20 เมษายน 2454: วันเกิดพลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

หม่อมคึกฤทธิ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีต นายกรัฐมนตรี
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (20 เมษายน 2454 – 9 ตุลาคม 2538) ผู้เป็นทั้งนักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักแสดง นักการธนาคาร อาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทย ผลงานประพันธ์ที่เด่นที่สุดคือเรื่อง “สี่แผ่นดิน” งานเขียนอันหลากหลายตั้งแต่บทวิจารณ์ทางการเมือง บทความทางวิชาการประวัติศาสตร์และวรรณคดี เรื่องอาหาร เรื่องสุนัข ฯลฯ ซึ่งมีรวมกันมากมายได้ถูกนำมาพิมพ์หลายครั้งหลายหน และทุกครั้งก็ยังได้รับความนิยมจากผู้อ่านไม่เสื่อมคลาย

พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช แม้จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในทางการเมือง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงที่ประชาธิปไตยของไทยกำลังเบ่งบาน เมื่อชาวบ้านสามารถขับไล่เผด็จการพ้นประเทศได้สำเร็จ (เหตุการณ์ 14 ตุลา 16) และเพิ่งได้รัฐธรรมนูญใหม่ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาใช้หยกๆ (ปลายปี 2517)

Advertisement

แม้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น (ต้นปี 2518) พรรคกิจสังคมของท่านคึกฤทธิ์จะได้คะแนนเสียงเพียงแค่ 18 เสียง ซึ่งหากเทียบกันแล้วพรรคของท่านเข้าป้ายเป็นอันดับห้าเท่านั้น แต่ก็ด้วยบารมีของท่านจึงทำให้พรรคร่วมอื่นๆ ยกมือสนับสนุนให้ท่านเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 13 ของไทย

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจากหนังสือ Thailand : a country study จากเว็บไซต์ Library of Congress)

ครั้งหนึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และปัญญาชนคนหนึ่งของไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่าด้วยเรื่องการสร้างเอกลักษณ์ไทยไว้ในปี 2528 ตอนหนึ่งมีใจความว่า

…ประเทศไทยมันอยู่ได้เพราะเหตุว่ามันยอมรับวัฒนธรรมอื่นอยู่เรื่อยๆ เอามากลั่นกรองในที่สุดมันก็เป็นไทยไปเอง วิธีกินข้าวส้อมช้อนนี่ฝรั่งมันเอามาขายเป็นหีบเลย เห็นมั้ยเครื่องโต๊ะฝรั่งไง มีดปลา มีดไก่ มีดนก ช้อนตักหวาน ตักคาว ตักซุป ตักอะไรของมันก็ไม่รู้ วางเต็มไปหมดเลย ทีนี้จะกินก็เรียงจากนอกเข้ามาข้างใน ไทยก็เอามายังงั้นแล้วก็คัดไป เหลือส้อมอันช้อนอันก็กินได้ (หัวเราะ) อย่างอื่นโยนทิ้งไป นั่นแหละเอกลักษณ์ไทย…”

อ่านเพิมเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ที่มา :

ปฏิทินวรรณกรรม นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2560