จักรพรรดิถังเสวียนจง ฮ่องเต้ที่นำความรุ่งเรือง และเสื่อมมาสู่แผ่นดิน

จักรพรรดิถังเสวียนจง จักรพรรดิจีน ขี่ม้า ข้าราชการ
จักรพรรดิถังเสวียนจงเสด็จประพาสในฤดูใบไม้ผลิ

ในรัชกาลของ จักรพรรดิถังเสวียนจง (ครองราชย์ พ.ศ. 1255-99) ราชวงศ์ถังด้วยมีความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่จนเป็นที่ยกย่องกันว่านี้คือ “ยุคทองของราชวงศ์ถัง” แต่ชีวิตของจักรพรรดิพระองค์นี้ก็ระหกระเหินเอาการ ในลักษณะที่ว่า “ต้นร้าย กลางรุ่ง ปลายล้ม”

จักรพรรดิถังเสวียนจง (พ.ศ. 1228-1305) ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระนางบูเช็กเทียน ที่ไม่ค่อยลงรอยกัน เพราะพระนางทรงกุมอำนาจของราชวงศ์ถังไว้ทั้งหมด  ชีวิตวัยเด็กของเยาว์ของพระองค์ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางราชตระกูลตกต่ำ ขณะที่เจ้าชายหลายพระองค์ที่ได้รับการสถาปนาเป็น “จักรพรรดิหุ่นเชิด” ของพระนาง

Advertisement

แต่ จักรพรรดิถังเสวียนจง กลับเลือกใช้เวลาในช่วง 20 ปีแรกของชีวิตด้วย “ขัตติยะมานะ” ทรงตั้งใจศึกษาศิลปวิทยาอย่างจริงจัง ทำให้ทรงเชี่ยวชาญทั้งบุ๋นและบู๊

พ.ศ. 1248 พระนางบูเช็กเทียนสวรรคต ราชสำนักเกิดการแย่งชิงอำนาจ ระว่างกลุ่มของวุ่ยฮองเฮา (มเหสีของจักรพรรดิถังจงจง) กับกลุ่มของเจ้าหญิงไท่ผิง (พระธิดาของบูเช็กเทียน)ที่ร่วมมือจักรพรรดิถังเสวียนจง จนเป็นฝ่ายที่ได้ชัยชนะในที่สุด และได้เชิญพระราชบิดาของจักรพรรดิถังเสวียนจง ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1253 ทรงพระนามว่า “ถังญุ่ยจง”

แต่ภายหลังจักรพรรดิถังเสวียนจง กับเจ้าหญิงไท่ผิง เกิดความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกันอย่างรุนแรง ก่อนที่จะจบลงด้วยฝ่ายของเจ้าหญิงทั้งหมดถูกกำจัด

จักรพรรดิถังเสวียนจงเสวยราชย์ในปี พ.ศ.1255 หลังปราบดาภิเษกมีอำนาจเต็มที่ใช้ชื่อศักราชประจักรัชกาลว่า “เซียนเทียน” พ.ศ. 1256 ทรงตั้งชื่อศักราชเป็น “ไคหยวน” ซึ่งใช่สืบมาจนถึงพ.ศ. 1284 นับว่าเป็น “ยุคทอง” ในรัชกาล และใช้ชื่อศักราช “เทียนเป่า” ในช่วง พ.ศ. 1285-99

ใน 3 ปีแรก จักรพรรดิถังเสวียนจงทรงปกครองบ้านเมืองด้วยอุตสาหวิริยะ บ้านเมืองจึงเจริญรุ่งเรืองสงบสุข ราชสำนักมั่งคั่ง ประชาชนสมบูรณ์พูนสุข ศิลปะวิทยาการก้าวหน้า ตลอดเวลา 29 ปี แห่งศักราชไคหยวน จนมีคำสรรเสริญว่า “สันติสุขแห่งไคหยวน” มหานครฉางอานเป็นศูนย์กลางการค้าที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก รวมทั้งเส้นทางสายไหมจากฉางอานไปเอเซียกลาง

