หรือว่า ‘พระคเณศ’ เป็นครูช้างพราหมณ์สยาม? นัยของเรื่องนี้สะท้อนอะไรบ้าง?

พระคเณศ พระพิฆเนศ
ภาพเขียนสีพระคเณศ กายสีแดง-ส้ม และทรงหนู, ปี 1816 (ภาพจาก British Museum)

เทวสถาน หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากว่าโบสถ์พราหมณ์ บางทีก็เรียกควบกันเป็นเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ถือเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ กิจพิธีในลัทธิศาสนาพราหมณ์หลายอย่างได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของชาวสยาม-ไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่พิธีอันเนื่องในองค์พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงสามัญชนคนทั่วไป

ภายในโบสถ์พราหมณ์ ประกอบไปด้วยอาคารเก่าแก่ 3 หลัง เข้าใจว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นโบสถ์หลังใหญ่สำหรับพระอิศวรตั้งอยู่ทางทิศใต้ และโบสถ์สำหรับประดิษฐานพระคเณศกับพระนารายณ์ ไล่เรียงไปทางทิศเหนือ ตามแนวแกนทิศ ตามลำดับ

Advertisement

น่าสังเกตว่าเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามตามคติอย่างพราหมณ์ชมพูทวีป ประกอบด้วย พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ที่มักจะเรียกเหมารวมกันว่าพระตรีมูรติ 2 องค์แรกมีการสร้างโบสถ์บูชาเป็นสัดส่วนเฉพาะองค์ที่เทวสถาน

ส่วนพระพรหมนั้นไม่มี มีก็แต่ศาลพระพรหมที่ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ใหญ่ของพระอิศวร ซึ่งพระครูวามเทพมุนีเพิ่งจะจัดสร้างถวายเนื่องในมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ พระนักษัตร พุทธศักราช 2514 นี้เอง หมายความว่า ภายในโบสถ์พราหมณ์ พระนคร ไม่มีสถานที่บูชาพระพรหมเป็นการเฉพาะมาแต่เดิม เพิ่งมาสร้างขึ้นเมื่อไม่ถึง 40 ปีมานี้เท่านั้น [บทความเผยแพร่เมื่อ 2551 – กองบรรณาธิการ]

ในขณะเดียวกับที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระคเณศตามทัศนคติอย่างพราหมณ์สยาม ที่มีการสร้างสถานบูชาเป็นการเฉพาะได้อย่างชัดเจน

พระคเณศ เป็นครูช้างพราหมณ์สยาม?

พระคเณศ (หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่นๆ เช่น พระพิฆเนศวร พระคณปติ ฯลฯ) ตามคติพราหมณ์ชมพูทวีปเป็นบุตรของพระอิศวร เป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรคและเป็นผู้ขจัดอุปสรรคนานา [1] หากทรงงาอยู่ในพระหัตถ์หมายถึงปางที่เป็นเจ้าแห่งอักษรศาสตร์ [2] นับเป็นเทพเจ้าที่สำคัญองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับคติการนับถือพระคเณศของพราหมณ์สยามไว้ว่า พระคเณศทรงเป็นโอรสพระอิศวร เป็นครูช้าง พราหมณ์ย่อมนับถือโดยอิทธิเดชของพระองค์เองบ้าง ต้องการให้ต้องพระทัยของพระอิศวรบ้าง จึงเป็นพระเป็นเจ้าที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง [3]

