“มอญดูดาว” เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคแรกเริ่ม

ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตึกโดม
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาตร์และการเมือง ถ่ายจากอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพจาก หนังสือ “ปรีดี ป๋วย กับธรรมศาสตร์และการเมือง”)

“มอญดูดาว” เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคแรกเริ่ม

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ   ด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่องมา

เอ๋ย เราเป็นไทยเรารักไทยบูชาไทย   ไม่ยอมให้ใครผู้ใดมาล้างเสรีไทย

สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง (ซ้ำ)   ก่อรุ่งเรืองสมบูรณ์เขตต์ประเทศไทยมา

เอ๋ย ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์การเมือง   ไทยจะเฟื่่องจะรุ่งเรืองก็เพราะการเมืองดี

เหลืองของเราคือธรรมประจำจิตต์   แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้มา

เอ๋ย เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง   ทุก ๆ แห่ง ทุก ๆ แห่ง แต่ล้วนเหลืองกับแดง

ชื่อว่าธรรมแล้วเราเทิดให้สมไทย   ทุกอย่างไปงานหรือเล่นต้องเป็นธรรมมา

เอ๋ย ใครรักชาติ ใครรักธรรมเหมือนกับเรา   จงมาเข้าและโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง

เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพลงแรกคือ “มอญดูดาว” เป็นเพลงที่ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นำทำนองมอญดูดาว 2 ชั้น มาแต่งเนื้อร้องให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย

สำหรับ ทำนองมอญดูดาวนี้ เพจเฟซบุ๊ก รามัญคดี – MON Studies อธิบายไว้ว่า เป็นทำนองเพลงมอญโบราณ ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง มีการนำไปดัดแปลงแต่งเนื้อร้องกันหลากหลาย ทั้งไทยเดิม ลูกทุ่ง ลูกกรุง

“เพลงมอญดูดาว 2 ชั้น ดูจะเป็นเพลงเก่ากว่าเพื่อน ใช้ประกอบการแสดงโขนละคร เป็นเพลงประกอบการรำพลายชุมพล ที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า ‘แล้วจัดแจงแต่งกายพลายชุมพล ปลอมตนเป็นมอญใหม่ดูคมสัน…’ และขุนวิจิตรมาตรา ได้แต่งเนื้อร้องให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า ‘สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ ด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่อง…’ เพลงนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขยายทั้งจังหวะและขยายทำนองจาก 2 ชั้น เป็น 3 ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ให้ชื่อว่าเพลง “ราตรีประดับดาว (เถา)”

อ.จุฑามาศ ประมูลมาก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงเพลงมอญดูดาวว่า เป็นเพลงที่บันทึกประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคแรกเริ่ม ซึ่งได้ทำการบันทึกปรัชญา สัญลักษณ์ ความมุ่งหมาย ตัวตน และจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นสูงควบคู่มากับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ควบคู่กับบรรยากาศแห่งความพยายามที่จะสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

นอกจกานี้ อ.จุฑามาศ ยังนิยามว่า เพลงมอญดูดาวเป็น “เพลงประจํามหาวิทยาลัย” ที่กล่าวถึงตัวตนความเป็นธรรมศาสตร์ ว่านี่คือสถาบันการศึกษาที่หมายชูประเทศชาติ เป็นมหาวิทยาลัยที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างคนที่มีธรรมะและเลือดรักชาติ เป็นคนรุ่นใหม่ในยุคแห่งการเมืองในระบอบใหม่ที่จะนำพาชาติไปสู่ความเจริญ

“…เพลงประจำมหาวิทยาลัย มอญดูดาว เพลงนี้ ทำหน้าที่ทั้งการเป็นเพลงประจำสถาบัน และเพลงโฆษณา ที่มีเนื้อหาสื่อสารความเป็นธรรมศาสตร์ในยุคแรกตั้งได้อย่างตรงประเด็นที่สุด และยังสื่อไปถึงคนในสังคมวงกว้างถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาไม่ต้องมีคำอธิบายใดเพิ่มเติม…” อ.จุฑามาศ ระบุ

ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะเกี่ยวกับเพลงมอญดูดาวเอาไว้ว่า

“…ปีแรก 2477 จะเริ่มมีฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่สนามหลวง ปีแรกนั้นเรายังไม่มีเพลงประจำมหาวิทยาลัย ปีที่สองมีที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ เรามีเพลงมหาวิทยาลัยแล้ว มีเพลงมอญดูดาว ‘สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ’ เกิดขึ้นแล้ว เริ่มมีชีวิตฟุตบอลประเพณี มีเพลงประจำมหาวิทยาลัย หลายอย่างเกิดขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์

ชีวิตของมหาวิทยาลัยเริ่มขึ้นจากการสร้างสัญลักษณ์เหล่านี้ ผมเข้าใจว่าท่านผู้ประศาสน์การคงคิดอยู่ตลอดเวลา ว่าในแง่ของสถาบันการศึกษาจะต้องมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ วันต่อวัน เช่นเปิดเรียนนั้นเปิดวันที่เท่าไร ภาคแรกของธรรมศาสตร์เปิด 27 มิถุนายน ครับ มีความหมายมาก คือเป็นวันรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ภาคสองเปิด 10 ธันวาคม ตรงกับวันรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (คือฉบับถาวรอย่างที่เราทราบกัน) นี่เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นมาในธรรมศาสตร์

ท่านปรีดี พนมยงค์ รู้สึกจะไม่เลือกคนระดับความสามารถปานกลางหรือระดับต่ำ ท่านต้องเอาคนระดับสูงมาช่วยทำงาน ถ้าจะหาสถาปนิกก็ต้องเอาอย่างนายหมิว อภัยวงศ์ ซึ่งดังมากในสมัยนั้น ถ้าจะหาคนแต่งเนื้อเพลงก็ต้องเป็นขุนวิจิตรมาตรา (เจ้าของเพลง ‘ใจพี่หายวาบ’ นั่นแหละ) ท่านเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง ‘มอญดูดาว’ ทุกอย่างในเนื้อร้องนั้น ลองอ่านทีละประโยค จะมีความหมายในลักษณะนามธรรม พูดถึงธรรมะ หลักการของธรรมศาสตร์กับสังคม สีเหลืองสีแดงหมายถึงอะไร ผมคิดว่าหลายอย่างมีความหมายอย่างน่าภาคภูมิใจมาก…

ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า การสร้างสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนี้ มีลักษณะที่เป็นทางการ กับลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ทางการเรามีธรรมจักรเป็นตราประจำของมหาวิทยาลัย โดยธรรมชาติ นักศึกษากำหนดขึ้นมาเองว่า โดมคือสัญลักษณ์ ดูเหมือนสถาบันอื่นจะไม่มีเช่นนี้ โดยทางการเรามีต้นหางนกยูงเป็นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ที่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการในระยะหลัง แต่โดยไม่เป็นทางการเราก็มีต้นจำปี มีต้นโพธิ์ โดยทางการเรามีเพลงประจำคือ พระราชนิพนธ์ ‘ยูงทอง’ แต่โดยความรู้สึกทั่ว ๆ ไปเพลง ‘มอญดูดาว’ จะเป็นเพลงที่สำคัญและมีพลังที่สุด…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,” ใน ปรีดีปริทัศน์, (เทียนวรรณ, 2526)

จุฑามาศ ประมูลมาก. “จาก ‘มอญดูดาว’ ถึง ‘ยูงทอง’ ข้อสังเกตเกี่ยวกับความนัย ในบทเพลงประจำมหาวิทยาลัย,” ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. ฉบับที่ 13 มิถุนายน 2552-พฤษภาคม 2553, (หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553)

รามัญคดี – MON Studies. “มอญดูดาว (คะนอง)”, จาก https://www.facebook.com/612365295504993/posts/868920386516148


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565