ความเสื่อมของคลองรังสิต ที่ “เอาไม่อยู่” ไม่ว่าฝนแล้ง หรือน้ำหลาก

คลองรังสิต มีเรือวิ่งสัญจร
คลองรังสิตขุดขึ้นครั้งแรกโดยบริษัทขุดคลองคูนาสยาม (ภาพจาก "ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457" )

โครงการรังสิต หรือโครงการขุดคลองในพื้นที่ทุ่งรังสิต (คลองรังสิต) เป็นโครงการเพื่อการชลประทานอย่างเป็นระบบแห่งแรกของประเทศ ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแปลงเพาะปลูกข้าว ซึ่งแตกต่างไปจากการขุดคลองก่อนหน้านั้น เช่น คลองแสนแสบ คลองมหาสวัสดิ์ ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม ส่วนการทำนาทำสวนเป็นเพียงผลพลอยได้

แต่ความเดือดร้อนในเรื่อง “น้ำ” สำหรับใช้ทำนาในพื้นที่ทุ่งรังสิต ก็ยังเกิดขึ้นโดยตลอด ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากสภาพของคลองรังสิตเอง

การที่ “คลองรังสิต” ตื้นเขินไม่ได้รับการขุดลอกมาตั้งแต่ปี 2449 ทำให้ชาวนาต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเรือใหญ่ที่เคยเข้ามาซื้อข้าวเข้ามาไม่ได้ ชาวนาต้องเสียเงินจ้างเรือเล็กบรรทุกข้าวไปส่งที่เรือใหญ่ ขณะเดียวกันก็ไม่มีน้ำในฤดูแล้งสำหรับอุปโภคบริโภคในครอบครัวและเลี้ยงปศุสัตว์ ไม่มีเส้นคมนาคมอื่น ๆ นอกจากเกวียน ในปีนี้เองประชาชนถึง 1,000 ครอบครัวอพยพออกจากพื้นที่ และมีการอพยพอย่างต่อเนื่อง

ระหว่างปี 2451-52 เป็นช่วงเวลาที่ปัญหามีความรุนแรงที่สุดช่วงหนึ่ง ด้วยสภาพอากาศผิดปกติ มีฝนตกชุกมาก จนเกิดน้ำท่วม คลองที่มีไม่อาจควบคุมน้ำเอาไว้ได้ คันคลองพังทำให้น้ำไหลบ่าเข้านา ทำนบที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ผู้เป็นเจ้าของโครงการทำไว้พังเสียหาย สุดท้ายนาก็ล่มเสียหาย

ปี 2453-56 มีภาวะฝนแล้งและน้ำมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา ทำให้เกิดความเสียหายหนัก หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ตีพิมพ์รายงานความแห้งแล้งครั้งนั้นว่า มีชาวนาที่รังสิตอดตายไปถึง 4 คน หากทางการชี้แจงว่าคนที่ตายเป็นคนชราและเด็ก

นายเจ โฮมาน วันเดอร์ ไฮเด (J. Homan Van der Heide) วิศวกรชลประทานชาวดัตช์ รับราชการเป็นเจ้ากรมคลอง (ปี 2446-52) ในปี 2445 วิจารณ์โครงการรังสิตว่า เป็นโครงการที่ล้าสมัยและไม่สมบูรณ์ (a very primitive and incomplete scheme) ในปี 2451 ข้อเสนอของนายไฮเดนั้นกล่าวว่า คลองรังสิตลึกเพียง 0.80-1.20 เมตร จากความลึกของคลองที่ขุดไว้ 3.25 เมตร

การอพยพของชาวนาในปี 2449 ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นและในปีต่อมา ส่งผลให้เจ้าของที่ดินขาดค่าเช่า รัฐบาลเองก็ขาดรายได้ ในปี 2452 พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ อธิบดีกรมเพาะปลูก จึงได้ออกไปตรวจการทํานาในทุ่งรังสิต และได้ยื่นรายงานต่อรองเสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า

“ถ้าพิเคราะห์เหตุผลที่การทํานาทุ่งรังสิตร่วงโรยไป ไม่กล่าวถึงน้ำท่วมเมื่อปีกลาย ซึ่งเป็นการผิดแปลกที่นาน ๆ จะมีครั้งหนึ่งแล้ว ข้อสําคัญคือ การบังคับน้ำในทุ่งรังสิตไม่มี คือไม่มีซีสเต็มอิริเกชั่น

คลองที่ได้ขุดไว้นั้นก็เป็นประโยชน์สําหรับการสัญจรไปมามากกว่าอย่างอื่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การทํานาโดยตรง คือ ได้อาศัยน้ำในคลองทําการเพาะปลูกนั้น ก็ชั่วแต่เวลาที่น้ำป่าไหลหลากเท่านั้น

และถ้าน้ำป่าไหลหลากลงมามากเกินต้องการ คลองก็ไม่มีประโยชน์ กลับทําอันตรายด้วย เพราะทางที่จะระบายน้ำออกไม่มีพอ และเมื่อคลองเหล่านี้ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสัญจรไปมาตื้นเขินเสีย ก็ทําให้ประโยชน์นั้นน้อยไป”

ปี 2554-55 การทํานาประสบปัญหาไม่ได้ผลอย่างรุนแรง เป็นผลจากการที่ฝนแล้ง ทําให้เกิดการขาดแคลนน้ำอย่างมาก รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการ มีพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานเพื่อหาทางแก้ไข คณะกรรมการดังกล่าวเสนอว่า วิธีแก้ปัญหานี้ด้วยการชลประทานอย่างแท้จริง

จึงมีการตั้ง “กรมทดน้ำ” ขึ้น โดยว่าจ้างเซอร์ทอมัส วอร์ด ผู้เชี่ยวชาญชลประทานชาวอังกฤษ มาเป็นอธิบดี เขาได้เสนอโครงการย่อย 5 โครงการ ที่เห็นว่าสมควรทำทันที ได้แก่ คลองสุพรรณ, คลองป่าสักใต้, คลองเพชรบุรีตะวันออก, โครงการทดน้ำที่ลำปาง และงานทดน้ำในพื้นที่ราบจากอยุธยาถึงทะเลสองฝั่งเจ้าพระยา

รัฐบาลเลือกทำโครงการป่าสักใต้ก่อน ซึ่งได้แก่การปรับปรุงคลองรังสิตนั่นเอง ด้วยเหตุผลว่า รัฐจะได้ผลประโยชน์โดยตรง เพราะบริเวณรังสิตเป็นที่นาอยู่แล้ว, พื้นที่รังสิตมีคนเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่มาก แม้จะมีอพยพออกไปบ้างก็ตาม, การเข้าไปตั้งหลักแหล่งบนที่ดินใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการเพาะปลูก ถ้าประชาชนถูกดึงจากแหล่งที่ยังไม่มีการเพาะปลูกหรือเพาะปลูกไม่ดีก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะสร้างความเสียหาย

อย่างไรก็ตามโครงการป่าสักใต้ก็มีผู้มองว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเดียว คือเจ้าของที่ดิน และเป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. โจร โรคระบาด ชีวิตชาวนา และการจัดระบบชลประทาน ในทุ่งรังสิตสมัยรัชกาลที่ 5ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2554

สุนทรีย์ อาสะไวย์. ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ.2431-2457, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤศจิกายน 2530


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2563