ข้อสันนิษฐานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดูจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับเรื่องของกลุ่มพราหมณ์พฤฒิบาศที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยช้างเป็นการเฉพาะ พราหมณ์ที่มีกิจเกี่ยวเนื่องกับช้างเป็นการเฉพาะเช่นนี้เข้าใจว่าไม่มีปรากฏในชมพูทวีป มีเฉพาะในอุษาคเนย์เท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยอ้างไว้ในหนังสือนิราศนครวัดว่า พราหมณ์สยามมีสามประเภท หนึ่งคือพราหมณ์พิธีมาจากเมืองนคร [คือ นครศรีธรรมราช] สองคือพราหมณ์โหรดาจารย์มาจากเมืองพัทลุง ทั้งสองประเภทนี้อ้างสายบรรพบุรุษว่ามาจากเมืองรามราช [คือ เมืองราเมศวรัม ในอินเดียปัจจุบัน] ส่วนพราหมณ์พฤฒิบาศมาแต่กรุงกัมพูชา ยังสืบหาสายตระกูลไม่ได้ เมื่อเสด็จเยือนกัมพูชาจึงพยายามสอบถามจากพราหมณ์พฤฒิบาศที่นั่น แต่ก็เป็นการไร้ประโยชน์เพราะพราหมณ์กัมพุชเทศอ้างว่า บรรพบุรุษสืบมาแต่ “พนมไกลาส” [4] (หมายถึง ภูเขาที่พระอิศวรสถิตอยู่)

อย่างไรก็ดี การที่สยามถือว่าพระคเณศเป็นครูช้างจึงจำเป็นต้องมีโบสถ์บูชาพระคเณศเป็นการเฉพาะสำหรับพราหมณ์กลุ่มดังกล่าว ดังที่ปรากฏมีโบสถ์พระคเณศอยู่ที่เทวสถาน พระนคร

ร่องรอยความเชื่อที่ว่าพระคเณศเป็นครูช้าง ปรากฏอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างน้อยมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยาแล้ว ดังปรากฏข้อความในวรรณกรรมเรื่องยวนพ่ายโคลงดั้นว่า “…การช้างพิฆเณศรน้าว ปูนปานท่านนา…” ซึ่ง อาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้ถอดความไว้ว่า “…รอบรู้วิชาคชกรรมจนเปรียบปานได้กับพระพิฆเนศวร…” [5]

เป็นอันว่าหลักฐานในงานวรรณกรรม พระคเณศก็เป็นครูช้างสอดคล้องกับร่องรอยหลักฐานอื่นๆ

ไม่มีหลักฐานว่าความเชื่อนี้สืบมาแต่ครั้งขอมเรืองอำนาจในช่วงก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ แต่การที่ชาวสยามยุคเก่าก่อนถือว่าพราหมณ์พฤฒิบาศสืบสายมาทางกัมพูชา ก็ชวนให้คิดไปได้อย่างนั้นเช่นกัน

พระโกญจนาเนศวร เทพผู้ให้กำเนิดช้าง ในสมุดภาพพระเทวรูป

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งปรากฏอยู่ในภาพลายเส้นบนสมุดไทยที่เรียกรวมๆ ว่าสมุดภาพพระเทวรูปฉบับต่างๆ สันนิษฐานว่าโดยมากน่าจะเขียนขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 [6]

ภาพลายเส้นเหล่านี้มีที่เขียนเป็นรูปพระคเณศอยู่มาก บางรูปมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับการเป็นครูช้าง หรือเจ้าแห่งช้างทั้งหลายด้วย รู้ได้จากทั้งลักษณะของภาพและคำบรรยาย หรือ “ชื่อ” ของภาพที่กำกับอยู่ ซึ่งสามารถนำไปเทียบเคียงกับเรื่องเล่าในเทพปกรณ์แบบสยามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีกด้วย

ภาพเขียนบางภาพในสมุดไทยดำเหล่านี้แสดงภาพเทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้างคล้ายพระคเณศ แต่มี 3 เศียร ในพระกรแต่ละข้างถือช้างไว้ครบหมดทุกพระกร แต่เขียนคำบรรยายกำกับไว้ว่าพระโกญจนาเนศวร

หนังสือนารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวง (พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2417) มีข้อความอ้างถึงตอนกำเนิดพระคเณศไว้อย่างน่าสนใจว่า ในไตรดายุคพระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงกระทำเทวฤทธิ์เพื่อบังเกิดศิวบุตร 2 องค์ พระเพลิงรับเทวโองการและกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง เบื้องขวาบังเกิดบุตรที่มีพระพักตร์เป็นช้างคือพระคเณศ ส่วนเบื้องซ้ายบังเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่งชื่อพระโกญจนาเนศวร มีพักตร์เป็นช้าง 3 พระพักตร์ มีพระกร 3 พระกร แต่ละพระหัตถ์กำเนิดมีช้างประเภทต่างๆ เช่น ช้างเอราวัณ ช้างคีรีเมฆละไตรดายุค ช้างเผือกเอก เผือกโท เผือกตรี เป็นต้น [7]

เป็นอันว่านอกจากชาวสยามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จะเข้าใจว่าพระคเณศเป็นเจ้าแห่งช้างและการคชกรรมแล้ว ยังมีเทพเจ้าที่มีเศียรเป็นช้าง ซ้ำยังมีเศียรมากกว่าพระคเณศคือมีถึง 3 เศียร ชื่อว่าพระโกญจนาเนศวรเป็นเทพเจ้าผู้ให้กำเนิดช้างตระกูลต่างๆ อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ อธิบายว่า “โกญจนาเนศวร” น่าจะมาจากคำสันสกฤตว่า “เกฺราญจนาเนศวร” (เกฺราญจน-อานน-อีศวร) แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นพักตร์แห่งเกราญจะ” หมายถึงพระขันทกุมาร (บ้างก็เรียกว่าพระสกันทะ หรือพระกรรติเกยะ) ผู้ปราบเหล่าอสูรแห่งภูเขาเกราญจะ [8]

โดยท่านยังสันนิษฐานต่อไปด้วยว่า ชาวสยามโบราณคงทราบตามเทพปกรณัมแขกว่าพระอิศวรมีบุตร 2 องค์ แต่เข้าใจผิดว่าพระคเณศและพระขันทกุมารเป็นเทพองค์เดียวกัน จึงโอนชื่อพระขันทกุมารไปให้พระคเณศ (ตำรานารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวงเรียกพระคเณศก่อนมีเศียรเป็นช้างว่าพระขันทกุมาร [9] และคิดชื่อใหม่ให้พระโอรสองค์รองว่าโกญจนาเนศวร พร้อมทั้งโอนลักษณะสำคัญคือการมีเศียรเป็นช้างเหมือนพระคเณศด้วย [10]

ไม่ว่าพระโกญจนาเนศวรจะหมายถึงพระขันทกุมารหรือไม่ก็ดี แต่รูปลักษณะที่เขียนอยู่ในสมุดภาพก็แสดงให้เห็นพ้องกันกับเรื่องราวที่บันทึกอยู่ในตำราเทพปกรณ์สยามโบราณอย่างชัดเจน ที่มีข้อน่าสังเกตกลับเป็นรูปพระคเณศ ชนิดที่มีชื่อหรือคำอธิบายภาพว่า “พระเทพกรรม์” (อ่านว่า “กำ”) ไม่เรียกว่าพระคเณศ

“พระเทพกรรม์” คือใคร?

แม้ว่าในสมุดภาพจะเขียนรูปพระเทพกรรม์เป็นรูปเทพเจ้าที่มีเศียรเป็นช้างคล้ายพระคเณศ ซึ่งเป็นเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ข้อความที่ปรากฏอยู่ในจารึกฐานพระอิศวร กำแพงเพชร ช่วงกลางสมัยอยุธยา กลับแสดงให้เห็นว่าพระเทพกรรม์น่าจะเป็นเทพเจ้าคนละองค์กับพระคเณศ ดังความที่ว่า

“…ศักราช 1432 [ตรงกับ พ.ศ. 2054] มะเมียนักษัตรอาทิตยพาร เดือนหกขึ้นสิบสี่ค่ำได้หษตฤกษ์ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกา จึงเจ้าพระญาศรีธรรมาโสกราชประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชร และช่วยเลิกศาสนาพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์และพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมอง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน…” [11]

