ถกตำนาน “พระราหู” เป็นใคร? ทำไมจ้องจองเวร “พระอาทิตย์-พระจันทร์”

ราหูอมจันทร์ พระราหู พระจันทร์
ภาพจินตนาการของราหูอมดวงสว่าง เทียบลักษณะได้กับการเกิดสุริยุปราคาบางส่วน ตีพิมพ์ใน National Geography ฉบับ พ.ศ. 2535 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538)

ถกตำนาน “พระราหู” เป็นใคร? ทำไมจ้องจองเวร “พระอาทิตย์-พระจันทร์”

ความเชื่อของคนไทยมีมาแต่โบราณว่าสุริยุปราคาก็คือ ปรากฏการณ์ที่พระอาทิตย์ถูกคราส หรือถูกกินโดย “พระราหู”

คราส เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า กิน

ความจริงแล้วไม่ใช่มีเพียงแต่พระอาทิตย์เท่านั้นที่ถูกคราสโดยพระราหู หากแต่พระจันทร์ก็ต้องชะตากรรมที่จะถูกคราสโดยพระราหูเช่นเดียวกัน

พระราหูเป็นใคร ทำไมจึงต้องมาจองเวรจองกรรมพระอาทิตย์และพระจันทร์ไม่รู้จบสิ้น

ความเป็นมาเป็นไปในเรื่องนี้มีแตกต่างหลากหลายกันไปสุดแต่ว่าใครเป็นผู้เล่า หรือเป็นตำนานของใคร เป็นความเชื่อตามลัทธิไหน และจากหนังสือเล่มใด

ตามคัมภีร์ของพราหมณ์กล่าวว่า พระราหู เป็นโอรสของท้าวเวปจิตติกับนางสิงหิกา ส่วนหนังสือเรื่องพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่าพระราหูเป็นโอรสของพระพฤหัสบดีกับนางสิงหิกา ส่วนรูปร่างหน้าตาของพระราหูนั้นทั้งสองแห่งกล่าวไว้ตรงกัน คือมีรูปร่างใหญ่โต ท่อนบนตั้งแต่เอวขึ้นมามีลักษณะเป็นยักษ์หรือแทตย์ ส่วนท่อนล่างเป็นขนดหางอย่างเดียวกับพญานาคหรืองูใหญ่

ส่วนสาเหตุที่พระราหูจงเกลียดจงชังพระอาทิตย์และพระจันทร์ จนต้องตามเขมือบกันอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่านั้น ความเชื่อทางฝ่ายพราหมณ์เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระนารายณ์ทรงแนะนำให้พระอินทร์จัดทำพิธีกวนน้ำอมฤต ซึ่งน้ำอมฤตนี้เมื่อได้ดื่มกินแล้วจะเป็นอมตะ และจะมีอิทธิฤทธิ์เพิ่มพูนขึ้นอีกด้วย

งานกวนน้ำอมฤตเป็นงานใหญ่ ลำพังเหล่าเทพเพียงเท่านั้นคงจะไม่สามารถทำได้สำเร็จ พระอินทร์จึงขอความร่วมมือจากเหล่าอสูรให้มาร่วมในการกวนน้ำอมฤตครั้งนี้ด้วย โดยตกลงกันว่า แม้นงานสัมฤทธิ์แล้ว ได้น้ำอมฤตเมื่อใด ก็จะแบ่งน้ำนั้นให้ทั้งฝ่ายเทพและฝ่ายอสูรอย่างยุติธรรม เพื่อจะเป็นอมตะโดยถ้วนทั่ว

เมื่อพิธีกวนน้ำอมฤต ณ เกษียรสมุทรเริ่มขึ้น โดยการนำเอาเขามันทระมาเป็นไม้กวน และใช้พญาอนันตนาคราชเป็นเชือกพันชักเขา ฝ่ายเทพก็เริ่มสำแดงความเอาเปรียบในเบื้องแรกออกมา โดยการให้ฝ่ายอสูรชักรอกอยู่ทางด้านเศียรของพญานาค ส่วนฝ่ายเทพพากันมาช่วยชักรอกทางด้านหาง

