ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหาการไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานในเทศกาล “เช็งเม้ง” ยุคหนึ่ง คือการไหว้ผิดหลุม จนมีเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของบางครอบครัว
ขณะที่บ้านหนึ่งกำลังรอให้เครื่องกระดาษที่เผามอดหมด และเตรียมเก็บอาหารที่นำมาไหว้บรรพบุรุษกลับบ้าน ก็มีกลุ่มคนอีกคณะขนของเพื่อจะเซ่นไหว้ เมื่อสอบถามข้อมูลกันไปมา จึงรู้ว่าฝ่ายแรกไหว้ผิด ที่ไหว้ไปแล้วเป็นบรรพบุรุษคนอื่น
เหตุของความผิดพลาดในเรื่องนี้มีที่มา 2 ประการ หนึ่งคือลูกหลานไม่รู้ภาษาจีน ป้ายหินที่หน้าหลุมศพเขียนเป็นภาษาจีนล้วนๆ เพิ่งจะมีภาษาไทยปะปนในยุคหลังประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา หนึ่งเกิดจากชื่อที่ป้ายหินหน้าหลุมศพไม่ตรงกับชื่อลูกหลานรับรู้ ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการตั้งชื่อของคนจีน
เพราะสังคมจีนยุคเก่า คนคนหนึ่งไม่ได้มี “ชื่อ” สำหรับเรียกขานเพียงชื่อเดียว
ขณะที่คนไทยคนหนึ่งมีชื่อจริง และชื่อเล่น แต่สำหรับคนจีน 1 คน อาจจะมี 3-4 ชื่อ เช่น ขงเบ้ง กุนซือในสามก๊ก แซ่จูกัด ชื่อตัว-เหลียง (จูกัดเหลียง) ชื่อรอง-ขงเบ้ง สมญา-โงลังซินแส สมัญญา-ฮกหลง (มังกรซุ่ม)
ทั้งนี้ ชื่อเป็นอัตลักษณ์เบื้องต้นของคนจีน แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ 3 ประเภท คือ 1. ชื่อตัว (หมิง) 2. ชื่อรอง (จื้อ) 3. ชื่อพิเศษ (เฮ่า)
ชื่อตัว (หมิง)
เป็นชื่อประจำชีวิตของบุคคล ชื่อตัวเกิดขึ้นเพราะมีชีวิตอยู่ และดับไปพร้อมกับชีวิต เป็นชื่อที่คนในครอบครัวตั้งให้ ตามความเชื่อของคนจีนโบราณ ชื่อตัว (หมิง) คือ ชีวิต หรือจิตวิญญาณของคน เป็นชื่อสำหรับใช้ในครอบครัวเท่านั้น คนนอกไม่ควรนำไปเรียกขาน เพราะจะเป็นการ “ข่มชีวิต”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้เรียกเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับผู้ถูกเรียกหรืออ่อนอาวุโสกว่า คนไทยมีมารยาทเรื่องนี้เช่นกัน ในวัฒนธรรมไทยจึงมักใช้คำว่า พี่ ป้า น้า อา หรือคำแสดงสถานะของผู้ถูกเรียก เช่น ครู… หมอ… นำหน้า เป็นการให้เกียรติแทน
ชื่อตัว (หมิง) ยังแยกย่อยออกเป็น (1) ชื่อจริง (ต้าหมิง) ซึ่งในชื่อจริงจะมี “คำบอกลำดับรุ่น” ว่าบุคคลผู้ใช้ชื่อนี้เป็นรุ่นที่เท่าใดของตระกูลประกอบอยู่ด้วย ชื่อจริงใช้ในการสอบเข้ารับราชการ, การทำงาน และติดต่อเรื่องที่เป็นทางการ (2) ชื่อเล่น (เสี่ยวหมิง) บ้างก็เรียกว่า “ชื่อน้ำนม” หรือ “ชื่อวัยทารก” ในอดีต มักตั้งด้วยคำที่ไม่น่าฟัง เพราะให้ผีรังเกียจไม่เอาเด็กไป แต่ปัจจุบัน ตั้งเอาความหมายน่ารัก หรือเสียงไพเราะ ชื่อเล่นนี้ใช้เรียกกันเฉพาะคนในครอบครัว, ญาติ, คนคุ้นเคย และใช้เฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น เมื่อโตขึ้นก็เลิกใช้
