แรกมี “น้ำมันก๊าด” ใช้ในสยาม ราษฎรไม่คุ้นชินจนเกิดไฟไหม้หลายคดี

วัดชนะสงคราม ภาพถ่าย สมัยรัชกาลที่ 5 รถรางไฟฟ้า
วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าวัดมีรถรางไฟฟ้าวิ่งบนถนนจักรพงษ์

“น้ำมันก๊าด” มีใช้ในสยามครั้งแรกสมัย “รัชกาลที่ 5” แต่ความที่ราษฎรส่วนใหญ่ไม่คุ้นชิน จึงเกิดเหตุ “ไฟไหม้” ขึ้นหลายครั้ง 

แม้จะมี “ไฟฟ้า” ในกรุงเทพฯ เมื่อ .. 2427 แต่แสงสว่างชนิดนี้จำกัดอยู่เฉพาะการใช้งานของรัฐ เช่น ตามท้องถนนบางสาย กับตามบ้านเรือนของผู้มีฐานะ ซึ่งต้องซื้อหาอุปกรณ์และจ่ายค่าไฟในราคาสูง การที่แสงสว่างจำกัดนี้ส่งผลต่อกิจวัตรของผู้คน เช่น ความบันเทิง การสัญจรของราษฎร เช่นที่ ขุนวิจิตรมาตรา กล่าวถึงวิถีชีวิตในกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน ดังนี้

มหรสพสมัยโน้น (ยังไม่มีไฟฟ้า) แสดงแต่วันข้างขึ้น ราวขึ้น 8 ค่ำ ไปจนถึงประมาณสามทุ่ม พระจันทร์ยังสว่างอยู่ ข้างแรมเดือนมืดไม่มีแสดง โรงละครนฤมิตรที่วัดสระเกศเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้แสดงตอนบ่าย พอถึงเย็นก็เลิก ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าเริ่มไปอยู่กรุงเทพฯ มีไฟฟ้าแล้ว คือเพิ่งเริ่มจะมีโดยเฉพาะตามถนนนั้นขึงสายไฟฟ้าขวางระหว่างตึก ดวงโคมไฟฟ้าห้อยติดกับสายอยู่กลางถนนแต่สูงมาก แสงไฟก็ริบหรี่ไม่สว่าง คนเดินอาศัยร้านเจ๊กเขียนหวย ซึ่งมีตะเกียงกระจกตั้งโต๊ะสว่างไปสองข้างถนนระยะห่างๆ กันไปสว่างมากกว่าไฟฟ้า

ไฟฟ้าเมื่อแรกมีนี้ ถ้าเป็นข้างขึ้นพระจันทร์สว่าง ไฟดับหมด พอถึงข้างแรมพระจันทร์มืดจึงเปิดไฟ สลับไปอย่างนี้ทุกข้างขึ้นข้างแรม ส่วนตามตึกบ้านเรือนที่ต้องการใช้ไฟฟ้า คิดค่าเช่าเป็นดวงๆ ละ 6 สลึง (หนึ่งบาทห้าสิบสตางค์) ดวงหนึ่งไฟ 10 แรงเทียน จะติดกี่ดวงก็ได้ตามราคาที่คิดเป็นดวง เท่าที่เห็นใช้กันเพียงหนึ่งหรือสองดวงเท่านั้น ไฟฟ้าดีอย่างหนึ่งเป็นการบอกเวลา คือเวลาสองทุ่มตรง ไฟจะดับแวบหนึ่งให้รู้ว่าสองทุ่ม ใครมีนาฬิกาก็ตั้งจากไฟฟ้าได้ทันที

แหล่งเชื้อเพลิงที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืนที่สำคัญคือ น้ำมันมะพร้าว จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 25 หรือช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ราษฎรในกรุงเทพฯ เริ่มใช้ น้ำมันก๊าด เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่าง ซึ่งตรงกับระยะเวลาเดียวกับที่เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ เช่นที่สุราบายา ในเกาะชวา ราษฎรพื้นเมืองใช้น้ำมันก๊าดหลัง .. 2407 (.. 1864)

ผลจากเชื้อเพลิงชนิดใหม่ปรากฏในรูปของคดี “ไฟไหม้” จำนวนมาก เนื่องจากความไม่คุ้นชินของบรรดาราษฎร เช่นที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ ดังนี้

