พัฒนาการพลังงานโลก จากถ่านหิน-น้ำมันวาฬ-น้ำมัน ฯลฯ

โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งในไทย (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

มนุษย์ต้องการ “พลังงาน” สำหรับภารกิจหลักๆ คือ การให้ความร้อน/ความเย็น, ผลิตแสงสว่าง, ให้พลังงานแก่อุปกรณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันและยามฉุกเฉิน จากแหล่งพลังงานหลักๆ อย่างไฟฟ้าและน้ำมันที่เราคุ้นเคย

หากพลังงานก็เหมือนสิ่งอื่นที่เริ่มต้นจากสิ่งง่ายไม่ซับซ้อน เช่น ฟืนจากไม้, น้ำมันจากพืช/สัตว์ แล้วพัฒนาตามความก้าวหน้าของวิทยาการ ซึ่งเส้นทางของการพัฒนาของพลังงานนี้ ฟิลิป ค็อกแกน-เขียน (พลอยแสง เอกญาติ-แปล) อธิบายไว้ในบทความชื่อ “ภารกิจเพื่อพลังงาน” ในหนังสือ More เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี (สนพ.มติชน, 2565) พอสรุปได้ดังนี้


 

เชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดแรกที่มีการนำมาใช้คือ ถ่านหิน ซึ่งเกิดจากซากพืชในป่าพรุเมื่อหลายล้านปีก่อน ชาวจีนนำถ่านหินมาใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา [1] อังกฤษนั้นโชคดีที่มีแหล่งถ่านหินจำนวนมากอยู่ใกล้พื้นผิวโลกจึงสามารถนำมาใช้ได้ง่าย ในทศวรรษ 1560 พวกเขาผลิตถ่านหินได้ราว 177,000 ตันต่อปี…

……..

…ในปี 1712 อุตสาหกรรมจำนวนมากในอังกฤษเปลี่ยนจากการใช้ไม้เป็นถ่านหินแล้ว ตั้งแต่อุตสาหกรรมโรงกลั่นและเผาอิฐไปจนถึงอุตสาหกรรมเป่าแก้ว และผลิตสบู่ [2] ดังนั้นการมีแหล่งถ่านหินเพิ่มจึงทำให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นขยายตัวได้ง่ายขึ้นในศตวรรษที่ 18 ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณความต้องการขนส่งถ่านหินในระยะไกลขึ้นยังไปกระตุ้นการพัฒนารถไฟ และเส้นทางการเดินเรือด้วย การใช้ถ่านหินเพื่อทำความร้อนยังนำไปสู่การออกแบบบ้านให้มีปล่องไฟเพื่อนำควันออกจากที่อยู่อาศัยด้วย

พื้นที่อื่นๆ ในยุโรปที่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเข้าสู่แบบอุตสาหกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศสตอนเหนือ และรูห์ในเยอรมนี ต่างก็อยู่ใกล้แหล่งถ่านหิน การศึกษาหนึ่งพบว่าเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งถ่านหินเติบโตได้เร็วกว่าเมืองอื่นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (แต่ไม่ใช่ก่อนหน้านั้น) และการใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยถ่านหินก็ส่งผลต่อการเติบโตของเมืองในยุโรประหว่างปี 1750-1900 ถึง 60% [3]

ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ทุกคนจะเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของถ่านหินในการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ก็ยากจะเห็นว่ามนุษย์จะหาพลังงานจากแหล่งอื่นมาใช้ให้เพียงพอได้อย่างไร อี. เอ. ริกลีย์ (E. A. Wrigley) ประเมินว่าพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของอังกฤษ คงต้องปกคลุมไปด้วยต้นไม้หากอยากได้พลังงานเท่ากับที่ได้จากถ่านหินในปี 1800 [4]…

