนี้ จากข้อมูลทั้งหมดของ โรม บุนนาค ผมขอแสดงความคิดเห็น ดังนี้

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง พระเจ้าตากสิน กับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

ในทางการเมืองแล้วพระเจ้าตากสินกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมีความคิดเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิงโดยเฉพาะเรื่องโบราณราชประเพณีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแต่งตั้งขุนนางเข้ารับราชการคู่บัลลังก์ พระเจ้าตากสินทรงละเลยในการสร้างปราสาทราชวัง และพระราชประเพณีสำคัญต่างๆ ย่อมเป็นเหตุให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทั้งในความรู้สึกและในทางการเมือง ในสมัยนี้จึงคงเหลือแต่ “กษัตริย์” ที่เป็น “บุคคล” เท่านั้น (ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. มติชน, 2547, น. 6)

พระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งสหายร่วมรบซึ่งเป็นไพร่ขึ้นรับตำแหน่งสูงๆ ในทางราชการ ซึ่งแนวคิดนี้ขัดแย้งกับกลุ่มขุนนางที่เป็นผู้ดีเก่าอยุธยา อย่างเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มนี้อยู่

โดยขุนนางกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องเชื้อสายเป็นอันมาก และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน โดยพระเจ้าตากสินเองก็ทรงทราบดี จึงคิดจะกำจัดเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสียโดยการรับสั่งให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นไปขัดทัพที่เพชรบูรณ์ในฤดูฝนโดยหวังให้ตายเพราะไข้ป่า แต่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็รอดมาได้ พระเจ้าตากสินจึงทรงเปลี่ยนแนวความคิดใหม่หันมาใช้วิธีการเกี่ยวดองเป็นเครือญาติโดยการขอบุตรีของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกชื่อ “คุณฉิม” มาเป็นพระมเหสีเอก จากที่กล่าวมาความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์จึงออกมาในทางขัดแย้งซะมากกว่า

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ถูกวางให้อยู่ในฐานะผู้ค้ำบัลลังก์ รัชทายาทของพระเจ้าตากสินเท่านั้น

เดิมทีพระเจ้าตากสินทรงมีอัครมเหสีคือ “เจ้าหอกลาง” (บุคคลทั่วไปเรียกดังนี้) หรือชื่อเดิมคือ “สอน” เมื่อรับ “คุณฉิม” บุตรีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาอยู่ในฐานะพระมเหสีเอกแล้วมีพระราชโอรสที่ประสูติขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2322 คือ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ (กรมขุนกษัตรานุชิต, เจ้าฟ้าอภัย, เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์, เจ้าฟ้าเหม็น) ซึ่งพระเจ้าตากสินทรงวางให้เป็นองค์รัชทายาทสืบบัลลังก์เพราะเห็นว่าจะเป็นความมั่นคงแก่องค์รัชทายาทเพราะมีฐานะเป็น “หลาน” ของเจ้าคุณตาคือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกที่ทรงอิทธิพลและเข้มแข็งยิ่ง โดยกันให้โอรสที่เกิดแต่อัครมเหสีคือกรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นผู้ครองเมืองกัมพูชาอันเป็นการตัดออกจากองค์รัชทายาทค่อนข้างแน่นอน

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าตากสินทรงมีความคิดที่จะยกราชสมบัติให้แก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่ทรงมีองค์รัชทายาทที่จะเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในพระราชวงศ์กรุงธนบุรีอยู่แล้ว และทรงวางเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไว้แต่เพียงผู้ค้ำบัลลังก์ที่เข้มแข็งขององค์รัชทายาทต่างหาก

พระเจ้าตากสิน กับความขัดแย้งกับศาสนจักร เหตุแห่งความเสื่อม

ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าตากสินทรงขัดแย้งกับศาสนจักรอย่างรุนแรง ทรงมีคดีความกับคณะสงฆ์อยู่เสมอ เช่น การให้พระสงฆ์ดำน้ำพิสูจน์ปาราชิก จนถึงปีสุดท้ายแห่งรัชกาลก็เกิดเหตุใหญ่ขึ้นกับคณะสงฆ์ถึงขั้นสัญญาวิปลาส เหตุการณ์นี้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารทุกฉบับ ขอยกตัวอย่างดังนี้ “เหตุพระเจ้าแผ่นดินนั้นทรงนั่งอุรุพันธ์โดยพระกรรมฐานและจะยังภิกษุทั้งปวงให้คารวะเคารพ นบนมัสการแก่พระองค์” (พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม)

