ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ห่าฝน” ที่เราได้ยินกันจนคุ้นชิน โดยเฉพาะในช่วงฝนตกหนัก “ห่าหนึ่ง” หมายถึงปริมาณเท่าไหร่?
ฝนกับคนไทยมีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพในทางกสิกรรมซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แม้แต่ในปัจจุบัน ถ้าปีใดฝนแล้ง การทำไร่ไถนาก็มักจะไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้ชาวไร่ชาวนาจึงมักจะถามถึงนาคให้น้ำตามปฏิทินเสมอว่า ปีนี้นาคให้น้ำกี่ตัว ฝนตกทั้งหมดกี่ห่า ข้าวกล้าในนาจะดีหรือจะเสีย
นอกจากจะเกี่ยวกับการกสิกรรมของคนไทยดังกล่าวแล้ว ในประวัติศาสตร์ ฝนก็ยังมีบทบาทสำคัญ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งบางครั้งก็เป็นเหตุการณ์ดี แต่บางครั้งก็เป็นเหตุการณ์ร้าย
ในรัชกาล 4 มีเรื่องเกี่ยวกับฝนที่น่าสนใจ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ได้ถวาย “เครื่องรองน้ำฝน” แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเครื่องหนึ่ง ซึ่งจากประกาศว่าด้วยเครื่องรองน้ำฝนอย่างยุโรป มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“—เครื่องมือนี้ดีมาก แต่ว่าคนที่รองน้ำฝนแต่ก่อน สันดานไพร่หยาบคายเลวนัก รู้จักแต่จะหุงข้าวตำแกงตำน้ำพริก กินข้าวแล้วเกียจคร้านที่จะล้างมือแลหาผ้าเช็ดมือ เอามือเช็ดหัวตัวเอง ไม่รู้จักดูแลของใช้ดี ๆ เลย ไกลนักหนาแต่ความรู้ละเอียด เพราะฉะนั้นก่อนนี้ไป ด้วยเครื่องมือนั้น หาได้ความเป็นแน่ไม่…”
อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นถึงกับทรงจดทำเป็นบัญชีน้ำฝนไว้โดยเฉพาะ โดยทรงเริ่มจดทำเป็นบัญชีรายวันตั้งแต่ พ.ศ. 2389 ในรัชกาลที่ 3 จนถึง พ.ศ. 2433 ในรัชกาลที่ 5 รวมเป็นเวลา 45 ปี นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงอธิบายคำว่า “ห่าฝน” ไว้ด้วย มีข้อความบางตอน ดังนี้
“…ก็คำที่เขาพูดกันว่าฝนตกได้ ห่าหนึ่งนั้น คือเขาเอาบาตร์หรือหอยโข่งมาตั้งไว้กลางแจ้ง ถ้าได้น้ำเต็มอันนั้นแล้ว เขาเรียกว่าได้ห่าหนึ่ง…ก็บาตร์ตะกั่วที่สำหรับรองน้ำในพระบรมมหาราชวังครั้งเก่านั้น ปากกว้างแทงตลอด 10 นิ้วกึ่ง สูง 9 นิ้ว กะพุ้งโดยรอบ 1 คืบ 10 นิ้ว จุน้ำ 12 ทะนาน ๆ ละ 4 ถ้วยใหญ่ ๆ 2 ถ้วยกลาง ๆ 2 ถ้วย ยอด ๆ คิดเป็นน้ำนิ้วกึ่ง (10 เซ็นต์ครึ่ง) ถ้วยกลางคิดเป็นน้ำ 3 นิ้ว (21 เซ็นต์) ถ้วยใหญ่คิดเป็นน้ำ 6 นิ้ว (42 เซ็นต์) ทะนานหนึ่งเป็นน้ำ 24 นิ้ว (168 เซ็นต์) บาตร์หนึ่ง…”
อ่านเพิ่มเติม :
- “คเณศจตุรถี” เทศกาลเฉลิมฉลองพระคเณศ ขอฝน หรือ วันเกิด?
- ความเสื่อมของคลองรังสิต ที่ “เอาไม่อยู่” ไม่ว่าฝนแล้ง หรือน้ำหลาก
- “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” คารมจอมพล ป. ที่ครูไพบูลย์ใช้แต่งเพลง “น้ำท่วม” จนดังระเบิด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“ฝนประวัติศาสตร์ของเมืองเรา”. จากหนังสือ กรุงเทพฯ ในอดีต. โดย เทพชู ทับทอง. อักษรบัณฑิต. 2518
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2561