ชื่อพิเศษ (เฮ่า)
ประกอบด้วย (1) สมญา-ชื่อที่เจ้าตัวตั้งขึ้นเรียกตัวเอง เช่น ตู้ฝู่ กวีสมัยถังตั้งสมญาเองว่า “เฒ่าชนบท” (2) ฉายา-ชื่อที่ผู้อื่นตั้งให้ เช่น สุมาเต็กโชตั้งฉายาให้ขงเบ้งว่า “ฮกหลง-มังกรซุ่ม” (3) พระอภิไธย-พระนามที่ใช้ยกย่องแสดงพระเกียรติของกษัตริย์ และขุนนางของจีน (4) สมัญญา-ชื่อที่ผู้อื่นตั้งให้ผู้ตายที่อาจเป็นคนทั่วไป, ปัญญาชน, ขุนนาง, กษัตริย์ ตามปฏิปทาเมื่อครั้งมีชีวิต ซึ่งมีทั้งตำหนิ, ชมเชย และเห็นใจ
ส่วนชื่อเจ้าปัญหาที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด คือ “ชื่อรอง (จื้อ)”
ชื่อรอง (จื้อ)
เป็นชื่อในวงสังคม เป็นชื่อสำหรับบุคคลอื่นใช้เรียกตัวเรา และเราเองใช้เรียกคนอื่นที่ไม่คุ้นเคยด้วยชื่อรองของเขาเช่นกัน สำหรับคนจีนทางภาคใต้ของประเทศจีนหลายกลุ่ม เช่น จีนแต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน และแคะ ชื่อรองได้กลายไปเป็นชื่อโรงเรียน (เพราะตั้งให้เด็กไปใช้ที่โรงเรียน หรือครูที่โรงเรียนตั้งให้เด็กก็มี) ใช้สืบต่อกันมาจนถึงยุคต้นสาธารณรัฐประชาชนจีน
คนจีนโพ้นทะเลในไทย ซึ่งมาจากประเทศจีนช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนมากจะมีทั้งชื่อตัว และชื่อรอง หรือชื่อโรงเรียน ชื่อตัว (หมิง) ใช้เฉพาะในบ้านขณะยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเวลาอยู่นอกบ้านในสังคมใช้ชื่อรอง หรือชื่อโรงเรียน
เมื่อล่วงลับไปแล้ว ก็ใช้ชื่อรองหรือชื่อโรงเรียนจารึกที่ป้ายสถิตวิญญาณ หน้าหลุมศพฝังศพ ซึ่งลูกหลานรุ่นต่อๆ มา บางทีก็ไม่ทราบว่า บรรพบุรุษใช้ชื่อรองดังกล่าว เพราะอยู่ในบ้านก็ได้ยินแต่ชื่อตัว (หมิง)
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐใน พ.ศ. 2454 รัฐบาลสนับสนุนให้คนจีนใช้ชื่อตัวเพียงชื่อเดียว หลังการเคลื่ยนไหว 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 คนจีนตื่นตัวปรับปรุงวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ชื่อรองจึงค่อยๆ หมดไปจากสังคมจีน คนจีนปัจจุบันมีเพียงชื่อจริง กับชื่อเล่น เท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- สื้อเฮ่า-สมัญญาแบบจีน ที่ตั้งให้หลังเสียชีวิต ที่มีทั้งยกย่อง-เห็นใจ-ตำหนิ
- “เช็งเม้ง” ยังมาไม่ถึง แต่ทำไปไหว้บรรพบุรุษกัน “เทศกาลกตัญญู” เริ่มแล้ว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2559
ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2565