“น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” คารมจอมพล ป. ที่ครูไพบูลย์ใช้แต่งเพลง “น้ำท่วม” จนดังระเบิด

น้ำท่วม ปี 2485 บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
น้ำท่วมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ่ายจากด้านถนนราชดำเนินหน้าอาคารสี่แยกคอกวัว เมื่อ 12 ตุลาคม 2485 (ภาพจากหนังสือ บทประพันธ์นิราศน้ำท่วม กับลิลิตพระบรมอัฐิ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและอื่นๆ)

ทุกครั้งที่เกิด “น้ำท่วม” ขึ้นในประเทศไทย เพลงดังที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ “ต้อง” ใช้เป็นเพลงประกอบเสมอก็คือ “เพลงน้ำท่วม” ที่ร้องว่า “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” ซึ่งเป็นเพลงที่ ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง

เนื้อเพลงตอนต้นที่ร้องว่า “น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง” นั้น ครูไพบูลย์ บุตรขัน (4 กันยายน 2461 – 29 สิงหาคม 2515) นำมาจากเหตุการณ์จริงเมื่อน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2485 จนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าสามารถใช้เป็นที่แข่งเรือได้

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจึงพูดแก้เกี้ยวว่า “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง”

ครูไพบูลย์ บุตรขัน ผู้แต่ง เพลงค่าน้ำนม
ครูไพบูลย์ บุตรขัน และคนในครอบครัว (ภาพจาก ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน)

น้ำท่วมปี 2485 สร้างความเดือดร้อนไปทั่วพระนคร พระยาอรรถศาสตร์โสภณ (สว่าง จุลวิธูร) บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเขียนกลอนสุภาพ ชื่อ “นิราศน้ำท่วม” ดังความความตอนหนึ่งว่า

สนามหลวง เหมือนทะเล สาบน้อยๆ   

ถาวรวัตถุ เหมือนลอย อยู่กลางหาว

มีละลอก คลื่นซัด สะบัดวาว   

มองดูขาว เป็นน้ำหมด จดสะพาน

เชิงสะพาน ผ่านฟ้า ทั้งสองข้าง   

น้ำสล้าง ท่วมสิ้น ทุกถิ่นฐาน

เรือใหญ่น้อย พายแจว แถวอาคาร   

คล้ายกับบ้าน ริมคลอง มองไม่วาง

……………..

ราชดำเนิน นอกลางใน ใช่หนองคลอง

แต่ก็นอง ไปด้วยน้ำ เกิดทำเข็ญ

พระบรม รูปทรงม้า ถ้าจะเย็น

เพราะดูเด่น อยู่ในน้ำ หน้าอนันต์

น้ำท่วม กรุงเทพ ลานพระบรมรูปทรงม้า ปี 2485
น้ำท่วมปี 2485 บริเวณ ลานพระบรมรูปทรงม้า จนประชาชนนำเรือมาใช้แทน (ภาพจาก หนังสือบทประพันธ์นิราศน้ำท่วม กับลิลิตพระบรมอัฐิ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและอื่นๆ)

ส่วนพื้นที่น้ำท่วมได้แก่ พื้นที่ริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง, เชิงสะพานพุทธ, กระทรวงสาธารณสุข (เดิมที่อยู่เทเวศร์), บ้านหม้อ, เจริญกรุง, เฉลิมกรุง, โรงพยาบาลกลาง, ถนนวรจักร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สนามหลวง, กระทรวงมหาดไทย, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, นางเลิ้ง, ถนนราชดำเนิน, อุณากรรณ, ถนนเพชรบุรี ฯลฯ

เมื่อพิจารณาพื้นที่น้ำท่วมก็จะเห็นว่ากินบริเวณกว้าง ระยะเวลาที่น้ำท่วมประมาณ 35 วัน (ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึงวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2485) ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างอาหารการกิน ดังที่มีการบันทึกในนิราศตอนหนึ่งว่า ของสดสด ปลาผัก ชักแพงมาก ทั้งก็ยาก ที่จะใฝ่ ไปซื้อหา”

จอมพล ป. จึงสั่งให้ทางการชักชวนประชาชน “เพาะถั่วงอก” โดยเริ่มจากเพื่อรับประทานในครอบครัว เพราะถั่วงอกไม่ต้องอาศัยพื้นดินซึ่งนับว่าเหมาะกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างยิ่ง

“น้ำท่วม ดีกว่าฝนแล้ง” ที่จอมพล ป. กล่าวนั้น คงต้องการให้กำลังใจประชาชน เจ้าหน้าที่ รวมทั้งตนเอง

กลับมาที่เพลง “น้ำท่วม” ของครูไพบูลย์ นอกจากคำพูดของจอมพล ป. แล้ว ครูไพบูลย์ยังรวมเอาประสบการณ์จริงของศรคีรี ศรีประจวบ ผู้ขับร้องเพลงดังกล่าวมาผนวกเข้าไปในเนื้อเพลงอีกด้วย

ศรคีรี ศรีประจวบ ชื่อจริงว่า “สงอม ทองประสงค์” ชื่อเล่นว่า “น้อย” ส่วนชื่อ “ศรคีรี ศรีประจวบ” นั้นนายประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะนั้นเป็นผู้ตั้งให้ ศรคีรีพื้นเพครอบครัวเป็นคนอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ภายหลังเขาได้ย้ายมาอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำไร่สับปะรด ก่อนเข้าวงการเมื่อประมาณปี 2511-2512 อายุประมาณ 31-32 ปี เมื่อศรคีรีฝากตัวเป็นศิษย์ครูไพบูลย์ ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมไร่สับปะรดที่ประจวบเสียหายให้ครูไพบูลย์ฟัง

ครูเพลงอัจฉริยะก็แต่งเป็นเพลง “น้ำท่วม” ที่ขึ้นต้นด้วยคำพูดของผู้นำประเทศ และเรื่องราวประสบการณ์ของผู้ร้องไว้ในเพลงเดียวกัน จนทำให้ชื่อของศรคีรีเป็นที่รู้จักของแฟนเพลง และเพลงก็ดังระเบิดจนถึงทุกวันนี้

เพลงน้ำท่วม

น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง

พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า

น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบน้ำตา          

พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลคลอสายชล

น้ำท่วม ใต้ฝุ่นกระหน่ำซ้ำสอง              

เสียงพายุก้อง เหมือนเสียงของมัจจุราชบ่น

น้ำท่วมที่ไหน ก็ต้องเสียใจด้วยกันทุกคน         

เพราะต้องพบกับความยากจน เหมือนคนหมดเนื้อสิ้นตัว

บ้านพี่ ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน              

ที่ประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกันไปทุกครอบครัว

ผืนนาก็ล่ม ไร่แตงก็จมเสียหายไปทั่ว              

พี่จึงเหมือนคนหมดตัว หมดตัวแล้วนะแก้วตา

น้ำท่วม พี่ต้องผิดหวังชอกช้ำ                

พี่คิดเช้าค่ำ ปล่อยให้น้ำท่วมตายดีกว่า

น้องอยู่บ้านดอน ช่างไม่อาทรถึงพี่สักครา        

ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

พระยาอรรถศาสตร์ไพศาลโสภณ (สว่าง จุลวิธูร). บทประพันธ์นิราศน้ำท่วม กับลิลิตพระบรมอัฐิ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและอื่นๆ , พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตรย์เอก พระยาอรรถศาสตร์ไพศาลโสภณ (สว่าง จุลวิธูร) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 12 กรกฎาคม 2501, โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ

วัฒน์ วรรลยางกูร.คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, พิมพ์ครั้งที่ 4, สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม มิถุนายน 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2562