สื้อเฮ่า-สมัญญาแบบจีน ที่ตั้งให้หลังเสียชีวิต ที่มีทั้งยกย่อง-เห็นใจ-ตำหนิ

สุยหยางตี้
สุยหยางตี้ สมัญญาที่หมายถึง “กษัตริย์ราชวงศ์สุยผู้ละทิ้งธรรมจริยาและประชาชน ตลอดจนมักมากในกาม”

สื้อเฮ่า หรือสมัญญา (谥号) คือ เฮ่า () นามพิเศษที่ตั้งให้คนตาย ทั้งของสามัญชน และของเจ้าเรียกสื้อเฮ่าเหมือนกัน สามัญชนที่ได้รับสื้อเฮ่าคือ ขุนนาง ปัญญาชน ผู้ดีมีตระกูล ตามปกติชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยมีใช้

ลักษณะสำคัญของสื้อเฮ่า (สมัญญา) มี 2 ประการ 1. เกิดจากคนรอบข้างร่วมกันพิจารณาให้หลังจากเจ้าตัวล่วงลับไปแล้ว 2. เป็นการสรุปปฏิปทาและผลงานในชีวิตอย่างสังเขปของบุคคลนั้นไว้ในสมัญญาที่ตั้งให้

ส่วนสาเหตุหลักๆ ที่ต้องตั้งสื้อเฮ่า (สมัญญา) คือ นอกจากเพื่อใช้สื้อเฮ่า (สมัญญา) เรียกผู้ตามแทนชื่อตัวและชื่อรองและเพื่อจำแนกคนเป็นกับคนตายตามจารีตของจีน ยังเพื่อสรุปปฏิปทาและผลงานของผู้ตายว่าเป็นอย่างไร ก่อนประกาศให้โลกรู้ผ่านสมัญญาที่คนอยู่ร่วมกันพิจารณาตั้งให้ เป็นอนุสติแก่คนรุ่นหลังให้สังวรระวังชื่อดี-ชั่วที่สังคมจะตั้งให้หลังตัวเองตาย

การตั้งสื้อเฮ่า (สมัญญา) เริ่มมีใช้ในยุคต้นราชวงศ์โจว แรกทีเดียวใช้กับกษัตริย์ราชวงศ์โจว และขุนนางผู้ใหญ่เฉพาะผู้มีความดีความชอบยิ่งใหญ่ ต่อมาในราชวงศ์ฉิน (จิ๋น) ยกเลิกการตั้งสื้อเฮ่า (สมัญญา) เพราะจิ๋นซีฮ่องเต้ เห็นว่าเป็นเรื่องข้าวิจารณ์เจ้า ลูกวิจารณ์พ่อ สมัยราชวงศ์ฮั่นจึงฟื้นฟูขึ้นมาใหม่และขยายวงกว้างออกไป ในยุคต่อๆ มา ค่อยๆ แพร่หลายไปในหมู่ปัญญาชน คหบดี และผู้มีหน้ามีตาในสังคม

สื้อเฮ่า (สมัญญา) ของสามัญชนมีความหมายสดุดี ถ้าไม่มีความดีพอก็ไม่ตั้งสื้อเฮ่า (สมัญญา) ให้ แต่ชนชั้นปกครองจะดีหรือไม่ดีก็ต้องมีสื้อเฮ่า (สมัญญา) หลังตาย สื้อเฮ่า (สมัญญา) ของบุคคลเหลานี้จึงแยกออกเป็น 3 ประเภท คือ สดุดี, เห็นใจ และตำหนิ [จุดนี้ต่างจากสมัญญาในความหมายของไทย ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งให้ด้วยความยกย่องเพียงอย่างเดียว] ขอยกตัวอย่างสื้อเฮ่า (สมัญญา) ของกษัตริย์ และเจ้าผู้ครองนคร (สามนตราช) ดังต่อไปนี้

1. ประเภทสดุดี

ประเสริฐสุดพรรณนา ถวายสมัญญาว่า เสิน (神 เทพ, เทวะ)

เลิศพระปรีชาปกครองฟ้าดิน, เปี่ยมกรุณารักประชาราษฎร์, รอบรู้ทรงธรรม สมัญญาว่า เหวิน (文 ดีงาม, อารยะ) สำหรับกษัตริย์ใช้ความหมายนัยแรก เช่น โจวเหวินหวาง, ฮั่นเหวินตี้, สุยเหวินตี้ สำหรับเจ้าผู้ครองนคร (สามนตราช) ใช้ความหมายนัยสอง เช่น จิ้นเหวินกง, หลู่เหวินกง สำหรับขุนนางผู้ใหญ่ใช้ความหมายนัยสาม เช่น หานเหวินกง (ชื่อตัวหานอี้ว์) ยุคราชวงศ์ถัง

บ้านเมืองรุ่งเรืองทั่วสี่ทิศ สมัญญาว่า หมิง (明รุ่งเรือง) เช่น พระเจ้าฮั่นหมิง, พระเจ้าถังเสวียนจงหมิงตี้

