ทำไมพระเจ้าตากไม่ประหารเจ้านครศรีธรรมราช ให้รับราชการ-ตั้งเป็นเจ้าเมืองประเทศราช

(ซ้าย) พระบรมรูปพระเจ้า ตากสินทรงผนวช ณ ลาน หน้าวัดพระมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช [โดย อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวปลอด] (ขวา) พระบรมรูปพระเจ้าตากสิน และสถูปพระเจ้าตากสิน ณ ลานหน้าวัดพระมหาธาตุวรวิหาร จ.นครศรีธรรมราช [ภาพโดย อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวปลอด]

ทำไม “พระเจ้าตาก” ไม่ประหาร “เจ้านครศรีธรรมราช” ให้รับราชการ-ตั้งเป็นเจ้าเมืองประเทศราช

(1) บทนำและปัญหา

ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับนครศรีธรรมราชสมัยธนบุรี นอกจากมีประเด็นเรื่องสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างชนชั้นนำเชื้อสายพระเจ้าตากสินและเรื่องในตำนานหรือนิยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ปลายรัชกาล ที่ว่าด้วยการหนีรอดจากการถูกปลงพระชนม์ไปผนวชอยู่ที่นครศรีธรรมราช ประเด็นเรื่องการจัดการปกครองหัวเมืองนครศรีธรรมราชสมัยธนบุรี ก็มีประเด็นที่น่าสนใจใคร่รู้มิใช่น้อย เพราะช่วงนี้เหตุการณ์หลายอย่างสับสนคลุมเครือเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเมืองของการเปลี่ยนผ่านจากธนบุรีมาสู่กรุงเทพฯ เอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ถูกทำลายบ้างก็เขียนใหม่ด้วยอคติทางการเมือง

หากใครอ่านเอกสารหมวด “เรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งธนบุรี” [1] ไปจนถึงเอกสารที่ผ่านการเรียบเรียงอย่างดี เช่น “พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช” [2] จะพบว่าพระเจ้าตากสินทรงยกสถานะเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเป็นหัวเมืองประเทศราช และแต่งตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เป็นเจ้าประเทศราช มีสถานะเทียบเท่ากษัตริย์ ทั้งที่พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) (ผู้คนนิยมเรียกว่า“เจ้านครหนู”) ผู้นี้เป็นคนเดียวกับ “เจ้าก๊กนายชุมนุม” ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งเคยสู้รบปราบปรามกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระเจ้าตากสินทรงทำสงครามปราบก๊กต่างๆเพื่อรวมแผ่นดินหลังการแตกแยกครั้งใหญ่

เมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าก๊กนายชุมนุมอื่นๆ อาทิ เจ้าพิมาย เจ้าพระฝาง พระเจ้าตากสินทรงปราบปรามอย่างเด็ดขาด แม้แต่เจ้าพิมายซึ่งก็คือกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้านายในราชวงศ์บ้านพลูหลวง เสร็จศึกจับกุมตัวได้ก็ให้ปลงพระชนม์เสีย เจ้าพระพิษณุโลกถูกจัดการไปก่อนแล้วโดยเจ้าพระฝาง ขณะที่เจ้าพระฝางเมื่อพ่ายศึกต้องหลบหนีหายไป แต่กรณีชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช พระองค์ไม่เพียงไม่ทรงลงโทษประหาร เอามารับราชการอยู่ด้วยที่ธนบุรี

ต่อมาในพ.ศ. 2319 ก็ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าประเทศราชกลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม นับเป็นเรื่องแปลกและน่าเสียดายที่เรื่องสำคัญเช่นนี้มิได้ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แม้แต่ฉบับเก่าอย่างฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) แต่ข้อจำกัดในแง่หลักฐานของเรื่องนี้เป็นอันหลุดพ้นไป เมื่อมีการปรากฏของเอกสารชั้นต้นที่แม่นตรงยิ่งกว่าพระราชพงศาวดารซึ่งใช้เป็นพื้นฐานในงานศึกษาที่นี้

หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองนครศรีธรรมราช ยกเลิกตำแหน่งเจ้าประเทศราช ลดสถานะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอก ปลดพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) แล้วตั้งอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช (พัท) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (ผู้คนนิยมเรียกว่า “เจ้าพัท” บางแห่งเขียน “เจ้าพัฒน์” แต่ก็เข้าใจว่าหมายถึงคนเดียวกันตลอด) จากเอกสารตราตั้งเจ้าพัท เมื่อ พ.ศ. 2327 ได้ปรากฏข้อความกล่าวถึงเหตุผลในการยกเลิกตำแหน่งเจ้าประเทศราช พาดพิงถึงการจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราชสมัยธนบุรีดังนี้

“ด้วยเสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนทั้งปวง ปรึกษากราบทูลพระกรุณาว่า เมืองณคอร (ศรีธรรมราช) ขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยาแต่ก่อนนั้น ถ้าเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่มีบำเหน็จความชอบในราชกิจ สมเด็จบรมบพิตรปลูกเลี้ยงให้ออกไปรั้งเมืองครองเมือง มีแต่ปลัดยุคบัตรกรมการรับราชการตามขนบธรรมเนียมบุราณราชประเพณี พญาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอปรไปด้วยโมหะโลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบโดยขนบบุราณ ตั้งให้เป็นถึงเจ้าณคอร มีอรรคมหาเสนาจัตุสดมภ์ มหาดเล็กต้องชื่อข้าเฝ้าเทียมพระเจ้าอยู่หัว จะสั่งกิจราชการบัตรหมายประการใดกว่ารับสั่ง ดุจดังอนุวงษ์ราชวงษ์ ถึงอนุวงษ์ราชวงษ์ก็ดี มีแต่รับสั่ง ตั้งแต่เจ้ากรมปลัดกรมหลวง ขุนหมื่นนายเวรขุนหมื่นปลัดเวร หามีเสนาบดีเหมือนดังนี้ไม่ ซึ่งตั้งให้พระปลัดเป็นเจ้านั้นผิดประเพณีแต่ปางก่อน ฝ่ายผู้ตั้งผู้แต่งประพฤติการผิดต่างๆ มิได้เป็นยุติธรรม ฉ้อไพร่ฟ้าประชากรๆ ประนอมพร้อมกันจับประหารชีวิตเสีย แล้วพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาผ่านพิภพ เสนามุขลูกขุนปรึกษาให้เจ้าณคอรถอยยศลดเสนาบดีลงเสีย” [3]

แต่เรื่องสำคัญใหญ่โตเช่นนี้จะเป็นการกระทำโดยที่พระเจ้าตากสินทรง “วิปลาส” (กอปรไปด้วยโมหะโลภะ) ไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดไปกว่านั้นจริงหรือ? หากทรงวิปลาสจริงก็จะกลายเป็นว่าทรงวิปลาสมาตั้งแต่ พ.ศ. 2319 ปีเดียวกับที่มีศึกอะแซหวุ่นกี้และเป็นปีที่เศรษฐกิจการค้าของสยามเริ่มฟื้นตัวหลังจากพบวิกฤติการณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2310 ในการจัดพิมพ์ชุดประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก กรมศิลปากรได้อธิบายไว้ในเชิงอรรถแห่งหนึ่ง อ้างถึงพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อเรื่องนี้ว่า สืบเนื่องมาจากพระเจ้าตากสินทรงพระราชปรารภเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ดังนี้

“ทำนองพระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้ทรงปรารภเรื่องสืบสันตติวงศ์ พิเคราะห์ตามความมุ่งหมาย ดูเหมือนตั้งพระทัยจะให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ลูกเธอองค์ 1 ครองกรุงกัมพูชา ให้เจ้าทัศพงษ์ลูกเธอ ซึ่งภายหลังเป็นพระพงษ์นรินทร์ ซึ่งเป็นหลานเจ้านคร ครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนกรุงธนบุรีนั้นจะมอบราชสมบัติประทานเจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ ที่เรียกว่า เจ้าฟ้าเหม็น ด้วยเป็นพระราชนัดดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชไว้” [4]

แต่เมื่อพิจารณาตัวบทในเอกสารชั้นต้นที่ทรงพระราชนิพนธ์วิจารณ์จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) จะพบว่าทรงย้อนกลับไปอ้างถึงเอกสารประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบกับจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ทรงตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารที่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องสำคัญเช่นนี้ แต่กลับเต็มไปด้วย “ข้อความมัวๆ” [5]

และที่ทรงเสนอว่าพระเจ้าตากสินมีพระราชปรารภเกี่ยวกับผู้สืบสันตติวงศ์นั้นก็เพียงเป็นแค่การสันนิษฐาน มิได้ “ฟันธง” หรือปักพระราชหฤทัยเชื่อเช่นนั้นเต็มที่แต่อย่างใด เรื่องนี้จึงยังคงเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ว่า เพราะเหตุใดพระเจ้าตากสินจึงทรงตั้งนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราช ไม่ตั้งเป็นหัวเมืองเอก

