หนุ่มเมืองผู้ดีแห่ขุดทองใน “อาณานิคม” ส่งผล “เกาะอังกฤษ” ขาดแคลนผู้ชาย

การแต่งงาน ความมุ่งหมายของสาวอังกฤษที่เดินทางไปกับกองเรือหาคู่ ในภาพนี้เป็นการแต่งงานที่เมืองปูนา ในปี พ.ศ. 2449 (ภาพจากหนังสือ กองเรือหาคู่ : จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย)

เมื่อนึกถึงยุคล่าอาณานิคม ประเด็นส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงมักเป็นเรื่อง “การเมือง” ของการขยายพื้นที่อาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป, การเสียดินแดนของประเทศที่อ่อนแอกว่า, การใช้กำลังบีบบังคับให้ประเทศในเอเชียต้องยอมเปิดการค้าเสรี ฯลฯ แต่ประเด็นเล็กประเด็นน้อย เรื่องในบ้านในมุ้ง ที่เป็นผลกระทบจากการล่าอาณานิคม ก็สำคัญจนไม่อาจมองข้าม

หลังจากอังกฤษเข้ายึดครองอินเดียทั้งประเทศใน พ.ศ. 2400 สถาปนารัฐบาลของตนขึ้นปกครองประเทศแทนรัฐบาลเดิม ต่อมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2401 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษมีพระบรมราชโองการ ความว่า

“เราตัดสินใจที่จะตั้งรัฐบาลแห่งอินเดีย ซึ่งบริษัทอีสต์อินเดียคอมปานี ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนเรามาจนกระทั่งบัดนี้”

นี่คือ จุดเริ่มต้นของ “ความเสียหายรุนแรง” ของสมดุลระหว่างประชากรชาย-หญิงในอังกฤษ

เมื่อบริษัทอีสต์อินเดียคอมปานีของอังกฤษทำหน้าที่ขยายอาณาเขตการค้าในอินเดีย และยึดครองพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น ความต้องการ “แรงงานชาย” ของบริษัทอีสต์อินเดียคอมปานีก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในการค้าของบริษัท และเป็นทหารในกองทัพของบริษัท

แม้เมื่อสิ้นสุดยุคอีสต์อินเดียคอมปานี แรงงานก็ยังเป็นที่ต้องการสำหรับงานของราชการอังกฤษที่ประเทศอินเดียทั้งในส่วนของพลเรือนและกองทัพ

เมื่อชายหนุ่มส่วนใหญ่ไป “ขุดทอง” ที่อินเดีย จำนวนประชากรชายในประเทศก็ลดลงอย่างมาก หญิงสาวในอังกฤษต้องหันมาพึ่งโฆษณาประกาศหาคู่ในวารสาร “จัดหาคู่” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

ขณะที่ผู้ชายอังกฤษในอินเดียก็เผชิญปัญหาขาดแคลน “สาว” เช่นกัน

แม้จะมีสาวพื้นเมืองมากมาย แต่บริษัทอีสต์อินเดียคอมปานีก็พยายาม “กัน” ไม่ให้หนุ่มอังกฤษที่มาทำงานอยู่ในอินเดียไปมีเมียเป็นคนท้องถิ่น หรือไปใช้บริการโสเภณีชาวอินเดีย ทั้งจริงจังขนาดกำหนดเป็น “ข้อห้าม” มิให้ลูกของผู้ชายอังกฤษที่เกิดกับผู้หญิงอินเดียเข้าทำงานกับบริษัท ขณะที่รัฐบาลอังกฤษก็มีกฎเหล็กกำกับไว้ว่า สำหรับทหารและชายหนุ่มที่ถูกส่งออกมาประจำการหรือปฏิบัติหน้าที่ในดินแดนอาณานิคมอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานก่อนอายุ 30 ปี

ความลำบากที่พวกเขาทั้งหมดต้องทนคือ ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวจากอารมณ์ปรารถนาทางเพศ ดังที่ฟรานซิส ยีทส์-บราวน์ ทหารชั้นผู้น้อยในกองทหารม้าเบงกอลบันทึกไว้ว่า ชีวิตเขาไร้เซ็กส์เหมือนนักบวช ผมไม่รู้หรอกว่ากฎเกณฑ์เรื่องเซ็กส์มีขอบเขตแค่ไหนเป็นเรื่องดี แต่ผมรู้ว่าการมีเซ็กส์โดยปกติเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นในประเทศร้อนมากกว่าประเทศหนาว อารมณ์แปรปรวนที่ดูเหมือนจะแขวนอยู่ในอากาศของอินเดียถูกซ้ำเติมด้วยการข่มใจอย่างเคร่งครัด

วิลเลียม ซัวมาเรซ สมิธ หนุ่มอังกฤษคนหนึ่งที่ทำงานในอินเดีย บรรยายถึงชีวิตในจดหมายถึงบ้านอย่างไร้ความสุขเกี่ยวกับอารมณ์และความปรารถนาทางเพศว่า แต่งานของผมมีแต่ผู้ชายทั้งหมด ซึ่งพูดจริงๆ ก็คือผมอยู่ในโลกที่มีประชากรเพศเดียว นี่เป็นเรื่องผิดธรรมชาติและผิดปกติ

ในที่สุดบริษัทก็หาทางออก ด้วยการริเริ่ม “กองเรือหาคู่” เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างบริษัทที่อยู่ในอินเดีย

