แห่นางแมว วัฒนธรรมที่ไม่ได้มุ่ง “ขอฝน” แต่เพื่อสร้าง “พลังชุมชน”

ชาวสุโขทัย แห่แมวการ์ฟีลด์ขอฝน แทนการใช่แมวจริง (ภาพจากhttps://www.khaosod.co.th)

ปีไหน ฝนแล้ง หรือฝนมาล่าช้า เป็นได้เห็นทีวีเสนอข่าวชาวบ้านที่อยู่เป็นต่างจังหวัด เริ่มขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จึงทำพิธี “แห่นางแมว” ขอฝน ซึ่งก็ได้ฝนตามที่ขอบ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่ได้มีอะไรใหม่ หากอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้มุมมองที่แตกต่างไว้ในบทความขนาดยาวของท่านที่ตีพิมพ์ ในหนังสือ ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯว่าด้วยประเพณี, ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ (สนพ.มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2557) ซึ่งใช้อ้างอิงและคัดย่อให้เป็นบทความสั้นๆ ข้างล่าง

พิธีแห่นางแมวไม่ใช่พิธีที่ทำกันเป็นประจำทุกปีเหมือนสงกรานต์ หรือสารท อันเป็นพิธีกรรมที่มีวาระกำหนดแน่นอน เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปกติของคนทั่วไป พิธีแห่นางแมวเป็นพิธีที่ทำกันเฉพาะเมื่อยามเกิดความไม่ปกติขึ้นในชีวิตชาวนา คือฝนแล้ง พิธีกรรมนี้จึงสะท้อนพฤติกรรมที่ไม่ปกติของชุมชนชาวนาไทยหลายต่อหลายอย่าง อันไม่อาจถือได้ว่า เป็นแบบแผนความสัมพันธ์ตามปกติของสังคมชาวนาไทย

รายงานเกี่ยวกับพิธีแห่นางแมวทั้งหลายจะให้ความรู้ตรงกันว่า พิธีนี้จัดกันขึ้นอย่างง่ายๆ คุณเอนก นาวิกมูลเล่าว่า “ขบวนแห่นางแมวไม่มีอะไรพะรุงพะรังมาก อย่างเก่งก็จับแมวใส่ข้อง ใส่ชะลอม เอาไม้คานสอดเข้าไป แล้วหามแห่ไปเรื่อยๆ แต่เช้ายันเย็น…”

แต่ก่อนหน้าจะเกิดขบวนแห่นางแมวนั้น ชาวบ้านทำอะไร เห็นได้ชัดว่าอย่างน้อยก็ต้องมีการจัดการอยู่เบื้องหลัง การจัดการเช่นนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ล้วนเป็นสิ่งที่น่าศึกษาทั้งสิ้น

ที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ ขบวนแห่นางแมวไม่ได้รวมทุกคนในหมู่บ้านไว้ในขบวนทั้งหมด มีเพียงคนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สู้มากนักเท่านั้น ที่ร่วมอยู่ในขบวน แต่ชาวบ้านทั้งหมดก็ร่วมอยู่ในพิธี เพราะขบวนนี้จะพานางแมวไปทั่วทุกหลังคาเรือนของหมู่บ้าน และคาดหวังกันได้ว่าเจ้าบ้านจะนำเอาน้ำสาดแมวในชะลอม

ในสมัยหนึ่งคงไม่เพียงแต่คาดหวังว่าทุกเรือนต้องรดน้ำเท่านั้น แต่คงเป็นเกณฑ์ที่บังคับกันด้วยความเชื่อ เพราะคำแห่นางแมวจำนวนมากมีคำสาปแช่งผู้ไม่ยอมรดเอาไว้ด้วยเสมอ เช่นตัวอย่างหนึ่งจากของคุณเอนก นาวิกมูลว่า “…ใครไม่รด ข้าวตายฝอย หมอยตายนึ่ง ผัวไปตีผึ้ง ให้ผึ้งต่อยตา…”

เพราะฉะนั้นพิธีแห่นางแมวจึงเป็นพิธีของชุมชนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะของผู้ที่เชื่อถือในเรื่องนี้บางกลุ่ม ซึ่งจัดขบวนแห่ขึ้นเองในชุมชนเท่านั้น ยิ่งไปกว่าการรดน้ำ บางครัวเรือน (หรือทุกครัวเรือนก็ไม่ทราบได้) ยังถูกหวังด้วยว่าจะร่วมสนุกกับขบวนแห่ด้วยการให้เหล้าหรือให้เงิน ในระหว่างเดินแห่นางนั้นก็มีการร้องเพลงแห่นางแมว คุณเอนก นาวิกมูล อธิบายไว้ว่า “ไม่กำหนดว่าใครจะร้องตอนไหนตรงไหน ต่างคนต่างช่วยกันนึก ใครเหนื่อยก็หุบปากเสียหน่อย ใครไม่เหนื่อยก็ร้องกันต่อไป ถึงมืดถึงค่ำก็สนุกสนานไม่ค่อยยอมเลิก”