หรือ “ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ โรงพระแก้วให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าได้พระโสดาปัตติผล จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์บุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเล มิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาทด้วยเกรงพระราชาอาญาเป็นคนประสมประสานจะเจรจาให้ชอบพระอัธยาศัยนั้นมีเป็นอันมาก คือ พระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหว้าใหญ่ และพระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนี วัดหงส์ เป็นต้น ถวายพระพรว่า สงฆ์บุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั่นได้

แต่สมเด็จพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย พระพิมลธรรม วัดโพธาราม สามองค์นี้ มีสันดานมั่นคงถือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพอประสมประสาน จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดีแต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นบุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์เป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระโกรธว่าถวายพระพรผิดจากพระบาลีด้วยพวกที่ว่าควรนั้นเป็นอันมากกว่าไม่ควรแต่สามพระองค์เท่านี้ จึงดำรัสให้พระโพธิวงศ์ พระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับทั้งถานาบาเรียนอันดับซึ่งเป็นอันเตวาสิก สัทธิงวิหาริกพระราชาคณะทั้งสามพระองค์นั้นไปลงทัณฑกรรม ณ วัดหงส์ทั้งสิ้น และตัวพระราชาคณะให้ตีหลังองค์ละร้อยที พระถานาบาเรียนให้ตีหลังองค์ละห้าสิบที

แต่พระสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ในศีลสัตย์ว่าไหว้ไม่ได้นั้น ทั้งสามอารามเป็นพระสงฆ์ถึงห้าร้อยรูปต้องโทษถูกตีทั้งสิ้น และพวกพระสงฆ์ทุศีลอาสัตย์อาธรรมว่าไหว้ได้มีมากกว่าทุกๆ อาราม แต่พระราชาคณะทั้งสามพระองค์ และพระสงฆ์อันเตวาสิกซึ่งเป็นโทษทั้งห้าร้อยนั้นให้ไปขนอาจมชำระเว็จกุฎีวัดหงส์ทั้งสิ้นด้วยกัน

จึงตั้งพระโพธิวงศ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระวันรัตน์

ครั้งนั้นมหาภัยพิบัติบังเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก บรรดาชนทั้งหลายซึ่งเป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนา มีหน้านองไปด้วยน้ำตาเป็นอันมากที่มีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มี และเสียงร้องไห้ระงมไปทั่วทั้งเมือง” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, 2516, น. 440)

จากพระราชพงศาวดารนั้นจะเห็นว่าพระสงฆ์ที่ถูกเฆี่ยนนั้นมีสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรอีกทั้งสงฆ์ที่ถูกเฆี่ยนและได้รับปูนบำเหน็จนั้นปรากฏนามชัดเจนทุกพระองค์ เป็นไปไม่ได้ที่จะเอานักโทษมาห่มผ้าเหลืองแล้วเฆี่ยน ซึ่งเหตุขัดยังขั้นรุนแรงกับศาสนจักรครั้งนี้ได้สร้างความเสื่อมทั้งในฐานะกษัตริย์และในทางสังคม (ประชาชนสิ้นศรัทธา) ทำให้ฝ่ายขุนนางผู้ดีเก่ากรุงศรีอยุธยาของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้รวมถึงขุนนางฝ่ายพระเจ้าตากสินเองก็หันไปเข้ากับอีกฝ่าย อันเป็นธรรมดาเมื่ออำนาจทางการเมืองของฝ่ายตนเริ่มสั่นคลอน จึงต้องหาฝ่ายที่เข้มแข็งกว่าเป็นที่พึ่ง ทั้งนี้เพราะเหตุพระเจ้าแผ่นดิน “บ้า” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้รวมไปถึงการชักชวนราษฎรเข้าร่วมทำการปฏิวัติในที่สุด ตอกย้ำอีกครั้งว่าอาการ “บ้า” ของพระเจ้าแผ่นดินนั้นมิได้รู้กันกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อาศัยเรื่อง “บ้า” ให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองฝ่ายตัวเอง