การที่พระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งพระเจ้านราสุริยวงษ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอให้ครองเมืองนครศรีธรรมราชภายหลังจากเสร็จศึกปราบปรามชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ก่อนที่จะทรงแต่งตั้งเจ้านคร (หนู) ไปเป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช และทั้งการพระราชทานอนุญาตให้พระสนมปรางซึ่งมีครรภ์ได้ 2 เดือนกลับไปเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้เกิดแนวโน้มความสมเหตุสมผลตามพระราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่พระสนมปรางคนดังกล่าวเป็นคนโปรดปรานของพระองค์ ดังจะเห็นได้จากทรงให้ประหารชีวิตเจ้าพระยาพิชัยราชาเจ้าเมืองสวรรคโลก ที่มาสู่ขอบุตรสาวของเจ้านคร (หนู) คนนี้ โดยที่บุตรสาวคนพี่คือเจ้าจอมมารดาฉิมเป็นพระสนมเอกอยู่ในวัง รับสั่งถึงโทษทัณฑ์ของเจ้าพระยาพิชัยราชาว่า “มันทำบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่กับกูผู้เปนพระเจ้าแผ่นดิน” [6] แต่แล้วในคราวเดียวกับที่ทรงตั้งเจ้านคร (หนู) กลับพระราชทานพระสนมปรางที่มีครรภ์ 2 เดือน ให้เป็นชายาเจ้าอุปราชพัท และให้เดินทางกลับนครศรีธรรมราชไปพร้อมกับบิดาและสามี

แม้อาจจะทรงมองการณ์ไกลเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ ก็ยังมีประเด็นที่ไม่สามารถละเลยไปได้ อย่างเช่นปัญหาการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ธนบุรีกำลังเผชิญสืบต่อมาจากอยุธยา ที่น่าจะมีผลไม่น้อยต่อการยกสถานะให้นครศรีธรรมราชเป็นอิสระปกครองตนเองและทำหน้าที่ควบคุมดูแลหัวเมืองบริวารในรูปเจ้าประเทศราชไปพร้อมกันด้วย เหตุผลข้อนี้คงไม่เปิดเผยแน่ชัด เพราะจะเท่ากับธนบุรีต้องยอมรับสภาพต่อข้อจำกัดบางประการที่มีในการปกครองภูมิภาค บทความนี้จึงมุ่งเน้นอภิปรายประเด็นเรื่องการยกสถานะดังกล่าวนั้น เป็นทางออกของปัญหาที่เหมาะสมอย่างไรกับสถานการณ์ของหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ธนบุรีกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนั้น

(2) จาก “ก๊กเจ้านคร” สู่ หัวเมืองประเทศราช : ข้อพิจารณาทางด้านเอกสาร

(ทำไมพระเจ้าตากสินจึงทรงตั้งนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองประเทศราช?)

เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ในสมัยธนบุรี มีเหลืออยู่ 2 ชิ้น ชิ้นที่ 1 คัดมาจากกรมท่า มีชื่อเดิมว่า “กฎหมายพระราชโองการไปมอบเมืองณคอร ปีวอกอัฐศก คัดมาแต่กรมท่า” ที่ว่า “คัดมาแต่กรมท่า” นั้นเป็นการคัดลอกถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จตรวจหัวเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2523 คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตีพิมพ์เอกสารนี้โดยแยกเป็น 2 หัวข้อ

หัวข้อที่ 1 ใช้ชื่อว่า “หมายรับสั่งเรื่องโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้านครศรีธรรมราช” หัวข้อที่ 2 ใช้ชื่อว่า “หมายรับสั่งเรื่องให้เจ้าพนักงานเชิญพระราชโองการออกไปพระราชทานมอบเมืองให้เจ้านครเป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช” [7] เป็นเอกสารรายละเอียดสิ่งของพระราชทานและพิธีการต่างๆ ใน พ.ศ. 2545 กรมศิลปากรจัดพิมพ์รวมทั้ง 2 หัวข้อไว้ในชุด “ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก” ให้ชื่อใหม่สอดคล้องกับเนื้อหาว่า “เรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี” พร้อมทั้งยังพิมพ์เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชเพิ่มเติม [8]

ส่วนเอกสารอีกชิ้น ได้ตกทอดมาจากหอพระสมุดวชิรญาณ เก็บรักษาโดยหอสมุดแห่งชาติในเวลาต่อมา เป็นหนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทยเส้นรง (ดินสอ, หรดาล) จ.ศ. 1138 (พ.ศ. 2319) บานแพนกเลขที่ 6 เรื่อง “กฎตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช จ.ศ. 1138 (พ.ศ. 2319)” กรมศิลปากร
นำมาพิมพ์รวมในชุดประชุมพงศาวดารใช้ชื่อใหม่ว่า“สำเนากฎเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี” [9]

จะเห็นได้ว่าชื่อเรื่องตามที่บานแพนกของสมุดแห่งชาติ ยังระบุเป็นการตั้งเจ้าพระยา(นครศรีธรรมราช) ซึ่งไม่สอดคล้องกับเนื้อความเอกสาร เพราะเป็นการตั้งเจ้าประเทศราช ไม่ใช่การตั้งขุนนางออกไปปกครองเมืองเหมือนอย่างกรณีอื่นๆ จากการแต่งตั้งนี้เจ้านครมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากษัตริย์องค์หนึ่ง ที่มีอำนาจอิสระในการปกครองหัวเมือง

การตั้งเจ้านคร (หนู) เป็นเจ้าประเทศราชเมืองนครศรีธรรมราชจะสำคัญใหญ่โตขนาดไหน จนถึงกับทำให้ผู้อ่านเอกสารชั้นต้นอดตั้งข้อสงสัยกันไม่ได้ว่า เหตุใดเรื่องสำคัญซึ่งปรากฏในเอกสารชั้นต้นเช่นนี้ จึงไม่ปรากฏในเอกสารพระราชพงศาวดารหรือบันทึกหลักฐานที่เป็นทางการอื่นใด แม้แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ก็ไม่ปรากฏเรื่องจึงอาจมีวาระอะไรซ่อนเร้นไว้หรือไม่ อย่างไร

….{ด้วยข้อจำกัดของเวอร์ชั่นออนไลน์ จึงต้องตัดทอนเนื้อหาส่วนที่ยกมาจากเอกสารนี้ สามารถติดตามได้จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน พ.ศ. 2561}…

จากเอกสารทั้งสองพบว่าเหตุผลที่ทรงตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชนั้น ปรากฏอย่างเป็นทางการในเอกสารชิ้นที่ 2 ซึ่งมีข้อความระบุว่า “ครั้งพระณคอรศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแต่ก่อน ฝ่ายกรมการพลเมืองเมืองณคอรหาที่พึ่งไม่ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมาก็ได้พึ่งพาอาศัยสับประยุทธชิงชัยชนะแขกข้าศึก ถ้าหาไม่ขัณฑสีมาก็จะส่ำสายเป็นไป ความชอบมีอยู่กับแผ่นดิน ฝ่ายศักดิ์กฤษฎานุภาพคงขัติยราชผู้หนึ่ง ครั้งนี้ราชธิดาก็ได้ราชโอรส ฝ่ายพญาณคอรก็ได้ไปตามเสด็จพระราชดำเนิน ช่วยทำการยุทธชิงชัยเหมมันพม่าข้าศึกครั้นจะเอาไว้ให้บังคับพลช่วยการแผ่นดินพระณคอรศรีอยุทธยาก็เป็นฝาเป็นตัวอยู่เสร็จสิ้น ประการหนึ่งก็มีทาสกรรมกรแต่ 20-30 หาต้องการที่อยู่ไม่ ฝ่ายเจ้าณราสุริวงสวรรคาลัยควรให้ไปบำรุงพระเกียรติยศฉลองพระเดชพระคุณแทนเจ้าณราสุริวงสืบไป และซึ่งจะบำรุงพระเกียรติยศนั้น ฝ่ายพญานครเคยผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมาอยู่แล้ว ก็ให้ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑายซึ่งผู้ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมาสืบมาแต่ก่อนนั้น เหมือนกันกับพระยาประเทศราชประเพณีดุจเดียวกัน”

