ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2554 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 บ้าน วัด วัง เสียหายยับเยิน รัฐบาล “พระเจ้าตาก” ใช้เวลาเกือบตลอดรัชกาล 15 ปี เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู และเรียกความศรัทธากลับคืนมาให้เหมือน “เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี”
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะฟื้นฟูบ้านเมืองหลังภาวะ “แพ้สงคราม” ให้กลับมาดีดังเก่า ภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด บ้านเมืองร้างผู้คน ระบบราชการพังพินาศ การควบคุมไพร่กำลังคนใช้การไม่ได้ เศรษฐกิจล่มสลาย สภาพข้าวยากหมากแพงระบาดไปทั่ว ปรากฏ “คนโซ” นับหมื่นนับแสนกำลังจะอดตาย จนรัฐบาล “พระเจ้าตาก” ต้องแจก “ถุงยังชีพพระราชทาน” เยียวยาให้กับทุกผู้คน ทุกชนชั้น ตั้งแต่เจ้ายันวณิพก ไม่มีเว้น
“ด้วยขัติยวงศา สมณาจารย์ เสนาบดี อาณาประชาราษฎร ยาจก วณิพก คนโซอนาถา ทั่วทุกเสมามณฑล เกลื่อนกล่นกันมารับพระราชทานมากกว่า 10,000 ฝ่ายข้าราชการทหารพลเรือนไทยจีนนั้น รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถัง กินคนละ 20 วัน” [ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (ฉิม)]
นอกจากปัญหาความอดอยากแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อรัฐบาลจีนไม่ยอมรับรัฐบาลพระเจ้าตาก เนื่องจากไม่ได้เป็น “เชื้อพระวงศ์” ทั้งยังแนะให้อัญเชิญเจ้านายกรุงศรีอยุธยาที่ลี้ภัยไปกรุงกัมพูชามาเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน
ส่วนปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ ก็เกิดสุญญากาศทางการเมืองหลังกรุงแตกระยะหนึ่ง หัวเมืองต่างๆ ก็แยกตัวออกจากอำนาจของกรุงศรีอยุธยา ตั้งตัวขึ้นเป็นอิสระหลายกลุ่ม คือ กลุ่มสุกี้พระนายกอง กลุ่มพระยาพิษณุโลก กลุ่มเจ้าพระฝาง กลุ่มเจ้านครศรีธรรมราช และกลุ่มกรมหมื่นเทพพิพิธ ภายหลังจึงถูกปราบปรามรวมอำนาจเข้าไว้ที่กรุงธนบุรีแห่งเดียว
ที่สำคัญยังมีกลุ่ม “อำมาตย์เก่า” แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีการเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ เป็นคลื่นใต้น้ำ สั่งสมอำนาจบารมี รอจังหวะเวลาที่จะเคลื่อนไหว
แม้ พระเจ้าตาก จะสามารถจัดการกับปัญหาบางอย่างด้วย “กำลัง” ได้เป็นอย่างดีสามารถชนะศึกทุกด้านและสามารถฟื้นกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาทีละน้อยทำให้สมณะชีพราหมณ์ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขขึ้นบ้าง
แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “พ่อค้าเกวียน” หรือ “วีรบุรุษสงคราม” ที่กลายมาเป็น “พระราชา” จะจัดการปัญหาทุกๆ ด้านได้โดยสะดวก และดูเหมือนจะไม่ถนัดเท่ากับสงคราม “กู้ชาติ” ที่ทรงทำสำเร็จได้อย่างดี ในที่สุดปัญหาต่างๆ ที่ทรงสะสมไว้ ก็ได้แปรเปลี่ยนไปเป็น “วิกฤตศรัทธา” เมื่อปลายรัชกาล จนต้องทรงหาวิธีกู้วิกฤตนั้นด้วยวิธี “พิเศษ” แต่ดูเหมือนว่างานกู้วิกฤตก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ไม่ทรงถนัดเช่นกัน
ต้นแผ่นดิน “พระเจ้าตาก” เย็นด้วยพระบารมี
ในช่วงปีแรกๆ ของแผ่นดินกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเวลาแห่งการ “ก่อกู้กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา” นั้น บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย เหล่าบรรดาผู้นำท้องถิ่น นายชุมนุม ยังคงรบพุ่งแย่งชิงอาหารกันอยู่บ้างตามหัวเมือง ข้าวปลาอาหารขาดแคลน พระเจ้าตากจึงต้องทรงแจก “ถุงยังชีพพระราชทาน” ให้ และยังทรงวิงวอนต่อเทวดาฟ้าดินให้ช่วยราษฎร แม้จะแลกกับพระพาหา (แขน) ของพระองค์ก็ยอม