ข้อความในจารึกกล่าวถึงการเลิก คือ ทำนุบำรุงพระศาสนาทั้งสาม ได้แก่ 1. พระพุทธศาสนา 2. ไสยศาสตร์ คือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ดังนั้น “ไสยศาสตร์” จึงควรเขียนว่า “ไสยศาสน์” ดังที่ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอไว้เมื่อนานมาแล้ว เพราะคนโบราณถือว่าเป็นศาสนา ไม่ใช่ศาสตร์ความรู้) และสุดท้าย 3. คือศาสนาพระเทพกรรม์ ซึ่งแยกออกจากศาสนาพราหมณ์ต่างหาก เป็นไปได้ว่าจะเป็นลัทธิเก่าแก่ดั้งเดิมในภูมิภาคสุวรรณภูมิ

ภาพเขียนสีพระคเณศ กายสีแดง-ส้ม และทรงหนู, ปี 1816 (ภาพจาก British Museum)

ในสมัยอยุธยาพระเทพกรรม์จึงไม่น่าจะเป็นองค์เดียวกับพระคเณศ

ลิลิตโองการแช่งน้ำ วรรณกรรมชิ้นสำคัญยุคต้นกรุงศรีอยุธยา (หรืออาจจะเก่าแก่กว่านั้น) มีข้อความว่า

“…เชือกบาศด้วย ชันรอง
ชื่อพระกรรมบดี ปู่เจ้า
ท่านรังผยอง มาแขก
(กลอย?) แรก ตั้งขวัญเข้า ธูปเทียนฯ…” [12]

ข้อความข้างต้นอยู่ในบทแช่งผี คืออัญเชิญผี (ซึ่งไม่ได้หมายถึงวิญญาณเช่นในปัจจุบัน แต่หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจเหนือธรรมชาติ หรือบรรพบุรุษ) มาร่วมในพิธีการแช่งน้ำ หลังจากที่ได้อัญเชิญเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มาเข้าร่วมในพิธีก่อนแล้วในบทต้น พระเทพกรรม์จึงน่าจะเป็นผีผู้ใหญ่พื้นเมืองสุวรรณภูมิ (เนื่องจากเป็นผีที่ถูกเชิญมาเป็นตนแรกในโองการฯ)

สังเกตได้ว่าในโองการแช่งน้ำใช้คำว่า “พระกรรมบดี” แปลตรงตัวว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งการกรรม์” น่าสนใจว่า “การกรรม์” คงจะเป็นศัพท์เก่าที่คนสมัยรัตนโกสินทร์ลืมเลือนไปหมดแล้ว

ในสมุทโฆษคำฉันท์ วรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง มีข้อความที่ว่า

“…ดูเดิมชวักชอบโดยความ หมายต้นตูมงาม
และควรที่ทำการกรรม์…” [13]

ความข้างต้นพรรณนาอยู่ในส่วนของการทำพิธีคล้องช้าง ซึ่งคำฉันท์ในเรื่องสมุทโฆษได้บรรยายความไว้อย่างละเอียด ที่สำคัญคือเรียกการคล้องช้างว่า “การกรรม์” สอดคล้องกับข้อความในฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างของเก่า ครั้งกรุงเก่า งานสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกการคล้องช้างว่าการกรรม์เช่นกัน ดังความที่ว่า

“…เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ ได้ช้างเผือกอัน
วิสุทธิสารบวร…” [14]

ข้อความอีกตอนหนึ่งในสมุทโฆษคำฉันท์ได้เอ่ยนามถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการคล้องช้างดังความว่า

“…ด้วยเดชสดุดีพระกรรม์ คชคงโจษจรร
และคับทั้งแคว้นคอกขัง…” [15]

“พระกรรม์” ในที่นี้คงจะหมายถึง “พระเทวกรรม์” อย่างไม่ต้องสงสัย จึงอาจจะสรุปได้ว่า พระเทวกรรม์เป็นผีพื้นเมืองอุษาคเนย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นใหญ่ในกรรมพิธีการคล้องช้าง พร้อมกับที่ชวนให้คิดไปได้ว่า คำว่า “พระกรรม์” อาจจะเคลื่อนเป็นคำว่า “ประกำ” หรือ “ปะกำ” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยการคล้องช้าง ที่คุ้นหูกันดี “เชือกปะกำ” ที่หมายถึงเชือกคล้องช้าง หรือ “หมอปะกำ” “ครูปะกำ” ที่หมายถึง หมอช้าง หรือครูช้าง