เหตุผลที่ทรงแถลงไว้ในฐานะที่พระเจ้านครศรีธรรมราชเป็นผู้มีความดีความชอบในแผ่นดิน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้านครศรีธรรมราชในแง่ตัวบุคคล ไม่ได้ให้ไว้เกี่ยวกับเหตุผลที่ทรงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองประเทศราชด้วย ลำพังความดีความชอบส่วนบุคคลนั้นสามารถตอบแทนโดยการตั้งให้เป็นพระยาเสนาบดีก็เพียงพอแล้ว ดังที่ชนชั้นนำในต้นรัตนโกสินทร์ได้อธิบายไว้ก็ถูกต้องชอบธรรมอยู่ ทั้งนี้การที่ทรงมิได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับปัญหาในทางการเมืองการปกครองนครศรีธรรมราชเอาไว้ก็ทำให้เกิดช่องว่างที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหยิบเอาไปใช้ได้ในภายหลัง แต่เข้าใจได้ในแง่ว่าเหตุผลดังกล่าวอาจกระทบต่อพระเกียรติของพระเจ้าตากสินเอง เพราะเท่ากับต้องทรงยอมรับข้อจำกัดของธนบุรีในการจัดการปัญหาการปกครองหัวเมืองใหญ่อย่างนครศรีธรรมราชและเมืองปักษ์ใต้อื่นๆ ซึ่งสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่แตกพ่ายต่อพม่าเมื่อ พ.ศ. 2310

(3) จากศูนย์กลางสู่ชายขอบตามพรลิงค์-นครศรีธรรมราช ภายใต้ราชอาณาจักรอยุธยา

ไม่เป็นที่สงสัยว่านครศรีธรรมราชนั้นเป็นเมืองท่าการค้าสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณก่อนอยุธยา มีงานศึกษาทางประวัติศาสตร์โบราณคดีหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าวของนครศรีธรรมราช14 แต่กระนั้นการสลายตัวไปของอาณาจักรตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชโบราณ เข้าสู่ยุคการเป็นหัวเมืองเอกของอยุธยาก็ยังเป็นเรื่องคลุมเครือไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะความจำกัดของหลักฐานลายลักษณ์อักษร อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่อธิบายจากร่องรอยของซากสถาปัตย์และศิลปวัตถุได้ลำบาก

จารึกดงแม่นางเมืองที่มีศักราชชัดเจน คือ พ.ศ. 1710 กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับเมืองธานยปุระ(เมืองโบราณที่ริมแม่น้ำปิง อำเภอบรรพตพิสัยจังหวัดนครสวรรค์) โดยกษัตริย์นครศรีธรรมราชได้มอบพระสรีรธาตุของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (เข้าใจว่าคือองค์ที่เพิ่งสวรรคต) มาให้เป็นเครื่องบูชาแก่ผู้ครองเมืองธานยปุระ ฝ่ายผู้ครองเมืองธานยปุระก็ตอบรับพระสรีรธาตุและสนองพระราชโองการที่ให้กำหนดเขตที่นาในเมืองของตนสำหรับสร้างเป็นสถานที่เคารพถวายแด่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้สวรรคต [15]

ทว่าการที่นครศรีธรรมราชจะมีอำนาจขึ้นมาจนถึงนครสวรรค์เป็นเรื่องยากจะจินตนาการ เมื่อเป็นยุคที่มีทั้งรัฐสุพรรณภูมิกุมอำนาจอยู่แถบลุ่มน้ำท่าจีน แม่กลอง ลงไปจนถึงเพชรบุรีมีทั้งลพบุรีที่ย้ายศูนย์กลางอำนาจลงมาเป็นอโยธยาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อย่างไรก็ตาม หลักฐานประเภทตำนาน แสดงให้เห็นสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างมากระหว่างราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชกับราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ดังนั้น จึงเกิดความเป็นไปได้ที่คณะเสนาบดีผู้อัญเชิญพระสรีรธาตุของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจะได้รับอนุญาตจากกษัตริย์ละโว้-อโยธยา ให้เดินทางผ่านไปยังนครสวรรค์ตามภารกิจทางศาสนา เช่นเดียวกับที่ให้มหาเถรศรีศรัทธา ภิกษุเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัยผ่านไปกลับระหว่างลังกากับสุโขทัยในอีก 2 ศตวรรษต่อมา [16] โดยที่ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่สุโขทัยตามศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) นั้นจะมีอำนาจปกครองลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช [17]

ตำนานยังเป็นร่องรอยสำคัญที่บอกกับเราว่าในช่วงหลังจากเกิดสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับอยุธยานั้น ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชก็ยังมีอยู่และดำรงบทบาทอำนาจในหัวเมืองปักษ์ใต้อยู่ดังเช่นที่เป็นมาก่อนหน้าราชวงศ์ละโว้-อโยธยา การรับรองสถานะของเชื้อสายราชวงศ์ของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นพันธสัญญาหนึ่งที่กษัตริย์อยุธยาให้ไว้ต่อนครศรีธรรมราช อยุธยาจึงยังมิได้เข้ามาจัดการปกครองหรือควบคุมเข้มงวดเหมือนในช่วงหลังเท่าไรนัก [18]

แต่แน่นอนว่าลำพังหลักฐานประเภทตำนานยังไม่อาจลงความเห็นสรุปได้เพราะเอกสารตำนานเกิดจากการบันทึกเล่าภายหลังแต่เรื่องนี้เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับหลักฐานต่างชาติร่วมสมัยอย่างเช่นเอกสารโปรตุเกส ก็จะพบว่าตำนานให้ข้อมูลที่พอจะสมเหตุสมผลและอธิบายอะไรได้ต่อไปอยู่บ้าง ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทอม พิเรส (Tomé Pires) กล่าวถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น ปะหัง ตรัง กานูกลันตัน สายบุรีปัตตานีและนครศรีธรรมราชว่า “เจ้าเมืองบางคนเป็นกษัตริย์ เจ้าเมืองเหล่านี้มีเรือสำเภาทุกคน เรือสำเภาเหล่านี้ไม่เป็นของพระเจ้ากรุงสยาม” [19]

เอกสารประเภทพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า นครศรีธรรมราชเข้ามาขึ้นกับอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) โดยเป็นหนึ่งในหัวเมือง “พระยาประเทศราชขึ้น 16 เมือง” ได้แก่มะละกา ชวา [20] ตะนาวศรีนครศรีธรรมราช ทวายเมาะตะมะ เมาะลำเลิง สงขลา จันทบูร พิษณุโลกสุโขทัย พิชัย สวรรคโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ เป็นต้น [21]

ซึ่งเป็นข้อความที่พระราชพงศาวดารทั้งฉบับเก่าและฉบับชำระสมัยต้นรัตนโกสินทร์ กล่าวไว้สอดคล้องกัน [22] แต่คำว่า “พระยาประเทศราช” ดูจะขัดแย้ง เพราะตามธรรมเนียมของระบอบจักรพรรดิราช เจ้าเมืองประเทศราชมีสถานะเป็นกษัตริย์ไม่ใช่ขุนนางชั้นพระยา แต่อย่างน้อยที่สุดในส่วนนี้ก็เป็นร่องรอยว่าในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้นร่นขึ้นไปเป็นอย่างน้อยสถานะของเมืองนครศรีธรรมราชที่มีกับอยุธยานั้นคือ “ประเทศราช” ยังมิใช่หัวเมืองเอกที่ขึ้นตรงต่อราชอาณาจักรอยุธยาโดยตรงแต่อย่างใด

และการที่อยุธยาระบุว่าที่ใดเป็นเมืองประเทศราช ที่นั่นก็ย่อมมีศักดิ์และสิทธิ์ในการปกครองตนเอง โดยไม่มีการแทรกแซงจากส่วนกลาง ภายใต้การยินยอมเช่นนั้นในทางตรงกันข้าม ส่วนกลางหรืออยุธยาก็จึงจะสามารถมีสถานะเป็นเมืองของพญาจักรพรรดิราชได้ตามคติความเชื่อในหลักไตรภูมิ [23]

การเปลี่ยนกลุ่มชนชั้นปกครองของอยุธยาจากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา มาเป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิคงมิได้กระทบหรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับอยุธยามากนัก ดังจะเห็นได้จากกษัตริย์อยุธยาในราชวงศ์สุพรรณภูมิยังถือคติการเป็นพญาจักรพรรดิราชจากการมีพระสนมเอก 4 นางจาก 4 บ้านเมืองสำคัญ คือ ลพบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย-พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช เช่นเดียวกับกษัตริย์อยุธยาในราชวงศ์ละโว้-อโยธยา [24]

แม้ว่าในสมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิพระสนมเอกจากนครศรีธรรมราช อาจไม่ได้แสดงบทบาทมากเท่าพระสนมเอกจากลพบุรีและสุโขทัย-พิษณุโลก อันมีเหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชเป็นกรณีตัวอย่าง เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ปราบดาภิเษกแล้วยกราชสมบัติให้“กิ๊ก”ของพระนางคือ ขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชสมบัติแต่ต่อมาพระสุริโยทัยก็ได้นำเอาพระญาติจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น กลุ่มออกพระพิเรนทรเทพ (สมเด็จพระมหาธรรมราชา ในเวลาต่อมา) เข้ามาช่วยพระสวามีของพระนาง คือ พระเฑียรราชา โค่นล้มกลุ่มท้าวศรีสุดาจันทร์-ขุนวรวงศาธิราชได้สำเร็จ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ [25]

