เผยแพร่ |
---|
ปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ขันทีและพระญาติทางสายมารดและมเหสีต่างมีรวบอำนาจไว้ในมือ ขณะที่ประเทศต้องประสบกับภัยธรรมชาติต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัย, ภัยแล้ง และภัยจากตั๊กแตนที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายปี ทำให้ของชาวนาต้องเผชิญกับความยากจนข้นแค้น และการกดขี่ของขุนนางทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งหลาย
ตั้งแต่รัชสมัยอานตี้ (ค.ศ. 106-129) มีการก่อความไม่สงบเนื่องมาจากความอดอยากของชาวนา จนถึงกับปราศจากที่ทํากิน ต้องอพยพหนีความอดยากออกร่อนเร่ จนกระทั่งถึงรัชสมัยของหลิงตี้ (ค.ศ. 184) ประมาณว่าในช่วง 70-80 ปี ชาวนาลุกขึ้นก่อความไม่สงบกว่า 100 ครั้ง จำนวนชาวนาแต่ละครั้งมีตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นคน โดยมีเพลงพื้นเมืองเป็นสิ่งปลุกปลอบจิตใจที่ร้องว่า
“[เส้น]ผมเช่นตฤณชาติ ยิ่งตัดขาดยิ่งงอกงาม หัวเช่นไก่ในคาม ยิ่งตัดขาดยิ่งขันดัง ขุนนางใช่น่ากลัว ขุนนางชั่วน่าชิงชัง ไพร่เรารวมพลัง แล้วใครกล้ามาดูแคลน”
ในที่สุดการลุกฮือของชาวนาก็มาถึงขั้นสูงสุด เกิดการรวมตัวผู้คนหลายแสนในปีค.ศ.184 ที่เรียกกันว่า “โจรโพกผ้าเหลือง”
โจรโพกผ้าเหลือง หรือกบฏโพกผ้าเหลือง มีจางเจี่ยว เป็นประมุขผู้เผยแพร่ลัทธิไท่ผิงเต้า (หนทางมหาสันติ) ที่เขาสามารถรวบรวมผู้คนจนขึ้นเป็นเจ้าลัทธิได้ และน้องชายคือจางเปาและจางเหลียง เป็นผู้นำระดับสูง โจรโพกผ้าเหลืองยกย่องบูชา “หวงเหล่า” [หวงตี้-จักรพรรดิเหลือง ปฐมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวจีนยกย่อง, เล่าจื๊อ-ปรมาจารย์ลัทธิเต๋า] มีการใช้เวทย์มนตร์คาถา เชื่อถือไสยศาสตร์เครื่องรางของขลังต่างๆ
เพราะก่อนหน้านั้นเกิดอุทกภัยและโรคระบาดมีผู้เสียชีวิตกันเป็นจํานวน โดยเฉพาะพื้นที่ซานตงและเหอหนาน จางเจี่ยวใช้ความรู้รักษาโรคภัยให้ชาวบ้านโดยไม่คิดเงินทอง พร้อมกับเผยแพร่ลัทธิของตนไปด้วย จึงได้ลูกศิษย์และสาวกเป็นจํานวนมาก มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นทุกที จนสามารถส่งสาวกออกไปเผยแพร่ลัทธิความเชื่อถือของตนตามเมืองทั้งในเหอเป่ย,ซานตง,เจียงซู และอานฮุยในปัจจุบัน มีการแบ่งกำลังเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ กว่า 30 กลุ่ม มีสมาชิกรวมทั้งสิ้นถึง 360,000 คน
ภายใตคำขวัญที่ “ฟ้าสีคราม (อำนาจราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) สูญสิ้นสลด ฟ้าเหลือง (กองทัพปฏิวัติ) ปรากฏเลื่องลือ ปีนี้ (คริสต์ศักราช 184) ปฐพีจะเจริฐรุ่งเรือง” และกําหนดวันก่อการโค่นอํานาจงราชวงศ์ฮั่น วันที่ 5 ของเดือน 3 ในปีค.ศ. 184 แต่แผนการโค่นอำนาจเกิดรั่วไหลก่อนลงมือ
ทว่า จางเจี่ยวก็ไม่ได้ยกเลิกแผนการ สาวกของจางเจี่ยวที่โพกผ้าเหลืองได้ลุกฮือขึ้นด้วยกําลังอาวุธ เข้ายึดเมืองต่างๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำฉางเจียง ขณะที่ราชสํานักแต่งตั้งให้เหอจิ้นพี่ชายของเหอหวงโฮ่วมเหสีป็นแม่ทัพใหญ่ ในระยะเวลาเพียง 9 เดือน (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 128) กําลังทหารฝ่ายรัฐบาลก็ปราบกบฏโพกผ้าเหลืองลงได้ ผู้นํากบฏทั้งสามคนคือ จางเจี่ยว, จางเปาและจางเหลียง 3 พี่น้องต้องเสียชีวิตไปในเวลาอันสั้น จางเจี่ยวป่วยตายในเดือนสิงหาคม ส่วนจางเปากับจางเหลียงตายในการสู้รบ
ทว่า กองกำลังกบฏโพกผ้าเหลืองไม่สิ้นซากไปง่ายๆ ยังคงมีการต่อสู้ด้วยกําลังอาวุธยืดเยื้อเรื้อรังอีกต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 192 กบฏโพกผ้าเหลืองในซานตงก็ได้ลุกฮือขึ้นมีจํานวนถึง 300,000 คน ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ในเสฉวนก็ได้มีลัทธินิกายที่มีพิธีกรรมความเชื่อถือคล้ายไท่ผิงเต้า ที่ใช้ช่วงเวลาที่ประชนชนอดอยากยากแค้น ปลุกระดมผู้คนให้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาล ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “ลัทธิข้าวห้าโต่ว” เพราะมีการแจกข้าวสารแก่สาวกคนละห้าโต่ว [มาตราชั่งน้ำหนักสมัยโบราณของจีน] ผู้ก่อตั้งมีชื่อว่า “จางเต้าหลิง”
กบฏโพกผ้าเหลืองที่ระบาดไปในบริเวณภาคเหนือและตะวันออก แม้จะพ่ายแพ้ไปในชั่วเวลาอันสั้น แต่กว่าจะสามารถทําให้ชาวนากลับคืนไปสู่ที่ดินทํากินของตนได้โดยสมบูรณ์ ก็ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ยิ่งกว่านี้ กบฏโพกผ้าเหลืองยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ในความทรงจําของชาวนาตลอดจนผู้คนในชนบททั้งหลายต่อมาอีกหลายต่อหลายศตวรรษ เป็นแบบฉบับการเคลื่อนไหวมวลชน ทั้งสั่นคลอนราชวงศ์ ทำให้อาณาจักรใหญ่ยิ่งต้องแตกแยกออกเป็นสามก๊กอยู่หลายร้อยปี
ข้อมูลจาก
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2577
หลี่เฉวี่ยน-เขียน เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย-แปล, ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2556
ถาวร สิกขโกศล แปล. แลหลังแดนมังกร เล่ม 3, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 2 ตุลาคม 2542
เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2564