ทำไมประเทศไทยถึงใช้ “ปีงบประมาณ” เริ่ม 1 ตุลาคม-30 กันยายน?

การประชุมสภาฯ พระที่นั่งอนันตสมาคม ปีงบประมาณ
ภาพถ่าย พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อ ค.ศ. 1948 ขณะถูกใช้เป็นสถานที่จัดประชุมรัฐสภา (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

พ.ศ. 2481 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยน “ปีงบประมาณ” ใหม่ จากเดิมที่เริ่มต้นเดือนเมษายน-สิ้นเดือนมีนาคมปีถัดไป เป็นเริ่มเดือนตุลาคม-สิ้นเดือนกันยายนปีถัดไป (ซึ่งเป็นแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน)

ทำไมไม่เปลี่ยน “ปีงบประมาณ” ให้สอดคล้องกับ “ปีปฏิทินสากล” แต่เปลี่ยนเป็น ต้นเดือนตุลาคม-สิ้นเดือนกันยายน

Advertisement

เหตุผลสำคัญกับเรื่องนี้คือ “รัฐบาลจะได้เปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ให้ถูกต้องตามฤดูกาล” ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ กว่า 20 ประเทศ

20 กว่าประเทศนั้น ไม่ได้กำหนดเวลางบประมาณตามปฏิทินหลวงของเขา แต่กำหนดตามฤดูและภูมิประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ปฏิทินหลวงเริ่มต้นเดือนมกราคม แต่ปีงบประมาณเริ่มในเดือนเมษายน เพราะเป็นฤดูใบไม้ผลิเขาเพิ่งเริ่มทำงานใหม่

นายปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงเรื่องนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พอสรุปได้ว่า

“…การที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่…คำนึงถึงดินฟ้าอากาศของประเทศสยาม…การงานของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่จะทำได้ภายนอกสถานที่ เช่นงานโยธาต่างๆ นั้น ก็มักจะทำได้ในระหว่างฤดูแล้ง และฤดูแล้งนี้ก็เป็นฤดูที่ติดต่อกันระหว่างเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน

…เดือนมกราคม ธันวาคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม เจ้าหน้าที่ก็จะต้องคอยเป็นห่วงงบประมาณ…เตรียมการทำงบประมาณ ถ้าหากว่าเราได้เปลี่ยนฤดูงบประมาณเช่นนี้แล้ว เราก็จะทำการงานภายนอกสถานที่ได้ เพราะไม่ต้องเกี่ยวข้องหรือเป็นห่วงถึงงบประมาณ

อีกประการหนึ่ง…ปีตามปฏิทินหลวงได้เสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม…ถ้าหากว่างบประมาณเป็นไปตามเดิม [1 เมษายน- 31 มีนาคม] แล้ว งบประมาณก็ใช้วันที่ 1 เมษายน กว่ากระทรวงการคลังจะได้สั่งเสียไปยังเจ้าหน้าที่ต่างๆ และเดือนเมษายนก็เป็นเดือนที่หยุดราชการด้วย งบประมาณที่จะได้รับในจังหวัดต่างๆ ก็จะตกไปถึงในเดือนมิถุนายน หรือพฤษภาคม ก็เริ่มฤดูฝน ทำอะไรไม่ได้

อีกอย่างหนึ่ง…รัฐบาลต้องการจะให้หนักไปในทางปฏิบัติ…จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของเราออกไปควบคุมดูแลกิจการนอกสถานที่ให้มากยิ่งขึ้น…ฤดูที่สะดวกก็คือฤดูแล้ง เพื่อให้เห็นของจริงว่าเขาทำงานประการใด แต่ก็ต้องมาพะวงกับเรื่องงบประมาณ พอถึงฝนมาก็เป็นฤดูที่เราว่าง นี่ก็ไม่ตามฤดูกาลอีก

ประการต่อไป การที่จะคำนวณรายได้รายจ่ายของงบประมาณ…เราจะคำนวณกันได้ ก็โดยอาศัยหลักใหญ่ ซึ่งในปีหนึ่งพลเมืองส่วนมาก ซึ่งเป็นกสิกรได้ทำมาค้าขึ้นได้เพียงใด ในการที่เราจะรู้ได้ก็ต้องให้เสร็จฤดูกาลจริงๆ หมายความว่าให้เสร็จฤดูเก็บเกี่ยว”

ซึ่งที่ประชุมรับหลักการและอนุมัติให้ใช้เป็นกฎหมายได้ “ปีงบประมาณ” แบบใหม่ คือ 1 ตุลาคม – 30 กันยายน ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2482

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2513), กลุ่ม “รัฐกิจเสรี” จัดพิมพ์ครั้งที่ 2


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2567