ปัจจุบันความหมายของคำว่า “ปะกำ” ได้หลงเลือนไปหมดแล้ว เมื่อหาที่มาที่ไปไม่ได้จึงโอนไปให้เป็นภาษาเขมร ภาษาส่วย ที่มีชื่อเรื่องการช้างไปเสียหมด จนสุดท้ายไปเข้าใจกันว่าหมายถึงเชือกสำหรับคล้องช้างเท่านั้น

ดูเหมือนว่าการจับพระเทวกรรม์บวชให้เข้ารีตกลายเป็นพราหมณ์จะเกิดขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏร่องรอยอยู่ในงานนิพนธ์เรื่องฉันท์กล่อมช้างพลาย ในกรมหมื่นศรีสุเรนทร ราวปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1-ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ดังข้อความที่ว่า

“…ไหว้ไท้เทพท้าวเทวกรรม์ พิฆเนศวรสรรค์
คือขันธกุมารมหิมา…” [16]

แปลความได้ว่ากรมหมื่นศรีสุเรนทร ซึ่งถือเป็นปราชญ์ที่สำคัญคนหนึ่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เข้าใจว่า พระเทวกรรม์ ก็คือองค์เดียวกันกับพระคเณศ และก็คือองค์เดียวกันกับพระขันทกุมารนั่นเอง

หมอปะกำเข้ารีตกลายเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศ

ในหนังสือนารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง ได้กล่าวถึงเรื่องพระนารายณ์เสด็จลงมาปราบช้างเอกทันต์ในช่วงไตรดายุค โดยเมื่อพระองค์เสด็จลงมายังมนุษยโลกแล้วก็ได้เที่ยวท่องหาปีศาจช้างร้ายตนนั้น จนกระทั่งมาถึงทุ่งนาแห่งหนึ่งจึงได้พบพี่น้องชาวนาสี่คน พี่ใหญ่ชื่อโภควันดี พี่รองซึ่งเป็นหญิงสาวเพียงคนเดียวในหมู่พี่น้องชื่อนางสิระวัง น้องสามชื่อคชสาตร คนสุดท้องชื่อสาตรกรรม

คนทั้งสี่ได้กลายเป็นผู้นำทางให้กับพระนารายณ์ในการไปปราบปีศาจช้างตนนั้น เมื่อพบช้างเอกทันต์ พระนารายณ์จึงตั้งมณฑลพิธีพร้อมมีเทวโองการอัญเชิญพระคเณศมาประทับข้างขวา พระเทวกรรมมาประทับข้างซ้าย พร้อมให้เทพยดาชื่อพระมหาเมศว (เข้าใจว่าคือองค์เดียวกับพระมหาเมศอ ในตำราภาพพระเทวรูป เลขที่ 32) เป็นผู้มาต้อนไล่โขลงช้างเถื่อนทั้งหลายที่เป็นบริวารของอสูรช้างเอกทันต์

ส่วนพระนารายณ์ได้บันดาลให้ช้างเอกทันต์ปวดศีรษะดังจะแตกออกมาเจ็ดภาค จากนั้นจึงใช้บาศก์อุรเคนทร์ซัดถูกเท้าขวาของอสูรรูปช้าง แล้วเอาตรีปักลง ณ พื้นธรณี กลายเป็นต้นมะตูม เอาหางบาศก์อุรเคนทร์กระหวัดไว้กับต้นมะตูม จากนั้นเอาพระหัตถ์ขวาทิ้งเอามะลิวัลย์มาอธิษฐานให้เป็นทาม เป็นพับเฌอคล้องคอคชเอกทันต์ไว้กับไม้คูน