ก็น่าสนใจว่าพิธีแห่นางแมวซึ่งกระทำในยามวิกฤติของชาวนากลับเป็นพิธีแห่งความสนุกสนาน ไม่ใช่พิธีแห่งความเศร้า, ความกลัว หรือความศักดิ์สิทธ์เคร่งขรึม

บทเพลงแห่น่างแมวก็มีหลายสำนวน หากประด็นหลักที่ร้องตรงกันคือ 1. ภาพแห่งความสมบูรณ์ของไร่นาอันเกิดจากน้ำท่วมและน้ำฝนบริบูรณ์ 2. ความคือคำที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศ และการร่วมประเวณี นอกจากนี้ในขบวนแห่ยังมีการแบกเอา “ขุนเพ็ด” บ้างทาสี มีขนาดใหญ่ ร่วมขบวนไปด้วย

ความอุดมสมบูรณ์กับการร่วมเพศนั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันในความคิดของคนหลายวัฒนธรรม จนเกือบจะเรียกว่าเป็นสากลแล้วกระมัง ในยุโรปมีการขุดพบตุ๊กตาเพศหญิงสมัยหิน มักทำเป็นคนท้อง มีอวัยวะเพศใหญ่ผิดส่วน เชื่อกันว่าตุ๊กตาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีให้เกิดความสมบูรณ์ ศิวลึงค์ที่ตั้งบนฐานโยนีก็เป็นการสร้างสัญลักษณ์ของความงอกงาม พิธีกรรมและคติความเชื่อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็สัมพันธ์ความงอกงามสมบูรณ์กับเรื่องเพศมาแต่โบราณ ดังที่พบได้ในรัฐโบราณ

ความจริงแล้วในการแห่นางแมวจริงๆ นั้น มีบทร้องที่เกี่ยวกับการร่วมเพศและอวัยวะเพศมากกว่าที่ปรากฏในบทร้องซึ่งจดๆ กันไว้มากมาย เมื่อนักวิชาการไปไถ่ถามชาวบ้านมักไม่ร้องให้หมด ร้องได้ไม่เท่าจริง ร้องเป็นคำสุภาพแทน หรือไม่ก็ตัดข้ามไปเสียเลยก็มี เพราะบทร้องแห่นางแมวมักจะเต็มไปด้วยความและคำ “หยาบ” จึงไม่ใช่เพราะชาวบ้านเป็นคน “เร่อร่าหยาบคาย” แค่ความและคำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของพิธีกรรมที่ไม่ใช่เรื่องหยาบคาย แต่ถ้านอกพิธีกรรมแล้ว เขาเองก็กระดากปากที่จะพูดคำเหล่านี้

ในส่วนของพิธีเรียกฝนของหลวงนั้น รักชาลที่ 5 ทรงแยกเป็น 2 ส่วน คือพิธีพราหมณ์ และพิธีหลวงแท้ ในส่วนของพิธีหลวงแท้นั้นแปรความอิงกับพุทธศาสนาหมด จึงดูเรียบร้อยไม่มีอะไรอุดจาด แม้แต่ปลาช่อนซึ่งปรากฏในบทร้องของชาวบ้านก็ถูกตีความให้หมายถึงหัวหน้าปลาพระโพธิสัตว์ในวาริชชาดกอธิษฐานขอฝนมาช่วยฝูงสัตว์ในหนองให้พ้นจากภัยของพวกนกกา

แต่ปลาช่อนในบทร้องของชาวบ้าน เห็นได้ชัดว่าไม่เกี่ยวกับชาดกแต่อย่างไร เช่น “นิมนต์พระมา สวดคาถาปลาช่อน ปั้นเมฆเสียก่อน…” เมฆในพิธีพราหมณ์ของหลวงคือรูปชายหญิงเปลือยกาย ทาปูนขาว ปลาช่อนของชาวบ้านหมายถึงอะไร มีบทร้องไว้ชัดเจนว่า “นิมนต์ขรัวชั่ว สวดคาถาปลาช่อน ขี้เมฆสองก้อน มีละครสามวัน จับชนกัน ฝนเทลงมา ฝนเทลงมา…”