“ครั้งนั้นยังหาผู้จะทำนามิได้ อาหารกันดาร ข้าวสารสำเภาขายถังละ 3 บาทบ้าง ถังละตำลึงหนึ่งบ้าง ถังละ 5 บาทบ้าง ยังทรงพระกรุณาด้วยปรีชาญาณอุตส่าห์เลี้ยงสัตวโลกทั้งปวง พระราชทานชีวิตให้คงคืนไว้ได้ แลพระราชทานวัตถาลังกาภรณ์เสื้อผ้าเงินตราจะนับประมาณมิได้ จนทุกข์พระทัยออกพระโอฐว่า บุทคลผู้ใดเป็นอาทิคือ เทวดา บุทคลผู้มีฤทธิ์ มาประสิทธิ์มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น ให้สัตวโลกเป็นสุขได้ แม้นผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้ ความกรุณาเป็นความสัตย์ฉะนี้” [ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (ฉิม)]
ทางด้านพระพุทธศาสนาก็โปรดฯ ให้สร้างพระวิหารเสนาสนะกุฏิ ทั้งยังปวารณาพระองค์จะอุปถัมภ์พระศาสนาจนถึงที่สุด
“แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยวัตถุจตุปัจจัยทั้ง 4 ประการนั้น เป็นธุระโยมจะอุปถัมภ์ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงมีศีลคุณบริบูรณ์ในพระศาสนาแล้วแม้นจะปรารถนามังสะรุธิระโยมๆ ก็อาจสามารถจะเชือดเนื้อแลโลหิตออกบำเพ็ญทานได้” [ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (ฉิม)]
ไม่นานบรรดาผู้นำท้องถิ่น นายชุมนุมที่เคยปล้นชิงตามหัวเมืองใหญ่น้อย ต่างก็ “สยบสยองพองเศียรเกล้า” ชวนกันเข้ามาถวายตัวรับราชการ ส่วนบรรดาราษฎรที่ลี้ภัยสงครามไปซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าเขา ก็กลับเข้ามาสู่ภูมิลำเนาเดิม เป็นสัญญาณว่าความสงบสุขได้เกิดขึ้นในแผ่นดินกรุงธนบุรีแล้ว
“บ้านเมืองก็สงบปราศจากโจรผู้ร้าย และราษฎรก็ได้ตั้งทำไร่นา ลูกค้าวานิชก็ไปมาค้าขายทำมาหากินเป็นสุข ข้าวปลาอาหารก็ค่อยบริบูรณ์ คนทั้งหลายก็ค่อนได้บำเพ็ญการกุศลต่างๆ ฝ่ายสมณสากยบุตรในพระพุทธศาสนาก็ได้รับบิณฑบาตจตุปัจจัย ค่อยได้ความสุขบริบูรณ์” [พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา]
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้าตากในช่วงต้นรัชกาลนั้นสูงสุดเพียงใด ทรงมีทั้ง อำนาจ บารมี และ ศรัทธา ทำให้บ้านเมืองที่ย่อยยับไปแล้ว กลับฟื้นคืนมาอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง
กอสซิบ “ในวัง” กำเนิดภาพลักษณ์ภาพลบ
ปีฉลู จุลศักราช 1131 (พ.ศ. 2321) ถัดมาเพียงปีเดียวหลังจากการฟื้นฟูราชอาณาจักร ก็เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นภายในพระราชวัง เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ทั้งในพระราชพงศาวดาร และบันทึกนอกพงศาวดาร เป็นคดีพระสนมหม่อมห้ามเล่นชู้กับฝรั่งมหาดเล็ก คือหม่อมเจ้าฉิม หม่อมเจ้าอุบล และนางละคร 4 คน ถูกหม่อมเจ้าปทุมพระสนมอีกองค์กล่าวหาว่าเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็ก 2 คน เมื่อไต่สวนได้ความจริงตามข้อกล่าวหาแล้ว “ส่งให้พวกฝีพายทนายเลือกไปชำเราประจาน แล้วให้ตัดแขนตัดศีรษะผ่าอกทั้งชายหญิงอย่าให้ใครดูเยี่ยงกันต่อไป”
ความจริงแม้การตัดสินจะดูโหดร้ายไปบ้าง แต่ก็สามารถอนุโลมตามกฎหมายจารีตบ้านเมืองในสมัยนั้น และการตัดสินนี้ก็ยังไม่ใช่ต้นเหตุที่แท้จริงของการเกิด “ภาพลบ” ของพระเจ้าตาก แต่เหตุการณ์ที่ตามมาต่างหากที่ทรงถูกวิจารณ์ว่า “ฟั่นเฟือน” เพราะเกิดอาการ “หลุด” จากกิริยาแห่ง “พระราชา”
