“หวังเหว่ย” นักบินพลีชีพแดนมังกร ผู้จุดประกายให้จีนปฏิรูปกองทัพและกำเนิดเครื่องบินขับไล่ “J-20”

หวังเหว่ย นักบินจีน
ภาพ : Baidu

เมื่อมีการขึ้นบินหรือปฏิบัติหน้าที่ สิ่งที่นักบินจะต้องทราบและเตรียมใจ คือ ยามขึ้นไปทำภารกิจ พวกเขาอาจไม่ได้กลับมายืนอยู่บนพื้นดินผืนนี้อีกครั้ง และอาจถูกจารึกชื่อไว้ในอนุสรณ์สักแห่งหน แต่การจากไปของนักบินนามว่า “หวังเหว่ย” ไม่เพียงแค่สลักลงบนแท่นผู้กล้าหาญและเป็นฮีโร่ในใจของผู้คน ทว่ายังเป็นชนวนสำคัญซึ่งนำมาสู่การปฏิรูปกองทัพเรือและอากาศของจีนให้เข้าสู่สมัยใหม่

ย้อนไปในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2001 เมื่อเสียงสัญญาณเตือนดังไปรอบบริเวณ เหล่าชายชาติทหารภายใต้สังกัดกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชน (The people’s liberation army/PLA) ต่างรู้ทันทีว่าอีกไม่นานตนเองจะต้องขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนฟากฟ้าอีกครั้ง

“หวังเหว่ย” ก็เป็นหนึ่งในนักบินที่ต้องรับภารกิจ หลังจากเติบโตในเมืองหูโจว มณฑลเจ้อเจียง เขาก็เข้าศึกษาในโรงเรียนการบินทหาร เป็นนักเรียนนายร้อย มีความใฝ่ฝันมาทั้งชีวิตว่าจะได้ช่วยเหลือประเทศ กระทั่งจบการศึกษาในปี 1991 เขาก็เข้าร่วมกองกำลังการบินของกองทัพเรือ เพื่อปกป้องประตูแดนใต้ของประเทศให้ปลอดภัยและมั่นคง 

ภารกิจสำหรับวันนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากเดิมมากนัก นั่นก็คือติดตามเครื่องบินสอดแนมจากต่างชาติ ที่รุกล้ำเข้ามาในเขตน่านฟ้าจีน 

หวังเหว่ยเข้าประจำการบนเครื่องบินขับไล่ J-8 เพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างที่เคย เขาได้รับสั่งว่า มีเครื่องบินสอดแนมจากสหรัฐอเมริกาลำหนึ่งล่วงล้ำเข้ามาในเขตแดนของจีน 

หลังจากทะยานขึ้นมาอยู่บนแผ่นฟ้า หวังเหว่ยก็ทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดศัตรูออกไป ทว่าความโชคร้ายก็บังเกิดขึ้น เมื่อเครื่องบินของสหรัฐฯ กลับเข้ามาเฉี่ยวชน 

คำให้การของกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า ในวันนั้นเครื่องบิน EP-3 (เครื่องบินของสหรัฐฯ) เข้ามาใกล้น่านฟ้าเหนืออาณาเขตของจีน โดยมีจุดประสงค์ลาดตระเวนหาข่าว ทำให้กองทัพจีนต้องส่งเครื่องบินขับไล่ของตนเองขึ้นไป 2 ลำ เพื่อติดตามและตรวจดูการกระทำของสหรัฐฯ

แต่แล้ว EP-3 กลับเบนหัวกะทันหันเข้ามาใกล้และกระแทกทำความเสียหายต่อเครื่องบินจีน 1 ลำ นั่นก็คือเครื่องบินของ “หวังเหว่ย” ทั้งสหรัฐฯ ยังฝ่าฝืนกฎการบินด้วยการบินเข้าเขตน่านฟ้าของจีน และลงจอดที่สนามบินหลิงสุ่ย บนเกาะไห่หนาน โดยไม่ได้รับอนุญาต

ด้านสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาโต้ตอบว่า สิ่งที่จีนกล่าวอ้างมานั้นไม่เป็นความจริง เป็นเครื่องบินลาดตะเวนทั้ง 2 ลำของจีนเองที่เข้ามาสกัดกั้น ทำให้พื้นผิวเครื่องเสียหายระหว่างสัมผัสกัน จนมีความจำเป็นต้องลงจอดที่สนามบินจีน