การกวนน้ำอมฤตนั้นใช้เวลาและความอุตสาหะอดทนเป็นอย่างยิ่ง มีการนำว่านยาต่าง ๆ ใส่ผสมลงไปกวนกันอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งยิ่งนานพญาอนันตนาคราชซึ่งอุทิศตัวเป็นเชือกรอกในการกวนก็ยิ่งเจ็บปวดทรมาน เมื่อทนไม่ไหวพญานาคก็พ่นพิษออกมา งานนี้ฝ่ายอสูรจึงเป็นฝ่ายรับพิษนาคไปเต็ม ๆ จนในที่สุดก็พากันอ่อนเปลี้ยไปตาม ๆ กัน

ในที่สุด เมื่อพิธีกรรมทั้งมวลสำเร็จลง ก็บันดาลให้ผอบทองบรรจุน้ำอมฤตลอยขึ้นมา

ประติมากรรมกวนเกษียรสมุทร ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ภาพจาก pixabay.com – public domain)

ทันใดนั้น ฝ่ายเทพก็สำแดงลวดลายออกมา ฉวยโอกาสที่อสูรกำลังอ่อนเปลี้ยเพลียแรงยึดเอาผอบน้ำอมฤตไป ฝ่ายอสูรเมื่อเห็นว่าฝ่ายเทพผิดสัญญาก็ฮึดสู้ พากันเข้าแย่งชิงจนเกิดเป็นเทวสุรสงครามขึ้น

พระนารายณ์ทรงแก้เหตุเฉพาะหน้าที่เกิดโดยแปลงร่างเป็นสาวงามนามว่า โมหิณี เข้ามาไกล่เกลี่ย และรับอาสาจะเป็นผู้แบ่งน้ำอมฤตให้แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างยุติธรรม

แต่เทพก็คือเทพวันยังค่ำ คือเข้าข้างเทพด้วยกัน อสูรหารู้ไม่ว่าได้หลงกลฝ่ายเทพเข้าให้อีกแล้วเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็นับไม่ถ้วน นางแปลงจัดให้ฝ่ายเทพและฝ่ายอสูรแบ่งข้างนั่งกันเป็นสองแถว หันหน้าเข้าหากัน แล้วนางจะส่งน้ำอมฤตให้ผลัดกันดื่มทีละฝ่าย

นางแปลงเริ่มส่งน้ำอมฤตให้ฝ่ายเทพก่อน จากนั้นก็ส่งต่อน้ำอมฤตให้แก่เทพด้วยกันดื่มต่อ ๆ กันไป โดยปล่อยให้ฝ่ายอสูรเฝ้ารอไปก่อน

ในบรรดาอสูรทั้งมวลเห็นจะมีก็แต่พระราหูเพียงตนเดียวที่รู้เท่าเล่ห์เพทุบายของฝ่ายเทพด้วยความเอะใจสงสัยและไม่ไว้ใจในพฤติกรรมของฝ่ายเทพ พระราหูจึงแปลงร่างเป็นเทพเข้าไปนั่งแทรกปะปนอยู่ในแถวของเหล่าเทพ โดยนั่งอยู่ระหว่างพระอาทิตย์กับพระจันทร์

ฝ่ายเทพนั้นก่อนจะยกน้ำอมฤตขึ้นดื่มจะต้องสวดมนต์ก่อนทุกครั้ง พระราหูไม่เคยชินกับธรรมเนียมของเทพ เมื่อรับน้ำอมฤตมาก็ยกขึ้นดื่มโดยไม่ได้สวดมนต์ก่อน พระอาทิตย์และพระจันทร์ซึ่งขนาบข้างพระราหูอยู่สังเกตได้ในความผิดปกตินี้ จึงโวยวายให้แก่นางแปลงทราบ นางโมหิณีหรือพระนารายณ์แปลงจึงทรงขว้างจักรมาตัดร่างพระราหูขาดเป็นสองท่อนตรงบริเวณบั้นเอวนั่นเอง

เปล่า พระราหูไม่ตาย เพราะได้ดื่มน้ำอมฤตไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นอมตะไปแล้ว ร่างท่อนบนก็คงเป็นพระราหูเช่นเดิม ส่วนท่อนล่างที่เป็นหางพญานาคก็กลายเป็นกึ่งเทพกึ่งอสูรอีกตนหนึ่ง นามว่า พระเกต