“ตัดมือตัดเท้าสำเร็จโทษแล้ว ไม่สบายพระไทยคิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่สองเดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกษ หม่อมลา สั่งบุษบาจะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ 1 ชั่ง ให้บังสุกุลตัว ทองคนละ 1 บาท ให้ทำพระแล้วให้นั่งในแพหยวกนิมนต์พระเข้ามาบังสุกุล แล้วจะประหารชีวิตคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกันเจ้าข้า พระสติฟั่นเฟือน” [จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี]
พระอาการ “พระสติฟั่นเฟือน” ตามบันทึกข้อนี้ เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่อาการ “บ้า” อย่างที่เราเข้าใจกันแน่นอน เพราะเป็นอาการที่มีสาเหตุความเป็นมา เพียงแต่พระอาการอ่อนไหวจน “ขาดสติ” นี้ เป็นอาการ “เกิน” กิริยาของพระมหากษัตริย์ไปมาก จนไม่สามารถยอมรับได้ เป็นผลร้ายต่อ “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้าตากถึงขนาดเริ่มมีการใช้คำว่า “ฟั่นเฟือน” เพื่ออธิบายพระอาการของพระองค์
เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เกิดเพียงกรณีเดียว ยังมีเรื่องที่พระเจ้าตากทรงปฏิบัติ “นอกรีตนอกรอย” นอกกรอบโบราณราชประเพณีอีกหลายกรณี และปรากฏอยู่มากในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี จริงอยู่กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงเป็นพระญาติกับเจ้าพระยาจักรี บันทึกต่างๆ ย่อมจะมีอคติหรือ “ใส่ไข่” อยู่บ้าง แต่หลายเรื่องก็สะท้อนความไม่อยู่กับร่องกับรอยของพระเจ้าตากอย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่นกรณี “ลูกขุนนางไม่ใช้ ให้เก็บลูกพลเรือนชาวตลาด ญวนงานกลางขึ้นไปเปนนางอยู่งาน” หรือการยกให้ “พี่เลี้ยงขึ้นไปเปนสมศรีสมทรง” แสดงให้เห็นว่าทรงมีปัญหาเรื่องภายในรั้วในวังอย่างมาก หลายเรื่องสะท้อนความไม่เคารพยำเกรงในพระบารมี บางเรื่องดูเหมือนทรง “หวาดระแวง” จนน่าขำ
“เสด็จกลับมากรุงธนบูรี นางห้ามประสูติเจ้า ท่านสงไสยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่ง ว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใครว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตรในฝีหวาย” [จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี]
พอเพียง ไม่เพียงพอ
ด้วยพระปณิธานแรกของ “พระเจ้าตาก” ที่ปรารถนาจะก่อกู้กรุงศรีอยุธยาให้พื้นคืนดังเก่า แต่ครั้นเมื่อทำสำเร็จแล้ว ก็มีกระแสต่อต้านตั้งแต่แรกทำนองไม่สมควรจะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ดังที่สะท้อนอยู่ในพระราชพงศาวดารเมื่อเสด็จกลับไปอยู่ในพระนครกรุงศรีอยุธยาหลังเสร็จศึกกู้ชาติ
“เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเป็นป่า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว เราชวนกันไปสร้างเมืองกรุงธนบุรีอยู่เถิด” [พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา]
แต่การสร้างกรุงธนบุรีของพระเจ้าตากนั้น เทียบไม่ได้กับกรุงศรีอยุธยา “เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี” ซึ่งเปรียบดั่งเมืองสวรรค์ จะเป็นด้วยทรง “เหนื่อยหน่ายในราชสมบัติ” หรือเพราะไม่ได้คิดเตรียมพระองค์ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ “เป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น” การสร้างปราสาทราชวังเพื่อส่งเสริมราชอาณาจักร สถาบัน หรือแม้แต่ตัวพระองค์เองจึงเป็นไปแบบ “กะทัดรัด” อาศัยป้อมค่ายเก่ามาดัดแปลง และคงจะเป็นไปได้ว่าขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีทั้งหลาย น่าจะถูกละเลยไปไม่น้อย แม้กระทั่งพระราชพิธี “ราชาภิเษก” ก็ยังไม่ชัดเจนสง่างาม เว้นแต่ “งานวัดงานบุญ” เท่านั้น ที่เห็นได้ว่าทรงทำ “ยิ่งใหญ่” ไปเกือบทุกครั้ง
ผิดกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ที่ทรงมีแนวคิดจะฟื้นกรุงศรีอยุธยาใหม่เช่นกัน เริ่มด้วยทรงเร่งสร้าง “พระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน” ตั้งแต่ต้นรัชกาล ทั้งยังจำลองแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยาโดยตรง นอกจากนี้ยังรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีที่ควรจะปฏิบัติ ไม่ปล่อยปละละเลยอย่างเช่นในสมัยพระเจ้าตาก
“จึ่งทรงพระราชดำริห์ว่าพระมหากระษัตรแต่ก่อนมีแต่ประมาทโมหะเปนมูล มิได้มีวิจารณ์ปัญญาพิจารณาปฏิบัติตามพระราชสาตรธรรมสาตรโบราณราชประเพณี ก็เสียศิริสวัสดิมงคล เทพยดาอันมีฤทธิศักดิสิทธเกลียดชัง จึ่งมิได้อภิบาลรักษาก็เกิดอุปัทววันตรายพิบัติเหตุต่างๆ จนแผ่นดินจุลาจล ร้อนอกสมณพราหมณาจาริย์ประชาราษฎรสืบมา” [พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์]
จะเป็นเพราะทรงมาจาก “พ่อค้าเกวียน” หรือ “ขุนนางบ้านนอก” หรือจะเป็นเพราะพระราชนิยมส่วนพระองค์ ที่ไม่ประสงค์ติดยึดอยู่กับโบราณราชประเพณี แต่กลับทรงมีแนวทางใกล้ชิดกับพุทธปรัชญาซึ่งเน้น “ความง่าย” มากกว่า แต่แล้ว “ความง่าย” กลับได้ส่งผลให้ร้ายมากกว่าดีจน “เสียศิริสวัสดิมงคล” ต่อพระองค์ ดังปรากฏเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ
“พระเจ้าตาก” แต่งตั้งโยกย้าย สะเทือน “อำมาตย์”
พระเจ้าตากทรงเลือกดำเนินนโยบายทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงและอันตรายอย่างยิ่ง ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายขุนนางอำมาตย์ข้าราชการ โดยทรงให้ความสำคัญกับ “เพื่อนร่วมรบ” ในสงครามก่อกู้กรุงศรีอยุธยาเหนือกลุ่มเชื้อสายอำมาตย์เก่าที่รับราชการสืบเนื่องมาหลายชั่วอายุคน
พระราชพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีเป็นสมัยเดียวที่กล่าวถึง “ทหารไทยจีน” เสมอๆ เพื่อเชื่อมโยงไปถึงเชื้อสายเดิมของพระเจ้าตาก ซึ่งก็เป็นบรรดา “เพื่อนร่วมรบ” ในสงครามกู้ชาตินั่นเอง และแน่นอนว่าทหารไทยจีนเหล่านี้ ต่อมาได้ขึ้นเป็นขุนนางสำคัญๆ ส่วนหนึ่งไม่ได้มีเชื้อสาย “อำมาตย์” กรุงศรีอยุธยา เว้นแต่กลุ่มของ “หลวงยกกระบัตรราชบุรี” ซึ่งต่อมาได้กินตำแหน่งสูงสุดชั้น “เจ้าพระยา” สอดคล้องกับเอกสารต่างประเทศที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เช่นกัน
“พระยาตากได้ยกย่องบุคคล ซึ่งเป็นพรรคพวกของพระองค์เองทั้งหมดขึ้นอยู่ในตำแหน่งสูงๆ ของประเทศ” [ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง]
หากจะมองอย่างเป็นธรรม ก็น่าจะถูกต้องที่พระเจ้าตากจะทรงเลือกเอาขุนนางที่ทรงไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อความมั่นคงทางการเมือง แต่แน่นอนว่านโยบายทางการเมืองเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้เช่นกัน เพราะทำให้ “อำมาตย์เก่า” ส่วนหนึ่ง เกิดปฏิกิริยาและความไม่พอใจ
กลุ่ม “อำมาตย์เก่า” หรือที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่ากลุ่มตระกูล “ผู้ดี” ซึ่งเคยผสานผลประโยชน์อย่างลงตัวมาแล้วเมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ได้รวมตัวกันอย่างเงียบๆ เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลา
“การรักษาเนื้อหาของชุมนุมไว้ในราชอาณาจักรของพระเจ้ากรุงธนบุรี ยิ่งปิดกั้นโอกาสที่เหล่า “ผู้ดี” เหล่านี้จะไต่เต้าขึ้นไปครองอำนาจทางการเมืองได้สูงดังเก่า” [การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, นิธิ เอียวศรีวงศ์]
