ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมอันงดงามแล้ว ยังเป็นที่ตั้งสุสานหลวง เรียกกันติดปากว่า “สุสานหลวง วัดราชบพิธ” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสถานที่บรรจุพระสรีรางคารและอัฐิของเจ้านายชั้นสูงผู้เป็นที่รักยิ่งในพระองค์
“วัดราชบพิธ” วัดประจำรัชกาลที่ 5
วัดราชบพิธ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดที่มหาสีมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาจำหลักรูปสีมาธรรมจักรอยู่บนเสา ตั้งที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ จึงได้นามว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” แปลว่า วัดซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง และเป็นวัดซึ่งมีมหาสีมาตั้งอยู่
รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างวัดราชบพิธเป็นวัดประจำพระองค์ ตามอย่างโบราณราชประเพณี ซึ่งวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเช่น รัชกาลที่ 1 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, รัชกาลที่ 2 วัดอรุณราชวราราม, รัชกาลที่ 3 วัดราชโอรสาราม, รัชกาลที่ 4 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
การสร้างวัดราชบพิธนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ฑีฆชนม์เชษฐประยูร (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3) และที่ดินของราษฎร แล้วโปรดให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เป็นแม่กองอำนวยการสร้างวัด บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2412 ซึ่งเป็นช่วงต้นรัชกาล ลักษณะพิเศษของวัดคือวางแผนผังอย่างงดงาม และประดับประดาอย่างวิจิตรบรรจง
ด้วยประวัติความเป็นมาและความงดงามของสิ่งปลูกสร้างภายในวัด เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ ระเบียงคด ฯลฯ นี้เอง ที่ทำให้พุทธศาสนิกชนจำนวนมาก รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมากราบไหว้บูชาและเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย
“สุสานหลวง วัดราชบพิธ” อนุสรณ์แห่งผู้เป็นที่รักยิ่งของรัชกาลที่ 5
ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี เล่าถึงการสร้าง “สุสานหลวง” ไว้ในหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ว่า
ธรรมเนียมการสร้างสุสานหลวงสำหรับบรรจุพระสรีรางคารอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หรือระบุว่าพื้นที่ใดเป็นสุสานหลวง ไม่ปรากฏมาก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าจะมีก็เพียงสร้างสิ่งของหรือถาวรวัตถุ เพื่อถวายพระกุศลแก่เจ้านายที่ล่วงลับ รวมทั้งอาจมีธรรมเนียมปฏิบัติในการบรรจุพระอัฐิธาตุไว้กับสถานที่หนึ่งที่ใดเป็นพิเศษ จนประหนึ่งเป็นสุสานหลวง
สุสานหลวงที่เป็นสถานที่เฉพาะนั้น สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 และเป็นวิถีปฏิบัติสืบเนื่องมาในการนำพระสรีรางคารของเจ้านายชั้นสูงตามแต่สายราชสกุล มาบรรจุไว้ยังสถานที่พำนักแห่งสุดท้ายนี้
สุสานหลวง วัดราชบพิธ อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด มีพื้นที่ราว 2 ไร่ครึ่ง ภายในมีต้นไม้และอนุสาวรีย์ต่างๆ สร้างไว้อย่างเป็นระเบียบ สวยงาม โดยยังคงสืบเนื่องคติพุทธศาสนาในการใช้บรรจุพระสรีรางคาร และเพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจนพระราชโอรส พระราชธิดา และมีอนุสาวรีย์บางส่วนที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างขึ้นภายหลัง มีรูปร่างแตกต่างกัน อาทิ รูปเจดีย์ ปรางค์ อาคารแบบศิลปะยุโรป และอื่นๆ
ภายในสุสานหลวงนี้ มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่
สุนันทานุสาวรีย์ เป็นอาคารโถง มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง บุด้วยโมเสกสีทอง บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
รังษีวัฒนา อาคารประธานเป็นผังแบบจตุรมุข มีมุขกระสันเชื่อมไปยังทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนบนของมุขกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆัง บุด้วยโมเสกสีทอง ส่วนบนของมุขทิศเหนือและทิศใต้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว
ภายในบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
นอกจากนี้ ยังมีพระสรีรังคารของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เสาวภาประดิษฐาน ลักษณะเหมือนกับ “รังษีวัฒนา” คือ อาคารประธานเป็นผังแบบจตุรมุข มีมุขกระสันเชื่อมไปยังมุขทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนบนของมุขกลางเป็นเจดีย์ทรงระฆัง บุด้วยโมเสกสีทอง ส่วนบนของมุขทิศเหนือและทิศใต้เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว
ภายในบรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ฯลฯ
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ยังมีพระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สุขุมาลย์นฤมิตร เป็นอาคารโถง ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง บุด้วยโมเสกสีทอง บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าฯ
นอกจากอนุสรณ์สถานทั้ง 4 แล้ว ภายในสุสานหลวงยังมีอนุสรณ์สถานที่สำคัญอีก อาทิ
อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระโอรสพระธิดา พระประยูรญาติ และสมาชิกสายราชสกุลยุคล
อนุสาวรีย์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เป็นหอ 2 ชั้น หลังคาทรงโดมแบบยุโรป
“วิหารน้อย” รูปทรงเป็นศาลา สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก บรรจุอัฐิเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพในรัชกาลที่ 5), เจ้าจอมมารดาโหมดในรัชกาลที่ 5 (น้องสาวร่วมบิดามารดากับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์) รวมถึงบรรจุพระสรีรางคารพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด
อนุสรณ์สถานที่บรรจุพระสรีรางคารและอัฐิภายในสุสานหลวง วัดราชบพิธ ไม่เพียงสะท้อนถึงความรักและความผูกพันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อเจ้านายชั้นสูงแล้ว ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งในเชิงคติความเชื่อทางศาสนา รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ
อ่านเพิ่มเติม :
- เรื่องมหัศจรรย์ในราชวงศ์ เจ้านาย 3 พระองค์ ที่ “บวชไม่สึก” มีพระนามความหมายเดียวกัน
- สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ “คำฝากฝัง” ที่ไม่มีผู้ใดสนองแม้สักคน เพราะเหตุใด?
- ย้อนรอยโศกนาฏกรรม ตำนานเรื่องเล่าของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม”.
นนทพร อยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.
พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ผู้จัดทำข้อมูล. “สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม”. ใน ศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2567