“ตามพรลิงค์” ชื่อเดิมอาณาจักรนครศรีธรรมราช มาจากภาษาเขมรและไม่ได้แปลว่าฝ่ามือสีแดง

วัดพระมหาธาตุ ที่ จ. นครศรีธรรมราช เดิมคือ ตามพรลิงค์
วัดพระมหาธาตุ จ. นครศรีธรรมราช (ภาพ : มติชน)

รู้หรือไม่? “ตามพรลิงค์” หรือที่ในวงวิชาการคาดว่าต่อมาคืออาณาจักร “นครศรีธรรมราช” เป็นชื่อที่ได้มาจากทางเขมร และไม่ได้มีความหมายอย่างที่เราเข้าใจกัน

“ตามพรลิงค์” หรือ “ตามพรลิง” เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิเทศ สมัยพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งในแถบพื้นที่อื่น ๆ ก็มีการพูดถึงเมืองนี้ไว้หลายชื่อ เช่น ตมะลิง, ซิลิโพซิ, สันโพซิ เป็นต้น โดยช่วงที่อาณาจักรแห่งนี้รุ่งเรืองมากที่สุดคงไม่พ้นสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 

แล้วชื่อตามพรลิงค์มาจากอะไร?

หลายคนคาดว่าคำนี้เป็นภาษาทมิฬ แปลได้ว่าฝ่ามือสีแดง เนื่องจาก ลิง แปลว่า ฝ่ามือ ตามพร (ตัมพะระ) แปลว่าสีแดง หรือหลายคนก็คิดว่า ลิงที่ว่าเป็นคำไทย รวมกับภาษาทมิฬ แปลว่า ลิงสีแดง 

รวมไปถึงการสันนิษฐานว่า ทั้งหมดล้วนเป็นภาษาสันสกฤต ลิงค์ ที่ว่าคือ ลึงค์ ตามพร ก็แปลว่า ทองแดง รวมกันง่าย ๆ คือ ลึงค์ทองแดง

แต่ มนตรี ศรีบุษรา กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะเขาได้เสนอข้อสันนิษฐานเรื่องชื่อ “ตามพรลิงค์” ผ่านบทความ “‘ตามพรลิงค์’ ก็คือ ‘ธรรมพรลึง’ หมายถึง นครศรีธรรมราช ‘นครที่มีธรรมะเป็นมิ่งขวัญ’” ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ไว้ว่า

“…ชื่อเมืองนครศรีธรรมราชเดิมเป็นภาษาเขมร…ตรงกับอักษรไทย ‘ธมฺม พฺรลึง นฺคร’ อ่านอออกเสียงอย่างเขมรว่า ‘เธือร์เมียะ พรัวลึง นัวกัวร์’ ออกเสียงอย่างไทยว่า ‘ธรรม พฺรลิง นคร’ แปลว่า นครที่มีธรรมะเป็นมิ่งขวัญ

เรียกย่อว่า ‘ธรรมพรลึง’ โดยตัดคำว่า ‘นคร’ ออก เช่นเดียวกับ ‘กรุงเทพมหานคร’ เรียกย่อว่า ‘กรุงเทพฯ’

‘ธมฺม พฺรลึง นฺคร’ มีคำเขมรอยู่คำเดียว คือ ‘พฺรลึง’ นอกนั้นเป็นภาษาบาลี

‘พฺรลึง’ แปลว่า (๑) ขวัญ, มิ่งขวัญ เช่น พรลึงพรละ – ขวัญใหญ่, น้อย, บฺบกพฺรลึง (บอบกพรังลึง) – เชิญขวัญ, เมียนพฺรัวลึง – มีขวัญ หมายความว่า อ้วนท้วน, มีเลือดฝาด เป็นที่ใช้เฉพาะคนที่ควรเคารพ (๒) จอมขวัญ, ยอดรักเป็นคำที่ใช้ในกาพย์กลอน

…คนสมัยโบราณย่อมทราบถึงความหมายของชื่อเมืองหลวงของตนดี จึงได้เปลี่ยนจากคำเขมร เป็นคำบาลีว่า ศิริธรรมนคร ซึ่งก็หมายถึง นครที่มีธรรมเป็นศิริ หรือมิ่งขวัญ 

เช่นเดียวกับพ่อเมือง หรือเจ้าเมือง ก็ได้สมญาว่า พญาธรรมโศกราช อันเป็นเหตุให้ได้เปลี่ยนชื่อเมืองอีกในภายหลังว่า นครศรีธรรมราช…

ส่วนเหตุที่ทำให้คนไทยเพี้ยนเสียงมาเรียกจนคุ้นชินว่า “ตามพรลิงค์” เป็นเพราะว่า คนไทยมักใช้สระอิมากกว่าสระอึ เช่น คำว่าสทึง ในเขมร ที่แปลว่าแม่น้ำหรือลำคลอง ก็เอามาเรียกว่า สะทิง อย่าง ตำบลสะทิงหม้อ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 

ด้านคำว่า “ธมฺม” คนไทยก็เพี้ยนเสียงเป็น “ตาม” เหมือนกรณี ไท เป็น ไต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2567