กระเดื่องเดชานุภาพและทรงธรรม สมัญญาว่า อู่ (武 กล้าหาญ, รบพุ่ง) เช่น โจวอู่หวาง, ฮั่นอู่ตี้ คำว่า อู่ ในสื้อเฮ่า “จงอู่โหว” ของขงเบ้งมีความหมายตามนัยนี้

ขยายอาณาเขตสยบแดนไกล สมัญญาว่า หวน (桓) เช่น ซ่งหวนกง, ฉีหวนกง ในยุคชุนชิว ฉีหวนกงในยุคจั้นกั๋ว เห็นได้ว่าแคว้นฉีมีประมุขได้รับสมัญญาว่า หวนกง ซ้ำกันถึง 2 คนแต่อยู่ต่างยุคกัน

พระเกียรติคุณขจรไกล สมัญญาว่า จาว (昭) เช่น พระเจ้าโจวจาวหวาง, พระจ้าฮันจาวตี้, หลู่จาวกง, จิ้นจาวกง, ฉีจาวกง ในยุคชุนชิว

ผดุงรัฐบำรุงราษฎร์ สมัญญาว่า เฉิง (成) เช่น พระเจ้าโจวเฉิงหวาง, พระเจ้าฮั่นเฉิงตี้, จินเฉิงกง, เฉินเฉิงกง ในยุคชุนชิว

ฉลาดเห็นการณ์ไกล สมัญญาว่า เสี้ยน (献 เหี้ยน) เช่น พระเจ้าเหี้ยนเต้ (เสี้ยนตี้) ในเรื่องสามก๊ก เป็นกษัตริย์ที่ฉลาดเห็นการณ์ไกล จึงประคองสถานการณ์อยู่ได้ และเมื่อเห็นว่าทานอำนาจโจผี (เฉาผี่) ไม่ไหวก็ยอมสละราชสมบัติให้ จึงไม่ถูกจับสำเร็จโทษ อย่างฮ่องเต้อีกหลายองค์

2. ประเภทเห็นใจ

อ่อนน้อม เมตตา อายุสั้น สมัญญาว่า อาย (哀) เช่น หลู่อายกง ยุคชุนชิว พระเจ้าจิ้นอายตี้

ทรงพระกรุณาอายุสั้น สมัญญาว่า หวย (怀 ไฮว๋) เช่น พระเจ้าจิ้นหวยตี้

บ้านเมืองประสบภัย สมัญญาว่า หมิ่น (愍) เช่น พระเจ้าหมิ่นตี้

3. ประเภทตำหนิ

บ้านเมืองวุ่นวายไม่ปกติสุข สมัญญาว่า อิว (幽) เช่น พระเจ้าโจวอิวหวาง ผู้ลุ่มหลงนางเปาสือจนเสียบ้านเสียเมือง

บ้านเมืองจลาจลแต่ไม่ถึงล่มจม สมัญญาว่า หลิง (灵 เลน) เช่น จิ้นหลิงกง ยุคชุนชิว, พระเจ้าเลนเต้ (หลิงตี้) ปลายราชวงศ์ฮั่นในเรื่องสามก๊ก

ดุร้ายเหี้ยมโหด สมัญญาว่า ลี่ (历) เช่น พระเจ้าโจวลี่หวาง, ฉู่ลี่หวาง สามนตราชแคว้นฉู่

ทิ้งธรรมจริยาและประชาราษฎร์ หรือมักมากในกาม ห่างธรรมจริยาอย่างที่ภาษาชาวบ้านว่า บ้าผู้หญิงทิ้งคุณธรรม สมัญญาว่า หยาง (炀) แห่งราชวงศ์สุย ทรราชองค์นี้มีชื่อตัวว่า หยางกว่าง พระเจ้าสุยเหวินตี้พระชนกเป็นกษัตริย์ประเสริฐ จึงได้พระสมัญญาว่า เหวิน (文) แต่ตัวหยางกว่างตรงกันข้าม สร้างความเลวร้ายไว้มาก รวมทั้งเรื่องบ้าผู้หญิง จึงได้รับสมัญญาว่า สุยหยาง หมายถึง “กษัตริย์ราชวงศ์สุยผู้ละทิ้งธรรมจริยาและประชาชน ตลอดจนมักมากในกาม”

ประเพณีการตั้งสื้อเฮ่า (สมัญญา) ให้หลังตาย มีส่วนทำให้ปัญญาชนและชนชั้นปกครองของจีนระมัดระวังความประพฤติของตน เพราะกลัวจะได้รับสมัญญาชั่วจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ ทั้งอยากได้สมัญญาดีงามเป็นเกียรติแก่งานและวงศ์ตระกูล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงจาก ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่, สำนักพิมพ์มติชน, พิพม์ครั้งแรก สิงหาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2565