เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ตำนานแห่งสามก๊ก สาบานเป็นพี่น้องกันในสวนท้อจริงหรือ?

สามก๊ก เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย
เล่าปี่นั่งโต๊ะว่าราชการ กวนอู เตียวหุย และเจ้าหน้าที่ศาล ยืนกำกับอยู่ซ้ายขวา หน้าโต๊ะว่าราชการมีประชาชนมาร้องทุกข์ (ภาพจิตรกรรมจากวัดประเสริฐสุทธาวาส กรุงเทพมหานคร)

เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย กับ การสาบานในสวนท้อ ตำนานแห่ง “สามก๊ก” เหตุการณ์จริงหรือเพียงแต่งเติมในนิยาย?

เรื่องการสาบานในสวนท้อมาจากนิยาย สามก๊ก บทที่ 1 “ในสวนท้อสามทกล้าร่วมสาบาน ปราบโจรมารวีรชนประเดิมชัย” เล่าสืบกันมาว่าตอนปลายราชวงศ์ฮั่น บ้านเมืองจลาจล ผู้มักใหญ่ใฝ่สูงต่างรบพุ่งชิงแผ่นดินของราชวงศ์ฮั่น เล่าปี่ (หลิวเป้ย) เชื้อสายราชวงศ์ฮั่น ถึงจะยากจนขายรองเท้าหญ้ายังชีพ แต่มีปณิธานฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น บำบัดทุกข์ขจัดภัยให้ปวงชน

เขามีเจตจำนงตรงกับเตียวหุย (จางเฟย) พ่อค้าหมูเมืองตุ้นก้วนและกวนอู (กวนอี่ว์) พ่อค้าเต้าหู้จากเมืองไกเหลียงมณฑลซานซี พวกเขาจึงมุ่งมั่นร่วมแรงร่วมใจกันสนองคุณชาติ ทำนุบำรุงประชาชน จึงไปจัดเครื่องเซ่นไหว้บูชาฟ้าดินในสวนท้อของเตียวหุย แล้วจุดธูปกราบไหว้ กล่าวคำสาบานกันว่า

Advertisement

“ข้าพเจ้าเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย แม้ต่างแซ่แต่ขอสาบานเป็นพี่น้อง ร่วมแรงร่วมใจกัน บำบัดทุกข์ขจัดภัย เบื้องบนสนองคุณประเทศชาติ เบื้องล่างทะนุบำรุงประชาชน ไม่หวังเกิดวันเดียวเดือนเดียวปีเดียวกัน แต่ขอตายวันเดียวเดือนเดียวปีเดียวกัน ขอฟ้าดินจงแจ้งประจักษ์ในหัวใจนี้ หากตระบัดสัตย์ทิ้งไมตรี ขอฟ้าดินแลมนุษย์ร่วมกันพิฆาต”

เล่าปี่, เตียวหุย, กวนอู กำลังสำคัญในากรตั้งจ๊กก๊ก ในภาพเป็นการสาบา่นเป็นพี่น้องในสวน (ภาพจาก www.wikimedia.org)

สาบานเสร็จก็คารวะเล่าปี่เป็นพี่ใหญ่ กวนอูเป็นพี่รอง เตียวหุยเป็นน้องเล็ก เรื่องราว “การสาบานในสวนท้อ” เป็นตำนานเล่าสืบขานกันต่อมา

เมื่อสอบค้นดู เรื่องการสาบานในสวนท้อของคนทั้งสามเป็นเพียงเรื่องในนิยาย คำสาบานว่า “ขอตายวันเดียวเดือนเดียวปีเดียวกัน” เป็นคำที่ใช้กันจนชินในวรรณกรรมพื้นบ้าน “พงศาวดารสามก๊ก ภาคสู่ซู (เรื่องของจ๊กก๊ก) บทประวัติกวนอู” เขียนไว้ว่า

“เล่าปี่รวมคนในตำบลเป็นไพร่พล กวนอูกับเตียวหุยช่วยออกรบต้านข้าศึก เมื่อเล่าปี่เป็นเจ้าเมืองเพ่งง้วนก๋วน (ผิงหยวนกั๋ว) กวนอูและเตียวหุยเป็นนายทหารเอกแยกกันคุมกองทัพ เล่าปี่นอนเตียงเดียวกับคนทั้งสองรักใคร่กันดุจพี่น้อง”

ในตอนประวัติเตียวหุยก็เขียนไว้ว่า “เมื่อหนุ่มร่วมกับกวนอูทำงานให้เล่าปี่ กวนอูอายุมากกว่าไม่กี่ปี เตียวหุยปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงพี่ชาย”

จากข้อความทั้งสองตอนนี้บอกเพียงว่า เตียวหุยเคารพกวนอูเหมือนพี่ชาย ทั้งสองคนติดตามรับใช้เล่าปี่ด้วยความซื่อสัตย์ เล่าปี่ก็สนิทกับคนทั้งสองมาก “รักใคร่กันเหมือนพี่น้อง” แต่ไม่มีเรื่องคนทั้งสามสาบานเป็นพี่น้องกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งและหยวนเป็นต้นมา ในวรรณกรรมพื้นบ้านแต้มเติมเพิ่มสีสันให้เรื่อง “รักกันเหมือนพี่น้อง” จนค่อยๆ กลายเป็นเรื่องราวการสาบานในสวนท้อ

ในหนังสือ “สามก๊กจี่เพ่งอ่วย (ซานกั๋วจื้อผิงฮว่า-นิทานสามก๊ก) มีเรื่องการสาบานในสวนท้ออยู่ตอนหนึ่ง งิ้วสมัยราชวงศ์หยวนก็มีตอนสาบานในสวนท้อ ซึ่งไม่ทราบชื่อผู้แต่ง ล่อกวนตง (หลอกว้านจง) อาศัยเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานสร้างสรรค์ “การสาบานในสวนท้อ” ไว้ในนิยายสามก๊ก (สามก๊กเอี้ยนหงี) เป็นตอนที่ประทับใจติดปากคนตลอดมา

เล่าปี่นั่งโต๊ะว่าราชการ กวนอู เตียวหุย และเจ้าหน้าที่ศาล ยืนกำกับอยู่ซ้ายขวา หน้าโต๊ะว่าราชการมีประชาชนมาร้องทุกข์ (ภาพจิตรกรรมจากวัดประเสริฐสุทธาวาส กรุงเทพมหานคร)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก “เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สาบานเป็นพี่น้องกันในสวนท้อจริงหรือ?” ในหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก. หลี่ฉวนจวินและคณะ, เขียน. ถาวร สิกขโกศล, แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. .46-47


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มิถุนายน 2560