แม้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะไม่สามารถชี้ชัดได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและไม่มีทางเปลี่ยนแปลงคือ หวังเหว่ย เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ 

แม้จะพยายามโดดร่มชูชีพออกมาแต่ก็ไม่เกิดผล ทางการจีนและสหรัฐฯ พยายามเร่งหาตัวหวังเหว่ยให้พบ ทั้งใช้เครื่องบินประมาณ 110 ลำ เรือรบกว่า 100 ลำ และเรืออื่น ๆ อย่างน้อย 1,000 ลำ รวมถึงเรือกู้ชีพ เรือประมง และเรือพลเรือน พร้อมผู้คนมากกว่า 55,000 คน แต่วันเวลาผ่านไปก็ยังไร้วี่แวว จนในที่สุดรัฐบาลจีนก็ออกมาประกาศว่า หวังเหว่ยเสียชีวิตลงในวัย 33 ปี หลังจากที่เขาได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติอย่างสุดความสามารถ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างความเศร้าสลดเสียใจแก่รัฐบาลจีนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อเหมิน แต่ยังรวมไปถึงประชาชนชาวจีนจำนวนมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางการทูตจีนจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้สหรัฐฯ ออกมารับผิดชอบ เช่น ให้พิจารณาการประท้วงและการเรียกร้องของจีนต่อเหตุการณ์วันที่ 1 เมษายนอย่างถี่ถ้วน, ให้คำอธิบายที่น่าเชื่อถือว่าเครื่องบินละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง, ให้สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย, ให้สหรัฐฯ ยอมรับความจริง และขอโทษจีนด้วยความจริงใจ 

ช่วงแรก สหรัฐฯ ยังมีท่าทีไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง และมองว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น ก่อนที่ต่อมา ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะส่งจดหมายและออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจค่อยผ่อนคลายลงบ้าง 

ความสูญเสียในกรณีหวังเหว่ย ทำให้ต่อมา จีนได้เร่งพัฒนากองกำลังการบินของตนเองเพื่อทัดทานประเทศอื่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ  

จีนเริ่มต้นวิจัยและสร้างเครื่องบินขับไล่ล่องหนลำแรกของประเทศ ที่เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากขึ้นมาในปี 2007 โดยมีชื่อว่า “J-20” คุณสมบัติของมันนับว่าเก่งกาจสมกับที่จีนยอมลงทุนลงแรง เพราะ J-20 สามารถหลบหลีกการตรวจจับของเรดาห์ เดินทางได้ถึง 5,926 กิโลเมตร หรือหากเทียบก็สามารถทำให้จีนถึงไต้หวันได้ในเวลาอันน้อยนิด มีขนาดปีกที่ใหญ่ ยาว และสามารถบรรจุเชื้อเพลิงและอาวุธได้มากกว่าเครื่องบินรบยุคที่ 5 ของสหรัฐฯ อย่าง F-22 และ F-35 ซึ่งถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของเครื่องบินใหม่แกะกล่องของจีน 

แม้บางส่วนของ J-20 จะมีข้อด้อยที่พ่ายให้กับ F-22 และ F-35 อยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยการบินของกองทัพเรือจีนนั้นได้พัฒนาไปอีกขั้น

หวังเหว่ย เปรียบเสมือนฮีโร่ผู้ปกป้องจีนจากการรุกรานภายนอก เป็นแรงบันดาลใจให้นักบินคนอื่น ๆ ทั้งการจากไปของเขายังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จีนมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการบินขึ้นไปอีกขั้น ทุก ๆ ปี ชาวจีนในหลายพื้นที่จะจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงความสูญเสียนี้ เพื่อไม่ให้วีรกรรมของ “หวังเหว่ย” จางหายไปตามกาลเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ฉันทิมา อ่องสุรักษ์. “หมากการทูตกรณีเครื่องบินจีนและอเมริกาชนกันกลางอากาศ.” วารสารสังคมศาสตร์ 31, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2543): 236-261.

http://eng.chinamil.com.cn/2022special/2022-07/29/content_10174188.htm

https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3004383/how-mid-air-collision-near-hainan-18-years-ago-spurred-chinas

https://warriormaven.com/air/the-chinese-j-20-vs-us-air-force-f-22

https://www.globaltimes.cn/page/202204/1257396.shtml

www.airandspaceforces.com/article/0701china/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2566