กลับมาสู่เรื่องการแห่นางแมวของเราอีกครั้ง มีข้อที่อยากให้สังเกต 2 ประการ ในการทำพิธี ประการแรกคือ คำหยาบในบทร้องนั้นเป็นภาวะไม่ปกติของชีวิตชาวบ้าน กล่าวคือไม่ใช่วิสัยที่ชาวบ้านจะพูดหยาบคาย…ประการที่สอง ไม่มี “ศาสนา” ในพิธีกรรมนี้ พระไม่มีบทบาท ไม่ต้องทำบุญตักบาตรก่อนแห่นางแมว ไม่ต้องรับศีล ไม่ต้องแม้แต่จะตั้งนะโม

ฝนไม่ตกตามฤดูกาลคือสัญญาณของสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดสำหรับชีวิตชาวนา

เป็นวิกฤตที่นำมาซึ่งความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของชุมชน เพื่อนบ้านที่เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมาอาจกลายเป็นสายให้โจรมาปล้นบ้านหรือมาลักควาย ทรัพย์ที่เคยเจือจานกันได้กลับถูกเก็บงำเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวตนเอง แม้แต่คำสัญญาของไอ้ขวัญที่จะส่งผู้ใหญ่มาสู่ขออีเรียมก็อาจกลายเป็นหมัน เพราะพ่อไอ้ขวัญไม่มีทรัพย์จะจัดการแต่งงานได้เมื่อไม่ได้ทำนา แล้วอีเรียมจะทำอย่างไรดี ในเมื่อท้องก็โตขึ้นทุกวัน ไอ้จุกซ้อมขานนาคไปก็เก้อเปล่า เพราะทางบ้านไม่มีเงิน ให้บวชในปีนั้นได้เสียแล้ว จะหยิบยืมใครก็คงไม่ได้ เพราะเมื่อไม่ทำนา จะมีเจ้าทรัพย์ที่ใดยินดีให้กู้อีกเล่า ไหนจะงานแข่งเรือ ประชันเพลง ซึ่งจะมีมาในเดือนสิบสอง งานแห่หลวงพ่อที่วัดและอื่นๆ ก็คงต้องงดไปหมด

ฝนแล้งจึงไม่ใช่วิกฤตของชีวิตครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตของชุมชนทั้งหมด

แต่สังคมชาวนาแข็งแกร่งเกินกว่าจะล่มสลายลงไปได้ด้วยฝนแล้ง มีกลไกในวัฒนธรรมชาวนาที่จะกอบกู้แลรักษาความเป็นปึกแผ่นของชุมชนไว้ แห่นางแมวก็เป็นกลไกลสำคัญหนึ่ง

ความสนุกสนานของขบวนแห่นางแมวจึงปลุกปลอบใจชาวนาในยามวิกฤต ว่าแม้ข้าวจะสิ้นยุ้งฉางทรัพย์สมบัติของแต่ละคนจะไม่เหลือหลอ แต่ทุกคนยังมีชุมชนของตนอยู่อย่างมั่นคง และชุมชนนี้เองที่จะทำให้ทุกคนอยู่รอดจากภัยพิบัตินั้นได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่น้ำซึ่งเริ่มจะหายากขึ้นยังเอามาสาดทิ้งสาดขว้างได้ สำมะหาอะไรกับสมบัติอื่น แบ่งกันกินแบ่งกันใช้แล้วทุกคนก็จะอยู่รอดได้เอง การให้แก่ชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าการเก็บงำไว้เฉพาะตัว เพราะความปลอดภัยของทุกคนอยู่ที่การคงอยู่ของชุมชน

ในยามปกติ ความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเหล่านี้ไม่บ่อนทำลายความเป็นปึกแผ่นของชุมชนมากนัก เพราะมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่คอยกำกับมิให้ความไม่เสมอภาคเช่นนี้ ให้ผลไปในทางปั่นรอนความเป็นปึกแผ่นของชุมชนชาวนา เช่น การที่ “ผู้ใหญ่” ต้องเป็นที่พึ่งพิงของ “ผู้น้อย” ได้ ตลอดจนเป็นผู้อุปถัมภ์

