“เช็งเม้ง” ยังมาไม่ถึง แต่ทำไมไปไหว้บรรพบุรุษกัน “เทศกาลกตัญญู” เริ่มแล้ว

เช็งเม้ง เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ที่ สุสาน ใน จังหวัดชลบุรี
บรรยากาศการไหว้ "เช็งเม้ง" ที่สุสานในจังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2529 (ภาพจากห้องสมุดภาพนิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

เมื่อพูดถึงการ “เซ่นไหว้บรรพบุรุษ” ที่ล่วงลับไปแล้วของคนจีน คนส่วนใหญ่มักนึกถึง “วันเช็งเม้ง” ซึ่งจะเป็นวันที่ 4 หรือ 5 ของเดือนเมษายน แต่ในทางปฏิบัติทำไมหลายคนหลายบ้านเริ่มไหว้บรรพบุรุษก่อนหน้านั้นประมาณ 2 สัปดาห์ และอีกหลายบ้านก็ไปไหว้หลังจากนั้นก็มี

เพราะกลัวรถติดงั้นหรือจึงหนีด้วยการรีบไหว้เสียก่อน แล้วยังไม่ถึง “วันเช็งเม้ง” เลยไหว้ได้อย่างไร

การ “เซ่นไหว้บรรพบุรุษ” ที่ล่วงลับของลูกหลานจีน จริงๆ แล้วเริ่มไหว้กันได้ตั้งแต่วันชุงฮุง (20-21 มีนาคม)-วันเช็งเม้ง (4-6 เมษายน) ชุงฮุงและเช็งเม้ง เป็น 1 ใน 24 ปักษ์ย่อยที่แบ่งตามฤดูกาล ซึ่งแต่ละปักษ์มีช่วงเวลา 14-16 วัน เป็นการแบ่งตามการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก เพื่อจัดทำขึ้น “ปฏิทินเกษตร” สำหรับใช้เป็นคู่การทำนา ปฏิทินดังกล่าวใช้ทั้งจันทรคติและสุริยคติควบกัน ซึ่งขออธิบายแต่ส่วนปักษ์ชุงฮุงและเช็งเม้งเท่านั้น

ชุงฮุง เป็นปักษ์ที่ 4 แปลว่า กึ่งฤดูใบไม้ผลิ โลกโคจรมาถึงจุด 0 องศา ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม อากาศหายหนาว เย็นสบาย วันนี้กลางคืนกลางวันจะยาวเท่ากัน และหลังจากวันนี้ไปช่วงเวลากลางวันก็จะยาวขึ้น ส่วน เช็งเม้ง เป็นปักษ์ที่ 5 แปลว่าแจ่มใส สดชื่น เย็นสบาย (ตามสภาพอากาศในประเทศจีน แต่เมืองไทยร้อนสุดๆ) โลกโคจรมาถึงจุด 15 องศา วันที่ 4-6 เมษายน แต่ส่วนมากจะตรงกับวันที่ 5 เมษายน

นอกจากนี้ยังมีบางครอบครัวที่ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน ที่เรียกกันทั่วไปว่า “กู่เช็งเม้ง-เช็งเม้งเก่า” ซึ่งที่จริงคือ “เทศกาลซ่างสื้อ” อันเป็นต้นเค้าของเทศกาลเช็งเม้งจากวรรณกรรมในอดีตและบันทึกเก่า พอสรุปได้ว่า เทศกาลชุงฮุงน่าจะเริ่มมีแต่สมัยราชวงศ์โจว (503 ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. 322) เทศกาลซ่างสื้อมีในยุคชุนชิว (227 ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. 67) ส่วนเช็งเม้งเพิ่งเกิดในราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ. 551-763)

ในสมัยโบราณในทั้ง 3 เทศกาลนี้ ราชสำนักและประชาชนมีพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้อื่นด้วย ในที่นี้ขอละไว้ ด้วยเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัว และมีรายละเอียดมาก (ท่านที่สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้”) แต่ทั้ง 3 เทศกาลมีกิจกรรมหนึ่งที่เหมือนกันคือ “การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ” ที่ยังคงสืบทอดจนถึงปัจจุบัน

การไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลนี้มักไปไหว้ที่หลุมศพของท่านตามสุสานต่างๆ ด้วยอาหารคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องกระดาษ ฯลฯ แต่บางบ้านที่ผู้ตายท่านสั่งไว้ให้ฌาปนกิจแล้ว ตั้งป้ายชื่อท่านไว้ที่สื่อตึ๊ง (สมาคมตระกูลแซ่ของท่าน), วัดจีน, โรงเจ ฯลฯ ก็ไปสถานที่นั้นๆ แทน หรือแม้ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน หลายท่านก็ปรับเปลี่ยนด้วยการไหว้ที่บ้านแทนเพื่อความปลอดภัยก็เป็นอีกวิธีที่ดี

สำหรับปี 2567 นี้ วันชุงฮุงตรงกับวันที่ 21 มีนาคม, วันเช็งเม้งตรงกับวันที่ 4 เมษายน และกู่เช็งเม้งตรงกับวันที่ 11 เมษายน การไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานจึงมีก่อนและหลังวันเช็งเม้ง และมีอีกหลายบ้านที่ไปไหว้ก่อนและหลังที่จะถึงช่วงเวลาดังกล่าว ตามเหตุปัจจัยของแต่ละครอบครัว

แต่ไม่ว่าจะไปไหว้บรรพบุรุษวันไหน สำหรับเมืองไทยแล้วก็ร้อนเหลือเกิน ขณะที่เมืองจีนเป็นช่วงอากาศแจ่มใส เย็นสบาย เกาจี๋ว์ชิง กวีสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503-1822) ถึงกับจิบสุราแต่งกลอนชมธรรมชาติไว้ว่า

สุสานร้างรายอยู่ภูเหนือใต้   เช็งเม้งคนมาไหว้เดินสับสน

ผีเสื้อขาวเถ้ากระดาษบินว่อนวน   อัสสุชลหลั่งไหลฤทัยครวญ

สายัณห์จิ้งจอกนอนหน้าหลุมหลับ   ราตรีกลับเคหาคลายว่ายกำสรวล

ยามมีเหล้าเมาปลื้มดื่มตามควร   ตายแล้วล้วนชวดลิ้มรสแม้หยดเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2562 และปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 21 มีนาคม 2566