เก่อซวิน ขุนนางในสามก๊ก ผู้กล้ากล่าวโทษ “ตั๋งโต๊ะ” คนร้ายกาจซึ่งหน้า

จิตรกรรม สามก๊ก วิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศ ประกอบ นางชีฮูหยิน

วรรณกรรม “สามก๊ก” มีตัวละครที่น่าจดจำมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “เก่อซวิน” ขุนนางผู้กล้าเย้ยฟ้าท้าดิน กล่าวโทษ “ตั๋งโต๊ะ” ซึ่งหน้า!

เก่อซวิน เกิดที่กว่างจื้อ เมืองตุ้นหวง แห่งเลียงจิ๋ว มีนิสัยห้าวหาญ เป็นคนแยกแยะบุญคุณความแค้น ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาทำให้เรื่องงานเสียหาย เช่นครั้งหนึ่ง เก่อซวินช่วยชีวิต “ซูเจิ้งเหอ” (ที่มีความแค้นส่วนตัวกับเขา) ซึ่งกำลังถูกใส่ร้ายให้เป็นแพะรับบาป แต่เมื่อซูเจิ้งเหอซาบซึ้งมาขอบคุณถึงบ้าน เก่อซวินกลับปฏิเสธไม่ขอพบหน้า และประกาศว่าที่ช่วยเพราะเห็นแก่ความถูกต้อง แต่ความแค้นยังคงอยู่เช่นเดิม

Advertisement

อีกครั้งหนึ่งที่เก่อซวินยกทัพไปช่วยปราบชนเผ่าเกี๋ยง แต่กลับได้รับบาดเจ็บสาหัส และตกอยู่ในวงล้อม เขายืนตัวตรงพูดกับศัตรูว่า “ฆ่าข้าตรงนี่เถอะ!” ทว่า “เตียนอู๋” หัวหน้ากองทหารเผ่าเกี๋ยง ที่เคยติดหนี้ชีวิตเก่อซวิน พยายามช่วยชีวิตเขา ก็ยังโดนเก่อซวินด่ากลับว่า …ช่างสมควรตายนัก พวกแกจะไปรู้อะไร! รีบเข้ามาฆ่าข้าเสียสิ” หากเตียนอู๋ก็ทั้งฉุดทั้งลากเขาออกไปจากวงล้อม ทั้งที่เก๋อซวินไม่ยอม สุดท้ายทหารเผ่าเกี๋ยงต้องกุมตัวเขาส่งออกไปด้วยความชื่นชม

คนหัวแข็งอย่างเก่อซวิน ไม่เพียงทำให้คู่แค้นเคารพ ศัตรูหวั่นเกรง แม้แต่ “พระเจ้าเลนเต้” ผู้อ่อนแอโง่เขลาเบาปัญญายังให้ความเชื่อใจ เพราะความภักดีต่อบ้านเมืองยิ่งกว่าใครของเขา เมื่อเก่อซวินได้เป็นขุนพลปราบกบฏ พระเจ้าเลนเต้เรียกเขามาเข้าเฝ้า และรับสั่งถามว่า “ทำไมแผ่นดินนี้ถึงมีแต่ความวุ่นวายไม่สงบสุข”

เก่อซวินตอบว่า “เพราะพวกขุนนางกังฉินแทรกแซงราชการการงานเมือง” โดยไม่สนใจว่า “เกียนสิด” (บางสำนวนแปลเรียกว่า “เกนหวน”) ขันทีคนโปรดของพระเจ้าเลนเต้ หนึ่งในขุนนางกังฉินคนสำคัญเวลานั้นจะอยู่ด้วย

พระเจ้าเลียนเต้จึงถามต่อไปว่า จะสั่งให้ทหารไปตั้งทัพอยู่ที่ผิงเล่อกวานแล้ว อีกทั้งยังดำริว่าจะมอบทรัพย์สมบัติจากท้องพระคลังเป็นของกำนัลแก่เหล่าแม่ทัพนายกอง ท่านคิดว่าอย่างไรบ้าง

เก๋อซวินตอบกลับอย่างไม่เกรงใจว่า “กระหม่อมเคยได้ยินมาว่ากษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถจะแสดงออกด้านคุณธรรม แต่ไม่แสดงออกเรื่องการทหาร ทุกวันนี้พวกโจรกบฏอยู่ในที่ไกล แต่เรากลับตั้งทัพอยู่ใกล้ ไม่มีทางที่จะแสดงให้ศัตรูประจักษ์ถึงแสนยานุภาพได้ เพียงแต่ทำให้การหทารแปดเปื้อนก็เท่านั้น”

เมื่อเจอเก๋อซวินตำหนิ พระเจ้าเลนเต้ไม่โกรธ แถมยังพยักหน้าตอบรับว่า “…ข้าได้แต่แค้นใจที่พบท่านช้าไป เหล่าขุนนางต่างไม่เคยกล้าพูดกับข้าอย่างนี้มาก่อน”

พระเจ้าเลนเต้ชื่นชมเก่อซวินเป็นอย่างมาก อยากแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งสูงๆ ในราชสํานัก แต่เกียนสิดกลัวเขามาก พยายามทุกวิถีทาง สุดท้ายเก่อซวินจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเพียง “ผู้ตรวจการนครหลวง” แต่ด้วยไม่เกรงกลัวอํานาจของพวกชนชั้นสูง ตรวจตราเคร่งครัด จึงสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเมืองหลวง

ทว่าสิ่งที่ทําให้ เก่อซวิน เป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดก็คือ เขากล้ากล่าวโทษ “ตั๋งโต๊ะ” ต่อหน้า

เก่อซวิน และการกล่าวโทษ “ตั๋วโต๊ะ”