แต่ความรุ่งเรืองมั่งคั่ง ก็กลายเป็นดาบสองคน ที่ทำให้จักรพรรดิถังเสวียนจง ทรงใช่จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ราชสำนักฝ่ายในของพระองค์มีสนมกำนัลถึง 40,000 กว่าคน ซึ่งในจำนวนนั้นมี “หยางกุ้ยเฟย” 1 ใน 4 หญิงงามของจีนร่วมอยู่ด้วย

หยางกุ้ยเฟย เกิดที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน เมื่อพ.ศ. 1262 กำพร้าบิดาแต่เด็กจึงไปอาศัยอยู่กับอา ด้วยความงามของเธอ เมื่ออายุประมาณ 16 ปี อาของเธอนำไปถวายเป็นชายาของโส้วอ๋อง (พระราชโอรสองค์ที่ 18 ของจักรพรรดิถังเสวียนจง) ต่อมาจักรพรรดิถังเสวียนจงได้ข่าวว่าว่า ชายาของโส้วอ๋องงดงามจึงมีรับสั่งให้พานางมาเข้าเฝ้า

จักรพรรดิถังเสวียนจงทรงตะลึงในความงามของนาง ถึงกับ “ตรัสขอ” จากพระราชโอรส โดยพระราชทานตำแหน่ง “รัชทายาท” ให้เป็นการแลกเปลี่ยน หากสุดท้ายก็ไม่ได้รีบการสถาปนาจริงๆ ส่วนหยางกุ้ยเฟยนั้น จักรพรรดิถังเสวียนจงให้นางออกบวชเป็นนักพรตอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะสึกมาถวายตัว

จักรพรรดิถังเสวียนทรงเปลี่ยนจาก ฮ่องเต้ที่ดีมาเป็นฮ่องเต้เจ้าสำราญเสียแล้ว

พ.ศ. 1288 จักรพรรดิถังเสวียนจงมีพระชนมายุ 60 พรรษา หยางกุ้ยเฟยอายุมีอายุ 26 ปี ได้รับการสถาปนาเป็น “หยางกุ้ยเฟย” แต่พระราชทานเกียรติและเครื่องประกอบยศเสมอด้วยฮองเฮาทุกประการ

ความรุ่งเรืองของหยางกุ้ยเฟยทำให้ญาติพี่น้องพลอยได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า จนนำไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวกและโกงกิน โดยสองขุนนางกังฉินสำคัญ คือ อันลู่ซาน (บุตรบุญธรรมของหยางกุ้ยเฟย) และหยางกั๋วจง (ลูกพี่ลูกนองของหยางกุ้ยเฟย) ที่ต่างเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เกิดความขัดแย้งกันรุนแรง ทำให้เกิดอันลู่ซ่านซึ่งเป็นผู้ว่าการทหารแห่งเหอตงก่อกบฏ ยกทัพเข้าประชิดกรุงฉางอานเมืองหลวง

จักรพรรดิถังเสวียนจงและพระญาติพระวงศ์เสด็จหนี ไปเมืองเฉิงตู  มณฑลเสฉวน โดยมีกองทหารรักษาอาน พระองค์คุ้มกัน ครั้นถึงหม่าเวยปอ (เนินม้าไว) ในมณฑลส่านซี กองทหารไม่ยอมเดินทางต่อ พร้อมใจกันจับหยางกั๋วจงฆ่าทิ้ง และยื่นคำขาดต่อจักรพรรดิถังเสวียนจงให้ประหารหยางกุ้ยเฟย ในฐานะตัวการที่ให้ราชบัลลังก์ถังล่มสลาย ซึ่งสร้างความลำบากพระทัยแก่จักรพรรดิถังเสวียนจงอยากมาก

สุดท้ายขันทีคนสนิทของจักรพรรดิถังเสวียนจงเข้าไปทูลหว่านล้อม พระองค์จึงตัดสินพระทัยพระราชทานแพรวขาวให้ แก่นางหยางกุ้ยเฟยถูกบังคับให้ผูกคอตายที่ต้นสาลี่ ในอารามแห่งหนึ่งใกล้ที่กองทัพแวะพักแรม จักรพรรดิถังเสวียนจงทรงเศร้าโศกอย่างมาก ในที่สุดก็ทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน ใน พ.ศ. 1299

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. สี่ยอดหญิงามผู้ผลิประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 3 มีนาคม 2544

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กุมภาพันธ์ 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2563