ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นำภาพยนตร์เรื่อง “แผนเก่า” ผลงานกำกับของเชิด ทรงศรี เมื่อ พ.ศ. 2520 มาบูรณะใหม่ โดยเพิ่งเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2018 ณ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าวใช้ “คลองแสนแสบ” เป็นโลเกชั่นสำคัญของเรื่องหลายฉากด้วยกันตามที่ไม้ เมืองเดิม (ผู้เขียนนวนิยายเรื่องแผลเก่า) กำหนดไว้
หาก “คลองแสนแสบ” ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ไฮไลท์ในหนัง แต่ยังเป็นเส้นทางทัพสำคัญอีกด้วย
เมื่อเดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ (30 ธันวาคม พ.ศ. 2380) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดให้ขุดคลองใหม่ จากตำบลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร ถึงบ้านบางขนาก เมืองฉะเชิงเทรา โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒน์รันราชโกษา (ทัต บุนนาค) แม่กองดำเนินการ เพื่อใช้เป็นเส้นทางส่งยุทธปัจจัยต่างๆ ในสงครามกับญวน แทน “คลองสำโรง”
คลองที่ขุดใหม่นี้มีระยะทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา ราคาค่าจ้างขุดเส้นละ 70 บาท รวมเงินทั้งค่าฟันตอไม้ ค่าแก้คลองพระโขนงข้างปลาย รวมเป็นเงิน 1,260 ชั่ง 13 ตำลึง 2 บาท สลึงเฟื้อง ขุดอยู่ถึง 3 ปีเศษจึงสำเร็จแล้วในปี 2383
โดยเส้นทางใหม่เมื่อคลองขุดเสร็จแล้วจะเป็นดังนี้ เรือจะล่องจากคลองคูเมือง ออกจากคลองมหานาค เข้าคลองบางกะปิไปจนถึงหัวหมากแล้วเข้าคลองบางขนากที่ขุดใหม่ ตัดเข้าแม่น้ำบางปะกงไป ผ่านไปยังปากน้ำโยทะกา (จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำนครนายก-แม่น้ำปราจีนบุรี) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองปราจีนบุรี ตามแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ก่อนจะเข้าเมืองอรัญประเทศและเข้าประเทศเขมร
แต่ถ้าใช้เส้นทาง“คลองสำโรง”เดิม จะไม่สะดวกเพราะต้องล่องเรืออ้อมไปเข้าปากคลองที่พระประแดง (อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) ผ่านบ้านคลองทับนาง บ้านบางพลี (อำเภอบางพลีใหญ่) บ้านเศียรจรเข้ใหญ่ (ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ อำเภอบางเสาธง) บ้านคลองหอมสิน (ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ) ก่อนจะออกแม่น้ำบางปะกงที่ท่าสะอ้าน จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วจึงขึ้นบกไปปราจีนบุรี ประจันตคาม กบินทร์บุรี ฯลฯ ตามลำดับ โดยใช้เส้นทางเมืองปราจีนบุรี-เมืองพระตะบอง
คลองขุดใหม่นี้แบ่งเรียกชื่อเป็น 2 ตอน ตอนต้นคลองเรียกว่า “คลองแสนแสบ” ตอนปลายคลองเรียกว่า “คลองบางขนาก”
ส่วนชื่อของคลองแสนแสบนั้นสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากความเจ็บแสบของชาวบ้านที่ถูกยุงกัด เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างดี มีรายงานของนักสำรวจชาวอังกฤษ ที่ชื่อว่า ดี.โอ.คิง. (D.O.King) ได้กล่าวถึงคลองแสนแสบนี้ว่า
“…คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการปลูกข้าว โดยเฉพาะคนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไม้ไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ…”
ส. พลายน้อย มีความคิดเห็นที่มาของชื่อคลองแสนแสบที่ต่างออกไป “ปรีดา ศรีชลาลัย อ้างว่าสมัยหนึ่งเคยเรียกทะเลว่า เส หรือ แส เช่น หลงเส หรือเสหล่ง เท่ากับเสหลวง พงศาวดารเชียงแสนเรียกว่า หนองแส ที่ “แส-สาบ” กลายเป็น “แสนแสบ” มีตัวอย่างคำ แม้เป็นแม้น แสจึงเป็นแสน ปลาบเป็นแปลบ ฉะนั้นสาบจึงเป็นแสบได้”
และมีนักภาษาศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า ชื่อคลองแสนแสบมาจากภาษามลายูว่า Su-ngai Senyap อ่านว่า สุไหง เซนแญป ซึ่งแปลว่า คลองเงียบสงบ ซึ่งตรงกับลักษณะของกระแสน้ำครองนี้ ผู้ที่เรียกสุไหง เซนแญป คือชาวไทรบุรี ระยะหลังถูกเปลี่ยนเป็นแสนแสบ เพราะว่าคนไทยเรียกแบบเดิมไม่ถนัด
ดูเพิ่มเติม เปิดตำนานคลองแสนแสบในรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “ขวัญของเรียม คลองแสนแสบ เส้นทางยุทธศาสตร์และขนส่ง”
อ่านเพิ่มเติม :
- แลหลัง-ฟังเพลง : เพลงขวัญของเรียม เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งยุค “แผลเก่า”
- คลอง “แสนแสบ” ชื่อนี้มาจากไหน หรือจะมาจากยุง?
ข้อมูลจาก :
ส. พลายน้อย.“แสนแสบ บางกะปิ”ใน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2537
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : มติชน (2551).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2561