ในขณะที่กลุ่ม “อำมาตย์เก่า” เติบโต “เพื่อนร่วมรบ” ของพระเจ้าตาก ก็ตกตายไปทีละคนสองคนเพราะถูกลงพระราชอาญา ทำให้สมดุลทางการเมืองเปลี่ยนไป พระราชบัลลังก์ก็ไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งถึงปลายรัชกาล “พระบารมี” ก็ถดถอยลงทุกวันๆ
จุดเปลี่ยน “พระเจ้าตาก” หันเข้าหาพระศาสนา
ช่วงเกือบจะปลายรัชกาล ขณะติดพันศึกพม่าที่เมืองราชบุรี พระเจ้าตากทรงทราบข่าวร้ายว่าพระราชมารดา กรมพระเทพามาตย์ ประชวรหนัก “จะมิได้ทันเห็นพระองค์” ครั้นจะทิ้งศึกกลับไปดูใจแม่ก็ “ไม่เห็นผู้ใดที่ไว้ใจอยู่ต้านต่อข้าศึกได้” เมื่อเสร็จศึกแล้วจึงได้ถวายพระเพลิง
หลักจากศึกพม่าที่ราชบุรี ก็ตามมาด้วยศึกอะแซหวุ่นกี้ แม้ศึกครั้งนี้จะไม่มีผลแพ้ชนะเด็ดขาด ด้วยพม่าเลิกทัพกลับไปเอง เหตุเพราะพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ แต่เครดิตครั้งนี้พระราชพงศาวดารมอบให้กับแม่ทัพ “สองพี่น้อง” คือเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์รับไปเต็มๆ
หลักจากเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้นี้เอง ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อพระราชประวัติพระเจ้าตาก คือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้ โดยทรงทำบุญแล้วตั้งพระสัตยาธิษฐานดังนี้
“เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะพระปีติทั้งห้าจงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดนั้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไป อนึ่ง ขอจงเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า” [พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา]
การเสด็จไปบำเพ็ญพระกรรมฐานครั้งนี้ คือจุดเริ่มต้นแห่ง “จุดจบ” อย่างแท้จริงของพระเจ้าตาก แม้ว่า “งาน” ในราชการจะดำเนินไปอย่างปกติ แต่หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มต้นที่จะเลวร้ายลงไปทุกที
เอกสารบางชิ้น ชี้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น หลังจากที่เจ้าพระยาจักรี นำเอา “พระแก้วมรกต” มาจากเมืองลาวในปีกุนจุลศักราช 1141 เหตุเพราะพระบารมีพระเจ้าตากไม่ถึง
แต่ร่องรอยความผิดปกตินั้น ความจริงเริ่มมาตั้งแต่เสด็จไปบำเพ็ญพระกรรมฐานแล้วตั้งแต่ เดือนอ้าย ปีวอก จุลศักราช 1138 แล้ว เพราะถึงเดือน 7 ปีระกา หรือเพียง 6 เดือน หลังจากเริ่มต้นบำเพ็ญพระกรรมฐาน ก็ทรงเริ่มสำแดง “ปาฏิหาริย์” แล้ว
อภินิหารพระเจ้าตาก
อันที่จริงเรื่องราว “อิทธิฤทธิ์” ของพระเจ้าตาก ไม่ใช่เพิ่งเริ่มมีเมื่อเสด็จไปบำเพ็ญพระกรรมฐาน แต่ปรากฏมาก่อนหน้านี้มากมายหลายครั้ง หลายเรื่องพระราชพงศาวดารบันทึกเป็น “เหตุการณ์” และอีกมากมายบันทึกไปในเชิงยอพระเกียรติ ทำนอง “ด้วยเดชะพระบารมี” เหตุการณ์ร้ายจึงกลับกลายเป็นดี
แม้เราจะไม่สามารถพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงใดๆ จากปาฏิหาริย์ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แต่น่าสงสัยว่าจากเงื่อนปมเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ทรง “แสดง” อิทธิฤทธิ์ด้วยพระองค์เอง จะเป็นเหตุแห่ง “ความเชื่อ” จนทำให้พระองค์ลุ่มหลงได้หรือไม่
ตัวอย่างหนึ่งที่กล่าวถึง “อภินิหารพระเจ้าตาก” คือ เมื่อคราวจะเสด็จพระราชดำเนินไปราชการทัพในศึกเมืองนครศรีธรรมราชโดยกระบวนเรือ ครั้นเมื่อกระบวนเรือออกถึงปากน้ำสมุทรสงคราม ก็พลันบังเกิดคลื่นลมหนักทำให้เรือรบล่มบ้างแตกบ้าง
“สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้ปลูกศาลขึ้นสูงเพียงตาบนฝั่ง ให้แต่งตั้งเครื่องกระยาสังเวยบวงสรวงเทพารักษ์อันพิทักษ์ท้องพระมหาสมุทร ให้จุดธูปเทียนกระทำสักการบูชาและทรงตั้งพระสัตยาธิษฐาน เอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง กับทั้งพระบารมีซึ่งทรงบำเพ็ญมาแต่บุรพชาติ และในปัจจุบัน ขอจงบันดาลให้คลื่นลมสงบในบัดนี้
ด้วยเดชะอำนาจพระราชกฤษฎาธิการอภินิหารบารมีเป็นมหัศจรรย์ คลื่นลมนั้นก็สงบสงัดราบคาบ เห็นประจักษ์ ในขณะทรงพระสัตยาธิษฐาน” [พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา]
นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่พระเจ้าตากทรง “แสดง” อภินิหารแบบ “เห็นประจักษ์” นอกจากจะห้ามฟ้าห้ามฝนได้แล้ว ยังทรงเรียกฟ้าเรียกฝนได้อีกด้วย ครั้งนี้ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทำศึกเมืองเชียงใหม่ ปรากฏว่าระหว่างทางเกิดกันดารแห้งแล้งอย่างหนัก ไพร่พลเริ่มจะขาดน้ำ เป็นปัญหาแก่การเดินทัพ
“จึงดำรัสว่าอย่าปรารมภ์เลย เป็นภารธุระของเรา ค่ำวันนี้อย่าให้ตีฆ้องยามเลย จงกำหนดแต่นาฬิกาไว้เพลาห้าทุ่มเราจะให้ฝนตกลงจงได้
แล้วจึงดำรัสสั่งพระยาราชประสิทธิ์ให้ปลูกศาลสูงเพียงตา ตั้งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาบนเขาแล้ว จึงทรงตั้งพระสัตยาธิษฐาน เอาพระบรมโพธิสมภารบารมีของพระองค์ ซึ่งทรงสันนิจยาการมาแต่อดีตบุเรชาติตราบเท่าถึงปัจจุบันภพนี้ จงเป็นที่พึ่งพำนักแก่ไพร่พลทั้งปวง กับทั้งอานุภาพเทพยดา ขอจงบันดาลให้ท่อธารวรรโษทกจงตกลงมาในราตรีวันให้เห็นประจักษ์
และเพลาวันนั้นฟื้นอากาศก็ปราศจากเมฆผ่องแผ้วเป็นปรกติอยู่ ด้วยเดชะอำนาจกำลังพระอธิษฐานบารมี กับทั้งอานุภาพ พอถึงเพลาสี่ทุ่มแปดบาท บันดาลให้ฝนห่าใหญ่ตกลงหนักจนน้ำไหลนองไปทั่วท้องป่า และขอนไม้ในป่าก็พลอยไหลเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก” [พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา]
ไม่ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งความบังเอิญ หรือพระบารมี หรือทรง “เล่นของ” หรือแม้แต่การยกเมฆยอพระเกียรติก็ตาม แต่หากเหตุอัศจรรย์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ทรง “แสดง” ทางพระพิธีกรรมให้ “เห็นประจักษ์” ก็น่าเชื่อเหลือเกินว่า อาศัยเพียงเหตุการณ์ครั้งสองครั้งนี้ ก็เพียงพอที่จะให้ผู้คน “ศรัทธา” ในพระบารมีอย่างเหลือล้น
ในทำนองเดียวกันหากเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นแม้เพียงครั้งสองครั้ง ก็เพียงพอที่จะให้พระเจ้าตากทรง “เชื่อมั่น” ว่าพระองค์นั้นมีอิทธิฤทธิ์จริงๆ
“เหาะ” เรียกคืนศรัทธา
เหตุการณ์ร้ายๆ ทั้งหลายถั่งโถมเข้ามาเมื่อปลายรัชกาลมิได้หยุดหย่อน “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้าตากนั้นเรียกได้ว่าเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ
“ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น” นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็สะท้อนความเห็นความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อพระเจ้าตากเมื่อปลายแผ่นดินได้บ้าง
ดังนั้นจึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า การที่ทรงบำเพ็ญพระกรรมฐานนั้น เป็นเพราะทรงมุ่งมั่นในพระศาสนาเพียงอย่างเดียว หรือทรงมีพระราชประสงค์อื่นประกอบอยู่ด้วย
หลักฐานบางประการชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การบำเพ็ญพระกรรมฐานนั้น ทรงมุ่งหวังผลไปมากกว่าการบรรลุธรรมชั้นสูงทางพระศาสนา แต่ทรงหวังผลให้ผู้คน “เห็นประจักษ์” ว่าทรงไปได้ไกลกว่านั้น คล้ายกับ “พระเกจิ” ที่ต้อง “แสดง” ปาฏิหาริย์เพื่อสร้างศรัทธาเช่นเดียวกัน