ความแค้นของพระราหูในครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ไหนจะโดนหลอกครั้งแล้วครั้งเล่า และที่สำคัญพระราหูอาฆาตแค้นพระอาทิตย์และพระจันทร์ยิ่งนัก เพราะเป็นผู้โวยวายจนพระนารายณ์รู้ และขว้างจักรมาตัดร่าง จากนั้นมาจึงตามจับตัวพระอาทิตย์และพระจันทร์เรื่อยไป เมื่อใดที่จับได้ไม่ว่าจะเป็นพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ พระราหูก็จะจับมาอมเล่นบ้าง จับมาหนีบไว้ใต้รักแร้บ้าง พอให้พระอาทิตย์และพระจันทร์เกิดความฉุนเฉียวแล้วจึงปล่อยไป เป็นเช่นนี้มาหลายกัปแล้ว

ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ชาวโลกมนุษย์ที่ต้องอาศัยแสงแห่งพระอาทิตย์และพระจันทร์จึงต้องพากันเคาะเกราะเคาะปี๊บ จุดประทัดขับไล่พระราหูให้เร่งคายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์เสียเร็ว ๆ แต่สำหรับชาวฮินดูนั้นพวกเขานับถือพระราหูและถือว่าพระราหูทำสิ่งที่ชอบแล้ว เขาจึงพากันบูชาบวงสรวงสรรเสริญพระราหู ยิ่งในคราวที่มีหรือจะมีสุริยคราสหรือจันทรคราส พวกเขาก็จะพากันสวดมนต์โห่ร้องตีกลองกันด้วยเสียงดังกว่าปกติ พร้อมกับพากันเช่นไหว้พระราหูเพื่อที่จะสร้างความพึงพอใจแก่พระราหู พระองค์จะได้ประทานความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่พวกเขา

ครั้นจะมาดูในตำราของพราหมณ์อีกตำนานหนึ่งกลับกล่าวว่า สมัยหนึ่งพระอาทิตย์ไปเกิดเป็นพญาครุฑ ส่วนพระเสาร์ไปเกิดเป็นพญานาค เมื่อพญาครุฑพยายามจะจับพญานาคกินเป็นอาหาร พญานาคจึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากพระราหูสหายรัก พระราหูทราบเรื่องก็ช่วยพญานาคขับไล่พญาครุฑ

ฝ่ายพญาครุฑเมื่อสู้ไม่ไหวก็ได้หนีไปโดยมีพระราหูตามไปไม่ลดละ ระหว่างทางพระราหูเกิดกระหาย พอดีผ่านเห็นน้ำอมฤตของพระอินทร์เข้าจึงดื่มน้ำอมฤตแก้กระหาย พญาครุฑนำความไปฟ้องพระอินทร์จนพระอินทร์กริ้วที่พระราหูมาแอบดื่มน้ำอมฤตโดยไม่บอกกล่าว จึงทรงขว้างจักรเพชรเข้าตัดร่างของพระราหูขาดเป็นสองท่อน

พระราหูไม่ตายเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้ว แต่คงเก็บความแค้นเคืองพญาครุฑหรือก็คือพระอาทิตย์นั่นเองเรื่อยมา

ไม่แน่ใจว่าชาวฮินดูที่เชื่อตามตำนานฉบับหลังนี้จะอยู่ข้างพระราหูหรือไม่

ในวรรณคดีเรื่อง เฉลิมไตรภพ กลับเขียนถึงกำเนิดของพระราหูต่างออกไป โดยกล่าวว่าพระอิศวรทรงสร้างพระราหูขึ้นจากหัวผีโขมดจำนวน 12 หัว ความตอนนี้กล่าวไว้ว่า

