“วรรณะ” ของคนรับใช้ชาวอินเดีย สิ่งที่ชาวอังกฤษเจ้าอาณานิคมต้องยอม

เด็กและสตรีชาวอังกฤษเดินเล่นบนเขา โดยมีคนรับใช้ชาวอินเดียค่อยดูแล (ภาพจาก กองเรือหาคู่จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่นที่อินเดีย)

วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1858 สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียประกาศพระราชโองการสถาปนาอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษในนาม “บริติชราช” โดยถ่ายโอนอำนาจจากอีสต์อินเดียคอมปานีมาสู่การปกครองโดยตรงของราชสำนักอังกฤษ และส่งข้าหลวงต่างพระองค์มาปกครองแทน

นั่นทำให้ “หนุ่มอังกฤษ” ส่วนใหญ่ ต่างมุ่งเดินทางสู่อาณานิคมแห่งใหม่ ตามมาด้วยหญิงสาวอังกฤษก็เดินทางตามมา เพื่อหาคู่ครอง และสร้างครอบครัวในอินเดีย (เพราะประชากรผู้ชายในประเทศลดลงอย่างมาก)

แต่สิ่งที่ครอบครัวใหม่ต้องเผชิญ ก็คือ “ระบบวรรณะ” ของ “คนรับใช้” ใน “บ้าน” บนดินแดนอาณานิคม

สาวอังกฤษที่เดินทางมาอินเดีย พวกเธอทุกคนต้องทำความคุ้นเคยกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และศาสนาของชาวอินเดีย โดยเฉพาะ “คนรับใช้” ในบ้านที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในชีวิตของพวกเธอ

(ซ้าย) จีน ฮิลารี่ (ภาพจาก กองเรือหาคู่จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่นที่อินเดีย)

คนรับใช้ที่มาจากวรรณะต่างๆ ความสลับซับซ้อนของระบบวรรณะสร้างความหงุดหงิดให้กับหญิงสาวชาวอังกฤษที่เป็น “คุณผู้หญิงของบ้าน” บางคนอยู่ไม่น้อย เช่น จีน ฮิลารี่ ขุ่นเคืองที่คนซักรีดผ้าในบ้านหลังหนึ่งที่เธอไปพักมีวรรณะสูงเกินกว่าที่จะมาซักผ้าอนามัยให้เธอ

ภริยาผู้บริหารเมืองบอมเบย์บันทึกถึงหน้าที่การงานของคนรับใช้ในทำเนียบว่า “วรรณะหนึ่งจัดแจงเรื่องดอกไม้ อีกวรรณะล้างจาน วรรณะที่สามเอาเทียนไปใส่เชิงเทียน แต่วรรณะที่สี่เป็นคนมาจุดไฟ คนหนึ่งเทน้ำใส่เหยือก ขณะที่ต้องให้อีกคนไม่ว่าจะวรรณะสูงหรือต่ำกว่าเป็นคนมาเทน้ำออกจากเหยือก บุรุษที่ทำความสะอาดรองเท้าบู๊ตของคุณจะไม่ลดตัวลงมาเสิร์ฟชาให้คุณ และคนที่ปูเตียงให้คุณจะเสื่อมเกียรติถ้าไปทำงานส่วนอื่นๆ ในห้อง 

ผลที่ตามมาคือ แทนที่จะมีคนรับใช้ที่ทำงานเป็นระเบียบเรียบร้อยเพียงคนเดียว เมื่อคุณขึ้นมาที่ ‘ส่วนที่พำนักฝ่ายสตรีของฉัน’ คุณจะเจอกับผู้ชาย 7 หรือ 8 คนสวมเสื้อผ้าแตกต่างกันไป แต่ละคนกำลังทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จ”

เมื่อ เดซีเร่ ฮาร์ต มาถึงอินเดีย เลดี้เฟรเซอร์ ภริยาข้าหลวงแห่งแคชเมียร์ ได้ส่งคนรับใช้ของเธอมารับที่ท่าเรือพร้อมจดหมายแนะนำว่า “โดสท์ มูฮัมเหม็ด คนรับใช้ส่วนตัวของฉันจะดูแลคุ้มกันเธอในการเดินทาง เขาพูดภาษาอังกฤษพอได้ และเธอไว้วางใจเขาได้อย่างที่สุด”

ไอริส บัทเลอร์ เล่าถึงโกปาล-คนรับใช้ของครอบครัวว่า “เขาไม่สามารถยืนรอที่โต๊ะหรืออยู่ตรงไหนที่ใกล้อาหารของเราเพราะเขามาจากวรรณะสูง หนึ่งในคำสั่งห้ามของแม่เมื่อฉันกลับมาอยู่ด้วย คือห้ามรบกวนโกปาล หรือขอให้เขาทำอะไรตอนบ่ายสองและบ่ายห้าโมงเย็น เพราะเป็นเวลาที่เขาต้องปฏิบัติกิจทางศาสนาสำหรับอาหารมื้อหลักและชำระล้างให้บริสุทธิ์”

