ที่มาของเรื่องเล่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ” ตัวจริง หนีไปนครศรีธรรมราช

พระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมือง พิษณุโลก
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

สำรวจแหล่งที่มาของเรื่องเล่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตัวจริง ได้หนีไป “นครศรีธรรมราช” เรื่องเล่าที่วนเวียนในแวดวงประวัติศาสตร์มายาวนาน

เอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ตรงกันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถูกประหารชีวิต แล้วนำศพไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ แต่ 2 ปีต่อมา รัชกาลที่ 1 กลับให้ขุดหีบศพขึ้นมาทำพิธี จึงกลายเป็นคำถามว่าเป็นเพราะเหตุใด การขาดหายของเหตุผลต่อเหตุการณ์ในอดีตจึงเป็นช่องว่างทางประวัติศาสตร์ให้ปัจจุบันได้หยิบยกขึ้นมาขบคิด แล้วนำมาบันทึกเป็นเรื่องเล่าชุดใหม่ว่าการประหารชีวิตที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริง

วรรณกรรมเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2492 แต่งโดย หลวงวิจิตรวาทการ เป็นเรื่องแรกที่นำเสนอเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอม ยอมถูกประหารชีวิตตัดศีรษะที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วพระองค์จริงสามารถหลบหนีไปได้ โดยได้อธิบายไว้อย่างกลมกลืนกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ดังนี้

“บุคคลที่ถูกประหารชีวิต คือหลวงอาสาศึก เขาตายด้วยความยินดี ไม่มีอะไรจะทำความปลาบปลื้มให้แก่เขาเท่ากับที่ได้ตายแทนมหาบุรุษผู้กู้ชาติ เขาตั้งคอรับคมดาบด้วยความเต็มใจ เขาตายโดยไม่รู้ว่าเขาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยา ศพของเขาได้ถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางยี่เรือใต้ ในขณะเดียวกันที่สำเภาลำใหญ่พาพระองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปยังนครศรีธรรมราช” (ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน, 2544 : 356-357)

เหตุการณ์ข้างต้นยังคงดำเนินไปอย่างปกติ ด้วยการประหารชีวิตตัดศีรษะบุคคลที่เชื่อว่าเป็น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วศพก็ยังคงนำไปฝังไว้ที่วัดบางยี่เรือใต้ ตามเอกสารประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ แต่บุคคลที่ถูกประหารนั้นคือ หลวงอาสาศึก ที่แสดงเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริงก็เดินทางออกจากกรุงธนบุรีได้อย่างปลอดภัย

พระบรมรูป พระเจ้าตากสิน ทรงผนวช ณ ลานหน้าวัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช
(ซ้าย) พระบรมรูปพระเจ้าตากสินทรงผนวช ณ ลานหน้าวัดพระมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช [ภาพถ่ายโดย อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวปลอด] (ขวา) พระบรมรูปพระเจ้าตากสิน และสถูปพระเจ้าตากสิน ณ ลานหน้าวัดพระมหาธาตุวรวิหาร จ.นครศรีธรรมราช [ภาพถ่ายโดย อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวปลอด]
อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนจากบทความ “รัชกาลที่ 1 รออะไรถึง 2 ปี ถึงขุดหีบศพพระเจ้าตากฯ มาเผา “หรือว่าพระเจ้าตากฯ ยังไม่ตาย” เรื่องเล่าจากช่องว่างทางประวัติศาสตร์” เขียนโดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในออนไลน์เมื่อ 30 ธันวาคม 2561