ยกทัพตีกรุงกัมพูชา แผนการปฏิวัติโค่นบัลลังก์ และรู้กับพระเจ้ากรุงญวน

ขณะที่ความขัดแย้งภายในกำลังรุ่มร้อนก็ให้เกิดเรื่องยุ่งยากจากภายนอกตามมาอีกเมื่อเกิดการกบฏขึ้นที่กรุงกัมพูชาโดยการสนับสนุนของญวน จำเป็นอย่างยิ่งที่กำลังของพระเจ้าแผ่นดินต้องยกออกไปปราบกบฏนอกพระนคร มีพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า เดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. 2324 ดำรัสให้จัดทัพเป็น 6 ทัพ ให้เจ้าพระยาสุรศรีเป็นทัพหน้า พระเจ้ากษัตริย์ศึกเป็นจอมทัพหลวง กรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นทัพหนุน พระยานครสวรรค์เป็นยกกระบัตร กรมขุนรามภูเบศร์เป็นทัพหลัง พระยาธรรมาเป็นกองลำเลียง ยกไปตีเมืองพุทธไธเพ็ชร์” (ประชุมพงศาวดาร ภาค 64, 2535 น. 69)

เมื่อการจัดทัพเป็นดังนี้กำลังที่เหลือไว้รักษาพระนครจึงมีเพียงการนำของ พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ล่อแหลมต่อราชบัลลังก์ยิ่งนัก

แล้วสิ่งที่ล่อแหลมนั้นก็เป็นจริงเมื่อ นายบุญนาค บ้านแม่ลา แขวงกรุงเก่า อาศัยกระแสที่พระเจ้าตากสินได้ทรงออกกฎหมายว่าด้วยการขุดค้นสมบัติเก่าที่ซุกซ่อนพม่าไว้สมัยกรุงแตกต้องแบ่งส่วนหนึ่งเป็นอากรภาคหลวง ซึ่งมีพระพิชิตณรงค์เป็นผู้ผูกขาดค่าภาคหลวงไว้จำนวนถึง 500 ชั่ง ทำให้ต้องเร่งขุดกันเป็นการใหญ่ (ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. มติชน, 2547, น. 47) ด้วยเหตุนี้ทำให้นายบุญนาคซึ่งเป็นกำลังของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก วางแผนฆ่าพระพิชิตณรงค์และยังวางแผนจับพระเจ้าตากสินสำเร็จโทษเสียแล้วยกราชสมบัติให้แก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

แผนการของนายบุญนาคบรรลุผลสามารถจับพระพิชิตณรงค์ฆ่าได้สำเร็จ แต่ผู้รักษาเมืองกรุงเก่าพระยาอินทรอภัยสามารถหนีรอดไปได้ และได้เข้าเฝ้ากราบทูลเหตุการณ์ให้พระเจ้าตากสินทรงทราบ พระองค์จึงมีบัญชาให้ “พระยาสรรค์” ยกกำลังทหารขึ้นไปปราบพวกกบฏ เมื่อไปถึงกรุงเก่าพระยาสรรค์กลับแปรพักตร์ไปร่วมมือกับนายบุญนาค เพราะฝ่ายนายบุญนาคนั้นมีขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ (จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี) อยู่ด้วย พระยาสรรค์รับเป็นแม่ทัพยกกลับมาตีกรุงธนบุรี เกิดศึกภายในกันเพียง 1 คืน กรุงธนบุรีก็พ่ายแก่พระยาสรรค์และกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจองจำ

เหตุที่ว่าเป็นแผนการปฏิวัตินั้นเพราะกองกำลังของพระยาสรรค์นั้นมิใช่ไพร่พลธรรมดาแต่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ในสมัยนั้นคือปืนใหญ่มาใช้ในการนี้ด้วย ดังปรากฏหลักฐานว่า “ณ วันเสาร์เดือน 4 แรม 1 ค่ำเพลงตี 10 ทุ่ม ตั้งค่ายมั่นคลองรามัญ ยิงระดมลูกปืนตกในกำแพงเสียงสนั่นหวั่นไหว” (จดหมายเหตุความทรงจำ, ต้นฉบับ, 2546, น. 254) กำลังของพระยาสรรค์จะเอาปืนใหญ่มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ แม้จะมีขุนนางกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะสู้ต่อ แต่พระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเพลี่ยงพล้ำเกินแก้แล้วจึงมีรับสั่งห้าม “ว่าสิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย”

“รุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงนิมนต์พระสังฆราช พระวันรัตน์และพระรัตนมุนีให้ออกไปเจรจาความเมืองขอผ่อนผัน ว่าอย่าเอาชีวิตเลย พระองค์จะเสด็จออกผนวชชำระพระเคราะห์เมืองเสีย 3 เดือน เวลา 3 ทุ่ม จึงเสด็จออกผนวชที่วัดอรุณราชวราราม” (ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. มติชน, 2547, น. 49-50)