แล้วสุวกำเลือกสรร   หัวโขมดอัน

ที่ร้ายรองสิบสองหัว

แกล้วกล้าสั่งมาไม่กลัว   ครบสิบสองหัว

ถวายสี่องค์ทรงธรรม์

อ่านเวทย์วิเศษสรรพสรรพ์   ระคนปนกัน

ห่อนั้นผ้าดำดำสี

ประน้ำอมฤตพิธี   เป็นเทวสุรี

มีกายสูงล้ำดำนิล

ประทานนามว่าอสุรินทร์   ราหูเทวินทร์

ที่แปดพระเคราะห์เจาะจง

ในตอนท้ายของเรื่องเฉลิมไตรภพ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่พระราหูมีกายขาดเป็นสองท่อนว่า เป็นเพราะในเวลาต่อมาพระราหูคิดจะเป็นใหญ่แข่งบารมีพระอิศวร จึงได้แอบไปอาบกินน้ำอมฤตที่ท้ายปราสาทของพระอิศวร พระอิศวรกริ้วเนื่องด้วยเป็นผู้สร้างพระราหูขึ้นมาเอง และกลับจะมาคิดไม่ซื่อ จึงทรงขว้างด้วยจักรตัดพระราหูเป็นสองท่อน พระราหูไม่ตายอีกเช่นเคยเพราะทั้งอาบทั้งดื่มน้ำอมฤตไปเรียบร้อยแล้ว

วรรณคดีเรื่องนี้กล่าวเพียงแค่นี้ ไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุโกรธเคืองกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่อย่างใด

สมเด็จพระนารายณ์ทรงร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาร่วมกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศสและขุนนางไทย ที่พระราชวัง เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2228 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538)

จะเห็นว่าเพียงแค่ 3 ตำนาน เรื่องราวของพระราหูก็ต่างไป 3 แบบ แม้แต่ผู้ที่ตัดร่างของพระราหูในแต่ละตำนานก็ยังต่างกันออกไป

ส่วนรูปร่างของพระราหูนั้น พอจะสรุปได้ว่า พระราหูเป็นเทพอสูรชาย มีร่างกายใหญ่โตมาก ใบหน้าเป็นแทตย์ หน้าดุอย่างอสูร ผิวคล้ำเป็นสีทองสัมฤทธิ์ สวมสุวรรณเป็นอาภรณ์ ร่างกายท่อนล่างเป็นหางพญานาค ในเวลาอมพระอาทิตย์หรือพระจันทร์จะมีร่างเพียงครึ่งท่อนเท่านั้น มีวิมานเป็นสีนิล ส่วนพาหนะนั้นบ้างก็ว่าทรงครุฑเป็นพาหนะ บ้างก็ว่าทรงรถสีดำแดง เทียมด้วยม้าดำ 8 ตัว และบางตำนานกล่าวต่างออกไปว่าทรงสิงห์เป็นพาหนะ

คราวนี้ลองมาดูในความเชื่อทางพุทธศาสนาบ้าง

มีการกล่าวถึงพระราหู พระอาทิตย์ พระจันทร์ ปรากฏใน ไตรภูมิพระร่วง โดยกล่าวไว้ว่า ทั้งพระราหู พระอาทิตย์ และพระจันทร์ นั้นเป็นเทพในกามภูมิ สถิตอยู่ที่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีอายุเท่ากับเทพในชั้นนี้ทุกตน คือมีอายุยืน 500 ปีทิพย์ ซึ่ง 1 ปีทิพย์จะเท่ากับ 18,000 ปีในมนุษยโลก 500 ปีทิพย์จึงเท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์นั่นเอง

พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้ชำนาญทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีอย่างแตกฉาน ได้สนองพระบรมราชโองการ เรียบเรียงไตรภูมิโลกวินิจฉัยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2345 หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงพระราหูในพระพุทธประวัติไว้หลายตอนด้วยกัน

ความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระพุทธฎีกาที่พระพุทธองค์ตรัสเทศนาแก่พระยาปเสนทิโกศลราชบพิตร ว่า

ในอดีตกาลอันล่วงมาได้ 6 หมื่นกัปแล้ว มีคหบดีแห่งเมืองหงสาวดีมหานครนามว่า กุณฑคหบดี ผู้มีบุตรชาย 3 คน อยู่มาวันหนึ่ง สามกุมารพี่น้องช่วยกันปรุงต้มแกงขึ้นหม้อหนึ่ง โดยแบ่งหน้าที่ให้น้องเล็กรับผิดชอบจุดไฟและควบคุมไฟ พี่คนกลางรับผิดชอบปรุงน้ำพริก ส่วนพี่คนโตคอยดูแลความสุกความดิบของแกง