พิธีแห่นางแมวก็ดูเหมือนจะละเมิดกฎเกณฑ์ทั้งหลายเพื่อบรรลุถึงความเสมอภาคของชุมชนเช่นกัน ผู้หญิงซึ่งถูกคาดหวังในยามปกติ ให้ไม่ประเจิดประเจ้อในเรื่องเพศจนเกินไป มีบทบาทในการร้องเพลงแห่นางแมวเหมือนกันกับผู้ชาย “ขุนเพ็ด” ที่เที่ยวแบกไปกับขบวนนั้น ไม่ได้แบกไปเฉยๆ แต่ร่อนขึ้นทิ่มแทงหยอกล้อกันเองและคนอื่นที่ไม่ได้ร่วมขบวนกันอย่างสนุกสนาน แวะเรือนใดก็เอาขุนเพ็ดนั้นทิ่มฝาบ้าน ไม่ว่าเรือนนั้นจะมีลูกสาวที่ยังไม่แต่งงานอยู่สักกี่คน และไม่ว่าเรือนนั้นจะเป็นของกำนัน “ผู้ใหญ่” คนใดของหมู่บ้าน ไม่มีอะไรไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมจะขวางกั้น ฤทธิ์ของ “ขุนเพ็ด” หัวแดงนั้นได้เลย

ฐานะอันสูงถูกทำลายลงด้วยของต่ำอันถือว่าลามกนั้นเอง แล้วจะเหลืออะไรอีก นอกจากความเท่าเทียมกัน

การแห่นางแมวนำเอาความรู้สึกเป็นปึกแผ่นกลับมาสู่ชุมชน ชาวนาใหม่อีกครั้งหนึ่ง และดังที่กล่าวแล้วว่าการอยู่รอดปลอดภัยของชาวนานั้นขึ้นอยู่กับความเป็นปึกแผ่นของชุมชนมากกว่าอื่นใดทั้งสิ้น การแห่นางแมวจึงเป็นเรื่องของการฟื้นฟูและรักษาไว้ซึ่งพลังอันแข็งแกร่งที่สุดของชุมชนชาวนา ในอันที่จะเผชิญภัยธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาที่ถามกันเสมอว่า แห่นางแมวแล้วจะทำให้ฝนตกจริงหรือไม่ จึงเป็นปัญหานอกประเด็น ฝนจะตกหรือไม่ก็ไม่สู้สำคัญนัก หากฝนตกทุกคนก็แยกย้ายกันไปทำนาตามที่ได้เคยทำกันมาด้วย หากฝนไม่ตกวัฒนธรรมชาวนาส่วนที่เป็นพลังอันแข็งแกร่งของวิถีชีวิตเช่นนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น พิธีแห่นางแมวทำให้พลังชุมชนดำรงอยู่อย่างมั่นคง ความสำนึกในความเป็นปึกแผ่นอันเดียวกันของชุมชน เช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้ชาวนาในชุมชนนั้นสามารถรอดชีวิตได้ ตลอดรอดฝั่งในปีที่ไม่ได้ทำนา เพื่อรอเวลาปกติของความชุ่มน้ำจาก น้ำฝนจะมาเยือนในปีต่อไป

ดูเผินๆ เหมือนเขาแห่นางแมวเพื่อขอฝน แต่ดูให้ลึกๆ เขาแห่นางแมวเพื่อรักษาความเป็นปึกแผ่นของชุมชนของเขาต่างหาก

ในวิถีชีวิตของราชสำนัก ความเป็นปึกแผ่นของชุมชนไม่สัมพันธ์กับวิถีการผลิตและการดำรงชีวิต นัยสำคัญของพิธีขอฝนคือการฟื้นฟูและรักษาความเป็นปึกแผ่นของชุมชน จึงยากที่จะเข้าใจได้แก่ราชสำนัก พิธีขอฝนของหลวงซึ่งครั้งหนึ่งก็ทำอย่างเดียวกับที่ชาวนาทำจึงค่อยๆ กลายเป็นพิธีที่ทำขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับความเป็นปึกแผ่นของชุมชน ในที่สุดก็กลายเป็นเรื่องขลังสำหรับขอฝนจริงๆ ยิ่งประยุกต์เอาพุทธศาสนาเข้ามาในพิธีมากขึ้นเพียงไร ก็ยิ่งมีลักษณะเป็นพิธีกรรมไสยศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น ดังเช่นการตั้งพระคันธารราษฎร์ พระอุปคุต อันมีประวัติเกี่ยวกับน้ำฝนหรือแม้แต่พระประจำรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระราชสมภพในวันที่ฝนตกหนัก ในปีที่ฝนแล้ง ปั้นรูปพระสุภูติ สร้างปะรำไม่มีหลังคาไว้ประกอบพิธี ฯลฯ

ถ้าถือมาตรฐานวิทยาศาสตร์ของยุคใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นความงมงาย แต่ชนชั้นสูงเป็นพวกแรกที่รับทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์เข้ามา ฉะนั้นจึงกลับอธิบายความงมงายของพระราชพิธีหลวงให้กลายเป็นเรื่องการปลอบใจราษฎรซึ่งยังงมงายอยู่ และเหยียดพิธีแห่นางแมวของราษฎรเป็นความงมงายที่แท้จริงไป เพราะไปเข้าใจว่าราษฎรแห่นางแมวด้วยจุดประสงค์จะขอฝนแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนจุดประสงค์ของพระราชพิธีหลวง

