“กลิ่นโคลนสาบควาย” เพลงดังขายดีที่สุดแห่งยุค โดนใครสั่ง “แบน” ?

ควาย
ควาย (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

“อย่าดูถูกชาวชาวเห็นว่าอับเฉา มือถือเคียวชันเข่า เกี่ยวข้าวเราผ่านมา ชีวิตคนนั้นมีราคา ต่างกันแต่ชีวิตชาวนา บูชากลิ่นโคลนสาบควาย” เนื้อเพลงข้างต้น เป็นตอนจบและท่อนฮุกของเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” เพลงดังที่สุดในยุคนั้น และวงการแผ่นเสียงยุคบุกเบิก ที่มียอดขายสูงถึง 5,000 แผ่น ในหนึ่งสัปดาห์ จนกระทั่งบริษัทดีดูเปอร์ยอนสตัน ประเทศเยอรมนี ต้องเข้ามาตั้งบริษัทอยู่ที่สี่แยกคอกวัว พร้อมกับเครื่องปั้มแผ่นเสียงนำเข้ามาใช้ จึงสามารถผลิตแผ่นได้ทันกับความต้องการของตลาด

วัฒน์ วรรลยางกูร รวบรวมชีวประวัติและผลงานของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน (พ.ศ. 2461-2515) ไว้ในหนังสือ “คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน” ซึ่งในที่นี้ขอสรุปเนื้อหาเฉพาะที่เกี่ยวกับเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” มานำเสนอ

ไพบูลย์ บุตรขัน และคนในครอบครัว (ภาพจาก ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน)

ครูไพบูลย์แต่งเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” เมื่อ พ.ศ. 2496 ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรยากาศบ้านเมือง เกิดกบฏทางการเมืองถึง 4 ครั้ง คือ กบฏเสนาธิการ (พ.ศ. 2491), กบฏวังหลวง (พ.ศ. 2492), กบฏแมนฮัตตัน (พ.ศ. 2494), กบฏสันติภาพ (พ.ศ. 2495) และกบฏน้ำท่วม (พ.ศ. 2496)

ตั้งแต่ พ.ศ. 2496-2500 ผลงานของครูเพลงหลายๆ ท่านที่สร้างขึ้นในยุคสมัยแห่งภราดรภาพ ปฏิเสธการกดขี่เหยียดหยามทางชนชั้น มีเนื้อหาวิจารณ์สังคม ในส่วนของครูไพบูลย์เองผลงานที่ออกมา ได้แก่ กลิ่นโคลนสาบควาย, ลาวัณย์บ้านนา, น้องนาบ้านนา, ยอมดับคาดิน, ตาสีกำสรวล ฯลฯ

ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าว ครูไพบูลย์จึงแต่งเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ว่า

“อย่าดูหมิ่น ชาวนาเหมือนดั่งตาสี เอาผืนนาเป็นที่พำนักพักพิงร่างกาย ชีวิตเอย ไม่เคยสบาย ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย ไล่ควายไถนาป่าดอน

เหงื่อรินหยด หลั่งลงรดแผ่นดินไทย จนผิวดำเกรียมไหม้ แดดเผามิได้อุทธรณ์  เพิงพักกายมีควายเคียงนอน สาบควายกลิ่นโคลน เคล้าโชยอ่อน ยามนอน หลับแล้วใฝ่ฝัน

กลิ่นโคลนสาบควายเคล้ากายหนุ่มสาว แห่งชาวบ้านนา ไม่ลอยเลิศฟ้าเหมือนชาวสวรรค์ หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน กลิ่นกระแจะจันทร์  หอมเอยผิวพรรณนั้นต่างชาวนา

อย่าดูถูก ชาวนาเห็นว่าอับเฉา มือถือเคียวชันเข่า เกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา ชีวิตคนนั้นมีราคา ต่างกันแต่ชีวิตชาวนา บูชากลิ่นโคลนสาบควาย (ซ้ำ)”

ครูไพบูลย์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงแรงบัดาลใจในการแต่งเพลงๆ นี้ว่า

“…เราไปพูดถึงผู้หญิงว่าสวย เขียนเป็นเพลงขึ้นมา ไปชมดอกไม้งามอะไรต่ออะไร เราลืมคนประเภทหนึ่งซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เรามองข้ามเขาไป นี่คือความรู้สึกที่อยากจะเขียนเพลงนี้

ผมใส่ความรู้สึกว่า ผมเป็นชาวนาคนหนึ่ง เมื่อสังคมทั่วไปยอมรับว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ควรจะเหลียวแลกันบ้าง ความรู้สึกนี้ทำให้อยากเป็นตัวแทนชาวนา และเราก็เห็นจริงว่า ชาวนามีความสำคัญจริงๆ อันนี้ผมเก็บมาจากคำพูดของผู้นำของชาติขณะนั้น คือ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ท่านได้กล่าวออกมาว่า ชาวนามีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก ในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ควรจะทำนุบำรุง”

เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ที่เป็นอมตะด้วยเนื้อหา และสะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งอาชีพชาวนาของไทยแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กวีหนุ่มรุ่นน้องอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ นําทำนองไปใส่เนื้อใหม่เป็นเพลง “กลิ่นรวงทอง” ที่ขึ้นต้นว่า

“ท่ามกลางแดด แผดเปลวร้อนผ่าวดังไฟ กลางผืนดินนาไร่ ใต้ฟ้ากว้างไกลสุดตา ใครหนอทนกรำงานกลางนา ไล่ควายดุ่มกุมไถฟันฝ่า คราดนา ล้าเมื่อยระบม…”

แล้วเหตุใดเพลงอมตะนี้ จึงถูก “แบน” เป็นเรื่องราวที่ชวนสับสน

ชาญ เพ็ญแข ผู้ขับร้องเพลง กล่าวว่า “เพลงถูกห้ามเพราะตาสีเป็นชื่อบุพการีของจอมพล ป.” (เอนก นาวิกมูล บันทุกเรื่องนี้ไว้ในในบทความเบื้องหลังกลิ่นโคลนสาบควาย ถูกห้ามออกอากาศ, สยามรัฐรายวัน 29 สิงหาคม 2529) คำของชาญ เย็นแข กล่าว “เป็นจริงจัง” หรือกล่าว “ทีเล่นทีจริง” ถูกนำมาขายความเพื่อล้อเลียนจอมพล ป.

หากครูไพบูลย์ กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในอีกแนวทางหนึ่ง โดยเมื่อครั้งที่ครูไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ออกอากาศกับ กุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในรายการเพื่อนรัตติกาล สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เมื่อประมาณ พ.ศ. 2512

“อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด ผมทราบมาโดยข้อเท็จจริง…ขอเรียนให้ทราบเสียเลย คือทางกรมโฆษณาการก็มีเพลงของกรมเปิดใช้อยู่เยอะแยะ เพราะทางกรมมีวงดนตรีประจําอยู่ มีคนขอเพลงนี้ไป ทางกรมก็นําไปเปิด ทีนี้เจ้าหน้าที่ว่าเพลงของเราก็มี ก็ไม่ควรจะเปิด เลยเข้าใจผิดกันว่าห้าม ไม่ได้ห้าม เพราะสถานีอื่นก็ยังเปิดกันทั่วไป ความจริงผู้ใหญ่ก็ชอบครับ”

คําว่า “ผู้ใหญ่ก็ชอบ” หมายถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในช่วงที่เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” โด่งดังทั้งเนื้อหาของเพลงก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลจอมพล ป. ที่พยายามแสดงตนว่า ส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ โฆษณายกย่องอาชีพชาวนาว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ”

เช่นนี้จึงไม่น่าสงสัยว่า จอมพล ป. สั่ง “แบน” จริงหรือ?

วัฒน์ วรรลยางกูร ได้รวบหลักฐานอื่นๆ เช่น คำบอกเล่าของ ประสาน ศิลป์จารุ ที่บุญเลิศ ช้างใหญ่ บันทึกไว้ในหนังสือ ไทยลูกทุ่ง และข้อเขียนของรังสี ประภากร (นามแฝง) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ ส.ป.ท. (สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย) ในหนังสือสายลมเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนแปลง บันทึกประวัติศาสตร์เพลงปฏิวัติ ให้ความเห็นเหมือนกันว่า

“เพลงกลิ่นโคลนสาบควายถูกห้ามเปิด เพราะสถานีวิทยุ ส.ป.ท. นำไปใช้เป็นเพลงเป็นเพลงประจำในสถานี”

สถานีวิทยุ ส.ป.ท. เป็นสถานีวิทยุ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2505 ที่กรุงฮานอย เวียดนาม (ภายหลังย้ายไปตั้งที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนาน ประเทศจีน ในปีเดียวกัน) กระจายเสียงด้วยคลื่นสั้นใต้ดิน

โดยสถานีวิทยุ ส.ป.ท. ใช้เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” เป็นเพลงปิดสถานีอยู่ระยะหนึ่ง (ขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี) เมื่อย้ายไปตั้งที่เมืองคุนหมิงได้ประมาณ 5 ปี วงซิมโฟนีของกองทัพปลดแอกจีน ช่วยบรรเลงเพลงวีรชนปฏิวัติ และภูพานปฏิวัติของจิตร ภูมิศักดิ์ แทน

จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ถูกสั่งห้ามเปิดด้วยประการฉะนี้ ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วัฒน์ วรรลยางกูร. คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม, มิถุนายน 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563