ในประวัติศาสตร์จีน ตั๋งโต๊ะขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายป่าเถื่อน ยุคสามก๊กจีนมีประชากรเพียง 13 ล้านคน ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ สถานการณ์อันเลวร้ายนี้เพราะตั๋งโต๊ะฆ่าคนอย่างไร้เหตุผล ใช้แต่อารมณ์และความรู้สึกเท่านั้น เช่น เคยมีขุนนางคนหนึ่งไม่ได้ปลดกระบี่ประจํากายตอนเข้าพบตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะก็สั่งตัดหัวขุนนางผู้นั้นทันที

ขุนนางทั่วไป หรือแม้แต่ “ฮองฮูสง” และ “จูฮี” แม่ทัพผู้ปราบโจรโพกผ้าเหลือง ที่มีชื่อเสียงไปทั่วแผ่นดิน เมื่อเผชิญหน้ากับตั๋งโต๊ะยังมิกล้าพูดเสียงดัง เจอเสียงขึงขังถืออํานาจของตั๋งโต๊ะเข้าก็ได้แต่เออออรับปาก มีเพียงเก่อซวินเท่านั้นที่ไม่เคยเห็นตั๋งโต๊ะอยู่ในสายตา

หลังจากพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ ตั๋งโต๊ะเข้าเมืองหลวงทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยึดกุมอํานาจในราชสํานักไว้ทั้งหมด ตั๋งโต๊ะที่มีอํานาจชี้เป็นชี้ตาย ยิ่งใหญ่ค้ำฟ้าแต่เพียงผู้เดียว สั่งปลดยุวกษัตริย์ “หองจูเปียน” แต่งตั้ง “หองจูเทียบ” เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ และประหาร “โฮไทเฮา”

เก่อซวินทนดูต่อไปไม่ได้ จึงเขียนจดหมายไปบริภาษว่าตั๋งโต๊ะเป็นตัวตลก อีกทั้งยังเตือนตั๋งโต๊ะว่าอย่าได้ใจจนลืมตัวแล้วสร้างความพินาศ ตั๋งโต๊ะอ่านแล้วหวาดกลัวเป็นอย่างมาก ไม่กล้าทําการใดๆ ซ้ำยังแต่งตั้งเก่อซวินเป็นขุนนางคนสนิทของฮ่องเต้

เมืองหลวงเวลานั้น เหล่าขุนนางราชสำนักชั้นสูงแค่เห็นตั๋งโต๊ะก็ต้องคุกเข่าคํานับมาแต่ไกล มีแค่เก่อซวินที่ไม่สนใจ เขาเพียงประสานมือคํานับให้เท่านั้น เหล่าขุนนางผู้ใหญ่ตระหนกหน้าถอดสี แต่ตั๋งโต๊ะก็ไม่อาจทำกระไรได้

ตั๋งโต๊ะปรึกษา “อ้องอุ้น” ขุนนางผู้ใหญ่ว่า อยากหาเสนาธิการที่มากความสามารถสักคน อ้องอุ้นจึงเสนอชื่อเก่อซวิน ตั๋งโต๊ะบอกว่าคนผู้นี้ร้ายกาจเกินไป ไม่สมควรมารับตําแหน่งสําคัญแบบนี้ แค่เก่อซวินธรรมดา เขาก็เกินจะรับได้แล้ว หากเป็นเก่อซวินที่กุมอํานาจทางทหารไว้ในมือ ไม่รู้จะสร้างปัญหาให้เขาได้อีกเท่าไร

นี่แสดงให้เห็นว่า เก่อซวินสามารถสร้างแรงกดดันให้ตั๋งโต๊ะได้ ซึ่งเกิดขึ้นน้อยครั้งนัก

เก่อซวินไม่เพียงกล้าวิพากษ์วิจารณ์ตั๋งโต๊ะ เขาถึงขั้นกล้าประณามต่อหน้า มีครั้งหนึ่งจูฮีกําลังวิเคราะห์สถานการณ์ทางการทหารให้ตั๋งโต๊ะฟัง ตั๋งโต๊ะไร้ความอดทน ชักดาบออกมา ณ ที่นั้น แล้วกล่าวว่า “ตัวข้ารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง มีกลยุทธ์พร้อมอยู่ในใจ เจ้าอย่ามาพูดเหลวไหลให้ดาบของข้าต้องมีมลทิน”

จูฮีไม่ได้พูดอะไรอีก แต่ผู้ที่ฟังอยู่ข้างๆ อย่างเก่อซวินกลับทนไม่ได้ ประชดขึ้นมาว่า

“กษัตริย์อู่ติงผู้มีความปรีชาในสมัยราชวงศ์ชางยังต้องขอความเห็นจากผู้อื่น มิไยตัวท่านเล่า หรือท่านต้องการให้คนทั่วทั้งใต้หล้าปิดปากไม่พูดเชียวหรือ”

ตั๋งโต๊ะไม่รู้จะทําเยี่ยงไร ได้แต่ตอบไปอย่างเหนียมๆ ว่า “ข้าแค่ล้อเล่นเท่านั้น!”

เก่อซวินแย้งกลับทันที “ไม่เคยได้ยินว่าคําพูดชั่วช้าก็เอามาล้อเล่นกันได้”

ภาพลักษณ์ของผู้กล้าเย้ยฟ้าท้าดินที่ เก่อซิน สร้างขึ้น จึงเป็นแบบอย่างและเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่อันสือ-เขียน, วรางค์ ตติยะนันท์ ปิยะพร แก้วเหมือน-แปล. ยอดวีรชนสามก๊ก : 33 ผู้มีใจสูง, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2565