ไลลาห์ วิงฟีลด์ บันทึกความรู้สึกรังเกียจคนรับใช้ชาวอินเดีย ในปี 1911 ว่า “ก่อนอาหารค่ำ สาวใช้มาแปรงผมให้ฉัน ผมสกปรกมาก แต่ฉันไม่เคยคุ้นกับการยอมให้มือผอมเกร็งเล็กๆ ดำๆ มาถูกเนื้อต้องตัว แต่หลังจากนั้นไม่นานฉันก็คุ้นชินกับเรื่องนี้ และยอมรับได้โดยไม่มีความรู้สึกรังเกียจ เพราะฉันคิดว่าฉันน่าจะทำเช่นนั้น”

แอน วิลสัน ผู้ตกใจและหวาดกลัวชาวอินเดียจำนวนมากมายที่เธอได้เห็นครั้งแรกที่ท่าเรือเมื่อมาถึงอินเดียในปี 1875 แต่หลังจากแต่งงานมีครอบครัว แอนมีคนรับใช้ชาวอินเดียถึง 13 คน สำหรับทำงานในบ้าน, เลี้ยงม้า, แบกน้ำ, ส่งนม ซึ่งทำงายได้มีประสิทธิภาพเยี่ยมยอด

คนรับใช้ชาวอินเดียยังรู้ทุกอย่างในชีวิตของนาย เพราะบ้านพักในอินเดียห้องต่างๆ มักจะเปิดประตูถึงกัน แทบไม่มีการแยกกัน คนรับใช้ทั้งหมดไม่ค่อยเคาะประตู และเดินเท้าเปล่าอย่างไร้เสียงอาจเข้ามาอยู่ในห้องก่อนที่ใครจะรับรู้ว่าพวกเขาปรากฏกายอยู่ แม้ว่าส่วนที่พักของพวกเขาแยกออกไปอย่างไม่ปะปนกันชัดเจน แต่พวกเขาสามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านได้ ตั้งแต่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวที่ซ่อนเร้น อาการป่วยไข้ หรือการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ในยุคบริติชราช งานรับใช้ในบ้านสำหรับชาวอินเดียไม่ได้เป็นเรื่องต่ำต้อย แต่กลับเพิ่มฐานะให้มากกว่า คนรับใช้ถูกคัดมาจากพวกมีสถานะสูงในสังคมหมู่บ้าน ได้รับค่าจ้างที่พวกเขาไม่เคยคิดฝันว่าจะเป็นไปได้ และความภักดีของคนรับใช้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์แห่งบริติชราช

บ่อยครั้งที่คู่แต่งงานใหม่ๆ หรือเจ้านายบางบ้าน ไม่มีอุปกรณ์จัดงานดินเนอร์ หรือปาร์ตี้ แต่คนรับใช้ที่ทรงประสิทธิภาพสามารถแก้ปัญหาให้ได้ด้วยการ “หยิบยืม” จากบ้านข้างเคียงเพื่อที่จะรักษาเกียรติยศของเจ้านายไว้

คุณผู้หญิงมือใหม่หลายคนประหลาดใจ เมื่อเห็นกระปุกเกลือและเชิงเทียนที่เธอได้มาใหม่ปรากฏอยู่บนโต๊ะของเจ้าภาพที่เชิญเธอไปร่วมงาน หรือพบอุปกรณ์แปลกตาบนโต๊ะจัดเลี้ยงในบ้านของตัวเอง “มีดปอกผลไม้ด้ามมุกของนายพลจัตวาจัดวางอยู่ในงานเลี้ยงของเราเสมอ เหมือนกับชุดถ้วยกาแฟสีเขียวของเราไปประดับอยู่บนโต๊ะของนายพันเอกเป็นประจำ” เอเวอลีน บาเร็ต เขียนเล่า “แน่ล่ะ ไม่มีใครพูดอะไร”

นี่คือสิ่งที่คนอังกฤษ โดยเฉพาะสาวๆ ตระหนักดีว่า “คนรับใช้” เป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตในอินเดีย เพราะคนรับใช้เป็นทั้งกันชนและตัวเชื่อมระหว่างคนแปลกหน้าผู้มาปกครองกับพื้นที่กว้างใหญ่ในความรับผิดชอบของพวกเขา ชาวอังกฤษในบริติชราชตระหนักกันดีว่าคนรับใช้ที่ดีมีค่ายิ่ง

 


ข้อมูลจาก :

สุภัตรา ภูมิประภาส. “กองเรือหาคู่จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่นที่อินเดีย, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2561

Anne de Courcy (เขียน), สุภัตรา ภูมิประภาส (แปล). กองเรือหาคู่จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่นที่อินเดีย. สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563