ถึงแม้ภายหลังเมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามได้รับการปลดปล่อยจากการจองจำแล้วรีบกราบทูลเชิญนำทัพต่อสู้ข้าศึก แต่กลับมีพระราชดำรัสเตือนว่า สิ้นบุญเราแล้ว อย่าทำเลย แล้วยังมีดำรัสที่แสดงให้เห็นว่าทรงเข้าใจเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอดแล้วว่า ต้นสายปลายเหตุของกบฏครั้งนี้คืออะไร จึงตรัสว่า คงไม่รอด “บ้านเมืองเป็นของสองพี่น้องเขานั่นแหละ ถ้าไม่ตายก็ฝากตัวเขาให้ดีเถิด” (ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. มติชน, 2547, น. 51)

เหตุที่ว่านายบุญนาคเป็นคนของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้นมีหลักฐาน เอกสาร คำปฤกษาตั้งข้าราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ว่า “อนึ่งนายบุญนาค หลวงสุระ หลวงฉะนะ เป็นข้าใต้ละอองธุลีฯ มาแต่เดิม” นั่นก็แสดงว่าการที่นายบุญนาคได้รับแต่งตั้งให้รับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ก็เพราะเหตุที่ร่วมกันโค่นบัลลังก์พระเจ้าตากสินนั่นเอง

และว่าที่รู้กันกับพระเจ้ากรุงญวนนั้นมีหลักฐานว่า ระหว่างสงครามกับกัมพูชาเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เจรจาความตกลงกับฝ่ายเวียดนามเป็นการลับให้ยุติศึก แล้วให้ทัพกัมพูชาล้อมทัพของกรมขุนอินทรพิทักษ์ (ลูก) ไว้ โดยปิดเป็นความลับมิให้รู้เรื่องการจลาจลในพระนคร ส่วนพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศร์ (หลาน) ให้จองจำไว้ อันเป็นการตัดกำลังสำคัญที่จะกลับมากู้กรุงธนบุรีกลับคืนได้อย่างเบ็ดเสร็จ “การที่เจ้าพระยาจักรีเจรจาความตกลงกับฝ่ายกองทัพเวียดนามแล้วสั่งปิดล้อมทัพของกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้นี้ แสดงเจตนาชัดเจนแล้วว่าไม่ได้คิดตีโต้ยึดพระนครส่งคืนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หากแต่เป็นการปฏิบัติตามแผนการปฏิวัติ” (ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. มติชน, 2547, น. 52)

และยังมีหลักฐานเมื่อคราวกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ (เจ้าพระยาสุรสีห์) เสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2346 ซึ่งครั้งนั้นพระเจ้ากรุงเวียดนามได้มีหนังสือมาเตือนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ว่า

“สมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งเป็นกรมพระราชาวังบวรฯ สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระชราลงทุกวันยังแต่พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ มีกำลังมากเสมอกันอยู่ การข้างหน้ากลัวจะไม่เรียบร้อย ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นดำรงที่กรมพระราชวังบวรฯ จะได้มีกำลังและพาหนะมากขึ้นบ้านเมืองจึงจะสงบเรียบร้อย” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, 2516, น. 608)

เมื่อไม่มีสัมพันธ์กันมาแต่หนหลังเมื่อครั้งปฏิวัติโค่นพระเจ้ากรุงธนบุรีไฉนเลยพระเจ้ากรุงเวียดนามจึงมีความปรารถนาดีกับรัชกาลที่ 1 ถึงเพียงนี้ ทั้งที่ในครั้งนั้นอยู่ในฐานะคู่สงครามกันเลยทีเดียว