จากนั้นพระเป็นเจ้าจึงเสด็จมาหยุดลงใต้ร่มไม้ยอ แล้วตรัสเรียกพี่น้องผู้นำทางทั้งสี่คนมาประสิทธิ์ตำราพฤฒิบาศให้คนทั้งสี่เป็นประกรรมสำหรับปราบหมู่ช้างทั้งหลาย จากนั้นพระนารายณ์จึงนำช้างเอกทันต์ไปถวายเป็นพาหนะแด่พระอินทร์ ฝ่ายประกรรมทั้งสี่ได้กลับไปสอนสั่งการคชกรรมแก่กุลบุตรทั้งหลาย จึงปรากฏชื่อเป็นพระโภควันดี ประสิทธิ์ศิษย์ด้วยเหล็กซองเป็นหนึ่ง นางสิระวัง ประสิทธิ์ศิษย์ด้วยบ่วงบาศเป็นสอง พระคชสาตร ประสิทธิ์ศิษย์ด้วยขอเป็นสาม และพระสาตรกรรม ประสิทธิ์ศิษย์ด้วย (เสา) ตะลุง ฉะนัก และปลอกเป็นสี่ หมอเถ้า (คือหมอช้างชั้นผู้ใหญ่, บางแห่งใช้ หมอเฒ่า) ทั้งหลายจึงนับถือเป็นครูประกรรมทั้งสี่ และห้ามหมอช้างทั้งปวงหักกิ่ง ถากเปลือก เด็ดใบ ไม้มะตูม ไม้ยอ และไม้คูน เพราะเหตุที่พระนารายณ์เป็นเจ้าประสิทธิ์ครูประกรรมมาแต่ก่อนนั่นเอง [17]

เรื่องราวข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความพยายามในการผนวกลัทธิความเชื่อพื้นเมืองอุษาคเนย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมพราหมณ์ที่มีเค้าดั้งเดิมมาจากแขก ดังจะเห็นได้ว่าในเรื่องพระนารายณ์เป็นองค์ประธานในการคล้องช้าง ซึ่งกรรมวิธีที่บรรยายอยู่ในตำรานั้นเป็นอย่างเดียวกับที่มีอยู่ในพื้นเมืองอุษาคเนย์โดยแท้ ซ้ำยังกล่าวอ้างว่าพระนารายณ์เป็นผู้ประสิทธิ์วิชาการคชกรรมที่เรียกว่า “พฤฒิบาศ” ให้แก่ “หมอปะกำ” พี่น้องทั้งสี่ที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองอีกด้วย

สรุป และท้ายเรื่อง

เป็นอันว่าพราหมณ์พฤฒิบาศก็คือหมอปะกำพื้นถิ่นสุวรรณภูมิ ผู้ชำนาญการด้านช้างเป็นการเฉพาะที่หันมานุ่งขาวห่มขาว “บวชพราหมณ์” (ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม) มีพื้นที่ประกอบกิจดั้งเดิมของตนในโบสถ์พระคเณศ เทวสถาน พระนคร แยกเฉพาะจากพวกพราหมณ์ดั้งเดิมไปต่างหาก

กรรมวิธีการบวชพราหมณ์นี้คงจะเกิดขึ้นด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือจากเงื่อนไขหลายๆ ประการ ยังปรากฏร่องรอยของการพยายามสร้างประวัติศาสตร์ของการช้างในรูปของเทพปกรณ์ นอกจากการบวชหมอปะกำเป็นพราหมณ์แล้ว ยังบวชเอาผีปะกำเป็นเทพกรรม์ ผนวกเป็นปางหนึ่งของพระคเณศ กลายเป็นเทพเจ้าในสวรรค์ชั้นพราหมณ์อย่างแนบเนียนจนเกือบสืบสาวเอาความประวัติที่มาไม่ได้ไปในที่สุด