นั่นหมายความว่า สถานะของเมืองนครศรีธรรมราชตลอดช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ร่นขึ้นไปนั้น ก็มีสถานะเช่นเดียวกับอีก หัวเมืองสำคัญข้างต้น คือเป็นเมืองลูกหลวงทางปักษ์ใต้แต่ข้อที่ต้องพิจารณาประกอบความสำคัญอีกข้อที่ละเลยไม่ได้ก็คือเรื่องระยะทางคมนาคม ความห่างไกลจากศูนย์กลาง ที่
นครศรีธรรมราชมีมากกว่าหัวเมืองลูกหลวงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสุพรรณบุรีลพบุรีและพิษณุโลก อีกทั้งยังมีเหตุปัจจัยจากการแข่งขันขยายปริมณฑลกันระหว่างอยุธยากับพม่าก็ส่งผลทำให้หัวเมืองอย่างสุพรรณบุรี และพิษณุโลก มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้นมากกว่าลพบุรีและนครศรีธรรมราชด้วย

เมื่อมีพระราชโอรสที่เกิดจากพระสนมเอกหรือพระมเหสีจากเชื้อสายราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชอยุธยาก็จะส่งไปครองเมืองนครศรีธรรมราชตามธรรมเนียม แต่ระบบเมืองลูกหลวงนี้ก็ถูกทำลายไปพร้อมกับการเสียกรุงครั้ง พ.ศ. 2112 หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม พระเจ้าบุเรงนองได้กวาดต้อนผู้คนและเจ้านายในราชวงศ์สุพรรณภูมิไปยังหงสาวดียกอยุธยาให้แก่ราชวงศ์สุโขทัยปกครอง โดยที่ราชวงศ์สุโขทัยเองขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นและเพียงพอแก่การปกครองอาณาจักรที่มีเครือข่ายการค้าระดับสากลอย่างอยุธยา เมื่อเปรียบเทียบกับสุพรรณบุรีลพบุรีและพิษณุโลก สถานะของเมืองนครศรีธรรมราชจึงกำกวมและก้ำกึ่งกันระหว่างหัวเมืองเอกกับประเทศราชการอยู่ห่างจากเมืองหลวงต้องใช้เวลามากกว่า 10 วันกว่าจะไปถึงหรือติดต่อกันได้แม้จะเป็นการเดินทางทางเรือก็ตาม ส่งผลให้นครศรีธรรมราชมีอิสระของตนเองอยู่มากพอสมควร สถานะหัวเมืองเอกแทบจะไม่เป็นผล เพราะในความเป็นจริงนครศรีธรรมราชดำรงตนในความสัมพันธ์กับอยุธยาอย่างหัวเมืองประเทศราช จึงอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อการแทรกแซงของส่วนกลาง

การปฏิรูปในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร จากที่ทรงนิยมแต่งตั้งเจ้าเมืองจากขุนนางแทนที่จะแต่งตั้งจากเจ้านายเหมือนอย่างแต่ก่อน มีทั้งข้อดีและข้อเสียเมื่อมองจากหัวเมือง ข้อดีคือราชวงศ์สุโขทัยึ่งเพิ่งเข้ามาครองอยุธยา ได้ประโยชน์จากความกระตือรือร้น ความสะดวกรวดเร็วและฉับไวในการปกครองท่ามกลางสถานการณ์ที่ต่างก็รู้กันว่า จะต้องมีศึกสงครามกับอาณาจักรข้างเคียงที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นหงสาวดี ละแวก และปัตตานี แต่อีกด้านการปฏิรูปเช่นนี้เท่ากับเปลี่ยนไปสู่ระบบที่ให้อำนาจแก่ขุนนางมากขึ้น จนในที่สุดก็มีขุนนางที่มีอำนาจมากล้มราชวงศ์สุโขทัย ตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์ปราสาททองขึ้นมาแทนที่ ในเวลาเพียงไม่นานหลังการปฏิรูปดำเนินมา

ไม่ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะทรงแต่งตั้งออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นากามาซะ) ไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุเพราะแคลงใจต่ออดีต “สหายร่วมรบ” ในเรื่องความจงรักภักดี หรือเพราะมีเหตุปัจจัยอื่นใดก็ตาม เมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นจุดสุ่มเสี่ยงสำหรับกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์โดยวิธีปราบดาภิเษก อีกทั้งการท้าทายของรายาปัตตานีต่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็จำเป็นอยู่แล้วที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะต้องส่งคนไปควบคุมเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเป้าหมายขั้นต่อไปคือการทำสงครามแสดงบุญบารมีต่อปัตตานี การณ์จึงปรากฏว่าออกญาเสนาภิมุขเมื่อไปถึงนครศรีธรรมราชและจัดการปกครองเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเปิดศึกโจมตีเมืองปัตตานีตามคำสั่งของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งนั่นนำไปสู่จุดจบของซามูไรอยุธยาผู้ยิ่งใหญ่และเป็นตำนาน

การแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราช บ้างก็ส่งคนจากอยุธยาไปสอดส่องหัวเมืองทางปักษ์ใต้ ปรากฏเด่นชัดในช่วงนับตั้งแต่ราชวงศ์ปราสาททอง เช่น การตั้งออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นากามาซะ) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ส่วนการส่งศรีปราชญ์ไปเมือง
นครศรีธรรมราชในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (บางแห่งว่าในสมัยพระเจ้าเสือ) ยังมีข้อกังขาในแง่หลักฐานอยู่มาก จนอาจเป็นเพียงเรื่องตำนานมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง [26]

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย “ออกญาเดโช” เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ผู้มักปรากฏชื่ออยู่ในงานประวัติศาสตร์ปัตตานี เพราะเป็นผู้นำทัพไปรุกรานัตตานีในนามของสยาม แต่สถานะของออกญาเดโชและเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังก้ำกึ่งกันระหว่างหัวเมืองเอกกับประเทศราช ออกญาเดโชตัดสินใจและกระทำการต่างๆ ได้ค่อนข้างอิสระเมื่อเทียบกับหัวเมืองเอกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกรานปัตตานี ความพัวพันกับเจ้าหญิงปัตตานี บ้างก็ว่าเป็นถึงพระสวามีเก่าของรายาบางองค์ แต่มีเรื่องบาดหมางและแค้นเคืองเนื่องจากพระนางหันไปมีใจให้กับสุลต่านปะหัง ซึ่งนับถือศาสนาเดียวกันและตัดสินใจอภิเษกสมรสเป็นประไหมสุหรีเมืองปะหังในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับนครศรีธรรมราชก็เลวร้ายลง และปัตตานีก็ผูกสัมพันธ์กับรัฐมลายูอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เพราะสถานการณ์คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดสงครามกับนครศรีธรรมราช (ในนามของสยาม) โดยการจัดการอภิเษกสมรสระหว่างรายากูนิงกับเจ้าชายยังดีเปอร์ตูวัน มูดอร์ โอรสรายายะโฮร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ครองเมืองตรังกานู ใน พ.ศ. 2175 ช่วงเดียวกับที่ปัตตานีกำลังจะมีการจัดงานอภิเษกสมรสอยู่นั้นเอง ออกญาเดโชก็กรีธาทัพใหญ่เข้าประชิดเมืองปัตตานี [27]

เรื่องนี้ก็สะท้อนอยู่โดยนัยว่า ออกญาเดโชผู้นี้มองตนเองในฐานะที่มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีเทียบเทียมเจ้าประเทศราชอย่างน้อยก็ในความสัมพันธ์ที่มีต่อปัตตานี ปะหังตรังกานู ยะโฮร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์แบบกำกวมและก้ำกึ่งที่แสดงออกลักษณะนี้ (หัวเมืองเอกแต่มีอาญาสิทธิ์ของตนเองจนถึงกับสามารถเปิดสงครามกับอาณาจักรข้างเคียงได้) สมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ทรงตระหนักและเข้าใจดีในจุดนี้ เมื่อปราบดาภิเษกและเรียกร้องบุหงามาศจากปัตตานี แต่รายาปัตตานีก็ปฏิเสธซ้ำยังบริภาษต่อว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสียยกใหญ่ ฐานเป็นแต่เพียงขุนนางแต่กำเริบเสิบสานตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ความเป็นปฏิปักษ์ต่ออยุธยาที่ปัตตานีแสดงออกในรัชกาลดังกล่าวก็เป็นท่าทีเดียวกับที่กัมพูชาแสดงออกเช่นกัน และปัตตานีก็ยังคงแสดงปฏิกิริยาเช่นนี้ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงขึ้นครองราชย์โดยวิธียึดอำนาจล้มล้างราชวงศ์ปราสาททอง [28] จนเกือบจะกลายเป็นประเพณีตั้งแต่ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 22 จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ว่าหากอยุธยาเกิดการยึดอำนาจปราบดาภิเษก ปัตตานีก็มักจะแสดงท่าทีต่อต้านไม่ยอมรับกษัตริย์องค์ใหม่ จนนำไปสู่สงครามระหว่างสยามกับปัตตานีอยู่เสมอ