พ่ายแพ้แก่เกมการเมือง ถูกประหารชีวิตโดยสิ้นสถานะกษัตริย์

เมื่ออำนาจทางการเมืองและการทหารตกอยู่ในมือของฝ่ายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ก็สิ้นศรัทธาพระองค์ในฐานะกษัตริย์ในสาเหตุที่มาจากพระองค์เองเนื่องมาจากทรงขัดแย้งกับคณะสงฆ์ซึ่งถือเป็นหลักชัยของสังคม ความจริงแล้วเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์จะใช้กำลังอำนาจเสียเมื่อไรก็ได้ แต่ด้วยความจัดเจนทางการเมืองของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงสะกดใจรอจนทุกอย่างถึงจุดที่สุกงอมพอ และมีสาเหตุทั้งหลายทั้งปวงเพียงพอที่จะสร้างความชอบธรรมกับฝ่ายตนเอง เพื่ออาณาประชาราษฎร์จะให้มีการยอมรับอย่างเต็มใจและศรัทธามิมีผู้ใดคิดต่อต้านอย่างสิ้นเชิง ถึงขณะนี้พระเจ้าตากสินจึงทรงหมดสิ้นสถานะของกษัตริย์ลงอย่างสมบูรณ์

“เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นอาสัตย์อาธรรมดังนี้แล้ว ท่านทั้งปวงจะคิดอ่านประการใด มุขมนตรีทั้งหลายพร้อมกันกราบทูลว่า พระเจ้าแผ่นดินทุจริตธรรมเสียฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสื้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้เสียมิได้ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย จึงรับสั่งให้มีกระทู้ถามเจ้าตากสินเจ้าแผ่นดินผู้ทุจริตว่า ตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงครามได้ความลำบากกินเหงื่อต่างน้ำ เราก็อุตสาหะอาสากระทำศึกมิได้อาลัยแก่ชีวิต คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม

จะให้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลังจึงเอาบุตรภรรยาเรามาจองจำทำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์ และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร์ เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยความผิดกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้ จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, 2516, น. 451)

เปรียบเทียบคดีกบฏวังหน้า กับคราวเปลี่ยนแผ่นดิน

ในปี พ.ศ. 2346 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ได้เสด็จทิวงคต ก็ได้เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นคือ “กบฏวังหน้า” ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวังหน้าเสด็จทิวงคตโดยมีผู้ถูกกล่าวหาคือ พระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัต พระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ โดยทั้งสองพระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่าจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 1) ในวันถวายพระเพลิงพระศพวังหน้า สุดท้ายทั้งสองพระองค์ก็ทรงถูกจับและถูกตัดสินสำเร็จโทษ (ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. มติชน, 2547, น. 112-114)

จากคดีกบฏวังหน้า วิเคราะห์อย่างไรก็ไม่เห็นว่าพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตจะมีกำลังและความสามารถตลอดจนบารมีเพียงพอถึงขนาดคิดลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 1 ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองเพื่อขจัดเสี้ยนหนามสายกรมพระราชวังบวรฯ มิให้มีบทบาทในอนาคตเท่านั้นเอง เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะในอนาคตไม่มีความแน่นอนว่าทั้งสองพระองค์ที่ถูกกล่าวหาจะมิเป็นภัยต่อบัลลังก์ หรือกษัตริย์ทายาทของรัชกาลที่ 1 เพราะวัยและกำลังคนพอๆ กัน

ถ้าเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 1 กับพระโอรสทั้งสองของกรมพระราชวังบวรฯ แล้วก็คือลุงกับหลาน แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วจะเทียบอะไรได้กับเหตุการณ์คราวเปลี่ยนแผ่นดินจากพระเจ้ากรุงธนบุรีมาเป็นรัชกาลที่ 1 ความรุนแรงทางการเมืองมากกว่ากันอย่างเปรียบมิได้ มีหรือพระเจ้าตากสินจะทรงรอดชีวิตลงเรือสำเภาไปโผล่ที่นครศรีธรรมราช

ถ้าพระเจ้าตากสินทรงรู้กับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไฉนต้องลงทุนด้วยชีวิตลูกหลานถึง 4 พระองค์

เมื่อคราวปฏิวัติเปลี่ยนแผ่นดินมีพระญาติวงศ์ของพระเจ้าตากสินถูกสำเร็จโทษ 4 พระองค์ด้วยกัน เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระอัครมเหสี 2 พระองค์ คือ กรมขุนอินทรพิทักษ์และสมเด็จเจ้าฟ้าน้อย และเป็นพระเจ้าหลานเธอ 2 พระองค์ คือ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม และกรมขุนรามภูเบศร์ (ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. มติชน, 2547, น. 53)