เขาว่าเมื่อมีน้ำมันก๊าดใช้ใหม่ๆ มักเกิดไฟไหม้บ้านเรือนบ่อยๆ เพราะไปเข้าใจว่าเหมือนน้ำมันมะพร้าว ไม่รู้พิษสงของมันว่า มันลุกผึบได้ทันทีถ้าใกล้ไฟ พอรู้ก็หวาดเกรงกัน จึงยังมีผู้ดื้อใช้น้ำมันมะพร้าวอยู่ก็เป็นอันมาก ถ้าซื้อน้ำมันก๊าดทั้งปีบมาใช้ เวลาจะเปิดเอาปีบน้ำมันออก ถ้าอยู่ในสวน ก็ต้องหิ้วปีบไปเปิดหรือเก็บไว้ในสวนให้ห่างไกลจากตัวเรือน เพราะกลัวจะระเบิดเกิดลุกเป็นไฟไหม้บ้านเรือนขึ้น

ราษฎรในเมืองหลวงสามารถซื้อหา “น้ำมันก๊าด” ได้จากโรงขายน้ำมันของชาวจีน พร้อมกับซื้อตะเกียงสำหรับให้แสงสว่างที่มีขายในกรุงเทพฯ อีกด้วย เช่น คดีไฟไหม้ตึกแถวอำแดงผาด ย่านถนนเฟื่องนคร เมื่อ .. 2450 ช่วงปลายสมัย รัชกาลที่ 5 ให้รายละเอียดดังนี้

วันนี้เวลาบ่าย 3 โมงอำแดงช่วยได้วานผู้มีชื่อคือนายเคล้าซึ่งอยู่ห้องเดียวกันไปซื้อตะเกียงแก้วตั้ง คือดวงที่ลุกขึ้นนี้ จากร้านสี่กั๊กเสาชิงช้า ครั้นเมื่อซื้อมาแล้ว นายเคล้าเปนผู้เติมน้ำมันในคืนวันเดียวกันนั้นเองเวลา 2 ทุ่มเศษ ข้าพเจ้าได้ลองจุดแล้วเอาไปตั้งริมฝา พอจุดขึ้นไฟในตะเกียงก็พุบขึ้นโคมแตกน้ำมันก็ไหลซึมไปตามพื้นไปอิกห้องหนึ่ง คือห้องของอำแดงเจิมไปลุกที่หมอน 1 ใบ ที่นอนน้ำมันผ้าห่มปะลังเก้ด 1 ผืน

คดีของอำแดงผาดนอกจากจะบอกถึงการซื้อหาอุปกรณ์ให้แสงสว่างแล้ว ยังบ่งชี้ถึงอันตรายจากน้ำมันก๊าด หรือที่เรียกกันว่า “น้ำมันปิโตรเลียม” ซึ่งราษฎรจำนวนไม่น้อยประมาทจนเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน หนึ่งในนั้นรวมถึงคดีของหญิงชาวจีนชื่อ อำแดงหมุย เกือบต้องสูญเสียห้องพักของตนเมื่อ .. 2449 จากความประมาท ดังนี้

อำแดงหมุยหญิงจีนเจ้าของห้องเติมตะเกียงเหล็กวิลาดจุดเพลิงแล้วติดไว้ที่ฝาครัว เพลิงลุกขึ้นเพราะน้ำมันปิโตรเลียมที่เติมมากเกินไป เพลิงลุกจนหูตะเกียงอันบัดกรีไว้สำหรับแขวนละลายตะเกียงตกยังพื้นน้ำมันหกเพลิงลุกขึ้นที่พื้นนั้น

น้ำมันก๊าด จึงเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่ราษฎรเริ่มให้ความนิยม แต่ต้องแลกมาด้วยอันตรายจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อเพลิงชนิดนี้ยังนับเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของการก่อคดีสำคัญในกรุงเทพฯ คือ คดีลอบวางเพลิง ที่กระทบต่อความสงบสุขและสร้างความหวาดหวั่นให้กับบรรดาราษฎรไปจนถึงพระมหากษัตริย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดบางส่วนจากบทความ “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” โดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563