กล่าวคือทรง “อวด” ต่อบุคคลอื่นเสมอว่าทรงเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ เช่นเมื่อทรงเริ่มบำเพ็ญพระกรรมฐาน ก็ทรง “สอน” วิธีบำเพ็ญพระกรรมฐานแก่พระสงฆ์ และหลังจากเริ่มบำเพ็ญพระกรรมฐานไปได้ไม่นานเท่าไหร่ ก็ทรง “อวด” แก่บุคคลอื่น
“อนึ่ง เข้าทรงนั่งให้โต๊ะแขกดู 5 บาท ออกแล้วตรัสถามว่าเห็นเป็นประการใด โต๊ะแขกกราบทูลว่า ซึ่งนั่งสมาธิอย่างนี้ อาจารย์ซึ่งได้เล่าเรียนมาแต่ก่อนนั้น อันจะได้พบเห็นเสมอเหมือนพระองค์ฉะนี้ไม่มีเลย” [ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (ฉิม)]
นอกจากนี้ยังทรง “อวด” ว่าทรงเป็นผู้มีบุญ คือโปรดฯ ให้ปลูกไม้ไผ่ไม้แก่นไว้สำหรับสร้างปราสาทรอท่าผู้มีบุญ เรื่องนี้กรมหลวงนรินทรเทวีทรง “เยาะ” ไว้ว่า “พระองค์ท่านจะเหาะแล้ว”
ซึ่งเรื่องที่จะทรง “เหาะ” นี้ เห็นทีจะเป็นพระราชประสงค์จริงๆ ด้วยทรง “อวด” ไว้หลายครั้ง จนน่าจะทำให้กรมหลวงนรินทรเทวีเก็บมาพูดถึงได้
บาทหลวงฝรั่งเศสก็เป็นพยานอีกปากหนึ่ง
“พระเจ้าตากไม่ได้รับสั่งให้เราเข้าเฝ้ากว่าปีหนึ่งแล้ว ในระหว่างนั้น ก็ทรงสวดมนต์บ้าง อดพระกระยาหารบ้าง จำศีลภาวนาบ้าง เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับเหาะเหินเดินอากาศต่อไป” [ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9]
จากหลักฐานทั้งในวังเองและของบาทหลวง ก็น่าเชื่อได้ว่าเรื่องที่จะทรง “แสดง” ปาฏิหาริย์นั้น น่าจะมีมูล ไม่ใช่คำกล่าวเชิงปริศนาธรรม แต่หมายถึงการ “เหาะ” จริงๆ
อาจจะมีการเรียกศรัทธากลับคืนมาได้อยู่หลายวิธี ซึ่งวิธี “ปกติ” ก็ทรงปฏิบัติอยู่ตลอดรัชกาลมิได้บกพร่อง แต่เหตุการณ์ร้ายต่างๆ เมื่อปลายรัชกาล ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และข่าวลือต่างๆ การเรียกศรัทธากลับคืนมาด้วยวิธี “ปกติ” จึงอาจไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะทรงตัดสินใจเลือกเอาทาง “อภินิหาร” เป็นทางลัดหนึ่ง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทรงเคย “แสดง” ให้เห็นประจักษ์มาบ้างแล้ว และได้รับการสรรเสริญพระบารมีอย่างมาก และหากทรง “แสดง” ได้อีก ผลที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นทางด้านพระบารมี ความศรัทธา หรือแม้แต่ทางการเมือง ก็จะส่งเสริมให้พระองค์กลับมาเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาได้อีกครั้ง
แต่น่าเสียดายที่พระองค์ไม่เคย “แสดง” อิทธิฤทธิ์ใดๆ ให้เห็นประจักษ์เหมือนอย่างเช่นเมื่อต้นรัชกาลได้อีก ทำให้กุศโลบายนี้กลับแสดงอิทธิฤทธิ์กลายเป็นประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามไป
เบื้องหลังนโยบายอภินิหาร
ส่วนหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าตากทรงเชื่อมั่นว่าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ได้อีก เห็นจะเป็นความเชื่อส่วนพระองค์อย่างแรงกล้า เพราะเคยแสดงให้ “เห็นประจักษ์” มาแล้ว
แต่อีกส่วนหนึ่งคือบรรดาพระสงฆ์ที่เป็นฝ่ายสนับสนุน ยิ่งทำให้เหตุการณ์ “ไปกันใหญ่” บันทึกของบาทหลวงได้ชี้หลักฐานในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี แม้จะบันทึกไว้ท่ามกลางความขัดแย้งซึ่งอาจจะเต็มไปด้วยอคติก็ตาม แต่ก็นับเป็น “เบาะแส” หนึ่งที่ไม่อาจทิ้งไปได้
“เพราะพวกพระสงฆ์ได้กราบทูลว่า ถ้าเราอยู่ในพระราชอาณาเขตตราบใด ก็จะทรงเหาะเหินเดินอากาศไม่ได้” [ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9]