ผู้ที่ให้ภาพความเปลี่ยนแปลงของนครศรีธรรมราช จากหัวเมืองใหญ่ในอดีตสมัยอยุธยาตอนต้นร่นขึ้นไป มาสู่ภาพหัวเมืองเอกของอยุธยาในคาบสมุทรภาคใต้ได้ดี ตัวอย่างก็เช่นบันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสมัยเมื่อทอม พิเรส ชาวโปรตุเกสเข้ามา เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงท่าเรือเมืองนคร (Ligor) สิงขร (Cingor) [ซิงโกราหรือสงขลา- ผู้อ้าง] และอื่นๆ เพราะไม่ใหญ่โตอะไรนัก แต่ต่อไปอาจจะขยายตัวใหญ่โตขึ้นก็ได้ถ้ามีการลงทุน แต่คนสยามเป็นคนมัธยัสถ์และไม่ค่อยขยันเท่าไรนัก เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ท่าเรือทั้งสองนี้เคยเป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน ก็คงจะเป็นอยู่เช่นนั้นตลอดไป” [29]

แชรแวสจะไปได้ยินได้ฟังการสบประมาทของคนในอยุธยาต่อหัวเมืองห่างไกลเช่นนี้มาจากไหนก็ตามที แต่การหดตัวเล็กลงของนครศรีธรรมราชจนต่างกันลิบกับอดีตที่เคยเป็นเมืองใหญ่และมั่งคั่งรุ่งเรือง ก็ดูจะเป็นจริงไม่ใช่เฉพาะแต่กับนครศรีธรรมราช หากแต่ยังมีอีกหลายเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้เมื่อเข้ามาอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรอยุธยา แต่แชรแวสก็ตั้งข้อสังเกตว่าการเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางการค้าของฮอลันดา ที่เข้ามาตั้งโรงเก็บสินค้าและเป็นที่แวะจอดเทียบเรือเพื่อแสวงหาสินค้าของบริษัทวีโอซี [30] มีแนวโน้มจะนำความเปลี่ยนแปลงมาให้แก่นครศรีธรรมราชได้มาก

เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสมัยนั้นก็หลักแหลมพอตัวถึงได้สร้างแรงจูงใจแก่พ่อค้าชาวจีนและยุโรปโดยมีนโยบายงดเว้นการเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าต่างชาติ ให้ที่ดินและอนุญาตให้สร้างอาคารสำหรับโรงเก็บสินค้าได้ตามความพอใจ [31] และก็แน่นอน นโยบายดังกล่าวนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นที่เจ้านครศรีธรรมราชจะต้องขออนุญาตจากอยุธยาหรือรายงานให้ทราบแต่อย่างใด เพราะอยู่ในอำนาจที่เจ้าเมืองกรมการสามารถจะจัดการให้แก่ “อาคันตุกะ” ของเมืองในปกครองของตนอยู่แล้ว

เมื่อพิจารณาว่าในช่วงนับแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 22-23 นครศรีธรรมราชกลับฟื้นคืนความเป็นเมืองท่าการค้าทางทะเลขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้ง จนยากแก่การควบคุมของอยุธยา เพราะเมืองท่าที่มีศักยภาพการค้าทางทะเลย่อมเป็นที่สนใจแก่พ่อค้าต่างชาติและกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในอำนาจของอยุธยาที่จะควบคุมได้ อย่างเช่น พวกโจรสลัด นักผจญภัย บาทหลวงคริสต์และผู้เผยแผ่อิสลาม (อูลามะห์) ก็นับได้ว่าแชรแวสมีสายตาที่แหลมคมยิ่ง แม้ว่าการเข้ามาของพ่อค้าฮอลันดาอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของนครศรีธรรมราชก็ตาม

นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องเส้นทางเดินเรือยังมีผลทำให้นครศรีธรรมราชและหัวเมืองบริวาร สามารถดำเนินการการค้าเอกชน เมื่อบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวสยามเป็นทั้งจุดแวะพักเรือของพ่อค้าต่างชาติที่ขึ้นมาจากมะละกา ยะโฮร์ ปัตตานี ที่จะไปยังอยุธยาและจากบริเวณชายฝั่งของนครศรีธรรมราช พ่อค้าจีนฮกเกี้ยนที่ดำเนินการค้าแบบเอกชน ยังสามารถแล่นเรือตัดข้ามทะเลไปยังเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเมืองจันทบุรี ตราด และฮาเตียน เพื่อแล่นต่อไปยังเมืองท่าของจีน ได้โดยไม่ต้องอ้อมไปผ่านปากลัด พระสมุทรปราการ อันเป็นเขตอิทธิพลของอยุธยา

จากที่สามารถดำเนินการทางการค้าทางทะเลได้เองโดยไม่ต้องผ่านอยุธยานี้เอง ทำให้นครศรีธรรมราชมองเห็นเงื่อนไขที่จะเป็นอิสระจากการควบคุมของส่วนกลาง อิสระทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งความต้องการอิสระทางการปกครองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้การที่ต้องส่งส่วยบรรณาการไปให้แก่อยุธยา เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล ในขณะที่สงขลาและปัตตานีต่างก็กบฏต่ออยุธยาบ่อยครั้ง โดยที่อยุธยาก็ไม่สามารถปราบปรามลงได้อย่างเด็ดขาดในช่วงเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม การก่อกบฏของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเช่นในช่วงแรกเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์ปราสาททองมาเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็สะท้อนสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชกับกษัตริย์ในราชวงศ์ปราสาททององค์สุดท้าย (สมเด็จพระนารายณ์) มากพอสมควรกล่าวคือผลจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2231 (การปฏิวัติค.ศ. 1688) โดยกลุ่มสมเด็จพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ ที่ไปยึดอำนาจของสมเด็จพระนารายณ์แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์นั้น สร้างความไม่พอใจแก่หัวเมืองใหญ่ คือ นครนายก นครราชสีมา และนครศรีธรรมราชจนเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างอยุธยากับหัวเมืองเหล่านี้ขึ้น

นครนายกนั้นมีผู้นำคือ “ธรรมเถียร” ก่อกบฏในลักษณะกบฏผู้มีบุญ รวบรวมกำลังคนจากนครนายก แล้วยกทัพมาตีอยุธยา แต่ต้องพ่ายแพ้ธรรมเถียรถูกหลวงสรศักดิ์ใช้ปืนลอบยิงเสียชีวิตในระหว่างสู้รบ [32] ส่วนนครราชสีมาผู้นำคือพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองที่ยังจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชาจึงให้พระยาเดโชเป็นแม่ทัพยกไปตีนครราชสีมา พระยายมราช (สังข์) ได้หลบหนีไปเมืองนครศรีธรรมราช ใน พ.ศ.2237 สมเด็จพระเพทราชาจึงให้มีกองทัพเรือยกไปตีนครศรีธรรมราช พระยายมราช (สังข์) เสียชีวิตในสมรภูมิ กองทัพอยุธยาจึงเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ [33]

พระราชพงศาวดารฉบับชำระในต้นรัตนโกสินทร์ให้ข้อมูลต่างออกไปว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้ร่วมการกบฏกับพระยายมราช (สังข์) นี้ชื่อ “พระยารามเดโช” และการปราบปรามกบฏหัวเมืองในสมัยสมเด็จพระเพทราชา อยุธยาส่งกองทัพไป 2 กองใหญ่ แบ่งเป็นกองทัพบก ยกไปนครราชสีมา มีพระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพ และกองทัพเรือ ยกไปนครศรีธรรมราช มีพระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพ [34]

แต่เนื่องจากการยกทัพไป 2 ทางในเวลาเดียวกันในช่วงที่พระราชอำนาจของสมเด็จพระเพทราชาในอยุธยายังไม่มั่นคงนักนั้น อีกทั้งยังให้คนสนิทอย่างพระยาสุรสงครามกับพระยาราชวังสันนำทัพออกไปจากกรุงเช่นนั้น ดูไม่น่าเชื่อเท่าไรนัก ตามความในฉบับเก่าพระยาสุรสงครามกับพระยาวังหลัง (ที่ฉบับชำระเขียนใหม่เป็น “พระยาราชวังสัน”) ถูกประหารชีวิตในปีเดียวกับที่สมเด็จพระเพทราชาทรงขึ้นครองราชย์ไปแล้ว

พอถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เหตุ การณ์ทางภาคใต้สงบลงกว่าแต่ก่อนแล้ว ก็จึงปรากฏการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจากอยุธยาอีกคราหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2285 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาไชยาธิเบศร์ซึ่งเป็นคนเชื้อสายชาวนครไปเป็นพระยานครศรีธรรมราช ปรากฏเอกสารแต่งตั้งที่รวบรวมไว้ในชุดประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 6 [35] แต่ไม่ได้หมายความว่าการปกครองหัวเมืองในสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่ในภาวะสงบราบรื่นแต่อย่างใด ความหย่อนยานและไร้ประสิทธิภาพของการปกครองหัวเมืองของอยุธยาในช่วงนั้นเอง เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่สะสมมาจนกระทั่งเสียกรุง พ.ศ. 2310

ตำแหน่งสำคัญที่เป็นกลไกทางอำนาจของอยุธยาต่อหัวเมืองอย่างเช่น “ปลัดยกกระบัตร” กลายเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมาก กล่าวได้ว่าในช่วงอยุธยาตอนปลายนั้นบทบาทดั้งเดิมของเจ้าเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บส่วยสาอากร การตัดสินพิพากษาคดีความสำคัญๆ การสอดส่องข้าศึกศัตรูที่จะมารุกราน (ในกรณีเมืองด่านชายแดน) การเป็นที่ปรึกษาแก่เจ้าเมืองกรมการโดยเฉพาะในด้านตัวบทกฎหมาย การเป็นตัวแทนของส่วนกลางเป็นภาพพจน์ที่แจ่มชัดสำหรับกรณีปลัดยกกระบัตร ต่างจากเจ้าเมืองและกรมการซึ่งมักเป็นคนในท้องถิ่นสืบสายตระกูลมาจากชนชั้นนำพื้นเมืองเดิม

นอกจากนี้ปลัดยกกระบัตรซึ่งมีหน้าที่รายงานข่าวคราวต่างๆ จากหัวเมืองไปยังส่วนกลาง ก็ยังมีอำนาจควบคุมเจ้าเมืองอยู่โดยนัย เมื่อเจ้าเมืองเดิมเสียชีวิตหรือกระทำความผิดจนถูกปลดจากตำแหน่งอยุธยาก็พร้อมจะแต่งตั้งคนของตัวเองซึ่งไปเป็นปลัดยกกระบัตรรออยู่แล้วนั้นให้เป็นเจ้าเมืองแทนทันทีจึงเป็นที่รู้กันว่าปลัดยกกระบัตรนั้นก็คือว่าที่เจ้าเมืองนั้นๆ นั่นเอง

บุคคลสำคัญในรุ่นธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ ต่างเคยอยู่ในตำแหน่งปลัดยกกระบัตรมาก่อน อย่างน้อย 3 ท่าน คือ พระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ 1 เจ้านคร (หนู) เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่งปลัดยกกระบัตรในฐานะขุนนางรุ่นใหม่ของสยามช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 อยู่โดยนัย กรณีนี้จึงสามารถยกตัวอย่างได้ไม่ใช่อื่นไกล อย่างเมืองตากก่อนหน้าที่นายสิน แซ่แต้ จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนั้น เอกสารของราชทูตลาลูแบร์ที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้บันทึกถึงเมืองนี้ว่า “เป็นเมืองที่มีเจ้าสืบวงศ์ครอบครอง ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงสยาม เรียกชื่อเจ้าผู้ครองว่า พญาตาก (Pa-yà-tac) อันหมายความว่าเจ้าแห่ง (เมือง) ตาก” [36]

เมืองตากนั้นเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือ เจ้านายปกครองเดิมมีเชื้อสายเกี่ยวดองกับราชวงศ์สุโขทัยในช่วงฝ่าวงล้อมพม่าออกจากอยุธยาไปถึงบ้านพรานนก พระองค์ก็ตั้งตัวเป็น “พระเจ้าเมืองตาก” ในเอกสารตั้งเจ้านคร (หนู) พระเจ้าตากสินก็ทรงใช้พระนามเป็นทางการว่า “พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” [37] อันเป็นพระนามกษัตริย์จากหัวเมืองฝ่ายเหนือหรือราชวงศ์สุโขทัย (สมเด็จพระเอกาทศรถ)เมืองราชบุรีที่รัชกาลที่ 1 ทรงเคยดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ก็คาดว่าจะเป็นเมืองที่มีเจ้านายเดิมที่เป็นคนเชื้อสายชนชั้นนำท้องถิ่นปกครองอยู่เช่นกัน

สำหรับเมืองนครศรีธรรมราช เอกสารการแต่งตั้งพระยานครศรีธรรมราชในรัชกาลที่ 1 ก็ระบุชัดว่า “มีแต่ปลัดยุคบัตรกรมการรับราชการตามขนบธรรมเนียมบุราณราชประเพณี” [38] เจ้านครคนก่อนหน้าเจ้านคร (หนู) ที่หายตัวไปนั้นเป็นเจ้านายเก่าที่สืบอำนาจมาในสายตระกูลของชนชั้นนำท้องถิ่น อย่างน้อยก็น่าจะสืบมาแต่ครั้งพระยาไชยาธิเบศร์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ขณะที่เจ้านคร (หนู) นั้นความสัมพันธ์ต่อนครศรีธรรมราชนอกจากเป็นขุนนางที่มาจากอยุธยา ก็ยังมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการแต่งงานกับครอบครัวพ่อค้าจีนที่มีฐานะมั่งคั่งและเป็นผู้มีอิทธิพลในเมืองนครศรีธรรมราชขณะนั้น [39] เจ้านคร (หนู) จึงเป็นบุคคลที่ถูกส่งมาจากส่วนกลางแต่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

(4) จากประเทศราชสู่หัวเมืองเอก

นครศรีธรรมราชภายใต้ราชอาณาจักรธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์

โดยที่ไม่ต้องมีเหตุการณ์เสียกรุง พ.ศ. 2310 มาเป็นตัวแปรสำคัญ การหายตัวไปของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็เป็นความชอบธรรมที่ปลัดยกกระบัตร(หนู) จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนเดิม การมีภูมิหลังเคยเป็นปลัดยกกระบัตรมาก่อนเช่นเดียวกับพระเจ้าตากสิน ก็เป็นไปได้ว่าเจ้านคร(หนู) ผู้นี้ กับพระเจ้าตากสิน อาจจะเคยรู้จักกันมาก่อน พ.ศ. 2310 อย่างน้อยที่สุดต่างก็เป็นตัวแทนจากอยุธยาไปหัวเมืองในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อีกทั้งการจะเป็นปลัดยกกระบัตรได้นั้นจะต้องเป็นมหาดเล็กในราชสำนักมาก่อน

ในช่วงเกิดเหตุการณ์เสียกรุง พ.ศ. 2310 นครศรีธรรมราชเป็นเมืองหนึ่งสำหรับผู้ที่จะหลบลี้หนีภัยพม่า เช่นเดียวกับจันทบุรี นครราชสีมา กัมพูชา และฮาเตียน ดังจะเห็นได้จากกรณีพระสังฆราชสี เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง ได้หลบหนีภัยพม่าไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อพระเจ้าตากสินทรงปราบก๊กเจ้านครสำเร็จ ก็ถึงได้เชิญมายังธนบุรี [40] แต่นครศรีธรรมราชอยู่ในบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการรุกรานของพม่าอีกทั้งยังมีอีกกลุ่มบ้านเมืองทางใต้ลงไปที่ไม่น่าไว้ใจสำหรับสยาม คือปัตตานีและบ้านเมืองที่ชาวมุสลิมเป็นใหญ่อยู่ในคาบสมุทรมลายู ในเอกสารแต่งตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) สมัยธนบุรี มีคำหนึ่งที่ชวนสะดุดคือคำว่า “แขกข้าศึก” เป็นความดีความชอบของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ดังเช่นว่า “ครั้งพระณคอรศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแต่ก่อน ฝ่ายกรมการพลเมืองเมืองณคอรหาที่พึ่งไม่ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมาก็ได้พึ่งพาอาศัยสับประยุทธชิงชัยชนะแขกข้าศึกถ้าหาไม่ขัณฑสีมาก็จะส่ำสายเป็นไป ความชอบมีอยู่กับแผ่นดิน” [41]

