ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อพูดชื่อ “บางกะปิ” เขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร หลายคนอาจมีภาพจำที่ต่างกันไป บ้างนึกถึงแหล่งรวมมัสยิด บ้างนึกถึงตำนานความรักขวัญเรียม ส่วนคอกีฬาหรือสายดูคอนเสิร์ต อาจนึกถึงราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาใหญ่สุดของไทย แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงเรียก “บางกะปิ” เขตนี้มีที่มาจากวัตถุดิบในการปรุงอาหารหรือเปล่า?
“บางกะปิ” มาจากไหน?
หากอ้างอิงตามข้อสันนิษฐานของ ส. พลายน้อย นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ศิลปินแห่งชาติด้านวรรณศิลป์ ประจำปี 2553 อาจกล่าวได้ว่า เขตบางกะปิ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับของกินอย่าง “กะปิ” เลยแม้แต่นิด
ส. พลายน้อย อธิบายไว้ว่า กะปิ ในที่นี้ หมายถึงผ้าโพกศีรษะของผู้ชายมุสลิม โดยย่อมาจากคำว่า “กะปิยะฮะห์” เนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 3 มีการกวาดต้อนชาวมลายูมาจากเมืองไทรบุรี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย)
เมื่อมีการกวาดต้อนเชลยศึกเข้ามา ชาวมลายูเหล่านี้ได้กลายมาเป็นแรงงานในการขุดคลอง มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณทุ่งบางกะปิ จนเกิดเป็นชุมชนชาวมุสลิมขึ้น และทำหมวกกะปิยะฮะห์เพื่อค้าขายประทังชีวิต ชาวบ้านที่ผ่านไปมาจึงเรียกชุมชนแถบนั้นว่า “บางกะปิยะฮะห์” ก่อนจะผันแปรมาเป็น “บางกะปิ”
ส่วนหนังสือ “เขตคลองมองเมือง” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช ได้สันนิษฐานที่มาของชื่อบางกะปิว่า อาจมาจากคำว่า “กบี่” หรือ “กระบี่” ที่แปลว่า ลิง หากอิงตามตราประจำเขตบางกะปิในปัจจุบัน
แต่ในหนังสือ “100 ปี เขตบางกะปิ : ย้อนรอยตำนาน ร้อยอดีต 100 ปี เขตบางกะปิ” บอกว่า ชื่อบางกะปิ อาจมีที่มาจาก “กะปิ” เครื่องปรุงรสสีน้ำตาลเข้มที่เรามักรับประทานกันก็เป็นได้ เนื่องจากเดิมพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยกุ้งเล็ก ๆ มากมาย ผู้คนยุคนั้นจึงนำมาทำเป็นกะปิ
อย่างไรก็ดี ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดถึงที่มาของชื่อเขตบางกะปิ แต่ไม่ว่าจะแบบไหน ก็ล้วนแสดงถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- จากเชลยสงคราม สู่เจ้าที่ดิน
- ที่มาเขต “บางซื่อ” กับตำนานเรื่องเล่าพระเจ้าอู่ทองเอาทองมาซ่อนในย่านคนซื่อ
- ต้นคลองปลายคลองของ มหานาค-บางกะปิ-แสนแสบ อยู่ที่ไหน
อ้างอิง :
บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. เขตคลองมองเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.
ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง และกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตบางกะปิ. 100 ปี เขตบางกะปิ : ย้อนรอยตำนาน ร้อยอดีต 100 ปี เขตบางกะปิ. กรุงเทพฯ: สำนักงานเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, 2555.
นนทพร อยู่มั่งมี. “จากเชลยสงครามในประวัติศาสตร์เชิดชูท้องถิ่นสู่เจ้าของที่ดิน ชีวิตและการดิ้นรนของ ‘แขก’ ในทุ่งรังสิต”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2566