จากเชลยสงคราม สู่เจ้าที่ดิน

บ้านเรือนของราษฎรที่อยู่อาศัยในคลองรังสิต สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในประวัติศาสตร์เมื่อกล่าวถึงสงคราม มันมักจะตามมาด้วย การกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สิน เรื่องราวผู้คนที่ถูกกวาดต้อน หรือเชลยสงคราม ก็จะเป็นไปในมุมที่ถูกกดขี่ข่มเหงเป็นหลัก ซึ่งเป็นการมองเพียงเชลยอย่างเดียว แล้วถ้าผนวกบริบทต่างๆ ที่แวดล้อมเข้าไปร่วมพิจารณาจะเป็นเช่นไร

นั่นคือประเด็นที่ ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอไว้ในบทความที่ชื่อ “จากเชลยสงครามในประวัติศาสตร์เชิดชูท้องถิ่น สู่เจ้าของที่ดิน ชีวิตและการดิ้นรนของ ‘แขก’ ในทุ่งรังสิต” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับมกราคม 2566

เริ่มจากกลุ่มคนที่เรียกว่า “แขก” ก่อนว่าเป็นใคร

ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี อธิยายไว้ว่า ชาวสยามใช้คำว่า “แขก” เรียกบุคคลที่มาจากฝั่งตะวันตกของประเทศไทยซึ่งไม่ใช่พวกฝรั่ง และใช้เรียกมุสลิมกลุ่มต่างๆ ดังนั้น “แขก” จึงมี 2 กลุ่มด้วยกันคือ 1. ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ แขกมลายู แขกจาม แขกยะวา (แขกชวา) แขกมักกะสัน และแขกเจ้าเซ็น (แขกมะหง่น) เป็นต้น 2. ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ได้แก่ แขกพราหมณ์หรือแขกฮินดู และแขกซิกข์ เป็นต้น สำหรับทุ่งรังสิต “แขก” ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มาจากพื้นที่ต่างๆ

แล้ว “แขก” เหล่านั้นมาเป็นเชลยสงครามตั้งแต่เมื่อใด

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการทำสงครามกับหัวเมืองมลายูเป็นช่วงรัชกาลที่ 1-3 ดังตัวอย่างต่อไปนี้

พ.ศ. 2332 รัชกาลที่ 1 เมื่อทรงทราบความจากทูตขององเชียงสือเชื้อพระวงศ์เวียดนามว่า รายาเมืองตานีติดต่อกับเวียดนามให้ทำสงครามกับกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำกองทัพเรือไปโจมตี สามารถจับตัวรายาเมืองตานีได้และให้กวาดครอบครัวเมืองตานีเข้ามา ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 เมือง

พ.ศ. 2364 ท่าทีของเมืองไทรบุรีเริ่มเอนเอียงจากกรุงเทพฯ มากขึ้นด้วยการไม่ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาทูลเกล้าฯ ถวายตามกำหนด รัชกาลที่ 2 จึงทรงให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพตีเมืองในปีนั้น และมีการกวาดต้อนครัวเรือนไทรบุรีบางส่วนส่งเข้ามากรุงเทพฯ

พ.ศ. 2374 เมืองไทรบุรีได้ต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่กรุงเทพฯ อันมีผลมาจากความไม่พอใจข้าราชการไทยที่มาปกครองก่อนหน้านั้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันมาจากอุทกภัยในปีนั้นเพิ่มความไม่พอใจทางการเมืองให้มากขึ้น  ตนกูกูเด่น หลานชายของสุลต่านพระองค์ก่อนรวบรวมไพร่พลเข้ายึดเมืองไทรบุรีโดยได้รับการสนับสนุนจากหัวเมืองแขกทั้ง 7 เมือง รัชกาลที่ 3 มีรับสั่งให้ส่งกองทัพไปปราบ แต่ไม่สำเร็จผลจนกระทั่ง พ.ศ. 2375 สามารถปราบปรามหัวเมืองเหล่านี้ลงได้ด้วยกองทัพของเมืองนครศรีธรรมราช และกองทัพจากกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งนำโดยเจ้าพระยาพระคลัง

“เจ้านายจากหัวเมืองมลายู” ในฉากท่าน้ำหน้าประตูเมืองริมสายน้ำเจ้าพระยา ปรากฏการบันทึกเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร โดยช่างเขียนในสมัยรัชกาลที่ 3