ถึงแม้ว่าปัตตานีและหัวเมืองเครือข่ายในคาบสมุทรมลายู จะมิได้ฉวยโอกาสในช่วงที่อยุธยาถูกทำลาย การที่พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) และพรรคพวกเมื่อพ่ายศึกต่อพระเจ้าตากสิน ได้หลบหนีไปพึ่งสุลต่านมูฮัมหมัดเมืองปัตตานีที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมา แต่เจ้าเมืองปัตตานีพิจารณาแล้วเห็นควรส่งตัวไปให้ธนบุรี เพราะไม่ต้องการจะให้บ้านเมืองต้องเผชิญสงครามกับธนบุรี แต่นั่นก็ย่อมสะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้านครศรีธรรมราช(หนู) กับสุลต่านปัตตานี เมื่อสุลต่านยอมส่งตัวพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ให้แก่ธนบุรี และต่อมาพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้กลับคืนบ้านเมืองพร้อมด้วยเกียรติยศเพิ่มพูนยิ่งกว่าเดิม ก็ย่อมทำให้ปัตตานีและนครศรีธรรมราชอยู่ในสภาพที่ต่างไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน แต่ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อธนบุรี

นแง่นี้ธนบุรีก็เช่นเดียวกับอยุธยา ที่ใช้ประโยชน์จากนครศรีธรรมราชในการควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้และเป็นกันชนกับรัฐมลายูที่อยู่ใต้ลงไป เพราะตลอดสมัยพุทธศตวรรษที่ 22-23 กองทัพสยามที่ลงไปทำสงครามคุกคามปัตตานีอยู่บ่อยครั้งนั้น โดยมากเป็นกองทัพสยามที่ไปจากนครศรีรรมราช [42] อีกทั้งหลังการเสียกรุง พ.ศ. 2310 แล้ว การที่เจ้านคร (หนู)สามารถตั้งตัวเป็นเจ้าก๊กนายชุมนุมขึ้นมีอำนาจในหัวเมืองปักษ์ใต้ ก็สะท้อนบารมีของเจ้านคร (หนู) ต่อหัวเมืองปักษ์ใต้อยู่โดยนัย การควบคุมหัวเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งที่กษัตริย์ในราชวงศ์ปราสาททอง-บ้านพลูหลวงไม่เคยประสบความสำเร็จหรือทำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาก่อน ยกเว้นกรณีสงขลาที่มีเรื่องฟ้องร้องจนกระทั่งต้องแยกสงขลาออกจากนครศรีธรรมราชให้มาขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรงในเวลาต่อมา

ในช่วงที่ธนบุรียังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้ได้เองโดยตรง การยอมให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชก็น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าประเทศราช เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร โดยที่เจ้านคร (หนู) ผู้นี้มิได้เป็นเจ้าประเทศราชนครศรีธรรมราชเป็นคนแรกในสมัยธนบุรี คนแรกนั้นคือพระเจ้านราสุริยวงษ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขากล่าวถึงไว้ว่า “เจ้านรานี้มียศเปนพระเจ้า ตั้งเสนาบดีได้” [43]

เมื่อพระเจ้านราสุริยวงษ์สิ้นพระชนม์ไปในพ.ศ. 2319 พระเจ้าตากสินก็ได้ทรงตั้งเจ้านคร (หนู) เป็นกษัตริย์ประเทศราชปกครองเมืองนครศรีธรรมราชสืบทอดต่อมา นั่นหมายความว่าพระเจ้าตากสินอาจจะทรงเล็งเห็นว่าการเป็นหัวเมืองประเทศราชของนครศรีธรรมราช จะยังอำนวยประโยชน์ให้แก่อาณาจักรธนบุรีได้อยู่ จึงให้คงสถานะเป็นหัวเมืองประเทศราชต่อมา การตั้งนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชเช่นนี้ ถามว่าขัดกับขนบธรรมเนียมเก่าก่อนหน้าธนบุรีหรือไม่?

หากเรามองประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับนครศรีธรรมราชไปไกลกว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 จะพบว่าพระเจ้าตากสินทรงหันกลับไปใช้ขนบธรรมเนียมเดิมที่เคยเป็นมาในสมัยอยุธยาตอนต้นนั่นเอง เหตุที่ไม่ตั้งเป็นหัวเมืองเอกเฉกเช่นสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก็น่าจะเพราะพระองค์คงไม่ปรารถนาจะเห็นบางปัญหายุ่งยากที่เคยมีในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น กลับมาเป็นปัญหาเรื้อรังให้กับธนบุรีของพระองค์ ในเมื่อการแต่งตั้งผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าประเทศราชนั้น พระเจ้าตากสินทรงเคยตั้งผู้อื่นเป็นมาก่อนแล้วและการเป็นหัวเมืองประเทศราชของนครศรีธรรมราชก็มีเหตุผลมากกว่าเรื่องตัวบุคคล

การตั้งเจ้านคร (หนู) นั้นก็เพื่อคงสถานะประเทศราชของนครศรีธรรมราชต่อจากพระเจ้านราสุริยวงษ์ ประเด็นหลักจึงอยู่ที่คำถามที่ว่าธนบุรีได้อะไรจากการเป็นประเทศราชของนครศรีธรรมราช แทนที่จะเป็นคำถามที่พุ่งเป้าไปยังพระสติหรือขนบธรรมเนียม ซึ่งไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจอะไรไปมากกว่าเรื่องสิทธิธรรมทางการเมืองระหว่างพระมหากษัตริย์สองแผ่นดิน

นอกจากนครศรีธรรมราชที่ถูกลดลงเป็นหัวเมืองเอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้ว นอกนั้นหัวเมืองประเทศราชอื่นๆ รัชกาลที่ 1 ก็ยังคงตั้งเป็นหัวเมืองประเทศราชดังเดิม เช่น กัมพูชา จำปาสัก หลวงพระบาง สุวรรณภูมิ (ที่ร้อยเอ็ด) บางหัวเมืองก็เป็นการตั้งตามที่พระเจ้าตากสินเคยมีพระราชดำริไว้ เช่น เวียงจันและเชียงใหม่ เป็นต้น [44] ไม่มีเมืองประเทศราชใดที่ถูกลดสถานะเพราะผลกระทบจากการผลัดแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.2325 มากเท่านครศรีธรรมราช

ทั้งนี้อาจเพราะสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่เหนียวแน่นระหว่างพระเจ้าตากสินกับชนชั้นนำนครศรีธรรมราช จึงทำให้นครศรีธรรมราชถูกจับตามองและตั้งคำถามถึงความจงรักภักดี ดังปรากฏข้อความกล่าวโทษพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ในประกาศแต่งตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัท) ในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2327 ดังต่อไปนี้

“ฝ่ายเจ้าณคอรก็หามีความ (ชอบ) สิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อแผ่นดินไม่ แต่หากทว่าทรงพระเมตตาเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่ ประหนึ่งจะมีความคิดเห็นผิดและชอบ จะตั้งใจทำราชการแผ่นดินโดยสุจริต จึงให้คงว่าราชการรั้งเมืองครองเมืองสืบมา แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งจำเพาะให้เจ้าณคอรเกณฑ์เลกเข้ามาร่อนทอง เจ้าณคอรมิได้จัดแจงกะเกณฑ์เลกให้ครบตามเกณฑ์ ให้ข้าหลวงไปสักเลกเมืองณคอร ก็ได้เลกสักน้อยต่ำลงกว่าจำนวนสักแต่ก่อน แล้วมีตรารับสั่งให้หาเจ้าณคอรเข้ามาคิดราชการถึงสองครั้งก็บิดพลิ้วมิได้เข้ามาเห็นว่าเจ้าณคอรหาจงรักภักดีสวามิภักดิ์ขวนขวายทำราชการฉลองพระเดชพระคุณไม่ ไม่เกรงกลัวพระราชอาญา เจ้าณคอรผิด ประการหนึ่งเจ้าณคอรก็แก่ชราพฤฒิภาพ เกลือกมีการรณรงค์สงครามทำมิได้จะเสียราชการไป จะให้เจ้าณคอคงว่าราชการเมืองณคอรสืบไปมิได้ ละไว้จะเป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน ให้ยกเจ้าณคอรออกเสียจากเจ้าณคอรศรีธรัมราชเอาตัวเข้ามาใช้ราชการ ณ กรุงฯ” [45]

พ.ศ. 2327 จึงเป็นปีสิ้นสุดยุคการเป็นหัวเมืองประเทศราชของนครศรีธรรมราช ที่พระเจ้าตากสินทรงวางรากฐานเอาไว้ โดยมีกษัตริย์ปกครอง 2 พระองค์ คือ พระเจ้านราสุริยวงษ์ ครองเมืองอยู่ 7 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2312-19) พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกเป็นเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2319-27) รวมระยะเวลานครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองประเทศราชทั้งสิ้น 15 ปี เมื่อถูกปลดและเรียกตัวเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ก็เสียชีวิตในเวลาไม่นาน

