“แบ่งแยกแล้วปกครอง” นโยบาย “เขมือบ” อินเดียของจักรวรรดิอังกฤษ

โรเบิร์ต ไคล์ฟ นายพล ของ จักรวรรดิอังกฤษ ทำ สงครามพลาสลีย์ ใน อินเดีย แบ่งแยกแล้วปกครอง
โรเบิร์ต ไคล์ฟ กับชัยชนะในสงครามพลาสลีย์, ผลงานของ Francis Hayman ปี 1760 (ภาพจาก National Portrait Gallery)

“แบ่งแยกแล้วปกครอง” นโยบาย “เขมือบ” อินเดียของจักรวรรดิอังกฤษ

การครอบครอง “อินเดีย” ของ “จักรวรรดิอังกฤษ” ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของลัทธิจักรวรรดินิยมหรือการล่าอาณานิคมโดยชาติยุโรปชาวตะวันตก เพราะอินเดีย หรือ “อนุทวีป” คือดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นอู่อารยธรรมระดับสูงแต่โบราณ อุดมไปด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมาย โดยเฉพาะความร่ำรวยที่ทำให้ ราชวงศ์โมกุล (Mughal) ถือเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ตลอดยุคสมัยที่พวกเขาปกครองอินเดียระหว่างศตวรรษที่ 16-18

แต่ยุคทองย่อมมีวันสิ้นสุด เมื่ออังกฤษเข้ามาแทรกแซงและแสวงหาผลประโยชน์จากอินเดีย พวกเขาเริ่มกลืนกินอนุทวีปทีละเล็กทีละน้อยด้วยนโยบาย “Divide and rule” คือการแบ่งแยกแล้วปกครอง บ้างเรียก “Divide and Conquer” การแบ่งแยกแล้วพิชิต เพราะท้ายที่สุดอังกฤษในนาม “บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ” (British East India Company หรือ EIC) ก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการครอบครองอาณาบริเวณทั้งหมดของอนุทวีป

“จักรวรรดิอังกฤษ” ดำเนินการอย่างไรบ้าง พวกเขาใช้การ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เขมือบ “อินเดีย” ได้อย่างไร?

บริติชราช จักรวรรดิอังกฤษที่ครอบครองอินเดียไปจนถึงพม่า (ภาพจาก : commons.wikimedia.org)

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดียหลังการล่มสลายของรัฐสุลต่านแห่งเดลีเมื่อ ค.ศ. 1526 อนุทวีปที่ประกอบด้วยรัฐและอาณาจักรขนาดย่อมของชาวมุสลิมและฮินดูค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโมกุล ซึ่งมีเอกภาพและยิ่งใหญ่เกรียงไกรอย่างมากในยุคของอักบาร์มหาราช (ครองราชย์ ค.ศ. 1556-1605) หลังสมัยของพระองค์ อังกฤษเริ่มเข้ามาติดต่อกับทางการโมกุล และสถาปนานิคมการค้าในพื้นที่เล็ก ๆ ทางชายฝั่งตะวันออก

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อังกฤษเริ่มสร้างสถานีการค้าในอินเดียตามเมืองท่าตะวันออก ได้แก่ มัทราส บอมเบย์ และกัลกัตตา ซึ่งต่อมากลายเป็นที่มั่นของการขยายอิทธิพลในอินเดียของพวกเขา อังกฤษยังเอาแบบอย่างจากดัตช์ด้วยการระดมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เกิดเป็น “บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ” โดยให้พ่อค้าอังกฤษล่องเรือไปทำการค้าในเอเชียพร้อมกองทัพจำนวนหนึ่ง ภายใต้ใบอนุญาตจากราชสำนักและรัฐสภาอังกฤษ

ตลอดคริสต์ศตวรรษดังกล่าว อิทธิพลของบริษัทอินเดียตะวันออกฯ ค่อย ๆ แผ่ออกนอกนิคมการค้า แล้วเข้าไปแทรกแซงการเมืองท้องถิ่นของดินแดนในปกครองราชวงศ์โมกุล

สมัยจักรพรรดิโอรังเซบแห่งโมกุล (ครองราช ค.ศ. 1658-1707) นอกจากอังกฤษ เมืองท่าต่าง ๆ ของอินเดียยังมีพวกโปรตุเกส ฝรั่งเศส และดัตช์ ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าเช่นกัน คนเหล่านี้ทั้งสร้างป้อมปราการ คุกคาม และทำสงครามกันอยู่บ่อยครั้ง สร้างความไม่พอใจแก่ราชวงศ์โมกุลในฐานะเจ้าบ้านอย่างยิ่ง กลายเป็นเชื้อไฟความขัดแย้งระหว่างคนพื้นเมืองกับชาติตะวันตก