เจมส์ วัตต์ (James Watt) พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น…ทว่าความเข้มงวดในการปกป้องสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์ของวัตต์ (และเพื่อนร่วมงานของเขาคือแมทธิว โบลตัน (Matthew Boulton)) กลายเป็นอุปสรรคต่อการนำมันไปปรับใช้ในวงกว้างก่อนปี 1800 ตอนนั้นจึงมีเครื่องจักรไอน้ำที่สร้างในอังกฤษ เพียง 2,200 เครื่อง ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นแบบของนิวโคเมน และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เป็นแบบของโบลตันกับวัตต์ [5]

พลังน้ำยังคงเป็นสิ่งสำคัญมาก กระทั่งในปี 1830 อุตสาหกรรมก็ยังผลิตพลังงานจากไอน้ำและน้ำในปริมาณที่เท่ากัน [6] ต่อมาในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมฝ้ายซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของบริเตนก็นำเครื่องจักรไอน้ำไปใช้ รถไฟที่ใช้พลังงานถ่านหิน (และขนส่งถ่านหิน) ก็เปลี่ยนความคิดของเรา เกี่ยวกับระยะทางและเวลาไปจากเดิม…ถ่านหินหรือรูปแบบที่บริสุทธิ์กว่าอย่างถ่านโค้กก็เข้ามาแทนที่ถ่านหินในฐานะแหล่งความร้อนสำหรับการผลิตเหล็กในศตวรรษที่ 18

จากนั้นความก้าวหน้าในการผลิตเหล็กจึงทำให้มีการสร้างเครื่องจักร (รวมถึงเครื่องจักรไอน้ำ) ที่คุณภาพดีขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1780 เป็นต้นไป [7] สิ่งต่างๆ ดำเนินไปได้ด้วยดีเป็นลำดับ การพัฒนาอุตสาหกรรมหนึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมอื่นต่อเนื่องกันไป รถไฟที่วิ่งบนรางเหล็กเพื่อนำถ่านหินไปส่งเมืองใหญ่เพื่อใช้ในโรงงานฝ้าย ซึ่งทั้งฝ้าย รถไฟ และเหล็กต่างเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำ 3 อย่างแห่งศตวรรษที่ 19

ถ่านหินยังมีบทบาทช่วยเสริมพลังให้แก่การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานอีกด้วย…คนงานเหมืองถ่านหินผู้ต้องเผชิญอันตรายและตรากตรำร่วมกันจะเกิดความรักใคร่ปรองดอง เจ้าของเหมืองแทบไม่เห็นใจคนงาน และบ่อยครั้งยังขัดขวางการทำงานของสหภาพอย่างโหดร้ายด้วย ถึงกระนั้น การที่แหล่งถ่านหินกระจุกตัวอยู่ในสถานที่เพียงไม่กี่แห่ง (เมื่อเทียบกับแหล่งเกษตรกรรมหรือป่าไม้) ก็ทำให้คนงานเหมืองมีอำนาจที่จะหยุดการผลิตได้

ในช่วงระหว่างปี 1881-1905 คนงานเหมืองถ่านหินชาวอเมริกันร่วมกันประท้วงหยุดงานบ่อยกว่าคนงานในสาขาอื่นถึง 3 เท่า [8] คนงานเหมืองรวมถึงคนงานรถไฟ (ผู้มีอำนาจในการหยุดส่งมอบถ่านหิน) ได้ก่อตั้งสหภาพที่ทรงพลังที่สุดในยุโรปและอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และ 20 ขึ้น เรื่องนี้นำไปสู่การขึ้นค่าแรงสำหรับคนงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว

แต่ก็มีด้านมืดเกี่ยวกับแหล่งพลังงานใหม่นี้เช่นกัน ถ่านหินที่ให้พลังงาน…และสร้างความอบอุ่นให้บ้านคนงาน ก็คือสิ่งที่สร้างมลภาวะให้อากาศเมือง ทำให้เกิดคราบดำเกาะตามอาคาร และทำให้อายุขัยของผู้อาศัยนั้นสั้นลงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อปอด กว่าบริเตนจะออกพระราชบัญญัติอากาศสะอาด (Clean Air Act) ก็ผ่านมาจนทศวรรษ 1950 หลังจากเกิดหมอกควันพิษในลอนดอนเมื่อปี 1952 ซึ่งคร่าชีวิตคนนับพัน ในปัจจุบัน คุณภาพอากาศในหลายเมืองของประเทศจีนเองก็ย่ำแย่เพราะการใช้ถ่านหินอย่างหนักหน่วงทำให้ต้องออกมาตรการควบคุมมลพิษอย่างจริงจังในปี 2013