กองเรือหาคู่ของบริษัทรับสมัครหญิงสาวเป็นสมาชิกแล้วพาพวกเธอไปเลือกคู่จากบรรดาหนุ่มอังกฤษที่ ทำงานอยู่ที่ประเทศอินเดีย โดยบริษัทสัญญาว่า 1. ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมด  2. จัดเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้ 3. รับผิดชอบดูแลพวกเธอเป็นเวลา 1 ปีในอินเดียระหว่างที่พวกเธอกำลังเลือกเนื้อคู่

กิจการ “กองเรือหาคู่” ได้รับความนิยมอย่างดีจากสาวๆ และผู้ปกครอง

เพราะเสียงร่ำลือในอังกฤษเกี่ยวกับประเทศแสนไกลอย่างอินเดียว่าที่นี่ “ตลาด” ขนาดใหญ่ ที่แม้แต่ผู้หญิงไร้เสน่ห์ยังมีผู้ชายรุมล้อม

ไม่นานบริษัทจึงเปลี่ยนจากรับผิดชอบการจัดส่งสาวๆ ไปอินเดียแบบไม่มีค่าใช้จ่าย มาเป็นคิด “ค่าดำเนินการ” สาวใดที่ต้องการไปอินเดียต้องจ่ายเงิน 200 ปอนด์ สำหรับการอนุญาตให้เดินทางโดยเรือของบริษัทอินเดียแมน และพวกเธอยังต้องจ่ายค่าโดยสารของตัวเองด้วย

การเดินทางจากอังกฤษมาอินเดียใช้เวลาหลายเดือนบนเรือ จากอังกฤษมาฝรั่งเศส มายังเมืองมาร์แซย์ และจากมาร์แซย์ไปยังท่าเรือซาอิด แล้วข้ามทะเลทรายมายังสุเอซ จากนั้นลงเรือกลไฟไปอินเดีย ไปขึ้นบกที่ท่าเรือใหญ่ๆ 3 แห่งคือ บอมเบย์ กัลกัตตา และมัทราส

สังคมชาวยุโรปในอินเดีย ปิกนิกริมทะเลสาบราวทศวรรษ 1920 (ภาพจาก หนังสือ “The Fishing Fleet : Husband Hunting in the Raj”)

จากท่าเรือใหญ่ สาวจากกองเรือหาคู่จะเดินทางต่อโดยรถไฟไปยังสถานีประจำการหรือค่ายทหารที่ครอบครัว เพื่อน หรือเจ้าภาพของเธอพำนักอยู่ ซึ่งบางแห่งเป็นชนบทห่างไกลของอินเดีย การมาถึงของสาวๆ กองเรือหาคู่ ในแต่ละเมืองที่พวกเธอไปถึงคล้ายๆ กันคือ การได้รับเชิญไปงานเลี้ยงดินเนอร์, งานปาร์ตี้ที่จัดตามสโมสร, โรงแรม ฯลฯ พวกเธอจะถูกขอเต้นรำเกือบตลอดคืน, ได้รับการเอาอกเอาใจต่างๆ

แต่ทุกคนไม่ได้จบด้วยการได้คู่ครอง บ้างถูกชายชาติเดียวกันที่มีครอบครัวแล้วหลอกลวง

แคทลีน เวลค์ส เดินทางออกมาในปี พ.ศ. 2464 เธอมาพร้อมอากาศอบอุ่นและนิยายรักที่บังเกิดขึ้นด้วย เธอตกหลุมรักกับหนุ่มโสดคนหนึ่งบนเรือ คู่หมั้นของเธอเป็นข้าราชการที่เดินทางกลับมาประจำการในกรมข้าราชการพลเรือน ซึ่งสตรีมาดผู้ดีที่เป็นเพื่อนร่วมเคบินพูดกับเธอว่า “เธอทำสำเร็จแล้ว ใช่มั้ยล่ะ? เขาเป็นพวกจุติมาจากสวรรค์ชั้นฟ้า”

แต่สำหรับบางคนรักหวานกลางทะเลลึกก็จบลงแสนเศร้าเมื่อเรือเทียบฝั่ง ดั่งกรณีของสาวเอนิคที่พ่อของเธอจ่ายเงินค่าเดินทางออกมาจากอังกฤษ เพื่อให้มาหาคู่ในอินเดียใน พ.ศ. 2464 เอนิค วัย 24 ปี ประสบพบรักแทบจะทันทีที่ลงเรือ เธอกับหนุ่มน้อยรูปงามคนหนึ่ง ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน เขาขอเธอแต่งงานและเธอตอบรับ ทั้งสองตกลงกันว่าจะแต่งงานกันเมื่อเรือถึงโคลัมโบ

หากสองวันก่อนมีพิธีแต่งงาน เธอได้รับแจ้งถึงความจริงว่า เขามีภรรยาอยู่แล้วในกัลกัตตา เอนิคหัวใจสลาย เธอเดินทางกลับอังกฤษโดยทันที โดยลงเรือลำต่อมาที่มาถึงโคลัมโบกลับบ้านในอังกฤษ ไม่ยอมแม้แต่เดินทางต่อไปกัลกัตตาที่บิดาจะมารอพบเธอ

เรื่องเล่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่สีสันการผจญภัยเสี่ยงโชคหาคู่ของสาวอังกฤษ แต่เป็นประวัติศาสตร์อีกด้านของยุคล่าอาณานิคม ซึ่งไม่มีในตำราวิชาการ 

 


ข้อมูลจาก :

Anne de Courcy-เขียน, สุภัตรา ภูมิประภาส-แปล. กองเรือหาคู่ : จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2562