แต่การขยายอำนาจของอังกฤษค่อนข้างเหนือชั้น นอกจากใช้อำนาจทางการทหารและกองทัพเรือที่มีประสิทธิภาพแล้ว อังกฤษยังใช้การเจรจาทางการทูตอย่างยอดเยี่ยม บริษัทดำเนินการต่อรองผลประโยชน์แบบเอื้อประโยชน์ฝ่ายตนกับจักรพรรดิโมกุลโดยตรง ตั้งแต่การขอสิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆ เช่น ละเว้นภาษีการค้า ขออำนาจเก็บภาษีในพื้นที่ควบคุมของตนเอง ทำให้ต้นทุนสินค้าที่ส่งกลับไปขายในยุโรปถูกกว่าของพ่อค้าชาติอื่น ๆ และสร้างกำไรมหาศาลให้กับบริษัท

ต่อมาเมื่อโปรตุเกสแผ่วอำนาจลงเรื่อย ๆ อังกฤษเริ่มกำจัดดัตช์และฝรั่งเศสออกจากการเป็นคู่แข่ง เกิดสงครามอังกฤษ-ดัตช์ (Anglo-Dutch Wars) 4 ครั้ง ระหว่างปี 1652-1784 และสงครามคาร์เนติกกับฝรั่งเศส (Carnatic War) 3 ครั้ง ระหว่างปี 1746-1763 ชัยชนะเป็นของอังกฤษ พวกเขาจึงกลายเป็นมหาอำนาจตะวันตกหนึ่งเดียวในอนุทวีป

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายในจักรวรรดิโมกุลดูจะเอื้อให้อิทธิพลของอังกฤษแผ่ไพศาลมากยิ่งขึ้น หลังการสวรรคตของจักรพรรดิโอรังเซบเมื่อปี 1707 ทายาทของพระองค์เผชิญการแข็งข้อจากอาณาจักรต่าง ๆ ภายในจักรวรรดิ ปัญหาเหล่านี้บ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยโอรังเซบแล้ว

ตลอดศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิโมกุลค่อย ๆ ล่มสลายจากภายใน เพราะสงครามระหว่างบรรดาเชื้อพระวงศ์โมกุลเอง การก่อกบฏและแยกตัวเป็นอิสระของขุนศึกตามหัวเมือง รวมถึงการคุกคามจากภายนอก หรืออังกฤษนั่นเอง เป็นที่เข้าใจว่า อังกฤษก็มีส่วนไม่น้อยในการยุยงให้ดินแดนต่าง ๆ ปลดแอกตนเองจากการปกครองของราชสำนักที่กรุงเดลี จักรวรรดิโมกุลจึงเป็นจักรวรรดิแต่เพียงในนาม เพราะดินแดนต่าง ๆ ล้วนเป็นอิสระภายใต้นาวาบ (Nawab) และมหาราชา (Maharaja) ซึ่งเป็นผู้ครองรัฐที่ปกครองพื้นที่ของตนเอง ไม่ได้ขึ้นตรงต่อราชวงศ์โมกุลอีกต่อไป

สภาวการณ์ดังกล่าวส่งเสริมการขยายอำนาจของอังกฤษอย่างมาก เพราะเหล่านาวาบและมหาราชาต้องดูแลพื้นที่ของตนจากการขยายอำนาจของอังกฤษแบบตัวใครตัวมัน โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ นาวาบแห่งเบงกอลต้องเผชิญหน้ากับอังกฤษโดยตรง เมื่อทนพฤติกรรมของบริษัทอินเดียตะวันออกฯ ต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจทำสงครามกับอังกฤษ ฝ่ายเบงกอลยึดป้อมที่ฟอร์ดวิลเลียมในกัลกัตตา เป็นเหตุให้อังกฤษส่งกองทัพจากมัทราสไปกู้คืนป้อมปราการ เกิดเป็นการรบในเบงกอล เรียกว่า “ยุทธการพลาสซีย์” (Battle of Plassey)

ปี 1757 อังกฤษชนะศึกพลาสซีย์ด้วยการติดสินบนแม่ทัพฝ่ายเบงกอล พร้อมตั้งผู้ทรยศเป็นนาวาบหุ่นเชิดของตน ต่อมาชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ไคล์ฟ (Robert Clive) ได้เป็นผู้ว่าการรัฐเบงกอล เขาสร้างกำไรและส่งมอบรายได้จำนวนมหาศาลแก่รัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอน

สงครามพลาสซีย์คือเหตุการณ์ “ปลดล็อก” การขยายอำนาจของอังกฤษ เพราะอังกฤษสามารถประเมินความอ่อนแอภายในอินเดียได้จากสงครามครั้งนี้ จึงมุ่งยึดเอาแคว้นเบงกอลไว้ทั้งหมด ก่อนจะขยายดินแดนต่อไปยังรัฐต่าง ๆ ที่ขณะนั้นปกครองตนเองอย่างอิสระ เกิดสงครามไมซอร์ 4 ครั้ง ระหว่างปี 1766-1799 สงครามมาราทา 3 ครั้ง ระหว่างปี 1775-1818 สงครามซินด์เมื่อปี 1843 และสงครามซิกข์ 2 ครั้งระหว่างปี 1845-1849 รวมถึงการเข้าควบคุมกรุงกรุงเดลี ที่มั่นสุดท้ายของราชวงศ์โมกุลตั้งแต่ปี 1803

แน่นอนว่าบทสรุปของสงครามเหล่านี้คือชัยชนะอันท่วมท้นของจักรวรรดิอังกฤษ หรือขณะนั้นคือ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ นโยบายสงครามที่อังกฤษใช้พิชิตดินแดนต่าง ๆ ในอินเดียมักจะวนอยู่กับการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” หรือ “แบ่งแยกแล้วพิชิต” ทั้งสิ้น เพราะอนุทวีปนั้นไปด้วยรัฐเล็กรัฐน้อยที่ง่ายต่อการยึดครอง นอกจากนั้น รัฐเหล่านี้ยังทำสงครามกันเองอยู่เรื่อย ๆ อังกฤษสามารถดึงรัฐอื่นมาเป็นพันธมิตรโจมตีรัฐเป้าหมายได้ด้วย

โรเบิร์ต ไคล์ฟ กับชัยชนะในสงครามพลาสลีย์, ผลงานของ Francis Hayman ปี 1760 (ภาพจาก National Portrait Gallery)

อีกวิธีที่อังกฤษใช้บ่อยคือ การซื้อตัวบุคคลสำคัญของรัฐที่กำลังจะพิชิตให้มาเป็นหนอนบ่อนไส้ นี่เป็นเหตุผลที่รัฐในอินเดียจำนวนไม่น้อยต้องล่มสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ เพราะการทรยศของคนในรัฐเอง

นอกจากนี้ อังกฤษยังแก้ปัญหากำลังทหารไม่เพียงพอกับการขาดแคลนงบประมาณทางทหารด้วยวิธีการอันแยบยล นั่นคือรับสมัครชาวอินเดียมาเป็นทหารรับจ้างจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็บีบให้เหล่านาวาบและมหาราชาที่พ่ายแพ้ทำสัญญาเป็น “รัฐในอาณัติ” ต้องส่งทหารของตนมาขึ้นตรงต่ออังกฤษ พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการทหารเอง อังกฤษจึงมีทั้งกำลังพลของตนเอง และกองทัพพื้นเมืองชาวอินเดียที่ถูกฝึกอย่างตะวันตก เรียกว่า ทหารซีปอย (Sepoy) แนวทางนี้เพิ่มพูนอำนาจทางการทหารให้พวกเขานำกำลังไปยึดครองดินแดนอื่น ๆ ในอินเดียเองด้วย

เรียกได้ว่า อังกฤษใช้ทหารอินเดียและทรัพย์จากผู้ปกครองรัฐในอินเดียเองนั่นแหละเป็นกำลังหลักในการพิชิตดินแดนเกือบทั้งหมด โดยอาศัยความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวภายในอนุทวีปเป็นทั้งช่องโหว่และตัวสนับสนุนชั้นดี

เป็นเวลาเกือบร้อยปีที่ จักรวรรดิอังกฤษ รุกคืบ “เขมือบ” เอาพื้นที่ต่าง ๆ ของอินเดีย กระทั่งปี 1859 รัฐบาลที่ลอนดอนมีมติเปลี่ยนการปกครองอินเดียจากผู้ว่าการแคว้นและการกำกับดูแลของบริษัทอินเดียตะวันออกฯ เป็นการปกครองภายใต้ราชสำนักอังกฤษเอง เรียกว่า บริติชราช (British Raj) อินเดียจึงกลายเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังฤษอย่างเป็นทางการ โดยมี สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นประมุข ปกครองผ่านผู้ว่าการบริติชราชหรืออุปราช ที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักที่อังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica. East India Company. Jul 2, 2023. From https://www.britannica.com/money/topic/East-India-Company

The Victorian Web. Timeline of British India. Retrieved August 4, 2023. From https://victorianweb.org/history/empire/india/timeline.html

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน, 8 Minute History. East India Company รากฐานการปกครองของอังกฤษในอินเดีย. 11 มกราคม 2565. จาก https://www.youtube.com/watch?v=qfUdUvBfLUk

ภูมิ พิทยา, มติชนสุดสัปดาห์. อังกฤษใช้เวลา 100 ปี ยึดครองอินเดียสำเร็จ เพราะการทรยศของคนในรัฐ. 23 กันยายน 2559. จาก https://www.matichonweekly.com/scoop/article_8891


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2566