แสงสว่างของโลก

ถ่านหินในฐานะเชื้อเพลิงแข็งเป็นแหล่งความร้อนที่มีประโยชน์มากแต่ไม่สามารถให้แสงสว่าง โลกหลังอาทิตย์ตกดินก่อนปี 1800 โดยประมาณยังค่อนข้างมืดอยู่ มนุษย์ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีโบราณอย่างเทียนไขและไส้ตะเกียงในการให้แสงสว่าง ซึ่งก็มีพลังงานของเทียนเพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้นที่กลายเป็นแสงสว่าง [9]

น้ำมันเป็นทางเลือกที่มีหวังมากกว่า คาราวานเรือขนส่งของเกาะแนนทัคเก็ตในแมสซาชูเซตส์ท่องไปทั่วมหาสมุทรเพื่อค้นหา วาฬหัวทุยซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันวาฬชั้นดีที่สุด ในปี 1774 เรือ 150 ลำ ของแนนทัคเก็ตฆ่าวาฬไป 3,000 ตัว [10] น้ำมันสนที่ได้จากต้นสนก็ใช้เป็นแหล่งแสงสว่างได้เช่นกัน แม้มันจะมีกลิ่นฉุนก็ตาม

เชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิดไม่เพียงพอต่อการใช้ในวงกว้าง เป็นอีกครั้งที่อุตสาหกรรมถ่านหินมอบทางออกให้ในรูปของแก๊สถ่านหิน ความสามารถในการติดไฟของแก๊สถ่านหินเป็นที่รับรู้ในศตวรรษที่ 18 และในปลายศตวรรษก็เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก อเลสซานโดร โวลตา (Alessandro Volta) ผู้คิดค้นแบตเตอรี ได้พัฒนาไฟแช็กที่ใช้พลังงานแก๊สถ่านหิน…จากนั้นในปี 1807 ถนนพอลมอลในลอนดอนตอนกลางก็กลายเป็นถนนสายแรกที่สว่างไสวจากพลังงานแก๊ส [11]…

เจ้าของโรงงานชื่นชอบข้อดีของแสงสว่างจากแก๊ส มีการนำมันไปใช้ที่โรงสีในซัลฟอร์ด (แลงคาเชียร์) และโซเวอร์บีบริดจ์ (ยอร์กเชียร์) ในปี 1806 และในโรงงานสิ่งทอที่นิวอิงแลนด์ช่วงทศวรรษต่อมา แสงสว่างจากแก๊สมีความเสี่ยงเกิดไฟไหม้น้อยกว่าเทียนหรือตะเกียงน้ำมัน และเจ้าของโรงงานก็พอใจที่แสงสว่างช่วยให้ชั่วโมงทำงานยืดยาวออกไปได้ (แต่ไม่ใช่กับคนงาน) แสงไฟจากแก๊สที่มีกลิ่นเฉพาะตัวนี้ยังคงใช้กันมาจนถึงศตวรรษที่ 20

……..

ในปี 1853 แพทย์ชาวบริเตนชื่ออับราฮัม เจสเนอร์ (Abra- ham Gesner) ค้นพบวิธีกลั่นของเหลวติดไฟจากน้ำมันดินได้สำเร็จ ผลที่ได้คือน้ำมันก๊าดหรือเคโรซีน (kerosene) ซึ่งมาจากคำภาษากรีกที่แปลว่าขี้ผึ้ง ไม่นานก็รู้กันจนทั่วว่าน้ำมันก๊าดนั้นเหมาะสำหรับสร้างแสงสว่าง มันสว่างกว่าน้ำมันวาฬหัวทุยถึง 6 เท่าและมากกว่าไฟแก๊สถึง 4 เท่า…

……..