เหตุของสงครามนั้นเกิดจากผู้ปกครองรัฐที่มีอำนาจปกครอง มองว่ารัฐที่มีอำนาจน้อยกว่า งดเว้นหรือกระทำการอันแสดงถึงความภักดีที่แปรเปลี่ยนไปเข้ากับรัฐที่ถือว่าเป็นคู่แข่งของสยามอย่างพม่า หรือเวียดนาม (ในบางรัชกาล), ก่อความเดือดร้อนแก่ราษฎรอย่างร้ายแรง เช่น การเป็นโจรสลัด  ส่วนการแก้ปัญหามักจบลงด้วยการทำสงครามระหว่างรัฐเพื่อขจัดหรือจำกัดบทบาทผู้ปกครองเดิมลงไป และการกวาดต้อนราษฎรจากหัวเมืองมลายู หรือเชลยสงครามมายังสยาม

เชลยที่กวาดต้อนมาก็จะให้ตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น สี่แยกบ้านแขก (ธนบุรี) ทุ่งครุในอำเภอพระประแดง (จังหวัดสมุทรปราการ) ท่าอิฐใน จังหวัดนนทบุรี บางคอแหลม มหานาค พระโขนง เมืองมีนบุรี หนองจอก ทุ่งแสนแสบ ในกรุงเทพมหานคร ฯลฯ พร้อมกับการตั้งหัวหน้าชุมชนตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ปกครองได้โดยง่าย

และอย่างที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น “เชลยศึก” ไม่ได้เป็นเรื่องของสงครามแต่เพียงมิติเดียว

ภาพถ่ายเก่าคลองแสนแสบแถวย่านมีนบุรี ไม่ทราบปีที่ถ่าย

ในรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากการลงนามระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ.2398 สนธิสัญญาฉบับนี้ส่งผลให้ไทยต้องดำเนินนโยบายการค้าเสรีแทนที่การผูกขาดของรัฐ โดยสินค้าส่งออกคือ ข้าว ไม้สัก ดีบุก ฯลฯ แทนของป่าต่างๆ ที่รวบรวมจากธรรมชาติเช่นก่อนหน้านั้น

นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณที่ลุ่มภาคกลาง  โดยโครงการขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในขณะนั้นก็คือ โครงการทุ่งรังสิต ของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งดำเนินการโดยการร่วมทุนระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ ขุนนาง พ่อค้าชาวจีนและชาวตะวันตก ใน พ.ศ. 2431 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้สัมปทานขุดคลองเป็นเวลา 25 ปี ในการขุดคลองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นการเปิดที่นาจำนวนหลายแสนไร่

ซึ่งช่วงเวลานั้น การตั้งถิ่นฐานของมุสลิมเชื้อสายมลายู (อดีตเชลยศึก ที่กลืนกลายเป็นราษฎร) เริ่มเป็นหลักแหล่งมากขึ้น ทั้งยังมีการผสมผสานของมุสลิมกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมด้วย ประกอบกับการคมนาคมที่สะดวกขึ้นหลังจากมีการขุดคลองแสนแสบ จึงเกิดความต้องการที่นามากขึ้น

โครงการทุ่งรังสิตจึงนับเป็นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มชนมุสลิมเข้ามาจับจองที่ดินจำนวนมากเพื่อการทำนาซึ่งเป็นการตอบสนองต่อสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งมาจากพื้นที่ของการขุดคลองที่คาบเกี่ยวกับบริเวณทุ่งแสนแสบที่เป็นชุมชนของกลุ่มชนมุสลิม

แต่ภายหลังบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามเข้ามาดำเนินการขุดคลองและเปิดให้จับจองที่ดิน กลับเกิดความผิดพลาดในเรื่องการจับจองที่ดิน เช่น เอกสารสิทธิไม่ชัดเจน สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องกรรม สิทธิ์ที่ดินจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายรวมทั้งกลุ่มราษฎรมุสลิมในพื้นที่ซึ่งต่างก็ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้ครอบครองที่ดิน ทั้งเป็นผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำและบางครั้งจะจบลงด้วยความรุนแรงก็ตาม

การต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดิน กลุ่มราษฎรมุสลิมได้ดำเนินการอย่างไร  เกิดผลกระทบกับสังคมอย่างไร การดำเนินการรับมือของทางการเป็นอย่างไร ทั้งหมดของท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมกราคม 2566 นี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2566