ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
นามเขต “ลาดกระบัง” เป็นนามเดียวกับ คลองลาดกระบัง ที่ไหลผ่าน ปัจจุบันคลองลาดกระบังเริ่มจากคลองประเวศบุรีรมย์ไปจนถึงในพื้นที่เขตสิ้นสุดเขตกรุงเทพฯ มีความยาวทั้งสิ้น 1,245 เมตร
คำว่า “ลาด” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง เทต่ำ หรือเอียงอย่างช้า ๆ ส่วนคําว่า “กระบัง” นั้นไม่ปรากฏ มีแต่คําว่า “กะบัง” มีความหมายว่า เครื่องกั้น เครื่องรับ เครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง รูปร่างเหมือนแหรูปกรวยแหลม ใช้วางกั้นทางน้ำเพื่อดักปลา
ในแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ พ.ศ. 2444 ปรากฏ “คลองราชกะบัง” เป็นแนวคลองที่ไหลจากทิศเหนือลงใต้มารวมกับคลองบางซื่อใหญ่ที่เชื่อมต่อคลองสําโรง ซึ่งเป็นคลองขวางจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปคลองบางพลี แต่ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2463 ในประกาศเก็บเงินอากรค่านากลับพบตําบลลาดกระบังอยู่ในอําเภอแสนแสบ
วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 7 เปลี่ยนชื่ออำเภอแสนแสบเป็นอำเภอลาดกระบัง ด้วยเหตุผลว่า ที่ว่าการอำเภอนั้นตั้งอยู่ในตำบลลาดกระบัง อีกทั้งคลองประเวศบุรีรมย์มิได้อยู่ในตำบลแสนแสบ หรือเกี่ยวกับคลองแสนแสบ จึงสมควรเปลี่ยนชื่ออำเภอให้ตรงกับที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ
ตรงกับความในหนังสือภูมิศาสตร์มณฑลกรุงเทพฯ พ.ศ. 2474 ที่ระบุว่า “ที่ว่าการอำเภอลาดกระบังตั้งอยู่ที่ตำบลลาดกระบัง ริมคลองประเวศบุรีรมย์กับริมคลองสองต้นนุ่นทางทิศใต้ของอำเภอมีนบุรี ประกอบด้วย 5 ตําบล มีประชากรราว 16,459 คน”
การเดินทางติดต่อกับจังหวัดมีนบุรีต้องอาศัยเรือจ้างผ่านทางคลองสองต้นนุ่น แต่ถ้าเป็นฤดูแล้ง น้ำในคลองแห้ง ต้องเดินทางด้วยเรือยนต์ตามคลองแสนแสบ และขึ้นรถไฟที่สถานีคลองตันมาลงที่สถานีคลองสอง ส่วนการเดินทางไปพระนครจะสะดวก ไปได้ทั้งทางรถไฟและทางเรือ โดยทางรถไฟนั้นใช้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกไปลงที่สถานีคลองสอง ส่วนทางเรือลงที่เชิงสะพานเฉลิมโลกไปตามคลองบางกะปิและคลองพระโขนงจนถึงสี่แยกหัวตะเข้ ตำบลลาดกระบัง
หนังสือภูมิศาสตร์ มณฑลกรุงเทพฯ อธิบายถึงตลาดหัวตะเข้เมื่อ พ.ศ. 2472 ว่าเป็นตลาดที่ตั้งอยู่ตรงจุดตัดระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์ คลองศีรษะตะเข้ และคลองลำปลาทิว ในเวลานั้นเป็นย่านที่คึกคักและทันสมัย เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้ามากมายที่มาจากกรุงเทพฯ กับข้าวเปลือกที่ส่งไปโรงสีไฟ และปลาน้ำจืดที่ส่งไปขายที่กรุงเทพฯ
เมื่อครั้งยุบจังหวัดมีนบุรีใน พ.ศ. 2475 อําเภอลาดกระบังจึงมารวมอยู่ในจังหวัดพระนคร แต่ถูกลดเป็นกิ่งอําเภอลาดกระบังไปขึ้นกับอําเภอมีนบุรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2481 และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 มีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอลาดกระบังขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าเริ่มมีประชากรมากขึ้น ท้องที่เจริญขึ้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2504 โอนตำบลแสนแสบไปขึ้นกับอำเภอมีนบุรี
เมื่อ พ.ศ. 2521 รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดฝั่งธนบุรีเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเปลี่ยนเป็นเขตการปกครองพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงเปลี่ยนมาเป็นเขตลาดกระบังใน พ.ศ. 2516
ปัจจุบัน เขตลาดกระบังมีพื้นที่รวม 123.859 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 6 แขวง ได้แก่ แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลําปลาทิว แขวงทับยาว และแขวงขุมทอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ต้นคลองปลายคลองของ มหานาค-บางกะปิ-แสนแสบ อยู่ที่ไหน
- เปิดที่มา ชื่อเขต “บางกะปิ” เกี่ยวอะไรกับของกินอย่าง “กะปิ” ไหม?
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “เขตคลองฝั่งพระนคร : เขต(คลอง)ลาดกระบัง” ในหนังสือ ‘เขตคลองมองเมือง’ เขียนโดย บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพาณิช (มติชน, 2565) [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2566