น้ำมันก๊าดนั้นอันตรายและอาจทำให้เกิดไฟไหม้หรือระเบิดได้ง่าย เราจึงต้องการแหล่งแสงสว่างที่ปลอดภัยกว่านั้น ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจคุณสมบัติของไฟฟ้า และแม่เหล็กไฟฟ้า ฮัมฟรีย์ เดวี (Humphrey Davy) ได้สาธิตการใช้ ตะเกียงอาร์ค (arc lamp) เมื่อต้นทศวรรษ 1800 แต่ก็ต้องรอจนถึงทศวรรษ 1870 กว่าจะมีการใช้งานเชิงพาณิชย์ในที่สาธารณะอย่างสถานีปารีสนอร์ท (สถานีรถไฟในปารีส) เมื่อปี 1875 และห้างสรรพสินค้าวานาเมกเกอร์ในฟิลาเดลเฟียเมื่อปี 1878 [12]

แต่แสงอาร์คสว่างและทรงพลังเกินไปสำหรับการใช้ในบ้าน จึงต้องหาสิ่งที่เล็กลงกว่านั้น โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ได้จดสิทธิบัตรฉบับแรกสำหรับหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาในปี 1878 ทว่าหลังจากนั้นเขาก็ได้ค้นพบเส้นใยไผ่คาร์บอนที่อยู่ได้นานถึง 1,200 ชั่วโมง สินค้านี้วางตลาดครั้งแรกในปี 1880 [13] แน่นอนว่า หลอดไฟนั้นดีอยู่แล้ว แต่คงไร้ประโยชน์หากไม่มีแหล่งพลังงานไฟฟ้า เอดิสันเปิดโรงงานไฟฟ้าบนถนนเพิร์ลในแมนฮัตตันเมื่อปี 1882

แผนของเขานั้นมุ่งไปที่การผลิตไฟฟ้ากระแสตรงซึ่งสามารถใช้งานได้ในระยะทางสั้นๆ เท่านั้น นั่นหมายความว่าแต่ละย่านต้องมีสถานีผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะตัวเลือกอื่นคือใช้แม่เหล็กแบบหมุนได้ภายในชุดตัวนำไฟฟ้าที่ขดเป็นเกลียวจนเกิดไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เราอาจใช้ AC เพื่อส่งไฟฟ้าแรงสูง (และกระแสไฟฟ้าแอมป์) ผ่านลวดเส้นเล็กในระยะไกลโดยไม่สูญเสียพลังงาน จากนั้นหม้อแปลงไฟฟ้าจึงเปลี่ยนไฟฟ้าแรงสูงกลับเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ (และกระแสไฟฟ้าแอมป์สูง) เพื่อใช้ในบ้านเรือนได้

…แต่ชัยชนะในการต่อสู้ตกเป็นของคู่แข่งคือระบบ AC ของเวสติงเฮาส์ (ผู้ก่อตั้งคือจอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) ซึ่งพัฒนาระบบห้ามล้อรถไฟขึ้นมา) เมื่อถึงฤดูร้อนปี 1888 บริษัทนี้ก็ผลิตพลังงานไฟฟ้าแก่เมืองในย่านชายฝั่งทะเลตะวันออกของสหรัฐอเมริกา [14]

……..

ไฟฟ้าเป็น “เทคโนโลยีอเนกประสงค์” (general purpose technology – GPT) เพราะมันทำให้อุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายอย่างเป็นจริงขึ้นได้ ในบ้านของเราเต็มไปด้วยเครื่องมือต่างๆ ทั้งประเภทที่ช่วยทุ่นแรง (เครื่องซักผ้าและเตารีด) และแบบที่ให้ความบันเทิง (เครื่องเล่นแผ่นเสียงและโทรทัศน์) ตึกระฟ้าเกิดขึ้นได้ เพราะมีลิฟต์พลังงานไฟฟ้าที่ช่วยนำคนขึ้นไปชั้นบนสุด

