เช็งเม้ง เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ จีนกับในเมืองไทยต่างกันอย่างไร

เช็งเม้ง เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ที่ สุสาน ใน จังหวัดชลบุรี
บรรยากาศการไหว้ "เช็งเม้ง" ที่สุสานในจังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2529 (ภาพจากห้องสมุดภาพนิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

“เช็งเม้ง” เป็นเทศกาลหนึ่งที่คุ้นเคยกันในสังคมไทย ลูกหลานจีนในไทยยังคงสืบทอดอย่างเหนียวแน่น และค่อนข้างคึกคัก ดังเห็นจากจำนวนสุสานในจังหวัดชลบุรี, สระบุรี ฯลฯ และปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นบนเส้นทางไปยังจังหวัดดังกล่าวในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง

ทั้งเป็นเรื่องคุ้นเคยในสังคมไทย เมื่อพูดว่า “เช็งเม้ง” ก็เข้าใจได้ว่า เป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสานทันที

หากเช็งเม้ง ก็เป็นเทศกาลของคนจีนในประเทศจีน ที่ผูกพันกับวัฒนธรรมประเพณีบ้านเกิด จึงแพร่หลายไปในประเทศอื่นๆ ที่คนจีนโพ้นทะเลไปอยู่ รวมถึงประเทศไทย หากบางอย่าง เช่น สภาพภูมิอากาศ, วัฒนธรรม, คติความเชื่อ ฯลฯ ก็ต่างออกไป เช็งเม้งในประเทศปลายทาง จึงมีส่วนที่ต่างจากเช็งเม้งในจีน

แล้ว “เช็งเม้งที่จีน” ต่างจาก “เช็งเม้งในไทย” อย่างไร

สถานที่ เช็งเม้งที่จีน ไหว้ป้ายสถิตวิญญาณ (ป้ายชื่อและประวัติย่อของผู้ตายเขียนเป็นภาษาจีน) ที่ศาลบรรพชนของตระกูลแซ่ในหมู่บ้าน โดยเป็นการไหว้บรรพบุรุษร่วมกัน ของคนหลายครอบครัวในหมู่บ้านที่ใช้แซ่เดียวกัน ส่วนที่สุสานนั้นไปทำปัดกวาดหลุมศพและเติมสีป้ายหินจารึกชื่อบรรพบุรุษ เป็นการล่วงหน้า

เช็งเม้งในไทย ส่วนใหญ่เซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน (การปัดกวาดหลุมศพ, เติมสีป้ายหินก็ทำในวันเดียวกัน) บางครอบครัวที่ฌาปนกิจบรรพบุรุษแทนการฝังก็จะจัดไหว้ที่บ้าน หรือบางบ้านก็ตั้งป้ายสถิตวิญญาณไว้ที่ศาลบรรพชนของตระกูลแซ่, โรงเจ, วัดจีน ประจำตระกูล

ผู้เซ่นไหว้ เช็งเม้งที่จีน ผู้ที่ไปเซ่นไหว้ คือ ลูกชาย, ลูกสาว, สะใภ้, หลานปู่ย่า, เหลนปู่ทวดย่าทวด ฯลฯ ส่วนลูกสาวที่แต่งงานแล้วไม่ต้องมาไหว้ หนึ่ง เพราะนับเธอเป็นคนของอีกครอบครัวแล้ว สอง เธอต้องเป็นคนจัดการเซ่นไหว้พ่อแม่/ปู่ย่าฝ่ายสามี ไหว้เช็งเม้งที่บ้านเดิมควรปล่อยและให้เกียรติสะใภ้ที่บ้านเป็นผู้จัดการ และไม่ควรหาทำเพราะมันเหนื่อยยยย

ส่วนเช็งเม้งในไทย ลูกชาย-สะใภ้, ลูกสาว-เขย, หลานปู่ย่า/ตายาย ฯลฯ  ใครอยากไปไหว้ได้หมด เพราะวัฒนธรรมไทย เปิดกว้างให้ลูกสาวสามารถร่วมกิจกรรมกับครอบครัวเดิมได้มากกว่าที่จีน ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือ บางบ้านลูกสาวที่แต่งงานไปแล้วยังต้องเป็นคนจัดการ เพราะสะใภ้ไม่ไหว้/ไหว้ไม่เป็น, ลูกชายได้มรดกแล้วไม่ไปไหว้ ฯลฯ

ช่วงเวลาที่ไปเซ่นไหว้ เพราะขนาดประเทศที่กว้างใหญ่ของจีน ทำให้สภาพอากาศแต่ละพื้นที่ของจีนค่อนข้างแตกต่างกัน การเซ่นไหว้บรรพบุรุษแบบที่เรียกว่าเช็งเม้ง จึงไม่ได้ทำต่างกันออกไป คนจีนทางเหนือนิยมไหว้เช็งเม้ง เพราะอากาศไม่หนาวเย็น

แต่คนจีนทางใต้ (ใต้แม่น้ำแยงซีเกียง) โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้ง และฮกเกี้ยน (ฟูเจี้ยน) กลับมีธรรมเนียมไปปัดกวาดทำความสุสาน และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ในเทศกาลตังโจ็ยะ (ไทยเรียกเทศกาลขนมบัว หรือเทศกาลขนมอี๋) ซึ่งอยู่ในช่วงวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ซึ่งอากาศเย็นสบาย และเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเรียบร้อย แทนเช็งเม้งในหลายครอบครัว

ส่วนลูกหลานจีนในไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนทางใต้ กลับนิยมเซ่นไหว้ในเทศกาลเช็งเม้ง และชุงฮุง

ฯลฯ

“เช็งเม้ง” จึงเปรียบเสมือน “ผลไม้นอก” จากจีน ถึงเอาเมล็ดจากต้นเดิมมาปลูก แต่ดิน, น้ำ, อากาศ แบบเมืองร้อนของไทย จึง “กลายพันธุ์” ไปบ้าง แต่ก็คลี่คลายเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน ไม่มีประเด็นเรื่องผิดถูก เทียมหรือแท้ให้ตั้งแง่รังเกียจ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2557.

การสัมภาษณ์ ผศ. ถาวร สิกขโกศล 1 เมษายน 2567.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2567