ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่อง “เครื่องบินตก” ในวังหลวงจนนักบินตายนี้ เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อ พ.ศ. 2476 ถูกบอกเล่าไว้ในหนังสือ “พ. 27 สายลับพระปกเกล้าฯ และหัวหน้าวิทยุกระจายเสียงภาคไทย ของกองบัญชาการทหารสูงสุดพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่ม 2 ตอน ‘ชนะแน่คือหนี'”
เหตุการณ์เกิดจากกรณีนักบินสองนายผู้แปรพักตร์ ไม่ยอมเข้าร่วมฝ่ายกบฏ ได้ขับเครื่องบินหนีมาจากสนามบินโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี เมื่อจะมาลงจอดยังพระนคร บริเวณสนามหลวง ได้บินเฉียดหลังคาพระที่นั่งองค์หนึ่ง จนเครื่องบินตกในพระบรมมหาราชวัง นักบินไม่ได้สิ้นใจทันที แต่อาการจะบาดเจ็บปานใดนั้นไม่ได้ระบุไว้
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังต้องรีบนำตัวนักบินรายนั้นออกจากวังโดยเร่งด่วน เพราะมีกฎมณเฑียรบาล และข้อปฏิบัติบังคับว่า ห้ามเลือดของสามัญชนตก หรือเสียชีวิตในพระบรมมหาราชวัง หากการณ์เป็นดังนั้นจะต้องประกอบพิธี “กลบบัตรสุมเพลิง” พิธีกรรมของพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อปัดรังควานสิ่งอวมงคล ทำพื้นบริเวณนั้นให้สะอาดและเป็นมงคล บันทึกเรื่องราวมีดังนี้
“เครื่องบินตกในวังหลวงนักบินตาย
บ่ายวันที่ 14 ตุลาคม เครื่องบินแบบ ‘นิเออปอ เดอลาส’ 2 เครื่อง บินมาจากทิศใต้จะลงสู่สนามหลวง เครื่องหนึ่งบินผ่านพระบรมมหาราชวังในระดับต่ำมาก ขณะที่กำลังจะข้ามพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงพุ่งเข้าชนมุมชายคาพระที่นั่งองค์หนึ่งในเขตพระราชฐานชั้นใน เครื่องบินตกลงพังพินาศ สิบตรีแฉล้ม นักบินสลบคาที่และกำลังจะตาย
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังต้องรีบหามออกไปให้สิ้นใจภายนอกกำแพงวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องประกอบพิธี ‘กลบบัตรสุมเพลิง’ ณ จุดที่ถึงแก่กรรม โดยพราหมณ์ราชพิธี จะต้องกระทำในเมื่อมีผู้ที่มิใช่พระราชวงศ์เข้ามาตายในเขตพระบรมมหาราชวัง เป็นการ ‘ปัดรังควาน’ ตามประเพณีของราชสำนักมาแต่โบราณกาล
เครื่องบินอีกลำหนึ่งไปลงปะทะกิ่งมะขามที่สนามหลวง แต่นักบินปลอดภัย นักบินทั้งสองนี้บินหนีจากกองบินโคกกะเทียมมาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล
เป็นที่โจษขานกันในวังระยะนั้นว่า เพราะนักบินผู้ตายกำลังจะบินข้ามองค์พระแก้วมรกต และยังผ่านข้ามพระสยามเทวาธิราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งไปศาลทักษิณด้วย จึงบังเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว”
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้านายที่กล้าเกาะหลังคนขับ เมื่อเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกยังไม่มีที่โดยสาร
- รำลึก หลวงเนรมิตไพชยนต์ ทหารคนแรกของไทยที่ขับเครื่องบินแล้วเครื่องหยุดกลางอากาศ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2563