26 เมษายน 1986: หายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

โรงไฟฟ้า เชอร์โนบิล หลังเหตุการณ์ ระเบิด
เชอร์โนบิล ถ่ายเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1986 (Photo by ZUFAROV and - / TASS / AFP)

อุบัติเหตุครั้งประวัติศาสตร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” ในอดีตสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันเป็นประเทศยูเครน) เกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 26 เมษายน 1986 ตามเวลาท้องถิ่น ระหว่างการทดสอบระบบความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 4 ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน เพื่อทดสอบว่าเครื่องปั่นไฟสำรองที่ให้พลังงานแก่เครื่องสูบน้ำหล่อเย็นหลักจะสามารถทำงานได้นานเพียงใด หากระบบไฟฟ้าหลักถูกตัดขาด ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงไฟฟ้าเคยทำการทดสอบลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว

สมาคมนิวเคลียร์โลก ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์อ้างว่า อุบัติเหตุจากการทดสอบดังกล่าวเป็นผลมาจากการออกแบบที่บกพร่อง บวกกับการขาดความชำนาญและการประสานงานของเจ้าหน้าที่

Encyclopedia Britannica อธิบายเหตุดังกล่าวว่า ก่อนการทดสอบซึ่งออกแบบมาไม่ดีนัก คนงานได้ปิดระบบควบคุมพลังงานของเครื่องปฏิกรณ์ รวมถึงระบบป้องกันภัยในภาวะฉุกเฉิน และยังถอดแท่งควบคุมปฏิกริยา (control rod เครื่องมือควบคุมปฏิกริยาฟิชชั่น) ออกจากแกนเครื่องปฏิกรณ์เกือบทั้งหมด ในขณะที่ปล่อยให้เครื่องปฏิกรณ์เดินเครื่องด้วยระดับพลังงาน 7 เปอร์เซนต์ เมื่อบวกกับความผิดพลาดประการอื่นๆ

ถึงเวลา 1.23 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 26 เมษายน ปฏิกริยาลูกโซ่ในแกนเครื่องปฏิกริยาไม่อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้อีก เกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้ทั้งเหล็กและคอนกรีตที่สร้างครอบเครื่องปฏิกรณ์แตกกระจาย ปล่อยกัมมันตรังสีออกสู่ชั้นบรรยากาศ

วันที่ 27 เมษายน ชาวบ้านในเมืองพริพยาท (Prypyat) กว่า 3 หมื่นคนถูกอพยพออกจากเมือง ขณะที่รัสเซียพยายามปกปิดเหตุที่เกิดขึ้น แต่ในวันที่ 28 เมษายน มีการตรวจพบระดับรังสีที่สูงผิดปกติในสวีเดน หลังถูกกดดันให้อธิบายถึงสาเหตุ รัฐบาลโซเวียตยอมรับว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล แต่ยังพยายามปัดป้องถึงอันตรายจากกัมมันตรังสีที่เล็ดลอดออกมา

ภาพถ่าย การซ่อมแซมโรงไฟฟ้า เชอร์โนบิล หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิด
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1986 แสดงการซ่อมแซมโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลหลังเกิดเหตุการณ์ระเบิด (AFP PHOTO / TASS / ZUFAROV)

เบื้องต้นอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ราย อีกหลายรายต้องเจ็บป่วยจากรังสีอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และยังมีผู้คนอีกหลายสิบล้านคนที่ได้รับรังสีในระดับที่สูงผิดปกติ ด้วยรังสีที่ถูกพัดไปตามกระแสลมไกลถึงฝรั่งเศสและอิตาลี และมีระดับที่เข้มข้นกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถูกทิ้งในฮิโรชิมะและนางาซากิหลายเท่า

แม้จะมีการอพยพผู้คนนับหมื่นออกจากพื้นที่ แต่ยังมีประชาชนอีกนับแสนคนที่ยังอาศัยในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสี หลายปีต่อมาพบปศุสัตว์ในพื้นที่จำนวนมากที่คลอดลูกออกมาพิกลพิการ เช่นเดียวกับประชาชนบางส่วนที่มีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากการกระตุ้นของรังสี และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งในระยะยาว เป็นความเจ็บปวดในหน้าประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี ปัญหาผลกระทบจากกัมมันตรังสีในระยะยาวยังคงเป็นที่ถกเถียง สมาคมนิวเคลียร์โลกอ้างรายงานของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านผลกระทบจากรังสีอะตอมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNSCEAR) ว่า นอกจากการเพิ่มขึ้นของมะเร็งไทรอยด์แล้ว “ไม่มีหลักฐานของผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรงจากการได้รับรังสีในช่วง 20 ปี หลังการเกิดอุบัติเหตุ”

สภาพ เมืองพริพยาท ชิงช้าสวรรค์ หลังระเบิด ที่ เชอร์โนบิล
ภาพถ่ายชิงช้าสวรรค์ในเมืองพริพยาทเมื่อปี 1996 ครบรอบ 10 ปี หลังเกิดอุบัติเหตุที่ เชอร์โนบิล (AFP PHOTO / TASS)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

Chernobyl disaster (Encyclopedia Britannica), Chernobyl Accident 1986 (Word Nuclear Association)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2560