รำลึก หลวงเนรมิตไพชยนต์ ทหารคนแรกของไทยที่ขับเครื่องบินแล้วเครื่องหยุดกลางอากาศ

ภาพประกอบเนื้อหา - เครื่องบินออร์วิลล์ไรท์ ที่มาทำการบินในประเทศไทย ปี 2454 (ภาพจาก “อนุสรณ์เฉลิมอากาศ”)

อากาศยานเป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงการคมนาคมและอีกหลายด้านในโลกอย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นพาหนะที่ทำให้มนุษย์ชาติประสบความสูญเสียมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะเหตุน่าเศร้าที่มาจากอุบัติเหตุขัดข้องทางเทคนิคซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีต มีบันทึกว่า “หลวงเนรมิตไพชยนต์” เป็น “นายทหาร” คนแรกของไทยที่ประสบเหตุเครื่องยนต์หยุดกลางอากาศจนเกิดความสูญเสีย

อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นความสูญเสียที่ทำให้ทุกชนชาติต้องเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย มีบันทึกว่าชาวกรุงเทพฯ ได้สัมผัสกับเครื่องบินครั้งแรกมื่อ พ.ศ. 2454 ภายหลังจากพี่น้องตระกูลไรท์ (Orville-Wilbur Wright) ชาวอเมริกันซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำเครื่องบินที่สร้างขึ้นเองออกทดลองใช้ให้ชาวโลกได้เห็นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2446 (บินได้นาน 12 วินาที บินสูง 20 ฟุต ไปไกล 120 ฟุต)

Advertisement

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เจ้านายที่กล้าเกาะหลังคนขับ เมื่อเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯครั้งแรกยังไม่มีที่ให้โดยสาร

หลังจากนั้นมีบันทึกว่ารัฐบาลสยามสั่งซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศส 8 เครื่อง และทดลองบินที่สนามม้าสระปทุมเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2456 การบันทึกเรื่องอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตเพราะเครื่องบินเป็นครั้งแรกมาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2472 สูญเสียนายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์) เรื่องที่เกิดขึ้นยังปรากฏในหนังสือของ “หะยีเขียด” นักเขียนกลอนลำตัดในยุคนั้น นักแต่งกลอนลำตัดสรรเสริญนายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์ว่า

หลวงเนรมิตไพชยนต์ เธอเป็นคนตงฉิน
ช่างดีพร้อมหอมสิ้น เป็นนักบินเรืองฤทธิ (เปกพ่อ)
มีนามตามสำเนียง เซี้ยง ศุษิลวรณ์
ซื่อสัตย์แท้แน่นอน โอนอ่อนสุจริต

เครื่องบินในสยามเวลานั้นมีทั้งที่สั่งซื้อจากต่างประเทศและสร้างขึ้นเอง (แบบบริพัตร และประชาธิปก) ช่วงเวลานั้นมีสนามบินดอนเมืองเป็นที่เลื่องลือ เครื่องบินจากต่างประเทศแวะเวียนมาเยือนกันบ่อยครั้ง ขณะที่ไทยก็ส่งเครื่องบินไปเยี่ยมเยียนกลับเช่นกัน ในช่วงพ.ศ. 2465 เคยจัดส่งเครื่องบินไปเยี่ยมอินโดจีนซึ่งมีนายร้อยโทเซี้ยง โดยสารไปด้วย

เมื่อมาถึงช่วงพ.ศ. 2472 รัฐบาลอินเดียขอให้รัฐบาลไทยส่งเครื่องบินทหารไปเยี่ยมอินเดียแบบเป็นทางการ กระทรวงกลาโหมที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดให้กรมอากาศยานเป็นผู้ดำเนินการ กรมอากาศยานส่งเครื่องบินบริพัตร 3 เครื่องไป เครื่องบินหมายเลข 1 เป็นเครื่องนำ มีนายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์เป็นหัวหน้าคุมขบวน นายร้อยเอกจ่าง นิตินันทน์ เป็นนักบิน

หลวงเนรมิตไพชยนต์ (ภาพจาก “คนดังในอดีต”, 2542)

ส. พลายน้อย ผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์หลากหลายด้านบรรยายว่า ก่อนการเดินทางในช่วงเช้าวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2472 มีพิธีนมัสการพระสงฆ์รับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ถวายคำนับเสนาบดีฯ รับทรงเจิมหน้า เครื่องบินบินเลี้ยวขวาเวียนสนาม 1 รอบเป็นการอำลา จากนั้นจึงบ่ายหน้าสู่กรุงเทพฯ เวียนประทักษิณพระนคร 1 รอบ อำลาประชาชนแล้วจึงบินสู่นครย่างกุ้ง