ระหว่างการปรุงแกง น้องสุดท้องจุดไฟติดบ้างดับบ้าง แรงบ้าง อ่อนบ้าง บางครั้งก็เกิดควันคลุ้งกลบตลบหม้อแกงไปหมด พี่ทั้งสองไม่พอใจก็ด่าว่าและใช้ทัพพีและจ่าคนแกงเคาะตีหัวน้องสุดท้อง น้องเล็กนั้นตัวเล็กกว่าทั้งวัยและร่างกาย ก็ได้แต่โกรธขึ้งอยู่ในอก และกล่าวคำอาฆาตจองเวรไว้ว่า ในชาตินี้พี่ทั้งสองรุมตีด่าว่าจนทั้งเจ็บทั้งอาย แม้นเกิดชาติหน้าฉันใดขอให้มีร่างกายใหญ่โตกว่าพี่ทั้งสอง จนสามารถข่มเหงพี่ทั้งสองให้แค้นเคืองได้ดุจกัน

ในภพต่อมา ด้วยแรงพยาบาทจองเวร จึงยังให้น้องเล็กเกิดเป็นอสุรินทราหู มีร่างกายสูง 4,800 โยชน์ ระหว่างแขนสองข้างกว้าง 1,200 โยชน์ ลำตัวหนา 600 โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้าใหญ่โตวัดได้ 200 โยชน์ ศีรษะใหญ่ 900 โยชน์ หน้าผากกว้าง 300 โยชน์ ระหว่างคิ้ววัดได้ 50 โยชน์ ปากลึก 300 โยชน์ และมีจมูกยาว 300 โยชน์ เช่นกัน

หลับตาวาดภาพเอาเองก็แล้วกันว่า อสุรินทราหูหรือพระราหูในคติทางพุทธนั้นสูงใหญ่สักเพียงไร

ส่วนพี่คนกลางนั้นไปเกิดเป็นพระจันทรเทพบุตร พี่คนโตเกิดเป็นพระสุริยเทพบุตร

ครั้งใดที่พระอาทิตย์หรือพระจันทร์โคจรมาใกล้ เวรแต่หนหลังที่อาฆาตต่อกันมาก็จะมาเตือนจิตสันดานของอสุรินทราหู ชักพาให้ขึ้นมายืนดักรอในวิถีทางเดินของพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ จากนั้นก็จะแกล้งเอามือบดบังพระอาทิตย์หรือพระจันทร์บ้าง เอามาหนีบไว้ใต้คางบ้าง และบ่อยครั้งที่แกล้งเอาใส่ไว้ในอุ้งปากหรือใต้ลิ้น

สุริยุปราคา พระราหู อม จันทร์
สุริยุปราคา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538)

อุทาหรณ์ที่พระพุทธองค์ทรงสาธกในพระเทศนานั้นก็เพียงเพื่อจะเตือนอนุสติให้แก่ผู้ที่ได้สดับพุทธโอวาทให้เห็นอานุภาพแห่งการจองเวร ทรงชี้ให้เห็นถึงรากแก้วแห่งเวรว่าคือโทสะนั่นเอง ทั้งยังทรงชี้หนทางให้ด้วยว่า จอบที่จะขุดรากแห่งเวรนี้ได้ก็คือ ขันติ

ทุกวันนี้ปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคา ในทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายกันได้ด้วยเรื่องของวิถีโคจรของโลก ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ที่โคจรมาในแนวอันพอเหมาะพอดี ทำให้ดวงจันทร์ไปบังดวงอาทิตย์บ้าง หรือเงาของโลกไปทาบบังบนดวงจันทร์บ้าง สามารถคำนวณวัน เดือน ปี แม้แต่ชั่วโมง นาที หรือวินาทีที่จะเกิดคราสขึ้น

แต่สังคมไทยในยุคปัจจุบันที่ยังสับสน พุทธแท้ ๆ ก็ไม่ใช่ ฮินดูหรือพราหมณ์ล้วน ๆ ก็ไม่ใช่ แม้ว่าเราจะเลิกตีเกราะเคาะปี๊บจุดประทัดขับไล่พระราหูให้เลิกอมพระอาทิตย์ หรือพระจันทร์กันแล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะยังมีผู้นับถือกราบไหว้พระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระราหูกันอยู่ ตราบเท่าที่พุทธและพราหมณ์ ยังผสมปนเปกันอยู่อย่างแยกไม่ออก และตราบเท่าที่ดาวนพเคราะห์ทั้งเก้าดวงยังครองความเป็นเจ้าชะตาในทางโหราศาสตร์อยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ราหูอมตะวัน” เขียนโดย เสาวรจนี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2565