ถึงแม้พระเจ้าตากสินจะทรงไม่ประสงค์ในการยกราชสมบัติให้กับพระราชโอรสองค์ใด โดยประสงค์จะยกให้กับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเท่านั้น หรือถึงแม้พระเจ้าตากสินจะทรงรักชาติเพียงใด ก็เป็นไปไม่ได้ที่แผนการแกล้งบ้าอันรู้กันกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น พระองค์จะต้องทรงลงทุนด้วยชีวิตของลูกในไส้ถึง 2 พระองค์ รวมหลานอีก 2 พระองค์ ดูจะผิดปกติมากไปหน่อย ฝั่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเอง ถ้ารู้กันกับพระเจ้าตากสินจริงจะใจดำถึงขนาดประหารชีวิตลูกหลานของพระเจ้าตากสินเชียวหรือ ในเมื่อปล่อยพระเจ้าตากสินไปนครศรีธรรมราชแล้วประโยชน์อันใดในการล้างญาติวงศ์ของพระเจ้าตากสินทั้ง 4 พระองค์ ความสมเหตุสมผลตรงนี้เป็นไปไม่ได้เลย

บทสรุป

ก่อนปี พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์กับการเมืองเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก การชิงไหวชิงพริบกันทางการเมือง จะเป็นระหว่างบรรดาโอรสของพระมหากษัตริย์ ถ้าแม้มีพระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดดเด่นขึ้นมาก็ใช่จะก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ได้ง่ายๆ เพราะยังติดด่านสำคัญคือวังหน้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์อนุชาของพระมหากษัตริย์ และแม้จะสิ้นวังหน้าแล้วก็ยังมีวังหลังซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอนุชาต่างมารดาของพระมหากษัตริย์อีก ซึ่งบรรดาเหล่าโอรสของพระมหากษัตริย์วังหน้า วังหลัง ตลอดจนขุนนางต่างๆ ก็เปรียบได้กับพรรคการเมืองในปัจจุบันนั่นเอง

แต่การกำจัดกันทางการเมืองสมัยนั้น คือการฆ่าเพื่อขึ้นสู่บัลลังก์ เพราะไม่ซับซ้อนเหมือนการเมืองในปัจจุบัน เมื่อใครมีกำลังที่เหนือกว่าก็เป็นผู้ได้บัลลังก์และอำนาจไป ส่วนผู้อ่อนแอกว่าก็มักจะจบชีวิตลงในเส้นทางแห่งอำนาจ

การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตใกล้บ้างไกลบ้าง การศึกษาประวัติศาสตร์มิใช่การนำเอาความคิดหรืออารมณ์ส่วนตัวเข้าไปร่วมในเหตุการณ์ เพราะมนุษย์เรายังมีความรัก ความชอบ ความเกลียดชัง อคติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการบิดเบือนประวัติศาสตร์ เช่น การที่มีนักประวัติศาสตร์จำนวนมากไม่ยอมรับการเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระวรวงศาธิราช เพราะนักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ได้นำเอาอารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปปะปนกับเหตุการณ์ อันนำมาซึ่งการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

บางครั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยการนำเอาอารมณ์ ความรู้สึก ความชอบ ความเกลียดชัง มาปะปนด้วยนั้นมีส่วนในการบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้มากกว่าหลักฐานที่มีอยู่เสียด้วยซ้ำ

การศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มิใช่ไปวิเคราะห์ว่าองค์ไหนดีไม่ดีอย่างไร แต่ต้องศึกษาว่าเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด เหตุการณ์อะไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง หรือการวิเคราะห์หาเรื่องราวความจริงให้มากที่สุดนั่นเอง เหตุการณ์การสวรรคตของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องเล่าและคิดกันไปเองไม่มีหลักฐานและการวิเคราะห์ที่เป็นระบบ ข้าพเจ้าร่ำเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สอนให้เชื่อเรื่องที่พิสูจน์ได้ ก่อนจะได้คำตอบ หรือทฤษฏีต่างๆ จะต้องผ่านการตั้งสมมุติฐาน การทดลอง

ดังนั้นเรื่องราวการสวรรคตของ พระเจ้าตากสิน นั้น จากที่วิเคราะห์มานั้นเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินก็สิ้นลมแน่นอน

ส่วนเหตุการณ์ที่นครศรีธรรมราช ถ้ำเขาขุนพนมนั้น เป็นเหตุการณ์หลังจากวันที่ 6 เมษายน 2325 ครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความ ” ‘พระเจ้าตากสินล่องหน หลบท่อนจันทน์’ ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน ประวัติศาสตร์แห่งจินตนิยาย” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2564