หนึ่งในเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 คือการใช้ไฟฟ้ากันอย่างเป็นวงกว้างในโลกพัฒนาแล้ว ในหนังสือ ชีวประวัติลินดอน จอห์นสัน (Lyndon Johnson) เล่มแรกนั้น [15] ผู้เขียนคือ โรเบิร์ต คาโร (Robert Caro) ได้เล่าว่าจอห์นสันผู้มีชื่อย่อว่า LBJ ได้โน้มน้าวและเกลี่ยกล่อมให้รัฐบาลปล่อยเงินกู้มากพอจะกระจายพลังงานไฟฟ้าไปถึงเกษตรกรในพื้นที่ยากไร้ของเท็กซัส ซึ่งเขาเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ในตอนนั้น เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในปี 1939 ชาวบ้านก็เริ่มตั้งชื่อลูกว่าลินดอน หรือละครโอเปราชื่อ The Electrification of the Soviet Union ก็ได้แรงบันดาลใจจากโครงการใหญ่โต…

อุบายของเชอร์ชิลล์

เรื่องราวอันยิ่งใหญ่อีกเรื่องในศตวรรษที่ 20 คือการเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินไปใช้น้ำมัน การคิดค้นเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเบนซินคือตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดอุปสงค์น้ำมัน แต่คงเป็นเรื่องผิดพลาดหากจะมองข้ามการที่เรือเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินเป็นน้ำมันไป

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) และนายพลเรือ ฟิชเชอร์ (Admiral Fisher) ตัดสินใจให้กองทัพเรือบริเตนเปลี่ยนไปใช้น้ำมันซึ่งทำให้เรือแล่นเร็วขึ้น ใช้เจ้าหน้าที่น้อยลง และอยู่กลางทะเลได้นานขึ้น ทว่าในทางกลับกัน การพึ่งพาน้ำมันก็ทำให้บริเตนต้องหาแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้จึงมีการตกลงกับบริษัทสัญชาติบริเตนชื่อเบอร์มา [16] ให้เข้าไปถือสัมปทานในเปอร์เซีย มีการตั้งบริษัทใหม่ชื่อแองโกล-เปอร์เซียที่บริเตนเข้าไปถือหุ้น สุดท้ายแองโกล-เปอร์เซียก็กลายเป็นบริติช ปิโตรเลียม (BP) ในปัจจุบัน

ความสำคัญของน้ำมันในฐานะเชื้อเพลิงของเรือ เครื่องบิน รถบรรทุก รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นชัดเจน ผลคือมหาอำนาจนั้นหมกมุ่นอยู่แต่กับการควบคุมแหล่งน้ำมัน แผนการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อทศวรรษ 1930 (และการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 1941) ส่วนหนึ่งถูกผลักดันเนื่องจากการขาดแหล่งน้ำมันภายในประเทศ

จุดประสงค์อย่างหนึ่งที่เยอรมนีรุกรานรัสเซียก็เพื่อเข้าควบคุมแหล่งน้ำมันในคอเคซัส และการเกิดสงครามอ่าวครั้งที่ 1 หลังซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) รุกรานคูเวตในปี 1990 ก็เป็นเพราะชาติตะวันตกไม่อยากเห็นเขาควบคุมแหล่งน้ำมันของตะวันออกกลางเพิ่มอีก

ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 นั้น การผลิตน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทชาติตะวันตก หรือ “7 พี่น้อง” ที่แอนโทนี แซมป์สัน (Anthony Sampson) เขียนไว้ในหนังสือของเขาเมื่อปี 1975 (บีพี เชฟรอน เอ็กซอน กัลฟ์ โมบิล เชลล์ และเท็กซาโก) [17]…

