ข้อสันนิษฐานเส้นทางมุ่งจันทบุรี “นอก” พงศาวดาร ของพระเจ้าตาก เลาะป่าดีกว่าเลาะทะเล?

พระเจ้าตาก แผนที่ เดินทัพ

ฤดูแล้ง เดือนยี่ พ.ศ. 2309 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้าตาก มหาบุรษของชาวไทยพร้อมทหารและชาวกรุงเก่าราว 500 คน ได้ละทิ้งเมืองหลวงที่โดนกองทัพอังวะล้อมเกือบทุกทิศทาง มุ่งหน้าสู่หัวเมืองตะวันออก ในพงศาวดารได้บันทึกเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตากสินไว้โดยละเอียด (แต่ก็ละเอียดเพียงบางช่วงเท่านั้น) และยังมีเส้นทางบางช่วงที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า เส้นทางนั้นอาจไม่ใช่เส้นทางที่ใช้เดินทัพจริงหรือไม่?

พระเจ้าตากสิน เริ่มรวบรวมผู้คนจากบริเวณ “อโยธยา” นอกเกาะเมืองที่วัดพิชัย เมื่อออกจากวัดพิชัยมุ่งหน้าไปทิศตะวันออกตามคลองข้าวเม่า เรื่อยไปจนถึงทุ่งพระอุทัย จากนั้นมุ่งสู่คลองสามบัณฑิต บริเวณบ้านโพธิ์สาวหาญ ซึ่งปรากฏการสู้รบกับกองทัพอังวะ นอกจากนี้บริเวณนี้ยังปรากฏตำนานสตรีมาขอเข้าร่วมทัพกับพระเจ้าตากสิน แสดงให้เห็นว่ามีการสะสมผู้คนตลอดทางที่ออกจากกรุงศรีอยุธยา

เส้นทาง เดินทัพ พระเจ้าตาก มุ่งหน้าสู่ ทุ่งพระอุทัย
จากกรุงศรีอยุธยามุ่งหน้าสู่ทุ่งพระอุทัย (ขอบคุณภาพจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ)

จากนั้นตัดเข้าสู่อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี แล้วเข้าสู่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ณ บริเวณนี้ ทรงได้รับช้างต้น เป็นช้างพังจากป่าเขาใหญ่ ที่พระเจ้าตากสินทรงช้างช้างนี้เข้าตีเมืองจันทบุรี ที่แห่งนี้ยังปรากฏชื่อเรียกว่า “วัดช้าง” ซึ่งอาจมีที่มาจากเหตุการณ์ถวายช้างต้นดังกล่าว ต่อมาจึงเดินทัพเลาะตามชายเขามุ่งสู่แม่น้ำปราจีนบุรี (ต้นแม่น้ำบางประกง) ข้ามแม่น้ำบริเวณด่านกบแจะ หรือบริเวณวัดกระแจะ ซึ่งเป็นเส้นทางควบคุมการคมนาคมและการค้าที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง

จากนั้นจึงมุ่งหน้าลงทิศใต้สู่บริเวณอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ลัดเลาะไปตามขอบชายดง กระทั่งกองทัพของพระเจ้าตากสินได้ปะทะกับกองทัพอังวะบริเวณปากน้ำเจ้าโล้ ซึ่งพวกอังวะได้มาตั้งทัพตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ การสงครามครั้งนี้นับเป็นการรบกันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ออกจากกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา

เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากสิน จากปากน้ำเจ้าโล้สู่เมืองพานทอง (ขอบคุณภาพจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ)

เมื่อเสร็จศึกบริเวณปากน้ำเจ้าโล้แล้ว ตามพงศาวดารได้ระบุว่าได้เดินทัพว่ามุ่งลงทิศใต้ เข้าสู่เมืองพานทอง (บริเวณลำน้ำพานทอง) อำเภอพนัสนิคม แล้วมุ่งหน้าบางปลาสร้อยหรือเมืองชลบุรี แล้วเดินทัพเบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเลาะชายฝั่งทะเลสู่ ศรีราชา บางละมุง นาเกลือ พัทยา สัตหีบ ตามลำดับ ก่อนที่จะเข้าสู่เมืองระยอง

