เปิดประวัติเขต (คลอง) บางบอน ฤๅเกี่ยวกับใบบอน?

บางบอน เขตบางบอน คลองบางบอน
(ภาพจาก 'เขตคลองมองเมือง’ มติชน, 2565)

ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “บาง” คือ ทางน้ำเล็ก ๆ และถิ่นฐานบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ ส่วน “บอน” นั้น น่าจะมาจากพืชที่มีใบใหญ่คล้ายรูปหัวใจ มักขึ้นตามริมน้ำ มียางคัน ใบไม่เปียกน้ำ สามารถนำก้านใบมาประกอบอาหารได้ “บางบอน” จึงเป็นบริเวณที่มีต้นบอนขึ้นมาก และเรียกขานคลองที่อยู่บริเวณนั้นว่า คลองบางบอน 

คลองบางบอน ปรากฏในแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ พ.ศ. 2444 ที่เชื่อมจากคลองด่านตัดกับคลองมหาชัย แต่ปัจจุบัน คลองบางบอนจะเริ่มจากทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ถึงคลองสุรศักดิ์ มีความยาว 9,114 เมตร

จากเอกสารประวัติศาสตร์ พบนามบางบอนใน โคลงนิราศทวาย ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระพิพิธสาลี กวีในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่งขึ้นในคราวที่รัชกาลที่ 1 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปรบกับพม่าที่เมืองทวาย เมื่อวันแรม 4 ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด ตรงกับวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2335

ตามเส้นทางผ่านคลองบางกอกหรือคลองบางหลวง เข้าบางยี่เรือ บางขุนเทียน บางบอน ออกไปแสมดำ เข้าคลองมหาชัย แม่น้ำท่าจีน คลองสุนัข แม่น้ำแม่กลอง บางกุ้ง บางบำหรุ เข้าสู่เมืองราชบุรี บ้านเจ็ดเสมียน โพธาราม ไปยังแม่น้ำแควน้อย วัดตะเคียน จระเข้เผือก โคลงนิราศทวายจบเรื่องเมื่อขึ้นฝั่งแล้วเดินเท้าต่อไป

สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ฉบับพระยาทิพากรวงศ์ ที่ว่าทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหยุดอยู่ที่ลำน้ำน้อย จังหวัดกาญจนบุรี

“ดลปากบางชื่อบ้าน   บางบอน

กามระลุงทรวงฟอน   ฟ่ามแล้ว

เรียมแสนทุกข์อาทร   ทนเทวษ

ถนัดหนึ่งบอนกาบแก้ว   แยบไส้เรียมคาย ฯ”

เช่นเดียวกับในโคลงนิราศนรินทร์ แต่งโดยนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็กล่าวถึงบางบอนไว้เช่นกันว่า

“เรือมามาแกล่ใกล้   บางบอน

ถนัดหนึ่งบอนเสียดซอน   ซ่านไส้

จากมาพี่คายสมร   เสมอชีพ เรียมเอย

แรมรสกามาไหม้   ตากต้องทรวงคาย ฯ”

เมื่อมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ประกาศ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 กำหนดให้มีบ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และเมืองนั้น สันนิษฐานว่า จะเริ่มเรียกขานพื้นที่ในบริเวณบ้านบางบอนว่า ตำบลบางบอน

พ.ศ. 2483 มีประกาศเปลี่ยนแปลงเขตตำบลและอำเภอในจังหวัดพระนครและธนบุรี โดยระบุว่า ให้รวมตำบลบางบอนใต้ ตำบลแสมดำ ตำบลบางบอนเหนือ จัดตั้งตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ตั้งชื่อว่า ตำบลบางบอน

เมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ให้รวมจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเป็นจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 25 ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพ และเทศบาลนครธนบุรีเป็นเทศบาลนครหลวง

รวมทั้งในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ให้เปลี่ยนนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นกรุงเทพมหานคร และพระราชกฤษฎีกาแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็นเขต พ.ศ. 2516 ให้แบ่งพื้นที่การปกครองเป็นเขตและแขวงนั้น ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน จึงเปลี่ยนนามเป็นแขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้แยกแขวงบางบอนในเขตบางขุนเทียนออกไปจัดตั้งเป็นเขตใหม่ คือ เขตบางบอน และวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 กรุงเทพฯ ประกาศยุบแขวงบางบอน ตั้งเป็นแขวงใหม่ 4 แขวง ได้แก่ แขวงบางบอนเหนือ แขวงบางบอนใต้ แขวงคลองบางพราน และแขวงคลองบางบอน

ปัจจุบัน เขตบางบอนมีพื้นที่รวม 34.74 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 4 แขวง ได้แก่ แขวงบางบอนเหนือ แขวงบางบอนใต้ แขวงบางพราน และแขวงคลองบางบอน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “เขตคลองฝั่งพระนคร : เขต(คลอง)บางบอน” ในหนังสือ ‘เขตคลองมองเมือง’ เขียนโดย บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพาณิช (มติชน, 2565) [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566