“ตู้ฝู่” กวีจีนสมังถัง พรรณาความฟุ่มเฟือยของชนชั้นปกครอง เทียบความทุกข์ยากของราษฎร

“ตู้ฝู่” (พ.ศ. 1255-1313) ยอดกวีจีนสมัยราชวงศ์ถัง ผู้มีทักษะการประพันธ์เก่งกาจในด้านสะท้อนสังคม มีผลงานที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันมากกว่า 3,000 บท จนได้รับสมญาว่า “ราชาแห่งปวงกวี”

กวีบทหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก แต่งขึ้นในนยามที่จีนกำลังเสื่อมโทรมหนัก ตู้ฝู่กำลังเดินทางจากนครฉางอานไปเยี่ยมลูกเมียที่อำเภอเฟิ่งเซียน ระหว่างทางผ่านภูเขาหลีซาน ซึ่งเป็นที่แปรพระราชฐานของพระเจ้าถังเสวียนจงและพระนางหยางกุ้ยเฟย มเหสีคนโปรด จึงแต่งบทกวีพรรณาความหรูหราฟุ่มเฟือยของชนชั้นปกครอง เทียบกับความทุกข์ยากของราษฎร บางส่วนดังนี้

กลางห้องมีอัปสร แพรพรรณอ่อนคลุมวรรณา

หนังเตียวอุ่นอาคันตุกา เสียงวาทยาเสียงพิณสูทน์

ปรนแขกส้มน้ำแข็ง เลี้ยงแขกแกงสันกีบอูฐ

ทวารแดงพะแนงเหล้าบูด ลู่มีกระดูกตายหนาวอด

ห่างศอกโรจน์โรยต่าง ยากพร่ำอ้างความสลด

มุ่งสมุทรรุดแล่นรด ท่าทางการเปลี่ยนย่านไป

พระเจ้าถังเสวียนจง (ซ้ายสุด)

อ. ถาวร สิขโกศล อธิบายความกวีบทนี้ว่า เป็นภาพสะท้อนความฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูง คือ ญาติพระนางหยางกุ้ยเฟย ในห้องรับแขกของพวกเขามีสาวงามสวมแพรพรรณบางดุจหมอกจนเห็นผิวหนัง แขกในงานสวมเสื้อคลุมที่ทำมาจากขนเตียวหรือมิ้งค์เพื่อคลายหนาว ในงานเลี้ยงมีส้มน้ำแข็งและแกงสันกีบอูฐซึ่งเป็นของหายาก ในบ้านของคนมั่งมี (ประตูแดง) อุมดมสมบูรณ์ด้วยอาหารจนกินทิ้งกินขว้าง ในขณะที่บนท้องถนนเต็มไปด้วยกระดูกคนจนอดอยากที่ตายเพราะความเหน็บหนาวและความหิวโหย

วรรคทองของกวีบทนี้คือ “ทวารแดงพะแนงเหล้าบูด   ลู่มีกระดูกตายหนาวอด” ซึ่งเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แปลวรรคทองสองวรรคนี้ในเชิงสดุดีไว้อย่างไพเราะว่า

“ในกำแพงพะแนงเนื้อเหลือจนเน่า   นอกกำแพงนั้นเล่าเน่าเนื้อศพ

คำกวีตู้ฝู่ไม่รู้ลบ   ไม่รู้จบยังเป็นจริงเสมอมา”

ตู้ฝู่ ยอดกวีจีนสมัยราชวงศ์ถัง

ปัญหาสารพัดในจีนทั้งจากสงครามกลางเมือง ภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค ภัยหนาว ฯลฯ การอดอาหารบ่อย ๆ ไม่มีเสื้อผ้านุ่งห่มกันความหนาว ทำให้อาการเจ็บป่วยของตู้ฝู่ จากโรคปอด ไขข้ออักเสบ และเหน็บชา กำเริบหนัก ที่สุดแขนขวาของเขาเป็นอัมพาต ต้องนอนซมอยู่ในเรือ แต่ก็พยายามแต่งบทกวีสุดท้ายยาว 36 วรรค พรรณาความทุกข์ยากของชาวจีน กระทั่งถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 58 ปี

ติดตามอ่านเรื่องราวของ “ตู้ฝู่” ยอดกวีสมัยราชวงศ์ถัง ในบทความ “สามรัตนกวีเอกของจีน (2) ตู้ฝู่ : อริยกวีและราชาแห่งกวีจีน” เขียนโดย อ. ถาวร สิขโกศล และยง อิงคเวทย์ ได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564