“ร้อนราวนรก” สภาพอากาศอินเดีย ที่คนของอาณานิคมอังกฤษต้องเผชิญ

ร้อนราวนรก
สังคมชาวยุโรปในอินเดีย ปิกนิกริมทะเลสาบราวทศวรรษ 1920 (ภาพจาก หนังสือ “The Fishing Fleet : Husband Hunting in the Raj”)

ประเด็นเรื่องการล่าอาณานิคม ที่มีการนำเสนออยู่บ่อยครั้ง มักเป็นประเด็นหลักๆ เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ แต่ในเรื่องต่างๆ เหล่านั้นมีผู้คนเป็นตัวขับเคลื่อน และที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นคนของ “เจ้าอาณานิคมอังกฤษ” ที่ต้องไปประจำในดินแดนไกลโพ้น อย่าง “อินเดีย” มาดูว่าพวกเขาเหล่านั้นรับมือกับ ฤดูร้อนอินเดีย ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ “ร้อนราวนรก” ได้อย่างไร

แน่นอนว่าหลายสิ่ง หลายอย่างสามารถ “เตรียม” ได้ เช่น ข้าวของเครื่องใช้, อาหารและเครื่องปรุงอย่างชนิด, เครื่องดื่ม, หนังสือ ฯลฯ ที่คิดว่า อินเดียไม่มี หรือไม่ดีเท่า ก็บรรทุกไปได้ ความไม่สะดวกหลายอย่างก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง ดูแล้วก็น่าจะมีความสุขไม่น้อย

แต่สิ่งหนึ่งที่เผชิญ และปรับแก้ได้น้อยมากก็คือ “ฤดูร้อนอินเดีย” ที่เรียกว่า “ร้อนราวนรก”

ส่วนจะเป็น “นรก” ขนาดไหน หนังสือกองเรือหาคู่ : จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย (สุภัตรา ภูมิประภาส, แปล) ที่รวบรวมบันทึกของ เจ้าอาณานิคมอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้

ลอร์ดแคนนิง ข้าหลวงใหญ่ บันทึกว่า “ใครที่พยายามจะออกไปข้างนอก แม้แต่ด้วยรถม้าโดยสาร จะเกิดอาการหายใจหอบ และต้องเปลี่ยนใจทันที และการเปิดหน้าต่าง หรือประตูทำให้ลมร้อนพัดเข้ามาราวกับผู้นั้นกำลังเดินผ่านประตูโรงหลอม”

ขณะที่บีเรีย ฟิลด์ บันทึกถึง “ฤดูร้อน” ที่ปัญจาบ (ตอนนั้นอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) ว่า

ความร้อน’ อย่างที่สุดก็เริ่มต้นอย่างฉับพลัน ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม มีช่วงบรรเทาลงเป็นระยะๆ จากพายุทรายที่พัดเอาลมเย็นเข้ามา ปลายพฤษภาคม ตลอดเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมร้อนเป็นขุมนรก อุณหภูมิช่วงกลางวันสูงถึง 120 องศาฟาเรนไฮต์ [48.889 เซลเซียส] สิงหาคม มีมรสุมให้ได้พักจากอุณหภูมิร้อนแรงแต่ก็มีความชื้นมากด้วย ซึ่งร่างกายมนุษย์ต้องดำรงอยู่ในสภาพเหงื่อท่วมตัว”

สภาพอากาศร้อนเป็นความตึงเครียดอันน่าสะพรึงที่คนยุโรปที่ไม่คุ้นเคย ความร้อน แมลงวัน ความชื้น และแสงแดดจ้า เป็นสิ่งที่ทุกคนกลัว ทางภาคเหนือของอินเดียที่อุณภูมิพุ่งขึ้นสูงสุดอย่างเลวร้าย (ยกเว้นทางตะวันตกเฉียงเหนือที่ไม่ต้องเผชิญกับฝนมรสุม)

นอกจากนี้ อากาศร้อนจะทำให้อ่อนเพลียอย่างมาก ฝีหนอง โรคผิวหนัง และจับไข้ เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ผดผื่นเป็นอาการที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แม้จะไม่ได้ทำลายสุขภาพโดยตรง แต่ก็ทำให้ไม่สบายตัวอย่างมาก

เซอร์เฮนรี่ กิลลิน ผู้พิพากษาคนหนึ่งในเมืองมัทราสเล่าว่า ผู้มาเยี่ยมเยือนคนหนึ่งพบ ลอร์ดมินโต ผู้สำเร็จราชการระหว่างปี 1905-1910 นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนพื้นห้อง ส่งเสียงลั่นเหมือนวัวที่ถูกหลอกล่อในเกมล่อวัว” เป็นความทรมานจากผดผื่น

เลดี้แคนนิ่ง ภริยาข้าหลวงใหญ่ เล่าว่าโต๊ะดินเนอร์ของเธอในกัลกัตตา “ถูกปกคลุมด้วยแมลงที่หนาแน่นพอๆ กับที่อยู่ในตู้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ บางครั้งบนพื้นเต็มไปด้วยแมลงปีกแข็ง”

ก่อนมีไฟฟ้าใช้ แมลงเม่าและแมลงวันหัวเขียวเผาตัวเองในเปลวเทียน หรือแมลงมวนหลังแข็ง แมลงชนิดหนึ่งสามารถปล่อยกลิ่นเหม็นรุนแรงกระจายไปทั่ว แมลงตัวยาวชนิดหนึ่งที่สามารถมาเกาะโดยคนไม่รู้ตัว และถ้าเผลอกำจัดมันโดยการบีบออก จะทำให้เกิดตุ่มพองขนาดใหญ่บนผิวหนังที่ทำให้เจ็บปวดทันที

นอกจากนี้ทุกครั้งที่จะสวมรองเท้า ไม่ว่าเพื่อใส่ออกนอกบ้านหรือในบ้านก็ตาม ทุกคนต้อง “เขย่า” รองเท้าตัวเองเสียก่อน เพราะอาจมีตะขาบ, ตัวต่อ ฯลฯ หลบอยู่ ที่สามารถสร้างความเจ็บปวดอย่างมากหากใครโดนมันกัด

ในจดหมายของ เลสลี่ เลวี่ ที่เขียนถึงคู่หมั้นของเขาตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ที่เลวร้ายสุดของพื้นที่ร้อนชื้นคือผดผื่นที่ขึ้นตามผิวหนัง…ผมคิดว่าตัวเองมีประสบการณ์กับผดผื่นมากเกินไป ขณะที่ผมไม่เคยเป็นเลยตอนอยู่ในเซคันเดอราบาด แต่ตอนนี้มันขึ้นทั่วตัวผมเลย นอกจากนั้นที่น่ารำคาญสุดกับโรคภัยไข้เจ็บเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทำให้ตาผมเป็นกุ้งยิง และทุกคนก็ติดกันหมด ตั้งแต่ฮัดสัน ซีเออร์ สตอร์ และผมเอง”

แน่นอนว่าถ้ามีเครื่องปรับอากาศ, มุ้งลวด เหตุการณ์ข้างต้นมันคงไม่ทุกข์ยากขนาดนี้ แต่ปัญหาคือสมัยนั้นยังไม่มีสักอย่าง เจ้าอาณานิคมจึงต้องทนทรมานกับ “ฤดูร้อนอินเดีย” อย่างนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

Anne de Courcy (เขียน) สุภัตรา ภูมิประภาส (แปล). กองเรือหาคู่ : จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2563