หลังจากนั้น ในปีเดียวกันนั้นเองพระยาพิมลขันธ์ เจ้าเมืองถลาง ซึ่งเป็นคนสนิทชิดเชื้อกับพระเจ้านครศรีธรรมราช และได้รับแต่งตั้งย้ายจากเมืองพัทลุงไปเป็นเจ้าเมืองถลางในสมัยพระเจ้าตากสินเมื่อทราบข่าวความเปลี่ยนแปลงที่กรุงธนบุรีตลอดจนการถูกปลดของพระเจ้านครศรีธรรมราช พระยาพิมลขันธ์ก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตาย ด้านเมืองสงขลาที่มีเรื่องทะเลาะขัดแย้งกับเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้ถูกโยกย้ายให้เข้ามาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ [46] นับได้ว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากธนบุรีมาสู่กรุงเทพฯ ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อหัวเมืองปักษ์ใต้

(5) สรุปและส่งท้าย

ตั้งแต่รวบรวมแผ่นดินมาจนถึงช่วงสมัยธนบุรี พระเจ้าตากสินทรงใช้กลยุทธ์พลิกแพลงแบบ “เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร” อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมเหล่าโจรสลัดในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ชาวบ้านบางดง นายกลมบ้านนาเกลือ หลวงบางละมุง ชาวเมืองจันทบุรี จีนเจียมเมืองตราดฯลฯ สำหรับกรณีการปราบเจ้าก๊กนายชุมนุม กรณีพวกพระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถแต่ไปเข้าร่วมกับเจ้าพระฝาง ก็ทรงให้ดำน้ำพิสูจน์ตนเองก่อนรับเข้ามาทำราชการเป็นขุนนาง [47]

หลังปราบก๊กเจ้าพิมาย ก็รับเอาธิดากรมหมื่นเทพพิพิธมาเป็นพระสนม กรณีก๊กเจ้านคร (ศรีธรรมราช) หลังเสร็จสงคราม ก็ทรงให้รับมาทำราชการอยู่ในธนบุรีด้วยกัน เมื่อพระเจ้านราสุริยวงษ์สิ้นพระชนม์ ก็ทรงแต่งตั้งให้เจ้านคร (หนู) กลับไปครองเมืองเป็นเจ้าประเทศราชสืบต่อจากพระเจ้านราสุริยวงษ์ เมื่อ พ.ศ. 2319

การเป็นหัวเมืองประเทศราชสำหรับกรณีนครศรีธรรมราช กล่าวได้ว่าเป็นวิธีการจัดการปกครองของพระเจ้าตากสินเพื่อแก้ไขปัญหาในการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ที่เคยเป็นมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยทรงย้อนกลับไปใช้รูปแบบการจัดการของช่วงอยุธยาตอนต้น จึงไม่อาจถือว่าการตั้งนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองประเทศราชนี้เป็นเรื่องผิดขนบธรรมเนียม อย่างน้อยที่สุดในช่วงสมัยก่อนเสียกรุงครั้ง พ.ศ. 2112 ร่นขึ้นไป นครศรีธรรมราชก็เคยมีสถานะและบทบาทในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน

จากที่เคยเป็นมาก่อนหน้าธนบุรี ในสมัยอยุธยา นับแต่พุทธศตวรรษที่ 22-23 กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีมิได้ราบรื่นเลย การปราบดาภิเษกที่อยุธยานำไปสู่สงครามและการต่อต้านของปัตตานีต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่อยู่เสมอ จนเกือบจะกลายเป็นประเพณี และลำพังอยุธยาก็ไม่อาจจะคุกคามปัตตานีได้เองโดยตรง ต้องอาศัยพันธมิตรอย่างนครศรีธรรมราช บ้างก็อาศัยญี่ปุ่นและฮอลันดาการจัดการปัตตานีสำหรับสยามก่อนสมัยกรุงเทพฯแยกไม่ออกจากการคุมนครศรีธรรมราช

ในสภาพที่ธนบุรีขาดแคลนทรัพยากรอันจำเป็นในการจัดการปกครองควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้โดยตรง จึงให้นครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองประเทศราชสำหรับควบคุมหัวเมืองอื่นๆ ที่ขึ้นกับนครศรีธรรมราชอีกต่อหนึ่ง ดังเช่นที่เคยคุมได้ในช่วงรวมตัวกันเป็น“ก๊กเจ้านคร” และธนบุรียังได้ประโยชน์จากการเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของปัตตานีและหัวเมืองมลายูอีกด้วย คนในต้นรัตนโกสินทร์ก็คงรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เกี่ยวดองกันระหว่างพระเจ้าตากสินกับชนชั้นนำเมืองนครศรีธรรมราชการจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยกรุงเทพฯ จึงเริ่มจากการปลดเจ้านคร (หนู) และลดฐานะเมืองนครศรีธรรมราชจากประเทศราชกลับไปเป็นหัวเมืองเอก ต่อมาก็เปิดฉากสงครามขยายอำนาจลงไปรุกรานเมืองปัตตานี

การยอมให้นครศรีธรรมราชเป็นประเทศราชยกเลิกสถานะความกำกวมและก้ำกึ่งที่เคยเป็นมากลับมีผลทำให้ธนบุรีมีอิทธิพลในหัวเมืองปักษ์ใต้ได้โดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองอะไรไปมากกว่าการพระราชทานเครื่องบำรุงเกียรติยศพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ไม่ปรากฏการต่อต้านขัดขืนจากนครศรีธรรมราชต่อส่วนกลางเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าและในอีกรัชกาลต่อมา อิทธิพลของธนบุรีต่อนครศรีธรรมราชและหัวเมืองปักษ์ใต้ค่อนข้างราบรื่นเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยอยุธยาตอนปลายและต้นรัตนโกสินทร์ สงครามกับปัตตานีที่กษัตริย์อยุธยาที่มาจากการปราบดาภิเษกต้องกระทำจนเกือบจะเป็นประเพณีพระเจ้าตากสินก็ไม่จำเป็นต้องทรงกระทำ

ในขณะที่อีกรัชกาลต่อมาต้องทำสงครามเพื่อพิสูจน์บุญบารมีต่อปัตตานีเช่นเดียวกับกษัตริย์อยุธยา และเหตุการณ์ก็รุนแรงจนกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างสยามกับปัตตานี นั่นเป็นสิ่งแสดงถึงกุศโลบายทางการเมืองการปกครองอันเฉียบแหลมของพระเจ้าตากสิน ไม่ใช่สิ่งสะท้อนถึงอาการวิปลาสของพระองค์แต่อย่างใดเลย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีผู้ทำวิจัยรวบรวมข้อมูลมาให้ภาพเปรียบเทียบได้ว่า ในช่วงที่เป็นประเทศราชสมัยธนบุรีกับในช่วงที่กลับคืนสู่การเป็นหัวเมืองเอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น นครศรีธรรมราชมีชะตากรรมแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ที่แน่ๆปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยนโยบายการฟื้นประเทศราชนครศรีธรรมราชขึ้นในสมัยธนบุรีนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับหัวเมืองปักษ์ใต้หลังพ.ศ. 2319 ค่อนข้างราบเรียบ ไม่ต้องส่งกองทัพลงไปแสดงอำนาจและบุญบารมีเหมือนเช่นอีกยุคถัดมา สำหรับบ้านเมืองที่เคยมีอิสระในการปกครองความต้องการเป็นเอกราชจากส่วนกลางเป็นเรื่อง
ปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเลวร้ายจนไม่อาจตอบสนองให้ได้แต่อย่างใด

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของนครศรีธรรมราชแทนที่จะเป็นประวัติศาสตร์ของอาณาจักรที่เคยมีอิสระและต่อต้านส่วนกลาง เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ล้านนา อีสาน และปัตตานี การไม่เล็งเห็นประเด็นนัยสำคัญของความแตกต่างในสถานภาพของนครศรีธรรมราชระหว่างช่วงอยุธยาตอนต้นกับอยุธยาตอนปลาย และระหว่างนครศรีธรรมราชสมัยธนบุรีกับสมัยกรุงเทพฯ ทำให้ประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราชกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ (ไทย) ขาดพลวัตภายในอันน่าตื่นตาตื่นใจและวิถีทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ประวัติศาสตร์เช่นนี้ย่อมผลิตคนให้มีสำนึกรับใช้แต่ชนชั้นนำที่ส่วนกลางเป็นหลัก มากกว่าจะเห็นคุณค่าของประชาชนในท้องถิ่นเอง

*บทความนี้เกิดขึ้นได้เพราะผู้เขียนได้ไอเดียจากการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ อาจารย์ปิยชาติ สึงตี แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์ประยุทธ สายต่อเนื่อง แห่งสถาบันปัญญาภิวัฒน์ อาจารย์ ดร. นนทพร อยู่มั่งมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ คุณธีรยุทธ บัวทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผู้เขียนจึงขอแสดงความขอบคุณต่อทุกท่านไว้ในที่นี้ด้วย


เชิงอรรถ :

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2562