อย่างไรก็ดี อ. ศรีศักร วัลลิโภดม และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ แสดงความคิดเห็นระหว่างการเสวนา “สู่หัวเมืองตะวันออก บนเส้นทางนอกพระราชพงศาวดาร” ว่า เส้นทางตั้งแต่เมืองพานทองเลาะชายทะเลแล้วเข้าเมืองระยองตามพงศาวดารนั้นอาจไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก โดยให้เหตุผลพอสรุปได้ว่าเป็นเส้นทางที่อ้อมจึงทำให้เสียเวลามาก อ. ศรีศักร ยังให้ความเห็นอีกว่า เส้นทางนี้น่าจะเป็นความสับสนคลาดเคลื่อนกับเส้นทางตอนยกทัพออกจากจันทบุรีที่เลาะชายฝั่งทะเลไปกู้กรุงศรีอยุธยา

เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตาก เส้นซ้ายเป็นเส้นตามพงศาวดาร เส้นขวาเป็นเส้นที่สันนิษฐานใหม่ (ขอบคุณภาพจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ)

โดยเสนอว่าเส้นทางออกจากเมืองพานทองมานั้น ควรจะเบี่ยงมาทางทิศตะวันออก เลาะตามแนวชายป่า มุ่งหน้าสู่เมืองพญาเร่ บริเวณอำเภอบ่อทอง ซึ่งเป็นเขตที่สูงเต็มไปด้วยป่าเขา นั่นจึงเกิดคำถามว่า เหตุใดจึงมุ่งสู่พื้นที่ทุรกันดารมากกว่าจะเดินตามเส้นทางพงศาวดารบริเวณริมทะเล วลัยลักษณ์ ให้เหตุผลว่า เมืองพญาแร่เป็นเมืองบนเส้นทางการค้า “ของป่า” มีความสำคัญในหัวเมืองตะวันออกไม่แพ้เมืองชายทะเล จึงมิใช่เรื่องแปลกหรือมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงควรเดินทัพมาทางเมืองพญาเร่ เดินทัพในแผ่นดินลึกดีกว่าเดินทัพเลาะชายทะเล

แผนผังเมืองพญาเร่ (ขอบคุณภาพจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ)

ตามข้อสันนิษฐานใหม่เสนอว่า พระเจ้าตากสินอาจเดินทัพเข้าสู่อำเภอปลวกแดง เข้าบ้านแม่น้ำคู้ มุ่งหน้าลงทิศใต้ไปยังเขาหินโข่ง ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับที่เส้นทางตามพงศาวดารที่ระบุว่าเดินทัพจากสัตหีบมาถึงเขาหินโข่งเช่นเดียวกัน

จากนั้นจึงทุ่งหน้าสู่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งอาจตั้งข้อสังเกตว่า “บ้านค่าย” มาจากการที่พระเจ้าตากสินได้มาหยุดทัพพักบริเวณนี้

เส้นทาง เดินทัพ พระเจ้าตาก มุ่งหน้าสู่ บ้านค่าย เมืองระยอง
เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากสิน จากเขาหินโก่งสู่บ้านค่าย เมืองระยอง (ขอบคุณภาพจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ)

หลังจากอยู่ที่เมืองระยองนานราว 4 เดือน ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยาแตก และพระเจ้าตากสินก็สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “เจ้า” เพื่ออ้างสิทธิธรรมเฉกเช่นเดียวกับก๊กอื่น ๆ หลังจากนั้นจึงเดินทัพมุ่งหน้าสู่เมืองจันทบุรีต่อไป

รับชมเสวนาได้ที่ 

ช่วงที่ 1

ช่วงที่ 2

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2562