หลังจากขึ้นบินไปประมาณ 4 ชั่วโมง ผู้คนด้านล่างพบเห็นเครื่องบิน 2 ลำที่เพิ่งขึ้นบินเมื่อช่วงเช้าบินกลับมา แต่ไม่พบเห็นอีกลำ ข่าวที่ออกตามมาทำให้ได้ทราบว่า เครื่องบินหมายเลข 1 เครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องร่อนลงในป่า

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ประชาชนได้รับทราบข่าวร้ายทางโทรเลข มีรายงานเข้ามาว่า นายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์ ถูกเครื่องบินหักปีกทับลำตัวท่อนบนเสียชีวิตทันที ส่วนนายร้อยเอกจ่างนิตินันทน์ นักบินปลอดภัย นายร้อยเอกจ่าง เดินจากจุดที่เครื่องบินตกไปพักที่บ้านหนองกี่ อำเภอทัพทัน จ.อุทัยธานี และทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีทราบชะตากรรมของนายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์ ในวัย 35 ปีและทราบว่าเครื่องบินตกลงในป่าทึบดงหนองนกเงือก ตำบลพรวงสองนาง ห่างจากเขาลำพยนประมาณ 6 กิโลเมตร

สำหรับสาเหตุของเครื่องยนต์ขัดข้อง ส.พลายน้อย บรรยายว่า เป็นเพราะท่อทางเดินของน้ำหล่อเครื่องยนต์ชำรุดตรงรอยต่อทำให้เคลื่อนหลุดจากกันหลังจากได้รับแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ เมื่อน้ำรั่วออกก็ไม่สามารถหล่อเลี้ยงลูกสูบ เครื่องยนต์จึงร้อนจัดจนชิ้นส่วนบางจุดไหม้ละลายทำให้เครื่องหยุดทำงาน

ประกาศอย่างเป็นทางการจากเจ้ากรมอากาศยานมีใจความส่วนหนึ่งว่า

“…หลวงเนรมิตไพชยนต์ไม่ใช่นักบินแต่เป็นผู้มีความรู้ในการเดินอากาศเป็นอย่างดี และเมื่อทางราชการดำริเห็นดีเช่นนี้ พ.ท.หลวงเนรมิตไพชยนต์เล็งเห็นความจำเป็นด้วย จึงยินดีรับหน้าที่นี้

แต่บังเอิญเกิดอุบัติเหตุอย่างมิได้คาดหวังว่าจะประสบเหตุแม้แต่น้อย แต่บังเอิญเป็นจนพ.ท.หลวงเนรมิตไพชยนต์ถึงแก่กรรม เป็นเหตุให้ทางราชการในกรมอากาศยานเสียผู้เป็นกำลังอย่างดียิ่งไปผู้หนึ่ง ทางราชการจึงได้สั่งให้ลดธงลงกึ่งเสาเพื่อเป็นการไว้อาลัยอย่างสูงมีกำหนด 7 วัน”

นายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์ เป็นชาวพิจิตร ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ย้ายไปเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ จากนั้นจอมพลพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงพระกรุณาฝากเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก ออกเป็นทหารเมื่อ พ.ศ. 2452 (สำรองราชการ 1 ปี) และได้ศึกษาวิชาทหารที่เยอรมนีเมื่อพ.ศ. 2453 แต่ท่านเป็นโรคเกี่ยวกับหัวเข่าจึงเรียนวิชาทหารโดยตรงไม่ได้ ต้องเรียนที่โรงเรียนโปลิเทคนิค แผนกเครื่องยนต์ที่สวิตเซอร์แลนด์

ท่านเรียนจบได้รับปริญญาช่างเมื่อพ.ศ. 2464 หลังจากนั้นก็รับราชการทหารในสังกัดกรมอากาศยาน หน้าที่ราชการก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกาและในยุโรป ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเนรมิตไพชยนต์เมื่อพ.ศ. 2468

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับนางสาวสาย หิรัญยจินดา เมื่อ พ.ศ. 2466 มีบุตรธิดารวม 4 คน บุตรชายคนโตได้รับพระราชทานชื่อจากเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตว่า ทะแกล้ว


อ้างอิง:

ส.พลายน้อย. คนดังในอดีต. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999, 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2562