“คเณศจตุรถี” เทศกาลเฉลิมฉลองพระคเณศ ขอฝน หรือ วันเกิด?

พระคเณศ คเณศจตุรถี
รูปปั้นพระคเณศ หรือ Ganapathi (ภาพโดย Katyare จาก Wikimedia Commons สิทธิ์การใช้งาน CC0 1.0 / Public Domain)

คเณศจตุรถี เทศกาลเฉลิมฉลองของชาวฮินดูที่นับถือองค์ พระคเณศ หรือ พระพิฆเนศ เทพพระเศียรช้างที่คนไทยคุ้นเคยดี เทศกาลดังกล่าวจะมีในช่วงเดือน “ภัทรบท” หรือประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน มีลักษณะของพิธี “สมโภช” เพราะมีอีกชื่อหนึ่งว่า คเณศมโหตสวะ โดย “มโหตสวะ” เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “การสมโภช”

ประเพณีดังกล่าวมีมาแต่สมัยโบราณแล้ว พบได้ทั่วไปในภูมิภาคตะวันตกและทางใต้ของอินเดีย เชื่อว่าเดิมเป็นพิธีเล็ก ๆ ในท้องถิ่น ก่อนกลายเป็นเทศกาลระดับเมืองและรัฐในช่วงที่อินเดียเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

Advertisement

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิเคราะห์ถึงที่มาของเทศกาลนี้ว่า “เป็นการบูชา ‘ก่อนการเพาะปลูก’ เพราะเดือนภัทรบทเป็นต้นฤดูฝนในเขตมรสุม พูดง่าย ๆ คือบูชาพระคเณศเพื่อ ‘ขอฝน’…

“ในคัมภีร์ฮินดู เทพเจ้าหลักทั้งห้าองค์ (วิษณุ ศิวะ เทวี สูริยะ คเณศ-ปัญจายนตเทวดา) พระคเณศนั้นครอง ‘ธาตุน้ำ’ (คณปติมฺชีวนมฺ ชีวะ หรือชีวิต หมายถึง น้ำ) อีกทั้งน่าจะบูชาเพื่อไม่ให้มี ‘อุปสรรค’ ต่อการเพาะปลูก เช่น ‘หนู’ ที่เป็นศัตรูพืช พระองค์จึงนั่งหนู หรือมีหนูเป็นบริวารรอบกายอยู่ไม่ห่าง

“…พระองค์สัมพันธ์กับ ‘ดวงอาทิตย์’ หรือ ‘แสงสว่าง’ (บางทีวาดพระวรกายขาวพระเศียรแดง ซึ่งหมายถึงดวงอาทิตย์ หรือมีพระวรกายแดง-ส้ม) ดวงอาทิตย์นั้นสำคัญต่อการเกษตรแน่ อีกทั้งพระอาทิตย์คือผู้กลั่นน้ำ (เปล่งแสง) จากแผ่นดินผืนน้ำให้ระเหยไปรวมกันเป็นเมฆฝน”

ภาพเขียนสีพระคเณศ กายสีแดง-ส้ม และทรงหนู, ปี 1816 (ภาพจาก British Museum)

ความเกี่ยวโยงระหว่าง พระคเณศ กับการขอฝนเพื่อเริ่มฤดูเพาะปลูก ยังพบได้ในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการจัดงาน คเณศจตุรถี อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง 

หลังจบเทศกาลของพระคเณศแล้ว ชาวฮินดูที่นั่นจะเริ่มเทศกาลบูชาเเทวีแห่งธัญญาหารและพืชพันธุ์ คือ พระแม่เคารี ต่อทันที แฝงแนวคิดว่า เมื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาลพร้อมเพาะปลูกแล้ว ลำดับต่อไปคือการบูชาเทวีแห่งพืชพรรณธัญญาหารเพื่อความเจริญงอกงามนั่นเอง

ส่วนรัฐทมิฬนาฑูมีเทศกาลคล้าย ๆ กันชื่อว่า ปิลไลยาร์จตุรถี แต่จัดในเดือน “อาวณิ” ซึ่งเหลื่อมกับเดือนภัทรบทประมาณ 15 วัน คำว่า “ปิลไลยาร์” แปลว่า ลูกช้าง (หมายถึง “ลูก” ของช้างจริง ๆ) ทั้งเป็นนามของพระคเณศในภาษาทมิฬด้วย

คเณศจตุรถี กับคเณศชยันตี?

เทศกาลคเณศจตุรถีถูกจำสับสนกับอีกเทศกาลหนึ่ง ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองแด่องค์พระคเณศเช่นกัน นั่นคือ “คเณศชยันตี” 

คเณศชยันตี มีช่วงต้นปี โดยชาวฮินดูที่รัฐมหาราษฏระถือเป็นงานฉลอง “วันเกิด” ของพระคเณศ ตามคัมภีร์มุทคลปุราณะ ที่ระบุวันประสูติของพระคเณศไว้ว่า ตรงกับ “ศุทธ มาฆจตุรถี” คือวันขึ้น 4 ค่ำ ในเดือน “มาฆะ” ตามปฏิทินฮินดู หรือราวกลางเดือนมกราคมถึงกลางกุมภาพันธ์ ในช่วงนี้ของปีจึงมีเทศกาลคเณศชยันตี โดยคำว่า “ชยันตี” แปลว่า “ฉลองชัย” หรืองานเฉลิมฉลองวันเกิดนั่นเอง 