แต่แท้ที่จริงแล้ว พิธีแห่นางแมวของประชาชนเป็นกลไกทางวัฒนธรรมที่มุ่งประโยชน์แก่วิถีการผลิตของชาวนา มากกว่าการขอฝนด้วยพิธีกรรม

เมื่อรัฐและตลาดบุกทะลวงเข้าสู่ชุมชนชาวนามากขึ้นนับตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วเป็นต้นมา ชาวนารอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยทางสังคมแบบเก่าได้สะดวกขึ้น รัฐเข้ามาช่วยเหลือในสิ่งที่ครั้งหนึ่งอาจเป็นปัญหาแก่การผลิตเพื่อยังชีพอย่างมาก เช่น การแจกข้าวปลา หลังน้ำท่วมก็ช่วยแก้ปัญหาไปได้มาก เศรษฐกิจตลาดเปิดโอกาสให้ชาวนาสามารถขายแรงงานในคราวจำเป็นได้สะดวกขึ้นกว่าที่จะต้องขายลูกเมียเป็นทาส

แต่ในขณะเดียวกัน ภัยพิบัติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างใหม่ ก็กระพือโหมเข้าสู่ชาวนา

ยิ่งชาวนาที่ถูกดึงดูดเข้าสู่การผลิตพืชเศรษฐกิจ ก็ยิ่งเท่ากับละขาดไปจากวัฒนธรรมชาวนาของชุมชน ตัดตัวเองออกจากชุมชน กลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ต้องเผชิญกับภาวะผันผวนของตลาดแต่เพียงผู้เดียว เผชิญกับดอกเบี้ยธนาคารและการยึดที่ดินของธนาคารอย่างโดดเดี่ยว

การเข้าสู่ตลาดทุนนิยมของชาวนาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในจังหวะที่ชาวนาไม่ได้เป็นผู้กำหนดเอง แต่เขาถูกสลายพลังเสียก่อนจะถูกฉุดกระชากเข้าสู่ตลาด โอกาสของการค่อยๆ พัฒนาวัฒนธรรมของเขาเพื่อเผชิญกับวิกฤตใหม่ๆ ของเศรษฐกิจทุนนิยมจึงไม่มี และต่างก็เข้าสู่ตลาดในฐานะปัจเจกบุคคลที่อ่อนแอไร้ความรู้และไร้พลานามัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งก็คือวัฒนธรรมชาวนา

พิธีแห่นางแมวมีทำกันน้อยลง ไม่ใช่เพราะเขาสามารถหาน้ำชลประทานแทนน้ำฝนได้ ไม่ใช่เพราะเขาได้รับการศึกษาจนสิ้นความงมงาย แต่เพราะวิถีการผลิตที่จรรโลงพิธีกรรมเพื่อเผชิญวิกฤตแบบเก่าได้สลายไปแล้ว ความสูญสลายทางวัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่มีวัฒนธรรมใหม่ที่ให้พลังแก่ชาวนาเกิดขึ้นทดแทน การศึกษาภาคบังคับนำเอาวัฒนธรรมกระฎุมพีไปเผยแพร่ในท้องนา และสลายชาวนาจากชุมชนให้กลายเป็นปัจเจกบุคคลยิ่งขึ้นเหมือนกระฎุมพีในเมือง

ในวิกฤตอันใหม่นี้ ชาวนาจะเอาตัวรอดได้อย่างไร?

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ให้คำตอบหนึ่งไว้ว่า จำเป็นที่ชาวนาต้องหันกลับไปสู่การเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน (การเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ) อย่างที่เคยทำมาแต่บรรพบุรุษ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ฟื้นฟูพลังทางวัฒนธรรมของชาวนาขึ้นใหม่ และด้วยพลังนี้ก็จะเป็นทางให้ได้พัฒนาพลังใหม่ๆ ทางวัฒนธรรมที่จะสามารถเผชิญกับเศรษฐกิจตลาดได้อย่างเข้มแข็ง ถึงตอนนั้นแล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่อย่างช้าๆ อย่างมั่นคง อย่างรอบคอบ และอย่างมีศักดิ์ศรี

 


ข้อมูลจาก

นิธิ เอียวศรีวงศ์. “แห่นางแมว กับ ‘วิกฤต’ ในวัฒนธรรมชาวนา, ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น , กางเกงใน และ ฯลฯ , สนพ.มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2557


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2562