ความสำคัญของตะวันออกกลางในฐานะศูนย์กลางการผลิตน้ำมันค่อยๆ เพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 20 การผลิตน้ำมันอย่างจริงจังในอิรักเริ่มเมื่อปี 1934 และบ่อน้ำมันบ่อแรกที่ประสบความสำเร็จในซาอุดีอาระเบียก็เริ่มสูบน้ำมันในปี 1938 และผลิตได้ถึง 32 ล้านบาร์เรลในเวลาต่อมา [18] ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตะวันออกกลางผลิตน้ำมัน 5% ของโลก แต่เมื่อถึงปี 1959 ได้เพิ่มเป็น 25% [19] และเมื่อถึงปี 1970 ก็กลายเป็น 30% [20]…

…ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็ไปกระตุ้นให้คนในโลกตะวันตกเริ่มสนใจการประหยัดพลังงานและเริ่มมีการค้นหาน้ำมันในสถานที่ห่างไกลมากขึ้น…

เสียงระเบิดหิน

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น วิธีค้นหาเชื้อเพลิงฟอสซิลวิธีใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ในทศวรรษ 1990 ผู้สำรวจหัวการค้าสองสามคนได้พยายามขุดก๊าซธรรมชาติออกจากชั้นหินที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินในสหรัฐอเมริกา…การขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูง (hydraulic fracturing) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “แฟรกกิ้ง” (fracking)…

แฟรกกิ้งสร้างความแตกต่างใหญ่หลวงแก่ตลาดพลังงานของสหรัฐอเมริกาหลังจากต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าอยู่นาน สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก…ภาวะเฟื่องฟูของการผลิตทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงจากที่เคยขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 12.7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู (British Thermal Unit – BTU) ในเดือนมิถุนายน 2008 (8 ดอลลาร์ในช่วงต้นปี) กลับตกไปอยู่ที่ 2.8 ดอลลาร์เมื่อถึงเดือนเมษายน 2018 [21] ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของธุรกิจและผู้บริโภคได้มาก

เทคนิคแฟรกกิ้งยังใช้กับน้ำมันได้เช่นเดียวกับก๊าซ มันทำให้การผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาเพิ่มจาก 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (mbd) ในปี 2005 และ 7.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 มาเป็น 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2018 [22]…

แฟรกกิ้งไม่เป็นที่นิยมนักในดินแดนอื่น ทั้งในฝรั่งเศส เยอรมนี และไอร์แลนด์ต่างก็มีคำสั่งระงับการใช้วิธีนี้ชั่วคราว มีความกังวลเกี่ยวกับมลภาวะต่อแหล่งน้ำ การเกิดแผ่นดินไหวที่อาจเกี่ยวข้องกับแฟรกกิ้ง และเสียงกับความอึกทึกในพื้นที่ชนบท [23] ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แฟรกกิ้งทำให้คนหันไปใช้ก๊าซแทนถ่านหินซึ่งสร้างมลภาวะมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ดี

……..

สำหรับประชากรในโลกร่ำรวยนั้น การเข้าถึงไฟฟ้าอาจเป็นเรื่องพื้นฐานที่ถูกมองข้ามความสำคัญไป…แต่นั่นไม่ใช่ความจริงสำหรับทุกคน สัดส่วนประชากรโลกที่เข้าถึงไฟฟ้าเพิ่มจากไม่ ถึง 72% ในปี 1990 เป็นเกือบ 88% ในปี 2016 แต่ก็ยังมีคนอีกนับพันล้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ [24] อีกทั้งหลายคนที่มีไฟฟ้าใช้ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างสม่ำเสมอ…

มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงานโลกราว 5% ซึ่งเป็นสัดส่วนต่ำกว่าที่หลายคนคาดไว้ ในทศวรรษ 1950 เมื่อมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นครั้งแรกอุบัติเหตุที่เกาะทรีไมล์ในสหรัฐอเมริกาและเชอร์โนบิลในยูเครนทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และเมื่อคนเริ่มคลายกังวลลงกลับเกิดแผ่นดินไหวกับสึนามิซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ส่วนเยอรมนีก็เร่งแผนปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของตัวเอง พลังงานนิวเคลียร์จะปล่อยคาร์บอนต่ำมากเมื่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างนั้นมหาศาล และอาจเกิดความล่าช้าได้ง่าย อีกทั้งบางแห่งยังต้องหาที่เก็บกากกัมมันตรังสีด้วย

การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนอาจลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ…เทคโนโลยีสีเขียวที่มีศักยภาพมากที่สุด 2 ประการ นั่นคือกังหันลม และเซลล์แสงอาทิตย์ (photovoltaic cells – PV) มีการอัดฉีดเงินทุนราว 800 พันล้านดอลลาร์เข้าไปในอุตสาหกรรมเหล่านี้ในช่วง 2008-2016 [25]…ปัญหาก็คือทั้งลม และแสงอาทิตย์นั้นให้พลังงานไม่สม่ำเสมอ นั่นหมายความว่าแหล่งพลังงานเดิมอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ก็ยังคงมีความจำเป็นในฐานะแหล่งพลังงานสำรอง

การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนอาจต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มใช้ถ่านหินและน้ำมันเป็นแหล่งพลังงาน…พลังงานหมุนเวียนจะคว้าส่วนแบ่งใหญ่จากตลาดพลังงานได้ก็ต่อเมื่อเราค้นพบวิธีกักเก็บพลังงานในวันแดดดีและลมแรงเพื่อใช้ในวันที่เมฆมากและลมสงบได้ หากจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องมีแบตเตอรี่ที่คุณภาพดีกว่าและราคาถูกกว่าที่เรามีอยู่ในตอนนี้…

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] E. A. Wrigley, Energy and the English Industrial Revolution

[2] Wrigley, Energy and the English Industrial Revolution, op. cit.

[3] Alan Fernihough and Kevin Hjortshoj O’Rourke, “Coal and the European Industrial Revolution”,  https://www.economics.ox.ac.uk/materials/papers/13183/Coal%20-%200% 27Rourke%20124.pdf

[4] Wrigley, Energy and the English Industrial Revolution, op. cit.

[5] David Wootton, The Invention of Science: A New History of the Scientific Revolution

[6] Joel Mokyr, The Enlightened Economy: An Economic History of Britain 1700-1850

[7] Landes, The Wealth and Poverty of Nations, op. cit.

[8] Timothy Mitchell, Carbon Democracy: Political Power in the Age of Oil

[9] Smil, Energy and Civilization, op. cit.

[10] Rhodes, Energy: A Human History, op. cit.

[11] Ibid.

[12] T. K. Derry and Trevor I. Williams, A Short History of Technology

[13] “History of the light bulb”, https://www.bulbs.com/learning/history.aspx

[14] Rhodes, Energy: A Human History, op. cit.

[15] Robert Caro, The Years of Lyndon Johnson: The Path to Power

[16] บริษัทแห่งนี้อยู่รอดมาจนถึงสมัยใหม่ และเดนิสผู้เป็นสามีของมาร์กาเรต แทตเชอร์ ก็ได้เป็นผู้อำนวยการบริษัทนี้ด้วย

[17] Anthony Sampson, The Seven Sisters: The Great Oil Companies and the World They Made. หลายบริษัทได้เปลี่ยนชื่อไปแล้วหลายรอบด้วยกัน

[18] Rhodes, Energy: A Human History, op. cit.

[19] Peter Mansfield, A History of the Middle East

[20] E. Roger Owen, “One hundred years of Middle Eastern oil”, https://www.brandeis.edu/crown/publications/meb/MEB24.pdf

[21] แหล่งที่มา: https://www.eia.gov/dnav/ng/hist/rngwhhdM.htm

[22] แหล่งที่มา: https://www.eia.gov/dnav/pet/hist/LeafHandler.ashx?n-pet&s=mcrfpus2&f=m

[23] Adam Vaughan, “Fracking-the reality, the risks and what the future holds”, The Guardian, February 26th 2018

[24] แหล่งที่มา: https://data.worldbank.org/indicator/EG.ELC.ACCS.ZS

[25] “Clean energy’s dirty secret”, The Economist, February 25th 2017


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2565