อันที่จริง ชาวฮินดูและผู้นับถือพระคเณศจำนวนไม่น้อยถือว่าเทศกาล คเณศจตุรถี เป็นงานฉลองวันประสูติของพระคเณศด้วยเช่นกัน นำไปสู่คำถามว่า แท้จริงแล้วเทศกาลดังกล่าวเป็นทั้งการ “ขอฝน” และการฉลองวันประสูติหรือไม่ ถ้าหากเป็นเช่นนั้น เหตุใดจึงมีวัน คเณศชยันตี ในเดือนมาฆะ หรือเทพองค์นี้เกิด 2 วัน?

ประเด็นนี้ ศรีเวทชนนีทาส ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตและเจ้าของเพจ “ไวทิกทรฺศน – वैदिकदर्शन” ได้ยกหลักฐานมายืนยันว่า คเณศจตุรถี ถือเป็น “วันเกิด” พระคเณศด้วยเช่นกัน 

เพราะในคัมภีร์ศิวมหาปุราณะระบุว่าพระคเณศเกิดในวันแรม 4 ค่ำ เดือนภัทรบท ต่างกับช่วงเทศกาลที่ฉลองกันทั่วไป 15 วัน หรือคนละ “ปักษ์” แต่ใกล้เคียงกว่าเดือนมาฆะมาก ส่วนคัมภีร์สกันทะปุราณะและคเณศปุราณะ ระบุว่าพระคเณศเกิดในวันขึ้น 4 ค่ำ ของเดือนภัทรบท ซึ่งตรงกับ คเณศจตุรถี พอดี

สรุปคือ คัมภีร์มุทคลปุราณะเป็นแหล่งเดียว (เท่าที่ทราบ) ที่ระบุวันประสูติของพระคเณศตรงกับช่วง คเณศชยันตี ขณะที่คัมภีร์อื่นระบุเป็น คเณศจตุรถี หรือใกล้เคียงกับช่วงคเณศจตุรถี 

อาจารย์คมกฤชอธิบายความเข้าใจที่ทับซ้อนกันนี้จากการสอบถามชาวฮินดูที่รัฐมหาราษฏระ พบว่าคนจำนวนไม่น้อยถือเอา คเณศชยันตี ช่วงต้นปีเป็นการฉลองวันประสูติของพระคเณศมากกว่า คเณศจตุรถี ค่อนข้างชัดเจน สันนิษฐานว่าเป็นเพราะเชื่อตามคัมภีร์มุทคลปุราณะที่ถูกประพันธ์ขึ้นในดินแดนแถบนั้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-17 โดยปราชญ์นิกาย คณปัตยะ ซึ่งเป็นลัทธิที่นับถือพระคเณศเป็นหลัก

อาจารย์คมกฤชวิเคราะห์ว่า “…ท่าน โมรยาโคสาวี (โมรยาโคสวามี) นักบุญคนสำคัญที่สุดของนิกายคาณปัตยะในแคว้นมหาราษฎร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 มีวันเกิดในวันคเณศชยันตีพอดี

คนมาราฐี (คนรัฐมหาราษฏระ – ผู้เขียน) มีความเชื่อที่พิเศษอันหนึ่ง คือเชื่อกันว่าท่านโมรยาโคสาวีเป็นอวตารของพระคเณศ พระมยุเรศวรได้มาบังเกิดเป็นท่าน ท่านจึงได้ชื่อ ‘โมรยา’ อีกทั้งทายาททั้งเจ็ดรุ่นของท่านต่างเป็นอวตารของพระคเณศทั้งแปดองค์ (อัษฏวินายก)”

เป็นเหตุให้ คเณศชยันตี กลายให้เป็นวันประสูติของพระคเณศตามวันเกิดของโมรยาโคสาวี ขณะที่ คเณศจตุรถี ถูกสังคมเกษตรกรรมที่ถวิลหาความอุดมสมบูรณ์เสริมนัยของการ “ขอฝน” จนเด่นชัดกว่าการ “ฉลองวันเกิด” ไปในที่สุด แม้คัมภีร์ปุราณะฉบับอื่น ๆ จะบอกชัดเจนว่า คเณศจตุรถี นั่นแหละวันประสูติของพระคเณศ!

พระคเณศ
พระคเณศทรงอักษร ที่ทำให้มองได้ว่าทรงเป็นเทพแห่งการประพันธ์ด้วย

สรุปให้ชัดอีกที คเณศจตุรถี เป็นทั้งการ “ขอฝน” และการเฉลิมฉลอง “วันเกิด” ของพระคเณศด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน.

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, มติชนสุดสัปดาห์ (22 กันยายน พ.ศ. 2559) : “ ‘คเณศจตุรถี’ ไม่ใช่วันเกิดพระคเณศ!”. <https://www.matichonweekly.com/column/article_8652>

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, มติชนสุดสัปดาห์ (30 กันยายน พ.ศ. 2564) : “คเณศจตุรถี เป็นวันเกิดของพระพิฆเนศวร์?”. <https://www.matichonweekly.com/religion/article_470274>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2566