พระสงฆ์กลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยอ่านพระบาลีสอบพระลักขณะของพระเจ้าตากว่า “ต้องด้วยพระพุทธลักขณะ” และก็คงเป็นพระสงฆ์กลุ่มเดียวกันกับที่เห็นว่า “สงฆ์ปุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้” นั่นเอง
พระสงฆ์กลุ่มนี้มีพระพุทธโฆษาจาร วัดบางหว้าใหญ่ พระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนี วัดหงส์ ซึ่งไม่เพียงแต่ตอบปุจฉาเป็นแนวทางเท่านั้น พระสงฆ์กลุ่มนี้ยังปฏิบัติตามความเห็นอีกด้วย
“ตั้งแต่นั้นมาพระราชาคณะพวกพาลอลัชชีมีสันดานบาปที่ว่าไหว้คฤหัสถ์ได้นั้น ก็เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมหมอบกรานเหมือนอย่างข้าราชการฆราวาส” [พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา]
นอกจากนี้ พระรัตนมุนี วัดหงส์ ยังขนานพระนามพระเจ้าตากใหม่เป็น “สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร บวรพุทธางกูร อดูลยขัตติยราชวงศ์ฯ” ซึ่งหมายถึงสมเด็จพระสยามผู้เป็นยอดแห่งความเพียรทางวิปัสสนากรรมฐานฯ
ที่ส่งผลร้ายต่อพระเจ้าตากอย่างยิ่งคือการลงโทษพระสงฆ์ที่ “เห็นต่าง” ด้วยการโบย การลงโทษให้ขนอาจม จน“พระพุทธศาสนาก็เศร้าหมอง” และเป็นเหตุแห่งข้อกล่าวหาว่า “มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส” นั่นเอง
กลยุทธ์ผิด แผ่นดินเดือด
ศรัทธาที่อ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็น “ตัวบุคคล” หรือ “สถาบัน” เริ่มต้นจากสาเหตุของการประพฤตินอกรีตนอกรอยไม่ยึดมั่นต่อจารีตโบราณสุดท้ายแผ่นดินก็ร้อนเป็นไฟ
ครั้นเมื่อเริ่มต้นแผ่นดินใหม่ ก็ทรงปรับเปลี่ยน หันกลับไปยึด “ของโบราณ” เป็นที่ตั้ง
“แลสมเดจบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ได้ปราบดาภิเศกทุกวันนี้ ทรงพระราชอุสาห์ปฏิบัติ โดยราชวัตตจริยาโบราณราชประเพณี จะให้เจริญศิริสวัสดิมงคล ควรเทพยผู้มีมเหศรศักดิ์จะภิบาลรักษา เพื่อจะให้เปนประโยชน์แก่พระศาสนา แลสมณพราหมณาจาริย์ประชาราษฏรทั้งปวง” [พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์]
สถานการณ์ที่เลวร้ายหลายๆ ด้าน ในช่วงปลายรัชกาล อาจทำให้พระเจ้าตากไม่มีทางเลือกมากนัก การเป็น “วีรบุรุษสงคราม” ผู้กอบกู้บ้านเมือง การแจกถุงยังชีพ การเสียสละพระพาหา พระโลหิต เพื่อราษฎรและพระศาสนา หรือการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเมตตาธรรมที่เรียกตัวเองกับข้าราชการหรือราษฎรว่า “พ่อ” ไม่ได้มีประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนี้มากนัก
ในขณะที่ เรื่อง “ซุบซิบ” เรื่องความโหดร้าย การไม่เคร่งครัดต่อจารีตประเพณี ความขัดแย้งกับศาสนจักร และความขัดแย้งทางการเมือง ล้วนแต่สร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายตรงข้าม ในการทำลายศรัทธาในตัวพระองค์ได้ดียิ่งกว่าปาฏิหาริย์ใดๆ
ความพยายามเรียกศรัทธาใน “ตัวบุคคล” ของพระเจ้าตาก ในช่วงเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังเฟื่องฟู ทำให้การเลือกกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญ และเห็นได้ชัดว่ากลยุทธ์ในการสร้าง “อภินิหาร” นั้น เป็นทางเลือกที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะเรียกศรัทธากลับคืนได้ กลับต้องถูกกล่าวหาว่า “บ้า” ไป และเป็นเหตุนำไปสู่การจบสิ้นพระราชวงศ์ในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของเรื่องเล่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ” ตัวจริง หนีไปนครศรีธรรมราช
- “เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2562