กลวิธีการสร้างประวัติศาสตร์ในรูปของปกรณัมนี้ดูจะมีอำนาจในการอธิบายความอย่างไม่น่าเชื่อ ตำราพระคชลักษณ์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวตั้งแต่ในช่วงต้นเรื่องของตำราว่า การคชศาสตร์แบ่งได้เป็นสองอย่าง อย่างแรกคือคชลักษณ์เป็นการศึกษาลักษณะให้คุณ-โทษของช้าง อย่างที่สองคือคชกรรมได้แก่กระบวนการจับและรักษาช้าง บำบัดปัดเป่าเสนียดจัญไรต่างๆ โดยทั้งสองประการมีที่มาอยู่ในไตรเพท [18]

แม้จะเป็นเพียงตำนานเทพ เล่าเรื่องอิทธิฤทธิ์อิทธิเดช ดูไม่น่าเชื่อถือจริงจัง แต่อย่างน้อยก็สามารถชักชวนให้คนในชั้นหลังเข้าใจไปว่าการช้างเป็นความชำนาญเฉพาะทางที่พราหมณ์แขกนำความรู้มาเผยแพร่สั่งสอนแก่หมอผี-หมอเฒ่าพื้นเมือง

ความตรงนี้น่าสนใจเนื่องจากการคล้องช้างไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะลัทธิความเชื่อพื้นถิ่น แต่ถือได้ว่าเป็นวิทยาการเฉพาะทาง มีหมอปะกำเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยช้างเป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งอำนาจหรือบุญญาธิการที่ปรากฏเป็นหลักฐานร่วมกันอยู่ทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญไปยังทั้งจักรวรรดิจีน ชมพูทวีป รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ของโลกมาแต่โบราณสมัย

การที่พวกพราหมณ์-ฮินดูยึดเอากรรมสิทธิ์เรื่องความชำนาญในการคชกรรมว่าเป็นของตนเองมาแต่เดิมจึงน่าจะมีนัยยะแฝงทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ป. อินทุวงศ์ (แปล) ป.ส. ศาสตรี (ตรวจแก้). “เรื่องคณะปติ จากหนังสือฮินดู อิโคโนกราฟฟิ ของท่าน ที.เอ. โกปินนาถ เรา เอ็ม.เอ.,” ใน ไทยเขษม 50 ปี. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๕๑๙), น. 1.

[2] อ้างใน จิรัสสา คชาชีวะ. พระพิฆเนศวร์ คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540), น. 14.

[3] เรื่องเดียวกัน. น. 78.

[4] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิราศนครวัด. (พระนคร : แพร่พิทยา, 2514), น. 44-45.

[5] ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์. ยวนพ่าย โคลงดั้น. (พระนคร : โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2513), น. 92.

[6] ดูใน กรมศิลปากร. ตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535), น. (5).

[7] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ประพันธ์ สุคนธะชาติ (รวบรวม-เรียบเรียง). นารายณ์สิบปาง และพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์. (ม.ป.ท., 2511), น. 37-38.

[8] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์. “พระคเณศ-พระขันทกุมาร,” ใน มณีปิ่นนิพนธ์. (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), น. 132.

[9] ดูใน ประพันธ์ สุคนธะชาติ (รวบรวม-เรียบเรียง). เรื่องเดียวกัน. น. 39-42.

[10] มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์. เรื่องเดียวกัน. น. 133.

[11] กรมศิลปากร. ประชุมจารึกภาคที่ 1 จารึกกรุงสุโขทัย. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2515), น. 183-184.

[12] จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2547), น. 485.

[13] หนังสืออ่านกวีนิพนธ์ สมุทโฆษคำฉันท์, (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2493), น. 37.

[14] ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย, (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2503), น. 135.

[15] หนังสืออ่านกวีนิพนธ์ สมุทโฆษคำฉันท์, น. 39.

[16] ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย, น. 136.

[17] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ประพันธ์ สุคนธะชาติ (รวบรวม-เรียบเรียง). เรื่องเดียวกัน. น. 42-45.

[18] “ตำราพระคชลักษณ์,” ใน พระเศวตวชิรพาห, (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2505), น. 85.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระคเณศ ครูช้างพราหมณ์สยาม” เขียนโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2564